ตั้ง 2 ข้อสังเกต เฮลิคอปเตอร์ ปธน.อิหร่านตก กับช่องว่างแย่งชิงอำนาจ คลื่นใต้น้ำ สงคราม และโอกาสเกิดสันติภาพ 

ถือเป็นข่าว “ช็อกโลก” สำหรับเหตุเฮลิคอปเตอร์ของผู้นำอิหร่าน เกิดอุบัติเหตุชนหุบเขา ส่งผลให้ นายอิบราฮิม ราอีซี ประธานาธิบดีอิหร่าน วัย 63 ปี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.

จากรายงานเบื้องต้น สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มาจากสภาพอากาศแปรปรวน และมีหมอกหนาปกคลุม บริเวณภูเขาในเขตวาร์ซากัน จังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน ขณะกำลังเดินทางกลับหลังร่วมพิธีเปิดเขื่อนคิซ กาลาซี และเขื่อนโคดาอฟาริน ที่ชายแดนประเทศอาเซอร์ไบจาน 

ในเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตยกลำ 9 ราย โดยมีผู้นำคนสำคัญนอกจาก นายราอีซี อาทิ นายฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน รมว.ต่างประเทศอิหร่าน นายมาเล็ก ราห์มาตี ผู้ว่าราชการจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก นายโมฮัมหมัด อาลี อัล-อี-ฮาเชม ตัวแทนผู้นำสูงสุดในจังหวัดดังกล่าว นายเมห์ดี มูซาวี หัวหน้าฝ่ายอารักขาประธานาธิบดี โดยร่างของผู้เสียชีวิตถูกเคลื่อนย้ายไปยังเมืองทาบรีซ จังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก

...

ข้อสังเกต เฮลิคอปเตอร์เก่า และการปิดระบบ Transponder  

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตถึงอุบัติเหตุ ฮ. ตก ของผู้นำอิหร่านว่า เรื่องที่แปลกมากคือ การใช้ ฮ.เบลล์ 212 หรือ ฮิวอี้ ถือเป็นเครื่องที่เก่ามาก ฮ. 2 เครื่องยนต์ และจำเป็นต้องมีอะไหล่ในการซ่อมแซมชั้นดี อย่างที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ หากไม่ใช่สหรัฐฯ ก็จะยุ่งในการหาอะไหล่และอาจต้องหาในตลาดมืด และที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านเขาก็มีความชัดเจน ว่าเขาต้องการซื้อ ฮ. ลำใหม่ รุ่นใหม่ จากรัสเซีย 

ดังนั้น อุบัติเหตุดังกล่าว จะต้องตั้งคำถามกลับไปที่ “กองทัพอากาศ” ของตัวเองว่า “บกพร่อง” เรื่องนี้หรือไม่... 

กลับกัน หากเทียบกับ “กองทัพปฏิวัติอิสลาม” เขามีเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่ๆ ทั้งนั้น เรื่องนี้ส่วนหนึ่งต้องมองกลับไปที่รัฐบาลอิหร่านว่าบริหารดีหรือไม่ 

อาจารย์ปณิธาน ยังตั้งข้อสังเกตอีกข้อ คือ เส้นทางการเดินทางขณะบิน คือ ฮ. ลำดังกล่าว มีการปิด Transponder ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกว่า เครื่องดังกล่าวอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ซึ่งเรื่องนี้มันแปลก แต่ก็เป็นไปได้ เพราะเวลานี้อยู่ในสถานการณ์การรบอยู่ ฉะนั้น เขาอาจจะเลือกปิดไว้ก็ได้ 

“การปิดระบบใน ฮ. เราไม่รู้ว่าปิดอะไรบ้าง ปิดระบบนำทางหรือไม่ ส่วนตัวยังไม่แน่ใจ อย่างกรณี “แบล็กฮอว์ก” ของเราที่ตก (ที่ใช้ตอนนั้น) ไม่มีระบบนำทาง นักบินจะต้องดูสภาพอากาศเอาเอง ฉะนั้น หากเห็นหมอกลักษณะนั้น ก็ไม่น่าจะเอาขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทาง “ตุรกี” เขาพยายามตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ชนภูเขา อาจจะมาจาก Transponder เสียหรือไม่ เพราะหากมีการเปิด Transponder จะทำให้เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน และมันสามารถนำทางให้ได้ด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ต้องรีเช็กกับผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งว่า หากปิด Transponder ไปแล้ว จะส่งผลต่อ Navigation หรือไม่ ก็คล้ายๆ เฮลิคอปเตอร์ ซูเปอร์พูม่า ที่เคยตกในอดีตของเรา ที่มีการปิดระบบ Transponder ไปแล้ว เลือกที่จะบินเองแล้วเกิดอุบัติเหตุตก” 

นัยทางการเมือง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ อาจารย์ปณิธาน มองเรื่องนี้ว่า นายราอีซี กำลังจะขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดทางด้านจิตวิญญาณด้วย นี่ขนาดเป็น ประธานาธิบดี ยังถูกกล่าวขานเรื่องความโหด ที่สำคัญคือ ปัญหาภายในอิหร่านเอง ก็มีฝ่ายต่อต้านมากขึ้น 

ดังนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นภายใน...ภายนอกก็จะรับรู้เรื่องข่าวสารข้อมูล เพราะเขาจะปิดข่าว ที่สำคัญคือ ช่วงที่ผ่านมา ทางสหรัฐฯ ก็พยายามเข้าไปปลุกให้กลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นมาต่อต้าน... ซึ่งปัจจัยภายในดังกล่าว เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

การเมือง “อิหร่าน” หลังสิ้น ปธน.ราอีซี 

นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของอิหร่าน หลังจากนี้ว่า ถ้าเขาเอาลูกชาย เข้ามาควบคุมวิธีการเลือกตั้ง หรือผลการเลือกตั้งนั้น อำนาจที่เคยมีอาจจะหมดไปเร็วก็ได้ เนื่องจากลูกชายเขายังอายุน้อย ขณะเดียวกัน จะมองเป็น “คนอื่น” ก็ยังไม่มีใครป๊อปปูลาร์เท่า แต่...สถานการณ์ อาจจะผกผันได้ โดยเฉพาะการรักษาอำนาจของรอง ปธน. “โมฮัมหมัด มอคเบอร์” เรื่องเหล่านี้ ภายนอกจะไม่ค่อยทราบ และที่สำคัญคือ เขาจะไม่เผชิญหน้ากันเองให้เราได้เห็น เพียงแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจมีคลื่นใต้น้ำ เนื่องจากฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่เคยโดนผลักดันออกไป อาจใช้จังหวะแบบนี้ผลักดันตัวเองเข้ามา เพราะหากไม่ใช้จังหวะนี้ อาจหมดโอกาสและต้องรออีกยาวนาน

...

“เชื่อว่าอีกไม่กี่วัน ก็น่าจะมีข่าวสารออกมา ว่าแคนดิเดตจะเป็นใคร ใครขัดแย้งกับใคร..”

“โมฮัมหมัด มอคเบอร์” รักษาการ ปธน. สายเหยี่ยว แต่ไม่สุดโต่ง 

อาจารย์ปณิธาน มอง นายมอคเกอร์ รักษาการประธานาธิบดี ว่ามีความเป็น “สายเหยี่ยว” คล้ายกับ นายราอีซี เพียงแต่เขาไม่สุดโต่งเทียบเท่า ซึ่ง นายราอีซี นั้นสายแข็งมาก ถึงขั้นที่อังกฤษบอกว่าควรจะถูกดำเนินคดี เป็นอาชญากรระหว่างประเทศด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่า ทำไมคนในประเทศถึงชื่นชอบ ปธน.ราอีซี รศ.ดร.ปณิธาน วิเคราะห์ว่า น่าจะมีความเป็น “อนุรักษนิยม” เป็นลูกชายของนักบวชที่มีความเคร่งศาสนา ทำงานไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ และทำงานรับใช้ supreme leader อาลี คาเมเนอี ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มาอย่างดี ซึ่งถือเป็นโมเดลของกลุ่มอนุรักษนิยม รวมถึงภาพลักษณ์ภายนอกก็ดูมีบารมี 

“ด้วยนโยบายที่สุดโต่ง กดขี่ผู้หญิง กดหัวก้าวหน้า ทำให้ผู้ชายบางคนรู้สึกชอบ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ ทั้งนี้ คนอิหร่านเองเคยผ่านยุคนิยมตะวันตก แบบสุดโต่งมาแล้ว อย่างสมัยสมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ซึ่งนั่นก็กลายเป็นตะวันตกมากเกินไป” อาจารย์ปณิธาน กล่าวและว่า 

...

สำหรับคนรุ่นใหม่อาจคิดอีกอย่าง ทำให้เกิดแรงต้านภายใน อย่างเหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรง ในวันรำลึกการเสียชีวิตของ นายพลกอเซม สุไลมานี เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แรงระเบิดดังกล่าวคร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า แรงต้านในอิหร่านนั้นแข็งแรงกว่าที่คิด ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะลึกลงไปนั้น อาจโยงไปถึงกลุ่มต่อต้านในอิหร่าน 

แปลว่าการเสียชีวิตของ ปธน.ราอีซี อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง... นักวิชาการด้านความมั่นคง ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ “ช่องว่าง” หรือรอยต่อนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจ  

ในกรณีเลวร้ายที่สุด จะเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ปณิธาน ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งที่ได้คะแนนกระจัดกระจาย ไม่ลงคะแนนให้ลูกชายรองประธานาธิบดี แบบนี้จะเกิด “สุญญากาศ” เลย นี่คือเลวร้ายสุด และเชื่อว่าเขาจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น 

สงคราม และสันติภาพ

อาจารย์ปณิธาน ประเมินว่า ทางอิสราเอลค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะผู้นำอิหร่าน ซึ่งมีท่าทีสุดโต่งได้เสียชีวิต และหลังจากนี้ ทางอิหร่านก็ต้องกลับไปเคลียร์บ้าน ปัญหาภายในให้ดี เรื่องการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม อาจจะลดลงไป แต่...ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะส่วนที่กำลังเดินเกมอยู่คือ กองกำลังปฏิวัติอิสลาม และผู้นำต่างๆ ยังไม่ได้เปลี่ยน รัฐบาลอิหร่านเอง ไม่ค่อยมีบทบาทในการสนับสนุนสงคราม ทั้งใน กาซา, เลบานอน หรือฮูตี เรื่องนี้ “อิสราเอล” จึงอาจประเมินว่าไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด เพียงแต่ทำให้ฝ่ายการเมืองของอิหร่านปั่นป่วน ซึ่ง “ฝ่ายการเมือง” กับ “ผู้นำสูงสุดทางศาสนา” นั้น มีการบริหารแยกออกจากกันอย่างชัดเจน 

...

อาจารย์ปณิธาน วิเคราะห์โอกาสการเกิดสันติภาพว่า จะไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เนื่องจากทางสหรัฐฯ ยังสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็ม ส่วนซาอุดีอาระเบีย ทำได้เพียงแต่อยู่นิ่ง หากขยับมากไปก็ไปเผชิญหน้าอิหร่าน 

“สันติภาพในตะวันออกกลางจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ “อเมริกา” ยังจัดการกับตัวเองไม่เสร็จ หรือมีประธานาธิบดี ในขณะที่ทาง “อิสราเอล” ก็เริ่มใช้ไม้แข็งมากขึ้น เพราะถือว่าอยู่ในช่วงได้เปรียบมาก และอาจมีปฏิบัติการเพิ่มขึ้น 

แปลว่าหาก ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ก็อาจจะดีขึ้น..? อาจารย์ปณิธาน บอกว่า เป็นโอกาสพลิกเกม พลิกแบบเกาหลีเหนือ มีการจับมือแป๊บหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็กลับมาแย่เหมือนเก่า ส่วนที่ต้องจับตาสุดท้าย คือ การเลือกตั้งในอิหร่าน เวลานี้ คงต้องรอดูแคนดิเดตที่จะเกิดขึ้น หากชื่อที่โผล่มาไม่แรงจริงๆ อาจเกิดความยุ่งยาก คนที่ต่อต้านอิหร่านก็อยากให้แตกกัน   

“หากอิหร่านมีปัญหาภายในมากๆ อิหร่านอาจกลายเป็นซีเรีย อิรัก หรือเหมือนกับพม่า ภายในวุ่นวาย เพื่อนบ้านก็ปั่นป่วน หากอยู่กันแบบนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมามันไม่ดี ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ อิหร่านต้องลดความสุดโต่งลงบ้าง โดยใช้โอกาสแต่งตั้งคนที่สามารถคุยกับอีกฝ่ายได้มากขึ้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้ สันติภาพจะอยู่ตรงนั้น แม้ภาพรวมจะอยู่ที่ supreme leader แต่คนที่จะก้าวสู่อำนาจก็สามารถเดินเกมได้เช่นกัน” นักวิชาการด้านความมั่นคง ทิ้งท้าย 

อ่านบทความที่น่าสนใจ