ไทม์ไลน์ 7 เดือน สงครามภายในเมียนมา กับกองกำลังผสม ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กับยุทธการ “ป่าล้อมเมือง”...อาจจะใกล้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “พม่า” โดยหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศยึดอำนาจ บุกจับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และสมาชิกเอ็นแอลดี หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีแรงต่อต้านอย่างต่อเนื่อง... โดยล่าสุด มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า “เมืองเมียวดี” แตกแล้ว และกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ผนึกกำลังกองกำลังประชาชน หรือ PDF ยึดค่ายผาซอง หรือ กองพัน 275 ซึ่งเป็นค่ายใหญ่สุดท้ายได้สำเร็จ โดยมีกองกำลังทหารพม่าราว 400-500 คน ยอมจำนนก่อนจะมาถึงวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง... วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะไล่เรียงไทม์ไลน์ ที่เกิดขึ้น ดี” ให้ผู้อ่าน แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ได้ เข้าใจง่ายขึ้น...10 ต.ค. 66 เกิดเหตุปืนใหญ่ยิงถล่มค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่น ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) บริเวณใกล้พรมแดนจีน เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ศพ ในจำนวนนี้เป็นสตรีและเด็ก นายจอ ซอ โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลเงาเมียนมา แถลงประณามกองทัพเมียนมาเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะที่ พล.อ.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธอยู่เบื้องหลังการโจมตี ระบุว่าความเสียหายเกิดจากคลังอาวุธระเบิดและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ27 ต.ค. 66 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) กองทัพอาระกัน (AA) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) อ้างว่าสามารถยึดที่ตั้งทางทหารของกองทัพได้หลายแห่ง รวมถึงถนนเชื่อมเมียนมากับจีน ทั้งนี้ การสู้รบภายใต้รหัส “ปฏิบัติการ 1027” พันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์มีเป้าหมายเล่นงานแหล่งผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นบ่อนผิดกฎหมาย เหมืองแร่ ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งการสู้รบดังกล่าวส่งผลให้มีคนไทยตกค้างอยู่ในเมียนมาอย่างน้อย 162 คน 8 พ.ย. 66 กลุ่มพันธมิตรกองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาประสบความสำเร็จในการยึดเมืองกอลิน (ประชากร 25,000 คน) ในรัฐสะกาย ทางภาคเหนือ-กลางของเมียนมา ถือเป็นครั้งแรกที่กองกำลังต่อต้านรัฐบาลสามารถยึดเมืองใหญ่ระดับอำเภอ จากปกติที่จะยึดได้เพียงระดับหมู่บ้านหรือชุมชนกลุ่มเอ็นยูจีอ้างว่า หน่วยรบกองทัพเมียนมาที่รักษาเมืองได้ยอมจำนนวางอาวุธหลังปะทะกันมาอย่างหนักตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธพันธมิตรได้เข้ายึดสถานีตำรวจ อาคารเทศบาล ธนาคารเป็นที่เรียบร้อย 13 พ.ย. 66 สถานการณ์ความมั่นคงในเมียนมายังคงทวีความรุนแรงจากกรณี กองกำลังติดอาวุธประชาชน (PDF) ร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ บุกโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในรัฐทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมาตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐสะกายและรัฐฉานมีรายงานว่า การต่อสู้รบในตอนเหนือของรัฐฉาน กลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า สามารถยึดอาวุธจากค่ายทหารเมียนมา จำนวนมาก ทั้ง ปืนไรเฟิล ปืนกล กระสุน ไปจนถึงรถถัง เครื่องยิงจรวดและปืนใหญ่ 122 มม. 14 พ.ย. 66 รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้อำนาจกองทัพในการดูแลสถานการณ์ความมั่นคงอย่างเต็มรูปแบบใน 50 เมืองทั่วประเทศ รวมนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ไปจนถึงรัฐที่กำลังเริ่มเกิดความรุนแรง15 พ.ย. 66 กองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ที่จับมือเป็นแนวร่วมกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ บุกโจมตีเมืองและค่ายทหารของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หลังกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในรัฐกะยา ติดกับพรมแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย ได้ปฏิบัติการรุกภายใต้ชื่อรหัส 11.11 และประสบความสำเร็จในการยึดค่ายทหารของกองทัพเมียนมาแล้วอย่างน้อย 7 ค่าย รวมถึงบุกโจมตีค่ายทหารเมียนมาในพื้นที่เมืองลอยก่อว์ เมืองเอกของรัฐกะยาเช่นกันมีประชาชนอย่างน้อย 35,000 คน ได้หลบหนีจากพื้นที่สู้รบ ขณะที่ มีรายงานการโจมตีทางอากาศ อย่างน้อย 6 ครั้งในวันเดียว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 20 ศพ 19 พ.ย. 66 กองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงอ้างว่า หน่วยรบประสบความสำเร็จในการยึดฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมากว่า 20 แห่ง และกำลังมุ่งเน้นโจมตีเมืองลอยก่อว์ เมืองเอกของรัฐกะยา21 พ.ย. 66 กลุ่มการเมืองเก่าเมียนมาที่ตั้งตัวเป็นรัฐบาลเงาต่อต้านรัฐบาลทหารได้ประกาศระงับการโจมตีต่อกองทัพเมียนมาในรัฐกะยา ติดพรมแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครองค์การด้านมนุษยธรรมอพยพออกจากพื้นที่เมืองลอยก่อว์ เมืองเอกของรัฐกะยา ที่กองกำลังติดอาวุธประชาชนร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงพยายามตีช่วงชิงมาจากกองทัพเมียนมา26 พ.ย. 66 มีข่าวลือในนครย่างกุ้งของเมียนมาว่า กองทัพเมียนมาได้มีการเกณฑ์วัยรุ่นตามท้องถนนเพื่อไปทำหน้าที่ลูกหาบ จนทำให้ผู้คนพากันรีบกลับบ้าน บรรดาร้านค้าในเมืองพากันปิดร้านเร็วกว่ากำหนด จนบรรยากาศหลัง 19.00 น. เริ่มเงียบเหงาลงไปถนัดตา28 พ.ย. 66 กองทัพเรือจีนประกอบด้วยเรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือเสบียง รวม 3 ลำ เดินทางถึงท่าเรือติลาวะของเมียนมา เพื่อเตรียมการซ้อมรบร่วมกับกองทัพเรือเมียนมา แต่มิได้ระบุว่าการฝึกซ้อมจะเริ่มต้นเมื่อใด หรือจะเป็นการฝึกซ้อมในรูปแบบใด เปิดเผยเพียงว่า เป็นการฝึกเพื่อความมั่นคงทางทะเล และหน่วยรบจีนที่เดินทางมามีทหารเรือจีนอย่างน้อย 700 นาย30 พ.ย. 66 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งกับกองกำลังติดอาวุธประชาชน (PDF) และกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติการโจมตีค่ายทหารและเมืองฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาเป็นวงกว้าง “การสู้รบทางตอนเหนือของรัฐฉานที่กลุ่มติดอาวุธประชาชนร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง-ตะอาง-อาระกัน บุกโจมตีขนานใหญ่มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. ได้มีผู้เชี่ยวชาญการใช้โดรนติดระเบิดจากต่างชาติจำนวนหลายคนเข้าร่วมในปฏิบัติการถล่มค่ายทหารของกองทัพเมียนมา โดยเป็นการใช้โดรนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง”ทั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ได้ระบุว่ารายละเอียด หรือกล่าวหาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศใด... 3 ธ.ค. 66 องค์กรฝ่ายพลเรือนกว่า 600 แห่ง ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนยุติการเรียกร้องให้ประเทศเมียนมาจัดการเจรจาแบบครอบคลุม อาเซียนล้มเหลวในการทวงถามความรับผิดชอบของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ปิดหูปิดตาเมินเฉยความโหดร้ายทารุณ ด้วยการเรียกร้องให้เหยื่อผู้ถูกกระทำไปเจรจากับตัวการก่อเหตุฆ่าประชาชน พร้อมอ้างว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจับกุมประชาชนกว่า 25,000 คน เผาทำลายบ้านเรือนกว่า 76,000 แห่ง และมีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 4,200 คน 5 ธ.ค. 66 มีรายงานว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ได้ปฏิบัติการโจมตีเมืองเจาะจี ในรัฐพะโค ภาคกลางตอนล่างของเมียนมา และปะทะอย่างหนักหน่วงกับหน่วยทหารราบที่ 590 และ 599 ของกองทัพเมียนมาที่เสริมทัพด้วยหน่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีรายงานว่ากองทัพเมียนมาได้ติดต่อขอการสนับสนุนจากกองทัพอากาศทำการโจมตีภาคพื้นดินเพื่อสกัดกั้นการรุกของนักรบกะเหรี่ยงอย่างน้อย 32 ครั้ง6 ธ.ค. 66 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) อ้างว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ประสบความสำเร็จในการยึดฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในพื้นที่เมืองเจาะจี ในรัฐพะโค ภาคกลางตอนล่างของเมียนมา โดยนักรบกะเหรี่ยงกว่า 1,500 คน กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติการเก็บกวาดเพื่อขับไล่ทหารเมียนมาออกไปจากพื้นที่ให้หมด ถือเป็นครั้งแรกที่กองกำลังกะเหรี่ยงบุกชิงพื้นที่ในรัฐพะโคสำเร็จ8 ธ.ค. 66 นายตาน ฉ่วย รมว.ต่างประเทศเมียนมา ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งของจีน และขอให้รัฐบาลจีนเข้าช่วยเหลือ คลี่คลายสถานการณ์14 ธ.ค. 66 มีรายงานว่า กลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง-ตะอาง-อาระกัน (MNDAA) ระบุว่า ในการหารือแนวทางสันติภาพ ดังกล่าวไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น รวมถึงยังใช้เวลาในการหารือเพียง 10 นาทีเท่านั้น15 ธ.ค. 66 กลุ่มชาติพันธุ์ตะอาง หนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับโกก้างและอาระกัน บุกโจมตีกองทัพเมียนมาในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ยังคงปฏิบัติการสู้รบกับกองทัพเมียนมาอย่างดุเดือด โดยระบุว่าหน่วยรบพยายามบุกตีศูนย์บัญชาการที่ 105 ของเมียนมา บริเวณด่านพรมแดนจีน แม้ก่อนหน้านี้ แม้ที่ผ่านมาในวงเจรจา จะขอให้มีการหยุดยิง 20 ธ.ค. 66 กองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ MNDAA ในตอนเหนือของรัฐฉาน อ้างความสำเร็จในการบุกยึดฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมา ใกล้เมืองน้ำคำ ส่งผลให้ทหารเมียนมายอมจำนนกว่า 150 นาย เท่ากับว่ามีทหารเมียนมายอมจำนนไปแล้วกว่า 650 นาย นับแต่เดือน ต.ค.ผู้นำพม่าโบ้ยอังกฤษต้นตอปัญหา 24 ธ.ค. 66 รัฐบาลทหารเมียนมาจัดงานฉลองล่วงหน้าวันครบรอบ 76 ปี การประกาศเอกราชจากความเป็นอาณานิคมอังกฤษวันที่ 4 ม.ค. โดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมียนมา ย่อมมองได้ว่าเป็นผลกระทบจากนโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” ของอังกฤษในสมัยที่เป็นเจ้าอาณานิคม เข้ามาจัดการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ6 ม.ค. 67 กองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง ตะอาง และอาระกัน แถลงประกาศชัยชนะในเมืองเล่าก์ก่าย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เมียนมา ติดกับชายแดนจีน หลังทหารเมียนมาราว 2,400 นาย ยอมจำนนต่อกองกำลังพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ และเข้ายึดครองศูนย์บัญชาการของกองทัพเมียนมาในเมืองเล่าก์ก่ายได้เบ็ดเสร็จ12 ม.ค. 67 ว่า กลุ่มพันธมิตรกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (MDA) ในรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมาที่ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธโกก้าง (MNDAA) ตะอาง (TNLA) และอาระกัน (AA) ได้ตกลงกับทางการเมียนมา หยุดยิงทันทีโดยไม่มีการรุกคืบอีกต่อไป ในการเจรจาสันติภาพที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่นครคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อ 10-11 ม.ค. 67โดยมีรายงานว่า การสู้รบดังกล่าว ทำให้มีผู้พลัดถิ่นแล้วเกิน 300,000 คน14 ม.ค. 67 เกิดการปะทะอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สู้รบทางตอนเหนือของรัฐฉาน กลุ่มชาติพันธุ์ตะอาง (TNLA) กล่าวหาว่า กองทัพเมียนมาเป็นผู้ละเมิดเงื่อนไขหยุดยิงก่อน หลังทำการยิงปืนใหญ่กว่า 19 ครั้งใส่เมืองอย่างน้อย 3 เมืองในรัฐฉาน11 ก.พ. 67 รัฐบาลเมียนมาได้บังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ที่จะเปิดทางให้กองทัพเมียนมาหรือกองทัพ “ตัตมาดอว์” เรียกตัวชาวเมียนมาเพศชายอายุระหว่าง 18-35 ปี เข้ารับราชการกองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือสูงสุด 5 ปี ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับโทษจำคุก 2-5 ปี4 เม.ย. 67 สถานการณ์ความไม่สงบจากการสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมาทางตอนเหนือของเมียนมาติดชายแดนจีนทวีความรุนแรง กองทัพจีนจะยกระดับการเฝ้าระวังระดับสูง พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในการลาดตระเวนพื้นที่ตามแนวชายแดน 7 เม.ย. 67 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้าง กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูในรัฐกะยิน ติดกับพรมแดนประเทศไทยว่า หลังจากสู้รบมานานหลายสัปดาห์ กองพันทหารราบสังกัดกองทัพเมียนมา ที่ทำหน้าที่ปกป้องเมืองเมียวดี เมืองการค้าและด่านข้ามพรมแดนสำคัญกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ตัดสินใจยอมจำนนต่อกลุ่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยูแล้วในที่สุดขณะที่สื่อต่างประเทศอีกแห่ง ของสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ก็กำลังประสบความปราชัยในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กองทัพอาระกัน ยังคงปฏิบัติการรุกคืบอย่างต่อเนื่อง ยึดเมืองได้อย่างน้อย 6 เมือง จากทั้งหมด 17 เมือง รวมถึงยึดค่ายทหารกองทัพเมียนมาได้อย่างน้อย 170 แห่ง ในจำนวนนี้รวมถึงระดับกองบัญชาการกองพัน และศูนย์ฝึกทหาร ขณะที่เมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ อยู่ระหว่างการถูกโอบล้อม 8 เม.ย. 67 สื่อในเมียนมารายงานว่า หลังเกิดการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยูและกองกำลังปกป้องประชาชน หรือพีดีเอฟ ที่บ้านปางกาน เมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก กองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถบุกเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธีของทหารเมียนมาได้แล้ว แม้ทหารเมียนมาจะพยายามรักษาที่มั่นโดยใช้อาวุธปืน ค. และเครื่องบินทิ้งระเบิด ก็ไม่สามารถต้านทานได้ จนถึงขณะนี้ ฝ่ายทหารเมียนมาถูกยึดค่าย 7 แห่งและบก.ยุทธวิธี 1 แห่ง มีกำลังพลเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสู้รบจำนวนมาก ทหารเมียนมาบางส่วนล่าถอยออกไปบางส่วนขอยอมแพ้และถูกจับเป็น จากการเข้าตรวจสอบใน บก.ยุทธวิธีของทหารเมียนมาที่ฝ่ายกะเหรี่ยงยึดได้ พบปืนใหญ่ และปืนขนาดต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งอาวุธประจำกายปืนเล็กยาวหลายร้อยกระบอก และกระสุนปืนจำนวนมากทำให้เมืองเมียวดี เมืองเอกการค้าชายแดนเมียนมากับไทย ใกล้จะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายต่อต้าน อย่างไรก็ดี ยังคงมีที่ตั้งกองพัน 375 อยู่ในเขตเมืองเมียวดีอีกแห่งที่เป็นค่ายใหญ่ หากมีการสู้รบต้องส่งผลกระทบต่อเขตไทยอย่างแน่นอน 9 เม.ย. 67 ทหารไทยตรึงกำลังเข้มชายแดนแม่สอด หลังสถานการณ์การสู้รบในฝั่งเมียนมายังตึงเครียด หวั่นผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเมียวดีแห่ทะลักเข้าไทย ขณะที่ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งยังดำเนินชีวิตตามปกติ มีรายงานว่า ทหารฝ่ายต่อต้านกับทหารเมียนมาในกองพัน 275 อยู่ระหว่างการเจรจากันเพื่อลดการสูญเสีย เนื่องจากกองพัน 275 มีพื้นที่ติดกับเมืองเมียวดี ห่างจากชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เพียง 5 กม. เป็นการสุ่มเสี่ยงและอันตรายเป็นอย่างมากถ้าหากทหารทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดศึกปะทะกันเพื่อเข้ายึดกองพัน 275 จะส่งผลกระทบทำให้มีคลื่นผู้อพยพหนีภัยสงครามทั้งเมืองเมียวดีอาจจะทะลักข้ามแนวชายแดนเข้ามาในพื้นที่ อ.แม่สอด 11 เม.ย. 67 มีรายงานว่า เช้ามืดวันนี้ ทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู พร้อมทหารเคเอ็นแอลเอ ซึ่งสนธิกำลังกับทหารกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ ได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 4 ลำ บินทิ้งระเบิดหลายรอบ ที่บริเวณที่ตั้งค่ายผาซอง กองพัน 275 ซึ่งฐานที่มั่นแห่งสุดท้ายของทหารเมียนมาในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งภายในค่ายผาซองเป็นที่ตั้งของหน่วยรบกองพลเบาที่ 44 ส่วนหน้า ซึ่งดูแลเมืองเมียวดี และส่งผลทำให้ทหารฝ่ายต่อต้านสามารถบุกเข้ายึดฐานที่มั่นค่ายผาซองจากทหารเมียนมาได้สำเร็จ พร้อมยึดอาวุธทั้งปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด อาวุธปืนประจำกายทหารเมียนมาพร้อมเครื่องกระสุนจำนวนมากโดยมีรายงานด้วยว่า ได้มีทหารเมียนมาจำนวนกว่า 200 นาย ได้หลบหนีออกจากค่ายผาซอง พร้อมเปลี่ยนชุดเครื่องแบบจากเครื่องแบบทหารเมียนมาเปลี่ยนเป็นชุดชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เมียวดียังไม่แตก และเป็นเรื่องภายในประเทศเขา แต่ได้กำชับไปยังกองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศให้ส่งข้อความอย่างชัดเจนว่า หากมีปัญหาภายในก็อย่าให้ล้นออกมา และจะโทรศัพท์หา ผบ.ทอ. หากมีการสู้รบกัน เราไม่ยอมรับให้ใช้น่านฟ้าไทย”