เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับ 5 คำสอนดั่งเพชรในชีวิต จาก 2 มหาบุรุษ และ 1 ครูผู้ถ่อมตน ....
นับตั้งแต่การกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่โฮโมเซเปียนส์คนแรกๆ ตามทฤษฎีแม่อีฟ เมื่อประมาณสอง-สามแสนปีมาแล้วในแอฟริกา ถึงวันนี้ มนุษย์โฮโมเซเปียนส์กำเนิดขึ้นมาแล้วประมาณหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านคน...
แต่มีมนุษย์เพียงไม่กี่คน ที่ได้รับการยกย่องเป็น “มหาบุรุษ” และก็มีมนุษย์อีกจำนวนหนึ่งมากกว่ามหาบุรุษ ที่ได้รับการยกย่องเป็น “ครู” แต่ก็ลดจำนวนลงไปอีก เมื่อจำเพาะลงไปที่ “ครูผู้ถ่อมตน”
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับ “5 เพชรคำสอน” ของ “มหาบุรุษ” และ “ครูผู้ถ่อมตน” เพียง 3 คน...
2 คนเป็นมหาบุรุษ คือ พระเยซูคริสต์ และ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีก 1 คนเป็นครู คือ ขงจื๊อ
เชื่อว่าหลายท่านที่เห็นชื่อ 2 มหาบุรุษ และ 1 ครูผู้ถ่อมตน ก็จะนึกถึงเรื่องของศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไม่ผิด เพราะบุคคลทั้งสามที่ผู้เขียนยกมากล่าวถึง ทั้งพระเยซูคริสต์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ส่วนขงจื๊อก็ได้รับการกล่าวถึงในฐานะเป็นศาสดาของศาสนาขงจื๊อ...
ผู้เขียนจึงขอรีบเรียนท่านผู้อ่านว่า เรื่องของเราวันนี้ มิใช่เรื่องการลงลึกถึงหลักศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะผู้เขียนไม่มีความรู้มากพอที่จะให้กับท่านผู้อ่านได้...
...
แต่ที่เป็นความตั้งใจของผู้เขียน คือ แบ่งปันสิ่งที่ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยว และได้อาศัยเป็นเข็มทิศวิเศษนำทางชีวิตตลอดมา
2 เพชรคำสอนของพระเยซูคริสต์
ผู้เขียนมิใช่ชาวคริสต์โดยกำเนิดและการประกาศตน แต่ผู้เขียนโชคดีที่มีเพื่อนชาวคริสต์หลายคน ทั้งที่เป็นชาวคริสต์ตั้งแต่เกิด คนไทยที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาประมาณเจ็ดปีครึ่ง (ระหว่างปี ค.ศ. 1962-1970) ที่มหาวิทยาลัยโมนาช กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และประมาณสี่เดือนเศษ (ระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1973-มกราคม ค.ศ. 1974) ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) เมืองอุปซาลา ประเทศสวีเดน ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทั้งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับนักศึกษา, อาจารย์ และบาทหลวง ลงลึกในเรื่องของศาสนาคริสต์ (และเรื่องของศาสนาพุทธเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ของโลก)
คริสต์ศักราช หรือ ค.ศ. เริ่มต้นจากปีประสูติของพระเยซูคริสต์ ถึงปัจจุบันก็เป็น ค.ศ. 2024 แต่รากเหง้าของศาสนาคริสต์ย้อนหลังไปถึงศาสนายิวกับผู้นำคนสำคัญ ดังเช่น โมเสส ผู้ได้รับบัญญัติ 10 ประการ สลักบนแผ่นหินสองแผ่น จากพระเจ้าบนเขาซีนาย เมื่อประมาณ 1,440 ปีก่อน ค.ศ. เพื่อให้ “ลูกหลานอิสราเอล” ยึดปฏิบัติให้พ้นวิถีแห่งบาป
น่าสนใจว่า ในบัญญัติ 10 ประการนั้น มีบัญญัติ 6 ข้อที่ตรงกับ “ศีล 5” ของศาสนาพุทธ คือ :-
*ห้ามฆ่าคน
*ห้ามผิดประเวณี (แยกละเอียดเป็น 2 ใน 10 ข้อ)
*ห้ามลักขโมย
*ห้ามพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
*ห้ามโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น
แต่ที่มีอยู่ในศีล 5 โดยไม่มีในบัญญัติ 10 ประการ คือ ศีลข้อ 5 : ห้ามดื่มสุรายาเมา
ศาสนาคริสต์ในปัจจุบัน เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ ประมาณ 31% ตามด้วยอันดับสอง ศาสนาอิสลาม ประมาณ 25% กลุ่มผู้ไม่ประกาศตนว่านับถือศาสนาอะไร ประมาณ 16% ศาสนาฮินดู ประมาณ 15% และศาสนาพุทธเป็นอันดับห้า มีผู้นับถือทั่วโลกประมาณ 7%
ถึงแม้ศาสนาคริสต์ในปัจจุบัน จะแบ่งเป็นนิกายต่างๆ หลายนิกาย แต่หลักใหญ่ของศาสนาคริสต์ล้วนตรงกัน กล่าวคือ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก...
ความรักที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเฉพาะความรักระหว่างชายกับหญิง และเพชรเม็ดงามแห่งคำสอนของพระเยซูคริสต์ ที่ผู้เขียนตกผลึกจากการเรียนรู้กับเพื่อนๆช าวคริสต์ ก็เป็นคำสอนเกี่ยวกับความรัก
...
เพชรเม็ดที่หนึ่ง : พระเจ้าจะอยู่กับทุกคนที่เชื่อในพระองค์
เพชรเม็ดแรกแห่งคำสอนของพระเยซูคริสต์นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก (ที่โคราช เมืองย่าโม) เพราะชอบไปร่วมในกิจกรรมเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่โบสถ์ศาสนาคริสต์ ที่จัดบ่อยหรือแทบเป็นประจำในวันอาทิตย์ โดยมีเด็กๆ และผู้ปกครอง รวมทั้งคนวัยหนุ่มสาวไปร่วมจำนวนมาก
ที่ผู้เขียนชอบไป มิใช่เป็นเพราะสนใจอยากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นเพราะบรรยากาศที่สนุกสนาน มีสีสัน มีการร้องเพลง มีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ โดยไม่มีการชักชวนให้นับถือศาสนาคริสต์อย่างตรงๆ
ผู้เขียนชอบฟังเรื่องราวที่เหมือนกับ “นิทาน” อยู่แล้ว และในงานก็มี “ของกินมากมาย” แล้วก็ที่สำคัญและที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษก็คือ การ์ดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แบบเดียวกับการ์ดคริสต์มาส เป็นภาพเขียนสวยงาม
จากการไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก นอกเหนือไปจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกติดอยู่ในสมองตั้งแต่นั้นมาก็คือ คำสอน...แบบเป็นคำกล่าวเล่าเรื่อง...ว่า พระเจ้าศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าอยู่ทุกหนแห่ง และอยู่กับทุกคนที่เชื่อในพระเจ้า
อย่างไรก็ตาม คำสอนนี้สำหรับผู้เขียนก็ไม่ “ติดใจ” อะไรมากมายนักในช่วงวัยเด็ก และเป็นวัยรุ่น เพราะคิดว่าก็เป็นเพียงวิธีการชักชวนให้คนนับถือพระเจ้าของศาสนาคริสต์
ต่อๆ มา เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาศาสนาคริสต์อย่างจริงจังมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่าพอจะเข้าใจและนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในวันนี้
ที่มาจริงๆ ของคำสอนนี้ เป็นหลักสำคัญของศาสนาคริสต์ ซึ่งกล่าวถึงความหมายและความสำคัญของ “พระเจ้า” ในฐานะเป็นพระเจ้าองค์เดียว จากพระเจ้า (พระบิดา), พระบุตร (พระเยซู) และพระจิต ตามหลักตรีเอกานุภาพ หรือ Trinity ของศาสนาคริสต์ (แตกต่างจากเทพเจ้าสามพระองค์ หรือ Trinity ของศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู) ซึ่งรวมเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” ของศาสนาคริสต์ และเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” ที่รัก “ทุกคน” และจะอยู่กับ “ทุกคน” ที่เชื่อและรักพระองค์
...
ความวิเศษของคำสอนนี้สำหรับผู้เขียน คือ หลักคิดที่ “ทรงพลัง” อย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ที่จะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากทุกอย่างได้อย่างไม่ต้องโดดเดี่ยว เพียงขอให้ยึดมั่นหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ทุจริต ไม่คิดร้ายใคร เพราะพระเจ้าจะ “ทราบ” และจะช่วยให้ผ่านความทุกข์ยากทุกอย่างได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกัน คนที่คิดร้าย คิดในทางทุจริต พระเจ้าก็จะทราบและจะถูกลงโทษเสมอ
อย่างเป็นรูปธรรม ตามความคิดของผู้เขียน คำสอนนี้บอกว่า “ความลับไม่มีในโลก ทุกคนรู้ตัวดีเสมอว่ากำลังคิด และทำอะไรอยู่ ยกเว้นคนเสียสติ หรือคนบ้า”
เพชรเม็ดที่สอง : ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มอีกข้างให้เขาด้วย
เพชรเม็ดที่สองที่เป็นคำสอนของมหาบุรุษคือ พระเยซูคริสต์ มีที่มาชัดเจน เป็นพระวรสารบันทึกโดยมัทธิว (ข้อที่ 39 บทที่ 5 คือ มัทธิว 5:39) หนึ่งใน 12 สาวกผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ และเป็นหนึ่งในสี่ของผู้ที่พระเยซูคริสต์ทรงเลือกให้เป็นผู้บันทึกคำสอนของพระองค์
...
มัทธิวเป็นชาวยิว ทำงานเป็นผู้เก็บภาษีชาวยิว ส่งให้จักรวรรดิโรมันมาก่อน ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของชนชาวยิว
วันหนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงเดินผ่านมา และก็ทรงเรียกมัทธิวให้ตามพระองค์ไป
มัทธิวก็ลุกขึ้นออกจากโต๊ะที่กำลังทำงานเก็บภาษีอยู่ แล้วก็ตามพระเยซูคริสต์ไป ทำให้ชาวยิวไม่พอใจพระเยซูคริสต์ด้วย
คำสอนของพระเยซูคริสต์ข้อนี้ ผู้เขียนก็ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จากการเข้าร่วมกิจกรรมวันอาทิตย์ที่โบสถ์คริสต์ แต่ก็ไม่ “ลึกซึ้ง” อะไรเลย
จริงๆ แล้ว กลับรู้สึกหัวเราะ หึหึ ในใจ...
จนกระทั่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตและทำงานอย่างเต็มตัว ได้พบผู้คนหลากหลายอุปนิสัยและพฤติกรรม ความเป็นเพชรของคำสอนที่สองนี้จึงเด่นชัดขึ้น...
และมาตกผลึกเป็นหนึ่งใน “12 ข้อคิดเพื่อร่างกายกับจิตใจ” เป็นบทสรุปสุดท้าย ข้อที่ 8 (เมตตาให้คนคิดร้าย) ในหนังสือ “ผ่ามิติจินตนาการ” ของผู้เขียน (ผ่ามิติจินตนาการ, ชัยวัฒน์ คุประตกุล, พาบุญมา, 2553 : รางวัลหนังสือดีเด่นประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รู้จักเรียกกันเป็น รางวัลหนังสืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)
คำสอนของพระเยซูคริสต์ เพชรเม็ดที่สองนี้ สะท้อนความเป็น “ศาสนาแห่งความรัก” ของศาสนาคริสต์อย่างลึกซึ้ง และเพราะ “เมื่อเราถูกยั่วยุให้โกรธ ถ้าเราตอบโต้อย่าง...ตาต่อตา...ฟันต่อฟัน...ความเป็นสันติแห่งชีวิตก็จะหายไป แต่ถ้าเราตอบโต้ด้วย...ความรัก...ความมีเมตตา...การให้อภัย สมองและชีวิตของเราก็จะปลอดโปร่ง สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างแท้จริงได้"
2 เพชรคำสอนของพระพุทธเจ้า
ผู้เขียนก็เช่นเดียวกับชาวพุทธทุกคน ที่เห็นเพชรมากมายในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับการค้นหาเพชรคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงสองคำสอน ผู้เขียนยอมรับว่า ก็เป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดกับผู้เขียนเอง ที่มองเห็นเพชรงามที่สุดสองเม็ดในสายตาของผู้เขียนอย่างไม่ยากเย็นเลย
ทำไม?
เพชรคำสอนสองเม็ดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผู้เขียนได้พบ คืออะไร?
เพชรเม็ดที่สาม : ตน...เป็นที่พึ่งแห่งตน
ผู้เขียนพบเพชรเม็ดที่สามเร็วพอๆ กับที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของเพชรเม็ดที่หนึ่งและที่สอง แต่ไม่ต้องรอนาน จึงเห็นคุณค่าของเพชรเม็ดที่สาม
จริงๆ แล้ว ที่มาของการพบเพชรเม็ดที่สาม คือ การที่ผู้เขียนไม่สามารถจะหาซื้อหนังสือได้ตามใจชอบในช่วงสมัยเป็นเด็ก (ดู “ตามล่า...หาขุมทรัพย์ทางปัญญา”, เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566) ผู้เขียนจึง “อ่านแหลก” หนังสือในห้องสมุดและที่อื่นๆ รวมทั้งร้านกาแฟ และ “จดแหลก” ข้อมูลความรู้และความคิดดีๆ ของปราชญ์ และนักคิดชั้นยอดของโลก
เพชรเม็ดที่สามเป็นเพชรที่ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นพุทธวจน “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” แปลว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” ที่คุ้นเคยกันดี แต่สำหรับผู้เขียน จำได้ว่า ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ได้ “พบ” และ “จด” พุทธวจนนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ ที่มีคุณค่า และผู้เขียนก็ได้พยายาม “ยึด” ตามพุทธวจนนี้...
และยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็น “เข็มทิศวิเศษ” นำทางชีวิต ให้สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจได้จริง
อย่างแน่นอน การดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น การยึดมั่นในพุทธวจน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ มิได้หมายความว่า มนุษย์ทุกคนจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นเลย เพราะอย่างน้อย ทุกคนก็ต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงวันเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ต้อง “รับผิดชอบตนเอง” เต็มที่...
แต่หมายความว่า ต้องมุ่งดำเนินชีวิตโดย “พึ่งตนเอง” เป็นหลัก ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน โดยหวังพึ่งคนอื่น
เพชรเม็ดที่สี่ : การเป็นหนี้ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
เพชรเม็ดที่สี่ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ก็คล้ายกับเพชรเม็ดที่สาม คือ เป็นพุทธวจน “อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก” แปลตรงๆ คือ “การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก” ที่ผู้เขียน “จด” จนขึ้นใจเป็น “การเป็นหนี้ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง”
ที่มาของการค้นพบเพชรเม็ดนี้ สำหรับผู้เขียน ก็คล้ายกับกรณีของเพชรเม็ดที่สาม คือ พบตั้งแต่วัยเด็กที่ “อ่านแหลก” และ “จดแหลก” แล้วก็สะดุด (ชอบ) เมื่อพบพุทธวจนนี้
แต่ที่แตกต่างไปจากเพชรเม็ดที่สาม คือ ในขณะที่ความตระหนักในความเป็นเพชรของเม็ดที่สามค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ความเป็นเพชรของเม็ดที่สี่ “สว่างวาบ” ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และก็ไม่เคยลดความสว่างเลยถึงทุกวันนี้
อย่างตรงๆ เพชรเม็ดที่สี่ เป็นคำสอนที่ผู้เขียนยึดอย่างจริงจัง ตั้งแต่เด็ก...จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
อย่างไร?
เช่น :-
*ไม่มี (เงิน) ก็ไม่ซื้อ (ทุกอย่าง)
*ไม่มี (เงิน) ก็ไม่กิน (แล้วอยู่ได้หรือ? ผู้เขียนตอบได้เลยว่า อยู่ได้!)
*ไม่อยากได้ อยากมี สิ่งที่ไม่ควรได้ ไม่ควรมี
*ไม่รับของขวัญจากชาวกรีก (ดู “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก!”, เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่า คำสอนอันเป็นเพชรเม็ดที่สี่นี้ ก็มีขีดจำกัดสำหรับการใช้ประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งกรณี คือ นักธุรกิจ รวมทั้งนักลงทุน เพราะตามหลักธุรกิจและการลงทุน ย่อมจำเป็นจะต้องมีการระดมทุนหรือหาเงินทุน ซึ่งโดยปกติก็จำเป็นจะต้อง “กู้” (เป็นหนี้) ธนาคาร...
แต่สำหรับหลายอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการ ที่ทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างสุจริต ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยเป็นระดับเศรษฐีร้อยล้าน...พันล้าน...ได้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม ดังเช่นการยึดมั่นในคำสอนที่เป็นเพชรเม็ดที่สี่นี้ ผู้เขียนก็บอกอย่างมั่นใจได้ว่า...
“จะไม่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ก็จะไม่จน!”
เพชรเม็ดที่ห้า : ปัญญาเหมือนน้ำของขงจื๊อ
ขงจื๊อ เป็นหนึ่งในสองของ “ครู” หรือ “ปราชญ์” คนสำคัญของจีน คู่กับเหลาจื๊อ เป็น “เจ้า” ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าตามลำดับ
ขงจื๊อ มีประวัติชีวิตและคำสอนบันทึกชัดเจน ลัทธิหรือศาสนาขงจื๊อ เน้นความสัมพันธ์อันดีงามของทุกภาคส่วนของสังคม (ชนชั้นผู้ปกครอง, ประชาชน, ...) ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม จารีตประเพณีอันดีงาม และการเคารพนับถือบรรพบุรุษ...
ส่วนเหลาจื๊อ มีประวัติที่บันทึกไว้จริงๆ น้อย แต่ชัดเจนในหลักของลัทธิหรือศาสนาเต๋า เน้นความสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ ตาม “วิถีแห่งธรรมชาติ” (เต๋า หรือ Tao เป็นภาษาจีน แปลว่า วิถี หรือ way)
ขงจื๊อกับเหลาจื๊อ มีชีวิตร่วมสมัยกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยขงจื๊อเกิด 8 ปีก่อนการเสด็จสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ส่วนเหลาจื๊อมีอายุมากกว่าขงจื้อประมาณ 50 ปี
ขงจื๊อและเหลาจื๊อพบกันหนึ่งครั้ง โดยขงจื๊อเป็นฝ่ายเดินทางไปหาเหลาจื๊อ ขณะที่ขงจื๊อมีอายุประมาณ 35 ปี และเป็นอาจารย์ที่เริ่มมีชื่อเสียง มีสำนัก มีลูกศิษย์มากมาย
เพชรเม็ดที่ห้าที่ผู้เขียนคัดมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านเป็นคำตอบของขงจื๊อที่ตอบลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ถามว่า “อาจารย์เป็นครูมีชื่อเสียง มีความรู้ที่คนทั่วแผ่นดินยกย่อง แล้วทำไมอาจารย์จึงต้องเดินทางไกลไปหาเหลาจื๊ออีก?”
คำตอบของขงจื๊อคือ “สายน้ำที่ใสสะอาดก็เพราะน้ำไม่เคยหยุดไหล ถ้าน้ำหยุดนิ่ง น้ำใสก็จะกลายเป็นน้ำขุ่น นานๆ เข้าก็จะเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว”
เป็นคำตอบที่แสดงอย่างชัดเจนของคนมีความรู้ระดับคนเป็นครู เป็นปราชญ์ มีลูกศิษย์มากมาย แต่ก็ยัง “ถ่อมตน” ในความรู้ที่ตนมี และยังต้องแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ
สำหรับผู้เขียน คำตอบของขงจื๊อต่อลูกศิษย์เป็นคำตอบที่ “เตือนสติ” ของผู้ใฝ่รู้ว่า ความรู้ไม่มีหยุดนิ่ง ถ้าไม่มุ่งหาความรู้ใหม่เสมอ ความรู้ที่มีอยู่ก็จะไร้ประโยชน์ เหมือนน้ำนิ่งที่กลายเป็นน้ำเสีย!
5 เพชรคำสอนของมหาบุรุษและครูผู้ถ่อมตนที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ มีเพชรเม็ดใดตรงกับของท่านผู้อ่านบ้างครับ...
และตัวท่านผู้อ่านเอง มีเพชรคำสอนของ “ใคร” “อย่างไร” บ้างครับ?