เมื่อ ฟูจิซัง ร้องขอ มารยาท เคารพสิทธิ และให้เกียรติ จากนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสง่างามและความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น...“ฟูจิซัง” เจ้าของความสูงตระหง่าน 3,776 เมตร ที่มีรูปทรงสมมาตรอันงดงามและน่าทึ่ง ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ หนึ่งในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในแง่วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น รวมถึงยังได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2013 อย่างไรก็ดี ปัญหาจากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินพอดี แถมไร้ซึ่งมารยาท และขาดความเคารพต่อกฎหมาย รวมถึงสิทธิของผู้คนท้องถิ่น กำลังเซาะกร่อนบ่อนทำลายความสง่างามของ “ฟูจิซัง” ลงทีละเล็กทีละน้อย เนื่องจากในทัศนะของชาวญี่ปุ่นนั้น มองว่าผู้คนจากนอกเกาะญี่ปุ่นมองฟูจิซังเป็นเพียง….. “ฉากหลังสำหรับถ่ายรูปอวดลงบนอินสตาแกรม” เท่านั้น! หาใช่…. “ความศรัทธาและรากแห่งศิลปะ” (Faith and a Source of Art) ดังเช่นที่ชาวอาทิตย์อุทัย พยายามพร่ำบอกต่อชาวโลกไม่!หาก “คุณ” ไม่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกชาวญี่ปุ่น “จดจำ” ในฐานะนักท่องเที่ยวที่รวมอยู่ในข้อกล่าวหาอันร้ายแรงนี้ อะไรคือสิ่งที่ “คุณ” ควรรู้บ้าง? สารพัดปัญหาที่กระทบความงามสง่าของฟูจิซัง? จำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไป (Overtourism) อ้างอิงจากข้อมูลของการท่องเที่ยวจังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ และมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมถึง 80% ของพื้นที่ ณ สิ้นสุดปี 2023 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองที่มีประชากรรวมกันประมาณ 800,000 คนแห่งนี้ รวมกันมากถึง 7,628,010 คน! โดยในเดือนสิงหาคม ปี 2023 เพียงเดือนเดียวนั้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากมายถึง 1,033,700 คน หรือมากกว่า “จำนวนประชากรของจังหวัดยามานาชิ” เสียอีก รายงานจำนวนนักท่องเที่ยว จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) ปี 2023 ม.ค. : 416,350 คนก.พ. : 417,710 คนมี.ค. : 597,790 คนเม.ย. : 577,260 คนพ.ค. : 627,290 คนมิ.ย. : 538,850 คนก.ค. : 808,850 คน ส.ค. : 1,033,700 คน ก.ย. : 698,570 คน ต.ค. : 665,200 คน พ.ย. : 701,420 คนธ.ค. : 545,020 คน รวมตลอดทั้งปี 2023 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่จังหวัดยามานาชิทั้งสิ้นถึง 7,628,010 คน!พฤติกรรมขาดความเคารพ :ไวรัลจากการแชร์ภาพ “ฟูจิซังอันสง่างามเหนือร้านสะดวกซื้อ Lawson” ที่เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ (Fujikawaguchiko) จังหวัดยามานาชิ แม้จะกลายเป็นแรงดึงดูดชั้นดีให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เดินทางมาที่จังหวัดยามานาชิ เพื่อหวังถ่ายรูปกับฟูจิซัง หากแต่สิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นอาจหลงลืมไปก็คือ ความเคารพและให้เกียรติชาวญี่ปุ่นที่พักอาศัยและใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองในบริเวณนั้น รวมถึงความปลอดภัยจากการรักษากฎจราจรโดยทันตแพทย์โคอิจิ อิเดะ (Koichi Ide) วัย 72 ปี เจ้าของ Ibishi Dental Clinic ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับร้าน Lawson และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด ได้เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แห่มายืนออกันอยู่บริเวณหน้าคลินิก ที่มีทางเท้าอันแสนคับแคบ จนขัดขวางไม่ให้คนไข้จำนวนมาก เดินมาเข้ารับการรักษาที่คลินิกได้โดยสะดวก อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง แอบนำรถยนต์มาจอดที่บริเวณที่จอดรถของคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต จนส่งผลให้คนไข้ไม่สามารถจอดรถยนต์ เพื่อเข้ารับการรักษาตามเวลาที่นัดหมายได้ด้วย และแม้ว่าจะพยายามบอกให้นักท่องเที่ยวออกไปให้พ้นจากการกีดขวาง หรืองดสูบบุหรี่ แต่ก็ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีใครที่รับฟังเอาเสียเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่นับกองขยะนานาชนิดที่ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดอีกด้วย “ในตอนแรกๆ ยังมีเพียงนักท่องเที่ยวจากเอเชียเพียงไม่กี่คนที่สร้างปัญหา และถึงแม้ว่าเราจะดีใจที่มีคนจากทั่วโลกมาท่องเที่ยวที่นี่ แต่ปัจจุบันมันมากเกินไปแล้ว ผมต้องเก็บขยะทั้งเช้าและเย็น เพราะมีถุงที่เต็มไปด้วยขยะอาหารและก้นบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อ มันทำให้ผมรู้สึกได้เลยว่ามันจะเลวร้ายลงไปอีก” ด้วยเหตุเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา คุณหมอโคอิจิ อิเดะ จึงได้เข้าพบกับผู้บริหารเมือง เพื่อหามาตรการแก้ไข ทำให้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงได้มีป้ายเตือนเป็น “ภาษาอังกฤษ จีน และไทย” (Opps!) เพื่อเตือนนักท่องเที่ยวให้หยุดการละเมิดกฎจราจร ทั้งเรื่องการจอดรถยนต์ การเดินข้ามถนน หรือทิ้งขยะบนทางเท้า ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเมืองฟูจิคาวากุจิโกะ ยังต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (Security guard) มาคอยประจำอยู่ที่จุดดังกล่าว ยกเว้นเวลาฝนตก เพื่อคอยตักเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ละเมิดคำเตือนดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล เนื่องจากยังพบเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ละเมิดกฎจราจร จนกระทั่งทำให้คนขับรถชาวญี่ปุ่น ต้องร้องเรียนถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมายังจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเกรงว่าการกระทำดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 เป็นต้นมา มีรายงานว่า ทางเมืองได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนถึงพฤติกรรมไม่มีมารยาทของนักท่องเที่ยว จากผู้ที่พักอาศัยในย่านดังกล่าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่เกือบ 1 ปีก่อนหน้านี้ มีโทรศัพท์ร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความอดทนและการรักษามารยาทที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือเป็นคติประจำใจ ก็ถึงจุดสิ้นสุด!จังหวัดยามานาชิ ตัดสินใจนำแผงตาข่ายสีดำขนาดใหญ่ 2.5 เมตร ยาว 20 เมตร มาติดตั้งบริเวณด้านหน้าร้าน Lawson โดยหวังว่า “การใช้ไม้แข็ง” ที่ต้องแลกมาซึ่งการบดบังความสง่างามของฟูจิซังในครั้งนี้ จะทำให้พฤติกรรมย่ำแย่ของนักท่องเที่ยว (บางคน) ไม่ไปละเมิดสิทธิพลเมืองของชาวญี่ปุ่นมากไปกว่านี้ รู้หรือไม่? นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเมืองฟูจิคาวากุจิโกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน Lawson และไวรัลภาพถ่าย “Mr.Fuji Lawson” นั้น หากอ้างอิงข้อมูลจาก “สำนักงานการท่องเที่ยวเมืองฟูจิคาวากุจิโกะ” (Fujikawaguchiko Town Tourism) ระบุว่า ตลอดปี 2022 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และเริ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาที่เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ รวม 51,535 คน โดย “นักท่องเที่ยวไทย” ถือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่เมืองนี้เป็นอันดับที่หนึ่ง รวม 11,119 คน หรือคิดเป็น 21.6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด อันดับที่ 2 คือ ฮ่องกง 7,763 คน (15.1%) และอันดับที่ 3 คือ ไต้หวัน 6,669 คน (12.9%)โครงสร้างพื้นฐาน : เนื่องจากเมืองฟูจิคาวากุจิโกะ จังหวัดยามานาชิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน Lawson อันโด่งดังนี้ เป็นเมืองเล็กๆ อันเงียบสงบ ที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 26,921 คน และมีจำนวนครัวเรือนเพียง 11,737 ครอบครัว (สถิติล่าสุด ณ วันที่ 1 มี.ค. 24) ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่แห่เข้ามามากมายถึงขนาดนี้ได้ โดยเฉพาะ “ทางเท้า” ซึ่งมีความกว้างเพียง 70 เซนติเมตร เป็นเหตุให้เมื่อมีนักท่องเที่ยวมารวมตัวกัน เพื่อหวังหามุมที่ดีที่สุด สำหรับถ่ายภาพฟูจิซังเหนือร้าน Lawson จึงทำให้มีคนจำนวนหนึ่งล้นออกไปบนท้องถนน รวมถึงพยายามข้ามถนนโดยไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นผลให้ชาวเมืองฟูจิคาวากุจิโกะจำนวนมาก รู้สึกว่าตัวเอง “ไม่สามารถใช้ทางเท้า หรือขับรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย” ยิ่งไปกว่านั้น...จำนวนผู้ใช้บริการสถานีรถไฟคาวากุจิโกะ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใกล้กับร้าน Lawson ที่เป็นปัญหานั้น ตลอดทั้งปี 2022 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมพุ่งสูงถึง 454,164 คน หรือมากกว่าปี 2021 (255,474 คน) ถึงเกือบ 2 เท่าด้วย!อ้างอิง ข้อมูลจากเว็บไซต์เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ ความสง่างามของฟูจิซัง ที่ถูกบดบังด้วยกองขยะ ปัญหาใหญ่ที่ฟูจิซังถูกบดบังจาก “กองขยะ” ของนักท่องเที่ยว เริ่มเป็นที่พูดถึงเมื่อได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 2013 โดยในปี 2019 นั้น มีรายงานว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวแห่กันมาที่สถานีที่ 5 ซึ่งเป็นสถานีที่ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,300 เมตร และเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการเตรียมเดินขึ้นไปพิชิตความสูง 3,776 เมตร ของ “ฟูจิซัง” รวมกันมากถึง 5 ล้านคน!กองขยะบนฟูจิซังมากมายขนาดไหน? อ้างอิงข้อมูลจาก Mr.Fuji Club ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาที่รวมตัวกัน “เก็บขยะ” บริเวณโดยรอบฟูจิซัง ระบุว่า จากการทำกิจกรรมรวม 992 ครั้ง ของสมาชิกรวม 74,215 คน ตั้งแต่ปี 2004 ถึงปี 2018 สามารถเก็บขยะรอบฟูจิซังได้รวมกันถึง 850 ตัน! ขณะที่สถิติล่าสุดที่ถูกบันทึกเอาไว้ระหว่างปี 2019 ถึงปี 2022 นั้น มีจิตอาสาเข้าร่วมทำกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 2,727 คน สามารถเก็บขยะได้รวมกันถึง 21 ตัน! ทั้งนี้ สื่อในประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า “กองขยะ” ที่ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดตั้งแต่ก้นบุหรี่ไปจนถึงเต็นท์ที่พัก จากบรรดานักปีนเขาที่ขาดความเคารพต่อฟูจิซัง ตามรายทางจนถึงยอดเขานั้น มีปริมาณมากถึง 300 ตันในแต่ละปี การเริ่มต้นแก้ปัญหากองขยะให้กับฟูจิซัง :อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเรื่องการปีนขึ้นฟูจิซังอย่างเป็นทางการ ระบุว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้น รวมถึงปริมาณขยะที่ทำลายทัศนียภาพและความงดงามของฟูจิซัง ในช่วงฤดูกาลปีนเขาตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป จะมีมาตรการห้ามนักปีนเขา ขึ้นภูเขาไฟฟูจิ ตั้งแต่ 16.00-03.00 น. ทุกวัน ตลอดช่วงฤดูกาลปีนเขา (1 ก.ค.-10 ก.ย. ในทุกปี) และจำกัดจำนวนนักปีนเขาเพียง 4,000 คนต่อวันเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าบนยอดเขาภูเขาไฟฟูจิ ได้เลือกใช้วิธีเริ่มเดินเขาในตอนกลางคืน ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต จากการเร่งปีนเขาเพื่อหวังไปให้ทันดูพระอาทิตย์ขึ้น และช่วงขากลับที่ต้องเดินทางลงจากเขา จากการพักผ่อนน้อยเกินไป แล้วยังเป็นการสร้างภาระต่อเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ต้องแบ่งกำลังไปให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับนักท่องเที่ยวด้วยที่สำคัญไปกว่านั้น การกระทำดังกล่าวยังทำให้มีจำนวนนักปีนเขาไปแออัดบนยอดเขาฟูจิหนาแน่นมากเกินไปอีก จนกระทั่งไม่สามารถชื่นชมความงามของฟูจิซังได้อย่างที่ควรจะเป็นด้วย! นอกจากจำกัดจำนวนนักปีนเขาและเวลาในการปีนเขาแล้ว เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้กระทบต่อฟูจิซังให้น้อยที่สุด นักปีนเขายังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการปีนเขาด้วย นั่นคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก และค่าธรรมเนียมเดินป่า คนละ 2,000 เยน ขณะเดียวกันยังต้อง “บริจาคเงิน” (ไม่บังคับ) ให้กับบรรดาอาสาสมัครที่มาคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางอีกคนละ 1,000 เยนด้วย (รวมเป็น 3,000 เยน หรือ 709 บาทต่อคน) โดยทั้งหมดนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 24 เป็นต้นไป อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว “คุณ” ยังมองเห็น “ฟูจิซัง” เป็นเพียงฉากหลังของภาพถ่ายสำหรับแชร์บนโซเชียลมีเดีย หรือว่ามองเห็นได้ถึง “ความสง่างามและเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ” เฉกเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นแล้วหรือยัง? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ