กรณีศึกษา “ไต้หวัน” เจอแผ่นดินไหว บ่อยครั้ง เหตุตั้งอยู่ในพื้นที่วงแหวนแห่งไฟ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทางรอดที่เขาใช้คือการสร้างตึกรองรับแรงเขย่า แต่ต้องเพิ่มคอสต์ก่อสร้าง 20-30% 

ถือเป็นภัยธรรมชาติ ที่น่าหวาดหวั่นที่สุด สำหรับเหตุแผ่นดินไหว และเช้านี้มันเกิดขึ้นที่ “ไต้หวัน” ดินแดนที่ไม่ห่างจากไทยนัก ที่สำคัญคือ แรงเขย่าสูงถึง 7.4 แมกนิจูด ระดับความลึก มากกว่า 27 กิโลเมตร แถมยังมีการแจ้งเตือน “สึนามิ” กับคลื่นความสูงถึง 3 เมตร 

สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือ แม้แผ่นดินไหวจะรุนแรงมาก เรียกว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี แต่สภาพอาคารบ้านเรือน ตัวเลขผู้เสียชีวิต ไม่ถึงขั้นวิกฤติ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์เดียวกันกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายกิตติ บุญแสง ผู้ชำนาญการสภาวิศวกรและกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เพื่อวิเคราะห์ การรับมือของไต้หวัน กับภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว 

...

ไต้หวัน แผ่นดินไหวบ่อย เพราะอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ มีรอยต่อแผ่นเปลือกโลก

นายกิตติ เริ่มต้นอธิบายว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า “ไต้หวัน” นั้นอยู่ในโซนประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ “วงแหวนแห่งไฟ” ฉะนั้น เขาจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับทุกชีวิต  

“การเกิดแผ่นดินไหว สาเหตุมาจากเปลือกโลกที่มีการขยับ และมีการเกยกันในหลายๆ แผ่นเปลือกโลก โดยลึกลงไปอยู่แกนกลางของโลก คือ ลาวา ซึ่งของเหลวนี้ มีการเคลื่อนตัวตลอดเวลาในแกนโลก เมื่อเป็นอย่างนี้ จะมีการ “สะสม” เป็นพลังงานความร้อน และมันก็พยายามหาทางระบาย ซึ่งหลักการของแผ่นดินไหวนี้ ก็เหมือนเราต้มน้ำร้อน หากมีการสะสมความร้อนจนเดือด ไอร้อนมันก็จะเพื่อมฝากาน้ำร้อนและดันฝากาให้เปิด แผ่นดินไหวก็เป็นเช่นนี้ คือ เขาพยายามดันเปลือกโลกให้ขยับ เพื่อให้ความร้อนออกมา...”

นายกิตติ อธิบายต่อไปว่า สำหรับ “ไต้หวัน” นั้น เขาอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นที่ซ้อนกันอยู่ เมื่อสะสมพลังงานระดับหนึ่ง แผ่นเปลือกโลก ในไต้หวัน ก็จะขยับตัวได้ แต่สิ่งที่เป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง คือ เหตุการณ์ครั้งนี้ จุดศูนย์กลางอยู่ค่อนข้างลึกจากผิวดิน หากตื้นในระดับ 5-10 กิโลเมตร ความเสียหายจะมีมากกว่านี้ 

นี่คือ คำอธิบายของ ในประเด็น “แผ่นดินไหว” ในไต้หวัน...

การสร้างอาคารเพื่อรับมือแผ่นดินไหว 

ส่วนเรื่อง “อาคาร” และ การรับมือของแผ่นดินไหว นั้น นายกิตติ เผยให้เห็นว่า เพราะเขาเจอแบบนี้ตลอด ฉะนั้น เขาจึงต้องเตรียมพร้อมในส่วนการออกแบบอาคาร ใน Building code เพื่อรับแผ่นดินไหว ซึ่งมันมีกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ หากมีพลังงานดันขึ้น แผ่นดินเกิดการขยับเขย่า พลังงานเหล่านั้นจะส่งมาสู่ตึก ตึกต้องขยับตัวเพราะรับพลังงานเข้ามา 

ดังนั้น หากเป็นตึกที่อยู่ในโซนแผ่นดินไหวอย่างเช่นไต้หวัน เขาก็จะเสริมด้วยการทำที่จุดต่อระหว่างอาคาร ให้ช่วยสลายพลังงานได้ 

“เวลาเกิดแผ่นดินไหว หากไม่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับ จุดที่จะถูกทำลายและทำให้อาคารถล่ม มันจะอยู่ระหว่าง “เสา” และ “คาน” เพื่อแก้ปัญหานี้ เวลาออกแบบ จึงต้องใส่อุปกรณ์และกระบวนการต่างๆ เพื่อ “สลาย” แรงเขย่าในบริเวณเหล่านั้น” 

ผู้ชำนาญการสภาวิศวกร จาก วสท. ชี้ว่า หลักการออกแบบตึกในการต้านแผ่นดินไหว สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ให้มีคนตาย ดังนั้น ตึกที่อยู่ในโซนแผ่นดินไหว จะต้องสร้างและเน้นไปที่ “จุดต่อ” ของตึก หน้าที่คือ การสลายพลังงาน และทำรอยต่อระหว่างเสากับคานให้เหนียว ฉะนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะต้องทำจุดต่อให้เหนียว เพื่อไม่ให้ล้มมาข้างหลัง โดยเป็นหลักการในการออกแบบให้ถูกต้อง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโซนและดีกรี ของอาคาร เช่น โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เขาจะยกระดับการสร้างไปที่จุดต่อมากๆ ฉะนั้น เวลาจะสร้างอาคารเหล่านี้ สิ่งที่ตามมา คือ “งบประมาณ” ที่บานปลายออกไป 

การสร้างตึก เพื่อรองรับแผ่นดินไหว นั้น ต้องเพิ่มเงินในการก่อสร้างขึ้น 20-30% ตามความสำคัญของตึก เพราะต้องรักษาชีวิต ต้อง “ห้ามพัง” เพราะหากโรงพยาบาล ศูนย์ดับเพลิงพัง ในเวลาที่วิกฤติ แปลว่าโอกาสที่คนอื่นจะรอดนั้น จะยากมากไปด้วย 

...

สิ่งเหล่านี้ เขาจะเรียกว่า ค่าประกอบความสำคัญในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งต้องคูณสิ่งที่จะรับมือเพิ่มไปอีก 1.5-2 เท่า หมายความว่า หากคิดว่า จะเกิดแผ่นดินไหวเท่าไร ต้องคูณเพิ่มไปอีก 1.5 หรือ เท่าตัว 

“หากเป็นกรณีตึกสูงมาก หรือ ตึกสูงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เชื่อว่าน่าจะมีการเสริม อุปกรณ์ที่ฐานอาคาร เขาเรียกว่า damper ซึ่งหากมีการติดตั้งไว้ ก็จะช่วยไม่ให้ตึกสั่นไหวมาก” 

ขอบคุณคลิป Taiwan News 


อาคารบ้านเรือนวินาศ อาคารเอียง จะรื้อทิ้ง หรือ ซ่อมแซม กลับมาใช้ 

หากอาคารเอียง ต้องรื้อสร้างใหม่ หรือ กลับไปใช้ได้ นายกิตติ บอกว่า มันต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนว่าอาคารนั้นๆ ปลอดภัยหรือไม่ ถ้าดูแล้วไม่ปลอดภัยก็จำเป็นต้องรื้อทุบทิ้ง หากอาคารไหนซ่อมได้ก็ซ่อม 

เลเวลในการออกแบบนั้น ตรงกับเงื่อนไขโซน และ ระดับอาคารที่ให้ความสำคัญหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจ จะขึ้นอยู่กับความเสียหายในเลเวลต่างๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3-4 เลเวล หากเป็นอาคารที่มีความสำคัญมาก ที่มี “นิวเคลียร์” แบบนี้ เขาก็ต้องออกแบบป้องกันสูงสุด ซึ่งขนาดที่ “ญี่ปุ่น” (กรณี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ) เจอแรงเขย่าเยอะๆ ก็ไม่รอด 

เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ ว่าของไต้หวัน มีการออกแบบรองรับสูงสุดขนาดไหน นายกิตติ เชื่อว่า น่าจะรับได้ถึง 7-8 แมกนิจูด เพราะเขาอยู่ในโซนแผ่นดินไหว.... 

...

จาก “ไต้หวัน” มองไทย กับปัจจัย ที่ “แตกต่าง” กัน 

นายกิตติ กล่าวว่า ประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในโซนที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเหมือน จีน ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จะเจอหนักมาก แต่ “เรา” อยู่ในโซนที่ได้รับผลกระทบ คือ เมื่อไหร่เกิดแผ่นดินไหว ประเทศไทย อาจจะได้รับ “คลื่น” หรือที่เรียกว่า แรง G มันจะวิ่งตามพื้นดิน แล้วมันค่อยๆ ลดทอนตัวเอง ตามระยะทาง 

โดยรวม เราจะเรียกว่า response spectrum คือ การตอบสนองจากคลื่น โดยแต่ละพื้นที่จะมีการตอบสนองจากคลื่นแผ่นดินไหวไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับประเภทของดิน และภูมิประเทศ หากมีคลื่น แผ่นดินไหว จากที่ใดที่หนึ่ง แล้วคลื่นวิ่งมา เมื่อมาถึงพื้นที่ตั้งอาคาร อาจจะทำให้อาคารของเราสั่น ฉะนั้น “ข้อมูล” เหล่านี้ ทางหน่วยงานราชการได้เก็บไว้หมดแล้ว โดยหน่วยงานราชการได้มีการ จ้าง “AIT” สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ไปเก็บค่าอัตราตอบสนองของเมืองไทยไว้แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เรามีคือ “ชุดข้อมูล” สำหรับวิศวกรออกแบบอาคาร โดยกฎหมายของไทย มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย เฝ้าระวัง, ได้รับผลกระทบปานกลาง และ ได้รับผลกระทบรุนแรง 

...

ทั้ง 3 โซนนี้ มีวิธีการออกแบบ แตกต่างกัน ซึ่งทั้ง 3 โซนนี้ครอบคลุมประมาณ 44 จังหวัด ส่วนอีก 33 จังหวัดประเมินว่ายังไม่ได้รับผลกระทบ ฉะนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งเขาจะเก็บสถิติไว้หมด 

สำหรับ กทม. จัดอยู่ในโซนที่ 2 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ กทม. มีแอ่งดินขนาดใหญ่ พอคลื่นแผ่นดินไหวเข้ามา ก็อาจจะขยายคลื่นได้ ดังนั้น โซน กทม. สมุทรปราการ บางพื้นที่ พระนครศรีอยุธยา บางอำเภอ จะเป็นแอ่งเดียวกัน 

ขณะที่ โซน 3 อาทิ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี รวมๆ กว่า 10 จังหวัด กลุ่มเหล่านี้ต้องเฝ้าระวังผลกระทบรุนแรง ฉะนั้น การออกแบบ อาคารของวิศวกร จะต้องไปนำข้อมูลมาประกอบในการออกแบบ ดูว่าสถานที่ตั้งอยู่โซนไหน โอกาสเป็นอย่างไร 

เมื่อถามว่า “ภาพรวม” อาคาร ใน กทม. น่าเป็นห่วงหรือไม่ กรรมการอำนวยการ วสท. ตอบทันที ว่ายังไม่น่าห่วง เพราะช่วงหลัง ผู้ออกแบบทุกท่านมีความรู้กันหมด งานที่ออกแบบจึงต้องทำตามกฎกระทรวง มิเช่น นั้น เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการออกใบอนุญาตก่อสร้างต้องเข้ามาควบคุมดูแล ถ้าออกแบบแล้วไม่คำนวณผลกระทบ ก็จะไม่ได้อนุญาต 

เมื่อถามว่า ใน กทม. เรารับได้แค่ไหน กี่แมกนิจูด นายกิตติ ตอบว่า สถิติที่เราใช้ และที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ แผ่นดินไหวที่แม่ฮ่องสอน ขนาด 6.4 แต่ตอนนั้น มันเกิดจากรอยเลื่อนของผิวโลก ซึ่งแตกต่างจากเปลือกโลก เพราะในประเทศไทยนั้น ลึกลงไปในดินหลายสิบกิโลเมตร บางที่มีรอยแยกของดินอยู่ ไม่ใช่เปลือกโลก แต่สภาพธรณีวิทยาของเรา เราพบรอยแยกของดินอยู่แล้ว และตอนนั้นมันขยับตัว...”

จากตรงนี้ ย้อนกลับคำถามที่ว่า อาคารในกรุงเทพฯ รับได้เท่าไร ก็ต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ที่แม่ฮ่องสอน วันนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดรอยร้าวของพนังบ้าง แต่ไม่กระทบกับโครงสร้าง ที่เห็นกระทบ คือ เป็นรอยต่อที่พนังก่ออิฐ ไม่ใช่เสาและคาน 

นายกิตติ บอกว่า เราอย่าตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะเรามีกฎหมายมา 10 กว่าปีที่แล้ว เพื่อควบคุม ให้ผู้ออกแบบคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งทุกตึก 15 เมตร ขึ้นไป จะถูกควบคุมหมด ออกแบบมาเพื่อรับแผ่นดินไหว หากอยู่ในโซน 3 ก็คือ 10 เมตรขึ้นไป ยกตัวอย่างในเชียงราย เชียงใหม่ โครงการจัดสรร คลับเฮาส์ คือ บ้านต้องออกแบบเพื่อรับแผ่นดินไหว 

เมื่อถามว่า มีอาคารที่สร้างก่อนกฎหมาย (กฎหมายออกปี 2550) ก็มีเยอะ จะทำอย่างไร นายกิตติ บอกว่าเรื่องนี้ตอบยาก เพราะจะบังคับใช้ก่อนมีกฎหมาย ก็เกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน อย่างไรก็ดี เขาก็มีกฎหมาย กรณีการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน เขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ