อัปเดตความพยายามครั้งล่าสุด กับการส่งมนุษย์สู่ดาวอังคาร กับคำถามน่าคิดว่า ไปทำไม? อ่านเบื้องหลัง กับคอลัมน์ #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์
การเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคาร!
อีกไม่นานเกินรอการเดินทางของมนุษย์สู่ดวงจันทร์ครั้งใหม่กับโครงการอาร์เตมิส (Artemis) ของนาซา ก็จะเกิดขึ้น และก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น...
แต่สำหรับผู้เขียนสิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าและเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นก่อนตาย (อีกสองสิ่งคืออะไร ดู “3 สิ่งอยากเห็นก่อนตาย” , “ชัยวัฒน์ คุประตกุล, นิตยสาร MBA ฉบับ September 2009) คือ การเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคาร
ฉะนั้นเมื่อผู้เขียนได้เห็นประกาศของนาซารับสมัครผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในสภาพการณ์จำลองบนดาวอังคารเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้เขียนยอมรับว่าก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา...
เพราะผู้เขียนเริ่มรู้สึกมีความหวังขึ้นมาใหม่ที่จะได้เห็นการเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคารก่อนตาย
“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปร่วมสำรวจสภาพการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อการเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคาร โดยเป็นการอัปเดตเรื่องของความพยายามของมนุษย์ สำหรับการเดินทางไปสู่ดาวอังคาร ที่ผู้เขียนได้เล่าสู่ท่านผู้อ่านไปแล้ว ใน “คำถามที่น่าคิด...ไปทำไม...ดาวอังคาร” (“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565) โดยจะโฟกัสที่ความพยายามอย่างดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดถึงขณะนี้
...
ประกาศนาซา รับสมัครมนุษย์ดาวอังคาร
ประกาศของนาซาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 พาดหัวตัวโตว่า “Martians Wanted” แปลตรงๆ คือ “ต้องการมนุษย์ดาวอังคาร”...
ตามด้วยข้อความขยายว่า “นาซาประกาศรับอาสาสมัครเพื่อมิชชันจำลองหนึ่งปีบนดาวอังคาร”
ผู้เขียนตื่นเต้นเพราะอยากสมัครใช่ไหม?
ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัย หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ว่า อยากไปดาวอังคาร เพราะอยากดูท้องฟ้าสีแดงสดยามตะวันตกดินบนดาวอังคาร
ดังนั้นในใจลึกๆ ของผู้เขียนก็อยากสมัคร!
แต่ก็รู้ตัวว่ามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศของนาซาทั้งหมด
คุณสมบัติตามประกาศของนาซาที่ผู้เขียนพอจะมีอยู่คือเป็นชายหรือเป็นหญิง (ไม่มีปัญหา) จบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี ไม่สูบบุหรี่ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ชำนาญ (ผู้เขียนคงไม่ถึงกับ “ชำนาญ” แต่คิดว่า พอผ่านได้)
แต่คุณสมบัติใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนไม่ผ่าน คือ ต้องมีอายุระหว่าง 30-55 ปี (ผู้เขียนมีอายุเกินเกณฑ์หลายสิบปี) หรือเป็นนักบินที่มีชั่วโมงการบินมากกว่า 1,000 ชั่วโมง (ผู้เขียนเคยนั่งเครื่องบินในช่วงที่มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการนั่งเครื่องบินในฐานะผู้โดยสาร) แล้วก็สำคัญที่สุด ผู้สมัครต้องมีสัญชาติอเมริกัน หรือเป็นผู้พำนักถาวรในสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนมีสัญชาติเดียวคือไทย แต่ในสหรัฐอเมริกามีคนไทยจำนวนมากที่ได้รับสัญชาติอเมริกันหรือมีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนจึงแอบลุ้นว่าอาจมีคนไทยที่อย่างน้อยได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกและเยี่ยมยอดที่สุดถ้าได้รับการคัดเลือกให้มีประสบการณ์จำลองบนดาวอังคาร
ตามประกาศรับสมัคร “มนุษย์ดาวอังคาร” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันประกาศ จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครคือ 2 เมษายน ค.ศ. 2024 และผู้ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าไปใช้ชีวิตเป็นเวลาหนึ่งปี (เวลาบนโลก) ในสถานีจำลองการอาศัยอยู่ของมนุษย์บนดาวอังคาร เริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิของสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 2025
มิชชันการใช้ชีวิตในสถานีจำลองบนดาวอังคารนี้มีชื่อเรียกว่า แชปพี (CHAPEA) จากชื่อเต็ม Crew Health And Performance Exploration Analog (การจำลองภารกิจสุขภาพและปฏิบัติการของคณะ) โดยผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 4 คน จะเข้าไปใช้ชีวิตจำลองสภาพการณ์บนดาวอังคาร ในสถานีทดลองมีชื่อเรียกว่า Mars Dune Alpha (ดูนอัลฟาดาวอังคาร) มีพื้นที่ 158 ตารางเมตร อยู่ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน ในฮุสตัน
ภารกิจที่คณะสี่คนต้องปฏิบัติคือการทดลองใช้ชีวิตเสมือนอยู่บนดาวอังคารจริงๆ ดำเนินชีวิตประจำวัน ทำงานการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์สำรวจดาวอังคาร ดูแลเรื่องสุขภาพทั้งร่างกายและอารมณ์ ปลูกพืชและอื่น...
...
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการเตรียมการส่งมนุษย์ไปอยู่อย่างถาวรบนดาวอังคารในอนาคตของนาซา
ดังนั้นภารกิจจึงมีทั้งส่วนเป็นเสมือนกับการใช้ชีวิตอย่างเป็นปรกติบนดาวอังคารและในสถานการณ์เกิดเหตุขัดข้องหรือปัญหาต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการใช้ชีวิตบนดาวอังคารหรือเหตุขัดข้องอื่นๆ ทั้งนี้ในสถานีทดลองอยู่บนดาวอังคารต้องเผื่อเวลาสำหรับการสื่อสารระหว่างโลกกับดาวอังคารที่ต้องใช้เวลามากที่สุดประมาณ 20 นาทีด้วย (จริงๆ แล้ว ก็อยู่ระหว่าง 5 ถึง 20 นาที)
3 มิชชันจำลองการอยู่บนดาวอังคาร
ถึงวันนี้ (วันที่ 09 มีนาคม ค.ศ. 2024) มิชชันจำลองที่กำลังประกาศรับสมัคร เป็นมิชชันที่สองของนาซา จากทั้งหมดรวม 3 มิชชัน...
โดยมิชชันที่หนึ่งหรือ มิชชันแชปพี 1 ประกอบด้วยผู้ได้รับการคัดเลือกจากนาซารวม 4 คน กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในสถานีจำลองการอยู่บนดาวอังคารซึ่งเริ่มมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2023
ทั้งนี้นาซาได้กำหนดแผนปฏิบัติการจำลองการอยู่บนดาวอังคารแชปพีเป็น 3 มิชชัน
...
มิชชัน 1 (แชปพี 1) กำหนดเวลาการทดลองคือ ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2024
มิชชัน 2 (แชปพี 2) กำลังประกาศรับสมัคร กำหนดเริ่มต้นปฏิบัติการในสถานีทดลองปี ค.ศ. 2025 เป็นเวลาหนึ่งปีของโลก
มิชชัน 3 (แชปพี 3) นาซากำหนดแผนไว้เป็นเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2026 เป็นเวลาหนึ่งปีของโลก
ทำไมนาซาจึงต้องมีถึง 3 มิชชัน สำหรับการจำลองการอยู่บนดาวอังคาร?
คำตอบตรงๆ คือในการทดลองตามแผนที่หนึ่ง (มิชชัน 1) เป็นการกำหนดแผนภารกิจของอาสาสมัคร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับสภาพเป็นจริงของดาวอังคารมากที่สุด จากที่เคยสำรวจดาวอังคารมาก่อน
สำหรับมิชชัน 2 เป็นปฏิบัติการเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวส่งมนุษย์ไปดาวอังคารให้ดีที่สุด โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ และที่กำลังจะได้จากมิชชัน 1
ส่วนมิชชัน 3 นาซาคาดหวังว่า จะเป็นมิชชันสุดท้าย โดยอาศัยข้อมูลความรู้จากที่มีอยู่ทั้งหมด เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมนุษย์บนดาวอังคาร รวมทั้งที่ได้จากมิชชัน 1 และมิชชัน 2 ซึ่งคาดว่า หลังมิชชัน 3 นาซาก็จะได้ข้อมูลพร้อมที่สุด และดีที่สุด เพื่อเตรียมการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารจริงๆ ต่อไป
...
ปฏิบัติการมิชชัน 1 จำลองการอยู่บนดาวอังคารของนาซา
ในขณะที่นาซากำลังประกาศรับสมัครปฏิบัติการมิชชัน 2 ของโครงการแชปพี ปฏิบัติการมิชชัน 1 ก็กำลังดำเนินถึงเกินครึ่งทางเวลาหนึ่งปีแล้ว
ผลปฏิบัติการมิชชัน 1 เป็นอย่างไรถึงล่าสุด?
นาซาประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแชปพี (เป็นมิชชันแชปพี 1) ในปี ค.ศ. 2021 ได้ตัวผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าทดลองอยู่ในสถานีจำลองสภาพบนดาวอังคารรวม 4 คน และตัวสำรอง ด้วยจำนวนหนึ่ง เผื่อถ้าผู้เข้าร่วมปฏิบัติการแชปพีมิชชัน 1 มีผู้ที่ต้องออกจากการทดลองกลางคัน
น่าสนใจว่าผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าปฏิบัติภารกิจกับปฏิบัติการมิชชัน 1 เป็นชาย 2 คน และหญิง 1 คน โดยมีภารกิจเฉพาะ ดังนี้ :-
(1) เคลลี แฮสตัน (Kelly Haston) เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการแชปพี 1 เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์วิจัย
(2) รอสส์ บรอกค์เวลล์ (Ross Brockwell) เป็นวิศวกรการบินของปฏิบัติการแชปพี 1 เขาเป็นวิศวกรโครงสร้าง
(3) นาทาน โจนส์ (Nathan Jones) เป็นแพทย์ประจำปฏิบัติการแชปพี 1 เขามีประสบการณ์เป็นแพทย์ประจำหน่วยฉุกเฉิน
(4) แองกา เซลาริว (Anca Selariu) เป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการแชปพี 1 เธอเป็นนักจุลชีววิทยาประจำกองทัพเรือสหรัฐฯ
ผู้เขียนได้เห็นพิธีเริ่มปฏิบัติการของมิชชันแชปพี 1 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ของนาซา มีการกล่าวเปิดปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซา และการกล่าวของแต่ละผู้ร่วมปฏิบัติการมิชชัน 1 ทั้ง 4 คน ก่อนที่ทุกคนจะเดินเข้าสู่ประตูของสถานีจำลองโลกดาวอังคาร
หลังจากนั้นมา ผู้เขียนก็ติดตามรายงานเกี่ยวกับมิชชันแชปพี 1 ตลอดมา
ในระหว่างปฏิบัติการของมิชชันแชปพี 1 ทางนาซาก็มีการติดตามปฏิบัติการของมิชชันแชปพี 1 และทางฝ่ายปฏิบัติการในสถานีทดลอง ก็จะรายงานอย่างทั้งไม่เป็นทางการ (เช่น รูทีนหรือรายงานประจำ) และการรายงานเป็นวิดีโอคอลพิเศษเป็นครั้งคราว
ตลอดถึงเวลาเกินครึ่งปฏิบัติการมิชชันแชปพี 1 ก็เห็นชัดเจนว่า ปฏิบัติการดูจะดำเนินด้วยดี มีรายงานทั้งทางวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมพิเศษเฉพาะตัวบางคน เช่น การจัดงานฉลองวันเกิดในสถานีทดลองให้กับคนในทีมงาน
โดยภาพรวมโครงการมิชชันแชปพีของนาซาครั้งที่ 1 ดูจะดำเนินมาด้วยดี
ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ก็คาดหวังกันว่า ประตูสถานีทดลองแชปพี 1 ก็จะเปิดรับคณะผู้ร่วมปฏิบัติการทั้ง 4 คน เสมือนหนึ่งกลับจากดาวอังคารสู่โลก
ถึงวันนั้นนาซาก็จะสรุปผลปฏิบัติการของมิชชันแชปพี 1 เพื่อเตรียมแผนสำหรับปฏิบัติการมิชชันแชปพี 2 ต่อไป สำหรับ 4 ผู้จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าปฏิบัติการกับมิชชันแชปพี 2 ในปีหน้า (ค.ศ. 2025)
แผนปฏิบัติการนาซาส่งมนุษย์สู่ดาวอังคาร
สหรัฐอเมริกา โดยนาซา ส่งมนุษย์ไปลงสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จกับอะพอลโล 11 ในปี ค.ศ. 1969 แต่หลัง อะพอลโล 17 ในปี ค.ศ. 1972 สหรัฐอเมริกาก็ดูจะหันหลังให้กับดวงจันทร์ไปเลย...
จนกระทั่งอาเธอร์ซี. คลาร์ก นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนดังของโลก ได้ประกาศประท้วงด้วยการหยุดเขียนนิยายวิทยาศาสตร์...
เพราะเห็นว่าสหรัฐฯ มุ่งส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์เพียงเพื่อเอาชนะคู่แข่งคือสหภาพโซเวียต ครั้นเมื่อทำได้สำเร็จก็ไม่สนใจดวงจันทร์อีกเลยแทนที่จะเดินหน้าต่อใช้ดวงจันทร์เป็นฐานปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาจักรวาล เพราะบนดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาจักรวาลดังจากพื้นโลก...
การประท้วงของอาเธอร์ซี. คลาร์ก ในที่สุดก็ยุติลง ด้วยการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่ เกี่ยวกับการสร้างลิฟต์อวกาศบนโลก คือ The Fountains of Paradise ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 1979
สาเหตุการหยุดประท้วงของอาเธอร์ซี. คลาร์ก ก็เพราะสหรัฐอเมริกา โดยนาซา ก็ได้แสดงให้เห็นว่า มิได้ทิ้งเรื่องการบุกเบิกอวกาศแต่หันมาทุ่มเทให้กับการ “พิชิตอวกาศ” ใกล้หรือรอบโลกมากขึ้น กับโครงการใหญ่ๆ คือ การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ การสร้างยานขนส่งอวกาศ การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของโลก
จนกระทั่งการใช้เทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐอเมริกาโดยนาซาต้องชะงักกับอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดกับยานขนส่งอวกาศแชลเลนเจอร์ เมื่อปีค.ศ. 1986 และกับยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย เมื่อปี ค.ศ. 2003 ทำให้สูญเสียชีวิตของมนุษย์อวกาศรวม 14 คน
แต่แล้วโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกาก็กลับมาตื่นตัว...และแรง...อีกครั้ง กับการประกาศเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2004 ที่จะส่งมนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง...เพื่ออยู่อย่างถาวร...ภายในปี ค.ศ. 2020...
โดยมีเป้าหมายสูงสุดต่อเนื่องคือการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคาร
หลังการประกาศของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช นาซาก็รับลูก และกำหนดแผนเพื่อนำมนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์ ซึ่งในที่สุด ก็จึงมีโครงการ “อาร์เตมิส” เกิดขึ้น
สถานการณ์ล่าสุดของโครงการอาร์เตมิสคืออาร์เตมิส 1 เป็นการบินทดสอบของยานโอไรออน (Orion) รอบดวงจันทร์โดยไม่มีมนุษย์ไปด้วย ซึ่งดำเนินการไปแล้วโดยเรียบร้อย เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022
อาร์เตมิส 2 จะมีผู้โดยสารด้วย 4 คน กำหนดล่าสุด จะเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ ในปี ค.ศ. 2025 แต่ยังไม่ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์
อาร์เตมิส 3 จะเป็นการนำมนุษย์ชุดแรกลงสู่ดวงจันทร์ กำหนดปฏิบัติการ (ถึงล่าสุด) คือ ในปี ค.ศ. 2026
หลังอาร์เตมิส 3 ก็คาดหวังกันว่า การเดินทางของมนุษย์ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ก็จะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอต่อไป
แล้วการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารล่ะ?
ตามแผนล่าสุดของนาซา ในระหว่างที่กำลังดำเนินการโครงการอาร์เตมิสอยู่ นาซาก็เร่งดำเนินการ...เตรียมการ...เพื่อส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
โดยภาพรวมใหญ่คือนาซากำลังเก็บและใช้ข้อมูลความรู้จากโครงการอาร์เตมิสและโครงการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มุ่งเน้นการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารรวมทั้งโครงการแชปพีทั้ง 3 มิชชัน ที่แชปพี 1 กำลังดำเนินอยู่ และแชปพี 2 ที่กำลังรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ แล้วก็แชปพี 3 ที่กำลังจะตามมา เพื่อเตรียมดำเนินการส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารจริงๆ
การเดินทางครั้งแรกของมนุษย์สู่ดาวอังคาร
การเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคารจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไร?
จริงๆ แล้วถึงขณะนี้มิใช่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่กำลังมีแผนจะส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคาร !
ประเทศอื่นๆ ที่กำลังสนใจและดำเนินการเพื่อส่งมนุษย์ไปดาวอังคารด้วยมีเช่นรัสเซีย สหภาพยุโรป จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์...
แต่ประเทศที่ดูจะพร้อมและก้าวหน้าที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา
ในการประกาศเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช เมื่อปี ค.ศ. 2004 ถึงแม้จะระบุ “ดาวอังคาร” เป็นเป้าหมายสุดท้ายสูงสุด แต่ก็มิได้กำหนดปีที่จะส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
ต่อมา นาซา ซึ่งแสดงความตั้งใจจริงจังมากกับการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารก็มีการประกาศเป้าหมายเวลาชัดเจนดังเช่นโดย ไมเคิลดี. กริฟฟิน ผู้บริหารนาซา เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2007 ว่า นาซามีเป้าหมายจะส่งมนุษย์ไปสู่ดาวอังคารภายในปี ค.ศ. 2037...
ซึ่งต่อมาอีกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2015 นาซาก็เผยแพร่แผนการส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ชื่อ “Journey To Mars” (การเดินทางสู่ดาวอังคาร) โดยยังระบุกำหนดเป้าหมายเป็นในทศวรรษปี 2030
สรุปสถานการณ์ล่าสุด ถึงแม้กำหนดแผนตามประกาศของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จะส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ ภายในปี ค.ศ. 2020 ก็ยังไม่เกิดขึ้น...
แต่น่าจะเกิดขึ้นในปีค.ศ. 2025 กับ อาร์เตมิส 2 ซึ่งก็นับว่า ไม่ไกลกับเป้าหมายตามกำหนดของบุชนัก
สำหรับการเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคารจริงๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นก่อนตายถึงล่าสุดก็ยังเป็นของนาซาคือภายในทศวรรษปี 2030 หรือชัดเจนขึ้น ก็เป็นภายในปี ค.ศ. 2037
ผู้เขียนไม่แน่ใจจะได้อยู่ถึงเห็นการเดินทางครั้งแรกของมนุษย์สู่ดาวอังคารจริงๆ หรือไม่แต่ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่จะได้เห็น
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับมีความคิดเห็นอย่างไรกับการเดินทางของมนุษย์ครั้งใหม่สู่ดวงจันทร์?
แล้วก็การเดินทางของมนุษย์สู่ดาวอังคารล่ะครับ?
ที่มาภาพบางส่วน : NASA