วันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2024 คณะนักวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยา ที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคมาดริด (Polytechnic University Madrid) ประเทศสเปน ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Neuroscience ผลการวิจัยศึกษาสมองของคนในกลุ่มได้ชื่อเรียกเป็น “super ager” หรือ “ซูเปอร์ สว.” เปรียบเทียบกับสมองของคนในกลุ่มตัวอย่างทดลอง พบความแตกต่างชัดเจนในสภาพของสมอง

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปสำรวจอย่างเร็วๆ เรื่องที่กำลังได้รับความสนใจมากเรื่องหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ คือ super ager ไปดูผลการวิจัยศึกษาล่าสุด เรื่องราวความเป็นมา และที่สำคัญ เรื่องนี้สำคัญอย่างไร? มีประโยชน์อะไร?

ที่มาการเริ่มต้นของ “ซูเปอร์ สว.”

ในวงการวิทยาศาสตร์วันนี้ “super ager” มีความหมายจำเพาะถึงคนที่อายุเกิน 80 ปีขึ้นไป แต่ยังมีสมอง, ความจำและความคิดที่เฉียบคม พอๆ กับคนมีอายุน้อยกว่า 20-30 ปี

คำ super ager ยังไม่มีศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการดังเช่นของราชบัณฑิตยสถาน แต่มีคำภาษาไทยใช้กันโดยสื่อและนักวิชาการหลายคำ เช่น สุดยอดคนสูงวัย, สุดยอดสูงวัย, สุดยอด สว., ซูเปอร์สูงวัย และซูเปอร์ สว.

สำหรับผู้เขียนวันนี้ ขอใช้ “ซูเปอร์ สว.”

เรื่องของ “ซูเปอร์ สว.” นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ เพียงสิบปีเศษมานี้เอง

ใครเป็นคนคิดหรือตั้งคำ “super ager” ขึ้นมา?

อย่างน้อย มีการกล่าวถึงแหล่งที่มาสามแหล่ง :-

หนึ่ง : ศูนย์เมซูแลม (The Mesulam Center) ที่คณะแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา (Northwestern University Feinberg School of Medicine) ตั้งคำ “super ager” ขึ้นมาในปี ค.ศ. 2008

...

สอง : เอมิลี โรกอลสกี (Emily Rogalski) นักประสาทวิทยาผู้บุกเบิกคนสำคัญคนหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับ super ager ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำ super ager ในรายงานวิจัยศึกษาตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2012

สาม : โจเอล เครเมอร์  (Joel Kramer) นักประสาทจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ฟรานซิสโก หรือ ยูซีเอสเอฟ (UCSF : University of California San Francisco) ผู้บุกเบิกคนสำคัญเรื่องของ super ager อีกคนหนึ่ง ได้รับการกล่าวถึงในนิตยสาร UCSF ฉบับฤดูหนาวปี ค.ศ. 2019 : “โครเมอร์มีชื่อเรียกคนอายุแปดสิบถึงเก้าสิบปีที่ยังแข็งแรงและคล่องแคล่วว่า super ager”

ผลการวิจัยศึกษาใหม่

ผลการวิจัยศึกษาใหม่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Neuroscience เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2024 มีศาสตราจารย์ ดร.ไบรอัน สเตรนจ์ (Bryan Strange) เป็นหัวหน้าคณะวิจัย

การวิจัยประกอบด้วยการทดลองศึกษากับกลุ่มตัวอย่างเป็นคนมีอายุเกิน 80 ปี รวม 119 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกรวม 64 คน ได้ชื่อเป็นคนซูเปอร์ สว. กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มตัวอย่างทดลองรวม 55 คน เป็นคนสูงวัยปรกติ มีความจำดีดังเช่นคนมีสุขภาพดีในวัยเดียวกันทั่วไป

ในการทดลอง ทุกคน...

*เข้ารับการตรวจสอบและทดสอบเพื่อประเมินเรื่องความทรงจำ, การเคลื่อนไหวของร่างกาย และทักษะในการตอบคำถามปากเปล่า

*การสแกนสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI)

*ตรวจเลือด

*ตอบคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรม

ผลการทดลองและการทดลองต่างๆ พบว่า กลุ่มคนซูเปอร์ สว. มีสมองส่วนเกี่ยวกับความจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิปโปแคมพัส และเอนทอไรนอลคอร์เท็กซ์ (entorhinal cortex) ขนาดใหญ่กว่าของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ และยังมีส่วนการเชื่อมต่อของสมองส่วนหน้าทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำที่ดีกว่า...

แต่ทั้งสองกลุ่มการทดลอง ก็มีสัญญาณเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในสมองน้อย

ศาสตราจารย์ ดร.สเตรนจ์ กล่าวว่า การที่กลุ่มการทดลองทั้งสองกลุ่ม แสดงอาการของโรคอัลไซเมอร์น้อย แต่ทั้งสองกลุ่มก็แสดงความแตกต่างที่ชัดเจน เรื่องของความจำและขนาดของสมอง บ่งบอกถึงการต่อต้านความเสื่อมที่เกี่ยวกับอายุ

...

ผลการวิจัยใหม่บอกความแตกต่างระหว่างซูเปอร์ สว. กับคนสูงวัยปรกติอย่างไร? หรือไม่?

ศาสตราจารย์ สเตรนจ์ กล่าวว่า นอกเหนือไปจากการดูรายละเอียดภายในของสมองจากเครื่องสแกนสมอง โดยทั่วๆ ไป ก็บอกความแตกต่างระหว่างคนซูเปอร์ สว. กับคนสูงวัยระดับเดียวกันได้ยาก เพราะการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป พฤติกรรมการแสดงออก สุขภาพ อุปนิสัยในการใช้ชีวิต การออกกำลังการ การบริโภค การสูบบุหรี่ และการดื่ม ที่ดูอย่างเผินๆ ก็แทบไม่แตกต่างกัน รวมไปถึงพื้นฐานการศึกษาและการทำงาน

แต่ศาสตราจารย์ สเตรนจ์ ก็กล่าวว่า โดยทั่วไป คนในกลุ่มซูเปอร์ สว. นับได้เป็นคนกลุ่มน้อย นั่นคือ มีไม่มาก ทว่า เมื่อได้ “สัมผัส” “พูดคุย” “สัมภาษณ์” ก็จะแยกคนซูเปอร์ สว. จากคนสูงวัยปรกติได้อย่างรวดเร็ว

เพราะอะไร?

เพราะคนในกลุ่มซูเปอร์ สว. มีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นคนกระฉับกระเฉงอย่างชัดเจน ถึงแม้ในการตรวจสุขภาพดังเช่นจากการตรวจเลือด ผลการตรวจคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือด จะออกมาดีกว่าคนสูงวัยตัวอย่างทดลอง แต่ก็ไม่มากนัก

...

อยากเป็นซูเปอร์ สว. ทำอย่างไร?

เอมิลี โรกอลสกี ผู้เป็นหนึ่งในสามแหล่งที่มาของการตั้งคำ super ager ในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่า มีประสบการณ์และผลงานการศึกษาวิจัย และสร้างสถาบันหรือกลุ่มผู้สนใจศึกษาซูเปอร์ สว. ในหลายมหาวิทยาลัย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ปัจจุบันประจำอยู่ที่แผนกประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยชิคาโก และเป็นผู้เชี่ยวชาญรับเชิญหลายสถาบัน

ถึงวันนี้ (กลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024) โรกอลสกี มีผลงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (ร่วมกับคนอื่นๆ) มากกว่า 150 รายงาน จากฉบับแรกๆ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004  ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 2012 ที่ผลงานสำคัญเกี่ยวกับซูเปอร์ สว. ของโรกอลสกี เริ่มได้รับการตีพิมพ์

ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างงานวิจัยศึกษาของโรกอลสกีกับของสเตรนจ์ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ งานเด่นชัดเจนของโรกอลสกี โฟกัสที่การศึกษาซูเปอร์ สว. กับคนทั่วไป และได้บทสรุปที่กลายมาเป็นความหมายจำเพาะของซูเปอร์ สว. ว่า หมายถึงคนมีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป แต่ยังมีสมอง, ความจำและความคิดที่เฉียบคม พอๆ กับคนมีอายุน้อยกว่า 20-30 ปี

เมื่อรวมผลงานการวิจัยใหม่ของ สเตรนจ์ กับผลงานการวิจัยของโรกอลสกี และคนอื่นๆ ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น เปรียบเทียบคนซูเปอร์ สว. กับที่มีอายุน้อยกว่าซูเปอร์ สว. ดังเช่นของโรกอลสกี และคนซูเปอร์ สว. เปรียบเทียบกับคนปรกติทั่วไปที่มีอายุช่วงวัยเดียวกับซูเปอร์ สว. ของสเตรนจ์

จากนี้ ก็มาถึงเป้าหมายสำคัญที่สุดของเรื่องเกี่ยวกับซูเปอร์ สว. ของเราวันนี้ คือ : แล้วเราได้ประโยชน์อะไรจากข้อมูลความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับซูเปอร์ สว. ซึ่งอาจจะตั้งเป็นประเด็นคำถามตรงๆว่า “อยากเป็นซูเปอร์ สว. ทำอย่างไร ?”

...

7 หลักทองของ “ซูเปอร์ สว.”

ถึงแม้จะยังมีประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนของความเป็น “ซูเปอร์ สว.” ดังเช่น :-

*บทบาทของยีน ที่ยังมีข้อสงสัยในระดับโมเลกุลเกี่ยวกับความเป็นซูเปอร์ สว.

*เพศ ที่ความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง ต่อความเป็นซูเปอร์ สว.

*พฤติกรรมการดำเนินชีวิต, การออกกำลังกาย และกำลังสมอง

แต่...ก็มีการนำเสนอหลักปฏิบัติ โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องของซูเปอร์ สว., เรื่องของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสมองตามอายุ, ฯลฯ เป็นจำนวนข้อหลักปฏิบัติสู่การเป็นซูเปอร์ สว. ที่แตกต่างกัน เช่น 4 ข้อ, 5 ข้อ, 7 ข้อ และ 10 ข้อ

สำหรับเรื่องของเราวันนี้ ผู้เขียนขอนำ 7 หลักทองของซูเปอร์ สว. ส่วนใหญ่เองว่า คิดและยึดติดกับพฤติกรรมแบบไหน นั่นคือ ซูเปอร์ สว. เป็นและคิดกันแบบไหน? จึงทำให้พวกเขาแตกต่างไปจากคนวัยเดียวกันส่วนใหญ่ หรือมีความคิดและความจำดีพอๆ กับคนทั่วไป ที่มีอายุน้อยกว่า 20-30 ปี...

โดย 7 หลักทองนี้ แอนเจลา โรเบิร์ตส์ (Angela Roberts) นักวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย อีสเทิร์น ออนทาริโอ แคนาดา ประมวลจากข้อมูลความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับซูเปอร์ สว. ที่สำคัญทั่วโลก เขียนเป็นบทความชื่อ 7 Super Secrets of the Super Ager (7 ซูเปอร์ความลับของซูเปอร์ สว.) ตีพิมพ์ใน AARP วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023

เป็น 7 หลักทองที่นอกเหนือไปจากการทำให้เราได้เข้าใจและรู้จักความเป็นตัวตนของซูเปอร์ สว. ได้ดีขึ้นแล้ว สำหรับผู้เขียนก็มองเห็นว่า เป็น “หลักทอง” ที่ดีมิใช่เฉพาะตัวซูเปอร์ สว. เอง แต่ยังดีสำหรับคนสูงวัยทุกคน และคนที่ยังไม่เป็นคนสูงวัยในขณะนี้ เพื่อที่จะได้เป็นคนสูงวัยที่ติดอยู่ในกลุ่มคนซูเปอร์ สว. ในอนาคตด้วย ซึ่งก็จะ “ดี” สำหรับทั้งตนเอง และประเทศชาติ

7 หลักทองมีอะไรบ้าง?

หนึ่ง : ซูเปอร์ สว. ควบคุมน้ำตาลในเลือดและความดันเลือด

ซูเปอร์ สว. มักจะมีระดับความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดดีกว่าคนทั่วไป

การควบคุมระดับความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดดีที่สุด คือ ควบคุมอาหาร โดยเน้นการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ ดังเช่น ข้าวไม่ขัดสี, ผักสีเขียว, ถั่ว, เบอร์รี ฯลฯ

มีข้อมูลการวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารที่เหมาะสม สามารถลดเความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์และความจำเสื่อมได้สูงถึง 53%

สอง : ซูเปอร์ สว. ไม่ออกกำลังมากกว่าคนทั่วไป แต่กระฉับกระเฉงและเคลื่อนไหวเป็นประจำ

มีผลการวิจัยชัดเจนว่า คนซูเปอร์ สว. มิได้ออกกำลังกายอย่างจริงจังมากกว่าคนทั่วไป แต่ซูเปอร์ สว. จะเคลื่อนไหวเป็นประจำ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลายาวนาน ชอบเคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ทำสวน เดินขึ้นลงบันได

ในการวิจัยที่ประเทศอังกฤษ พบว่า การออกกำลังเป็นประจำอย่างระดับปานกลางวันละ 9 นาที เพิ่มทักษะ การคิดอย่างได้ผลจริง

สาม : ซูเปอร์ สว. หลีกเลี่ยงความเครียดและให้ความสำคัญของสุขภาพจิต

ซูเปอร์ สว. จัดการความเครียดและความรู้สึกหดหู่ได้ดีกว่าคนสูงวัยปรกติ

ผลการศึกษาเป็นเวลาสามปีเมื่อเร็วๆ มานี้ในประเทศเดนมาร์ก พบว่า ความรู้สึกหดหู่ เป็นสาเหตุทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคความจำเสื่อมเพิ่มขึ้นสองเท่า และมีผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2023 พบว่า คนมีความเครียดสูง เสี่ยงต่อการมีปัญหาเรื่องความจำสูงกว่าคนมีความเครียดต่ำ 37%

และก็มีข่าวดีจากผลการศึกษาหนึ่งว่า การบำบัดด้วยการปรึกษาแพทย์ ลดอาการความจำเสื่อมได้ 17% 

สี่ : ซูเปอร์ สว. ปกป้องสายตาและการได้ยิน

นักวิจัยคาดว่า สมองอาจลดประสิทธิภาพในกระบวนการเกี่ยวกับความจำ เมื่อสมองต้องทำงานหนักขึ้นในการรับรู้โลกภายนอก

มีการศึกษาในปี ค.ศ. 2022 ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโท ประเทศแคนาดา กับคนอเมริกันจำนวน 5.4 ล้านคน ที่มีอายุเกิน 65 ปี พบว่า คนมีปัญหาการมองเห็น, การได้ยิน และทั้งการมองเห็นกับการได้ยิน มีปัญหากับความจำมากกว่าคนปรกติ 28%, 20% และ 50% ตามลำดับ

ห้า : ซูเปอร์ สว. ให้ความสำคัญของการนอนหลับ

ในระหว่างที่กำลังง่วงนอน สมองของคนเราจะทำงานกำจัดของเสียอันตรายที่มักสะสมในระยะแรกๆ ของโรคอัลไซเมอร์

มีการศึกษาในแคนาดาปี ค.ศ. 2022 พบว่า คนสูงวัยที่นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับติดต่อกันสามวัน หรือมากกว่า ต่อสัปดาห์ เป็นเวลาสามเดือน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่ออาการความจำเสื่อม

ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหาการนอนหลับ แต่อย่ายึดติดกับ “หลักปฏิบัติ” สำหรับคนหลับยากและใช้ยานอนหลับเป็นประจำ

มีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนีโซตา สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2021 กับคนวัยเจ็ดสิบปี ที่มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาการนอนหลับจำนวน 4,197 คน พบว่า การใช้ยานอนหลับเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการความจำเสื่อมสูงถึง 48%

หก : ซูเปอร์ สว. ชอบใช้ความคิดและเรียนรู้ทักษะใหม่

จากการศึกษาในสเปน ซูเปอร์ สว. ใช้เวลากับปริศนาอักษรไขว้ (crossword puzzle) มากกว่าคนสูงวัยทั่วไป ซูเปอร์ สว. ยังชอบและใช้เวลากับการอ่าน, ฟังเพลง, ดูคอนเสิร์ต, ดูภาพยนตร์, เดินทาง, เล่นไพ่ และบอร์ดเกม         (board game) ทำงานสร้างสรรค์ ดังเช่น การแกะสลัก, แสดงละคร และฟังการบรรยาย

เจ็ด : ซูเปอร์ สว. พูดคุยกับเพื่อน...มาก

ซูเปอร์ สว. ไม่เก็บตัวเงียบ มีสังคมกับญาติ มิตรสหาย หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น (อย่างสร้างสรรค์) เป็นประจำ

การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นตีพิมพ์ในวารสาร Neurology ปี ค.ศ. 2023 พบว่า สมองของคนสูงวัยที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทุกวัน มีการหดตัวของส่วนเกี่ยวข้องกับความจำ น้อยกว่าสมองของคนที่มีการสื่อสารกับญาติมิตรน้อย 

ผลการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งทำกับตัวอย่างเป็นผู้ใหญ่จำนวน 9,032 คน เป็นเวลา 20 ปี

การประเมินตรวจสอบตนเองเป็นเรื่องดี!

ผู้เขียนก็พยายามประเมิน...อย่างน้อยก็ตรวจสอบ...ตนเองเป็นประจำ

สำหรับ 7 หลักทองของซูเปอร์ สว. ที่ผู้เขียนคัดเลือกมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ มีข้อใดบ้างที่ตรงกับใจของ ท่านผู้อ่านครับ!?