"เมียวดี" ถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดครองเกือบหมดแล้ว หลังสงครามทหารเมียนมา ยืดเยื้อมานาน นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายของ "มิน อ่อง หล่าย" ผู้นำปฏิวัติรัฐประหาร นักวิเคราะห์มองปัจจัยความพ่ายแพ้ มาจากประชาชนในเมืองส่วนใหญ่ต่อต้าน จากนี้จะได้เห็นยุทธการเด็ดปีกผู้นำ รวดเร็ว รุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้ เนื่องจากคนรอบข้างเริ่มหวาดระแวงกันเอง ยิ่งสู้ยิ่งโดดเดี่ยว 

กลางดึกวันที่ 7 เม.ย. 67 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก มีรายงานเครื่องบินเช่าเหมาลำจากรัฐบาลเมียนมา ลงจอดเพื่อรอรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐของเมียนมา ที่อยู่ในเมืองเมียวดี ที่ขอลี้ภัยมาขึ้นเครื่องกลับไปยังเมืองหลวงของเมียนมา แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีการส่งมอบตัวประกัน ทำให้เครื่องบินต้องตีเปล่ากลับไป และทำการยกเลิกเที่ยวบินในวันต่อมา

มีรายงานว่า เมืองเมียวดี ได้ถูกกองกำลังทหารกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังทหารปกป้องประชาชน (PDF) เข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมา ได้เกือบหมดแล้ว แม้มีคำถามถึงรัฐบาลไทย ที่ให้เครื่องบินเช้าเหมาลำลงจอด แต่มีการแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศไทย ถึงการช่วยเหลือทุกฝ่ายที่ได้รับความเดือดร้อน จากสงครามด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

...

ด้านท่าทีของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาอย่าง "มิน อ่อง หล่าย" ยังไม่มีรายงานการออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างประเทศ แต่ในมุมนักวิเคราะห์หลายท่านกลับเห็นตรงกันว่านี่อาจเป็นสัญญาณอันตราย ที่ผู้นำทหารขยับใกล้เข้าสู่การล่มสลายทางอำนาจ

“Myint Wai” ผู้จัดการมูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า ที่ติดตามสถานการณ์สงครามในประเทศบ้านเกิดวิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่เมืองเมียวดี มีกองพันทหารของรัฐบาลพม่าประมาณ 3 กองพัน โดยกองกำลังทหารกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังทหารปกป้องประชาชน (PDF) ได้เข้ายึดครองฐานที่มีทหารฝ่ายรัฐบาลแล้วบางส่วน แต่มีอีกกองพันของรัฐบาลทหารพม่า ยังไม่ยอมวางอาวุธ

จากการประเมินสถานการณ์ กองพันทหารของรัฐบาลพม่า ที่ตกค้างอยู่ในเมืองเมียวดี และไม่ยอมวางอาวุธ ไม่น่าจะต่อสู้กับกองกำลังทหารกะเหรี่ยงได้นาน เพราะเส้นทางการส่งอาหาร เพื่อให้กับทหารที่ตั้งรับภายในค่าย ถูกดักไว้หมดแล้ว

ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้กำลังทหารกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังทหารปกป้องประชาชน (PDF) เข้ายึดเมืองเมียวดี เนื่องจากประชาชนภายในเมือง ต่างไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า และด้วยแผนยุทธวิธีของกองกำลังกะเหรี่ยงที่ตัดเส้นทางขนส่งอาหารให้กับทหารพม่า ทำให้กองทัพเริ่มอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ

“พลังประชาชนในเมืองเมียวดี ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในเมืองนี้ค่อนข้างแข็งแรง และเมื่อกลุ่มทหารกะเหรี่ยงยึดเมืองได้ ก็ทำให้กลุ่มที่ต่อต้านในเมืองอื่น เริ่มแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการที่เมืองเมียวดี ถูกยึดครองก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้บรรดาผู้นำและทหารในกองทัพเริ่มวิตกกังวลกับสถานการณ์อำนาจต่อจากนี้”

การเจรากับฝ่ายต่อต้านไม่น่าเกิดขึ้น

กองกำลังทหารกะเหรี่ยง ที่เข้ายึดครอง "เมียวดี" ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะนำสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ “Myint Wai” ผู้จัดการมูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการเจรจาในช่วงเวลานี้ เพราะสงครามโดยรวมยังไม่ได้ก้าวสู่จุดสุดท้าย ตอนนี้กลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า ยิ่งไม่อยากเจรจา เขารู้ว่าช่วงเวลานี้รัฐบาลกำลังล่าถอย ประกอบกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมีเพิ่มขึ้น

ด้านทหารที่ต่อสู้เพื่อผู้นำรัฐบาลอย่าง "มิน อ่อง หล่าย" ก็เหลือน้อยลงเรื่อยๆ หลายคนที่ยังอยู่ก็กลัวว่าถ้ายอมแพ้แล้วจะมีความอันตรายมาถึงตัวเองและครอบครัว ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความหวาดระแวงกันเองมากขึ้น ทำให้การเดินหน้าเพื่อสู้กับกลุ่มต่อต้าน เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจระหว่างพวกเดียวกันเอง

...

น่าสนใจว่า ที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลพม่ามีปัญหากับกลุ่มต่อต้าน มักเปิดโอกาสให้ "อองซานซูจี" มีบทบาทในการเป็นคนกลางเพื่อเจรจา แต่สงครามครั้งนี้ แทบไม่มีบทบาท ท่ามกลางความสงสัยของประชาชนว่า เธอยังอยู่ในสถานที่ควบคุมหรือไม่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายประเทศในโลก เริ่มโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารพม่า ยิ่งเป็นสัญญาณ ที่ทำให้ "มิน อ่อง หล่าย" ใกล้ถึงเวลาลงจากตำแหน่งสูงสุด และอาจมีแนวโน้มว่าจะเกิดการรัฐประหารรัฐบาล "มิน อ่อง หล่าย" อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โดยรวม ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้อาจถูกกลุ่มต่อต้านรุกคืบเข้ามามากขึ้น

...

"มิน อ่อง หล่าย มีโอกาสที่จะต้องลงจากตำแหน่งสูงสุดได้ภายในปีนี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ล้วนต้องเจอกับความอันตราย เนื่องจากคนรอบตัวเริ่มเกิดความระแวงกันมากขึ้น ในส่วนท่าทีของประเทศไทย ต้องใช้ความระมัดระวังในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและประชาชนชาวเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน"