ชะตากรรมน่าเศร้า ของ 2 ผู้มาก่อนเวลา "Giordano Bruno" นักดาราศาสตร์ ฝีปากกล้า ที่ช่วงท้ายของชีวิตสุดแสนสลด และ Alan Turing บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ ฮีโร่แฝงเร้นช่วยหยุดสงครามโลก แต่กลับถูกจับข้อหาเป็นเกย์...
ย้อนหลังไปเมื่อ 424 ปีก่อน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1600 ที่ลานตลาดใจกลางกรุงโรม จิออร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) พระ นักปรัชญา นักดาราศาสตร์ นักพูดปากกล้า ชาวอิตาลี ถูกเผาทั้งเป็น ตามคำตัดสินของศาลพระโรมัน (Roman Inquisition) ในข้อหาลบหลู่ศาสนา เผยแพร่คำสอนที่ขัดกับคำสอนของ อริสโตเติล ว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
จิออร์ดาโน บรูโน เป็นตัวอย่างของคน “ผู้มาก่อนเวลา”
ในประวัติศาสตร์โลก มี “ผู้มาก่อนเวลา” หลายคน ที่กล้าพูดในสิ่งที่ขัดกับความรู้ความเข้าใจ และความเชื่อของยุคสมัย แต่มีเพียงไม่กี่คน ต้องเผชิญกับชะตากรรมร้ายแรงถึงชีวิต ดังเช่น จิออร์ดาโน บรูโน
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับเรื่องราวของ “ผู้มาก่อนเวลา” สองคนที่ประสบชะตากรรมถึงชีวิตคนหนึ่งด้วย “ความคิดต้องห้าม” คือ จิออร์ดาโน บรูโน อีกคนหนึ่งด้วย “พฤติกรรมต้องห้าม” คือ อลัน ทัวริง (Alan Turing) ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ศาสตร์ยุคใหม่”
ในการเล่าเรื่องราวของ สองบุรุษผู้มาก่อนเวลา ผู้เขียนขอโฟกัสที่คนแรก มากกว่าคนที่สอง เพื่อทบทวนเรื่องราวในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนของ จิออร์ดาโน บรูโน ที่มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ในขณะที่เรื่องราวของ อลัน ทัวริง เป็นเรื่องนับว่าค่อนข้างใหม่ และยังอยู่ในความทรงจำของคนยุคใหม่ส่วนใหญ่
...
จิออร์ดาโน บรูโน...คนกล้าคิด! ...คนปากกล้า!
จิออร์ดาโน บรูโน เกิดเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1548 เป็นชาวอิตาลี ชื่อจริงตอนเกิดคือ ฟิลิปโป บรูโน (Filippo Bruno)
เปลี่ยนชื่อเป็น จิออร์ดาโน บรูโน ตอนอายุ 17 ปี ตามชื่ออาจารย์ผู้สอนวิชาอภิฟิสิกส์ (metaphysics) จิออร์ดาโน คริสโป (Giordarno Crispo) บวชเป็นพระในปี ค.ศ. 1572 ขณะมีอายุ 24 ปี
หลังการบวชเป็นพระ จิออร์ดาโน บรูโน ก็ขยายความสนใจและการศึกษาในด้านต่างๆ ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาราศาสตร์
จิออร์ดาโน บรูโน กลายเป็นคนหนุ่มที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ จากความเป็นคนปากกล้า มีความสามารถในการพูดจูงใจคน แต่ก็สร้างศัตรูอย่างรวดเร็วจากความเป็นคนปากกล้า
ความเด่นที่ชัดเจนของ จิออร์ดาโน บรูโน คือ ความสามารถในการบรรยายเรื่องราวทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอิตาลี แทนที่จะใช้ภาษาละติน ดังที่นักปราชญ์ นักคิด และผู้เคร่งครัดทางศาสนาใช้กัน และความสามารถในการ “จำ” จนกระทั่งได้ชื่อเป็น “เจ้าแห่งศาสตร์ความจำ”
ตลอดชั่วชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของ จิออร์ดาโน บรูโน เขาได้เดินทางอย่างกว้างขวาง ไปหลายประเทศ ดังเช่น สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และพบกับบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ ดังเช่น กษัตริย์เฮนรีที่ 3 (Henry III) แห่งฝรั่งเศส พระนางเจ้าเอลิซาเบทที่หนึ่ง (Elizabeth I) ราชินีแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ
สาเหตุการเดินทางมากมายของ จิออร์ดาโน บรูโน ส่วนใหญ่ก็เพื่อหนีการพิพาทหรือการจับกุมของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา หรือก็โดยการเชิญจากผู้นำสถาบันการศึกษา และจากความมีชื่อเสียงในเรื่องการมี “ความจำ” เป็นเลิศ
แต่ในการเดินทางอันมากมายของ จิออร์ดาโน บรูโน ในที่สุด เขาก็ “หนีไม่พ้น” ถูกจับกุมโดยฝ่าย ศาสนา จนกระทั่งร้ายแรงที่สุด ถูก “ศาลโรมัน” ซึ่งเป็นศาลคริสตจักรคาทอลิก ที่ทรงอำนาจที่สุดในยุคสมัยนั้น
...
ความผิดของ จิออร์ดาโน บรูโน!
โดยภาพรวมที่ทราบกัน บรูโน ถูกจับขึ้นศาลพระ ด้วยข้อหาเกี่ยวกับเรื่องทางด้านดาราศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วเขาถูกตั้งข้อหาหลายข้อ
ข้อหาทางด้านดาราศาสตร์ เป็นข้อหาใหญ่ดังที่ทราบกัน แต่ข้อหาที่จริงๆ แล้ว ใหญ่กว่า คือ ข้อหาทางด้านศาสนา
ไปดูอย่างเร็วๆ ข้อหาทางด้านดาราศาสตร์
ข้อกล่าวหาที่มักจะทราบกันโดยทั่วไป มากที่สุด คือ ข้อหาความคิดของ จิออร์ดาโน บรูโน ที่ขัดกับความเชื่อทางด้านดาราศาสตร์ ที่ทางฝ่ายศาสนายึดเป็นหลักพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การสร้างโลก และจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนา ว่า พระเจ้าสร้างโลกและจักรวาล ตามรูปแบบโครงสร้างของจักรวาล ที่เป็นของ อริสโตเติล ว่า ... โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และโลกมีสภาพเป็นที่สุดแห่งความสมบูรณ์ของจักรวาลที่หยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ แม้แต่การหมุนรอบตัวเอง โดยที่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ อีก 5 ดวงที่รู้จักกันในยุคโบราณ โคจรในวิถีเป็น วงกลมรอบโลก ตามลำดับจากใกล้สุด ถึงไกลสุดจากโลก คือ ดวงจันทร์, ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดวงอาทิตย์, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์
ในยุคสมัยนั้น มนุษย์ยังไม่รู้จัก ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และพลูโต เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
โดยจริงๆ แล้ว นอกเหนือไปจาก เจ็ดวงกลม อันเป็นที่อยู่ของ ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ กับ ดาวเคราะห์อีก 5 ดวงแล้ว อริสโตเติล ยังกำหนดให้ จักรวาล มีวิถีโคจรแห่งดวงดาวลำดับที่ 8 อยู่นอกสุด โดยกำหนดให้เป็นที่อยู่ของบรรดาดาวฤกษ์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า และเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
อริสโตเติล มีชีวิตอยู่ระหว่าง 384-322 ปีก่อน ค.ศ. หรือประมาณเกือบ 1,900 ปีก่อนยุคสมัยของ จิออร์ดาโน บรูโน ซึ่งในยุคสมัยนั้น ศาสนาคริสต์ ยึดคำสอนของ อริสโตเติล เป็น “คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์”
...
จริงๆ แล้ว จิออร์ดาโน บรูโน มิใช่คนแรกที่ “กล้า” สอนว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ก่อนหน้า จิออร์ดาโน บรูโน ก็มี อริสตาร์คัส (Aristarchus : 310-230 ปีก่อน ค.ศ.) นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์กรีก ร่วมสมัยกับอริสโตเติล ก็ได้เสนอความคิด...เป็นคนแรก....ว่า ...ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ...
แต่ อริสตาร์คัส ไม่มีชื่อเสียงเท่า อริสโตเติล และเขาก็ไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอจะยืนยันให้ผู้อื่น คิดตามเขา ความคิดของ อริสตาร์คัส จึงไม่มีผลให้คนอื่นคิดตาม
คนต่อมาที่เสนอความคิดว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล คือ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus : ค.ศ. 1473-1543) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ ชาวโปแลนด์ ได้เขียนหนังสือ เสนอความคิดว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีทั้งทฤษฎีและข้อมูลหลักฐานจากการสังเกต การเคลื่อนที่ของบรรดาดวงดาวในท้องฟ้าอย่างละเอียดประกอบ
...
แต่โคเปอร์นิคัส ก็เป็นพระคริสต์ด้วย จึงไม่กล้าตีพิมพ์หนังสือของเขา เพราะเกรงจะได้รับการลงโทษจากศาลพระ จนกระทั่งในที่สุด หนังสือก็ได้รับการตีพิมพ์ และถึงมือของเขา ก่อนที่เขาจะลาโลกไปเพียงไม่กี่วัน
แล้วก็มาถึง จิออร์ดาโน บรูโน โดยที่ จิออร์ดาโน บรูโน มิใช่เพียงรับความคิดของโคเปอร์นิคัส อย่างสงบเสงี่ยม อย่างเกรงใจ “ศาลพระ” เขากลับเผยแพร่และเพิ่มเติมความคิดของเขา เสริมทฤษฎีความคิดของ โคเปอร์นิคคัส อีกด้วยว่า ดวงดาวที่กะพริบแสง เป็นดาวฤกษ์ ที่มีดาวเคราะห์บริวาร และเสนออีกด้วยว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตดังเช่น มนุษย์ อยู่บนดาวเคราะห์ของ ดาวฤกษ์ เหล่านั้นด้วย
จากการกล้าคิด และความเป็นคนปากกล้าของ จิออร์ดาโน บรูโน เขาจึงถูกจับขึ้นศาลพระ ซึ่งในที่สุด ก็ถูกไต่สวนโดยศาลพระโรมันที่กรุงโรม เป็นเวลายาวนาน ถึงเจ็ดปี
ข้อกล่าวหาทางด้านดาราศาสตร์ ที่ศาลพระโรมัน ไต่สวนจิออร์ดาโน บรูโน ที่กรุงโรม เป็นข้อหาที่รู้จักกันดี
แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่า ข้อกล่าวหาที่ทำให้ ศาลพระโรมัน ตัดสินลงโทษหนักสุดถึงขั้นให้เผาทั้งเป็น จริงๆ แล้ว มิใช่ข้อกล่าวหาทางด้านดาราศาสตร์ หากเป็น ข้อกล่าวหาทางด้านศาสนา ว่า จิออร์ดาโน บรูโน มีความผิดในการเผยแพร่คำสอนของเขา ซึ่งลบหลู่ดูหมิ่นหลักใหญ่สำคัญของศาสนาคริสต์คาทอลิก เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของพระเจ้า ในการสร้างโลก และจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกล่าวหาว่า เขาบ่อนทำลาย หลักศักดิ์สิทธิ์แห่งคริสตศาสนา ในเรื่องของ “Trinity” แห่งคริสตจักร ซึ่งหมายถึง “พระบิดา (พระเจ้า)-พระบุตร (พระเยซู คริสต์)-พระจิต”
ข้อกล่าวหาที่ทวีความสำคัญในยุคสมัยนั้น เพราะกำลังมีความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปศาสนาคริสต์คาทอลิก เป็นนิกายใหม่ ดังเช่น โปรเตสแตนต์
ในปีที่เจ็ดแห่งการไต่สวนโดยศาลพระโรมัน จิออร์ดาโน บรูโน ถูกตัดสินว่า มีความผิดจริง
คำพิพากษา คือ ให้เผาทั้งเป็นที่ตลาดกลางกรุงโรม ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1600 ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 52 ปี
ในวันที่ จิออร์ดาโน บรูโน ถูกตัดสินว่า มีความผิดจริง และมีโทษถึงขั้นถูกเผาทั้งเป็น ผู้บันทึกกล่าวถึง จิออร์ดาโน บรูโน หลังได้ฟังคำพิพากษา โดยเขากล่าวอย่างไม่เกรงกลัวว่า ......
“บางทีพวกท่านที่ตัดสินความผิดของเราในวันนี้ กลัวคำตัดสินมากกว่าเราผู้ถูกตัดสิน”
จิออร์ดาโน บรูโน....ผู้มาก่อนเวลา!
หลังจิออร์ดาโน บรูโน ถูกเผาทั้งเป็น เวลาผ่านไป พัฒนาการของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เข้ามาแทนที่วิทยาศาสตร์ยุคเก่า ที่ไม่ถูกต้อง และการเปลี่ยนแปลงเป็นวิวัฒนาการทางด้านศาสนาคริสต์ ที่มีการแบ่งเป็นนิกายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม
แล้วจิออร์ดาร์โน บรูโน ก็ได้รับการพิสูจน์ว่า เขาเป็นบุรุษผู้มาก่อนเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านดาราศาสตร์ ที่ทฤษฎีใหม่ๆ ต่อมา ก็พิสูจน์ว่า จิออร์ดาโน บรูโน “ถูก”
และ จิออร์ดาโน บรูโน ก็ได้รับเกียรติภูมิ และชื่อเสียงคืนมา โดยสถานที่กลางกรุงโรมที่เขาถูกเผา ก็กลายเป็น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ มีสถาบันและมูลนิธิมีชื่อเสียงตั้งตามชื่อของเขา มีรางวัลทางด้านดาราศาสตร์ตั้งตามชื่อของเขา มีดาวเคราะห์น้อย มีหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ ตั้งตามชื่อของ จิออร์ดาโน บรูโน
สำหรับทางฝ่ายศาสนา ในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 400 ปีที่ จิออร์ดาโน บรูโน ถูกเผาทั้งเป็นสันตะปาปา จอห์น พอล ที่สองได้กล่าวคำขอโทษสำหรับ “การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นบางครั้งกับคนที่มีความผิดในการธำรงความจริง” ซึ่งมิได้กล่าวถึง จิออร์ดาโน บรูโน โดยตรง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า มีความหมายถึง จิออร์ดาโน บรูโน ด้วย
อลัน ทัวริง ... ผู้มาก่อนเวลา!
หลังการจากไปของ จิออร์ดาโน บรูโน เป็นเวลา 354 ปี คือ ในปี ค.ศ. 1954 โลกก็ต้องสูญเสียบุรุษผู้ได้รับการยอมรับว่า เป็นอัจฉริยะผู้นำคอมพิวเตอร์ศาสตร์ของโลก คือ อลัน ทัวริง ในขณะมีอายุเพียง 42 ปี
อลัน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์, นักตรรกวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัส, นักปรัชญา, นักชีววิทยา และเด่นที่สุด คือ นักคอมพิวเตอร์ศาสตร์ ชาวอังกฤษ เกิดที่กรุงลอนดอน วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1912 แสดงแววเก่งทาง คณิตศาสตร์และการถอดรหัสตั้งแต่เด็ก
ทัวริง จบปริญญาตรีคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ จบปริญญาเอกคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา
ที่สหรัฐอเมริกา ทัวริง เสนอความคิดที่รู้จักเรียกกันต่อมาว่า “Turing machine” หรือ “เครื่องจักรทัวริง” ซึ่งเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทัวริง ได้เข้าร่วมทีมงานถอดรหัสลับนาซีเยอรมัน ของรัฐบาลอังกฤษ ที่เบลตช์ลีย์ พาร์ก (Bletchley Park) เพื่อถอดรหัสลับของ เครื่องอินิกมา (Enigma) ของเยอรมัน
ทีมร่วมงานที่ เบลตช์ลีย์ พาร์ก เปิดเผยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่า ที่เบลตช์ลีย์ พาร์ก นั้น ทัวริง เป็นเสมือนกับหัวหน้าทีมอัจฉริยะ ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
มีประมาณการจากนักประวัติศาสตร์ว่า ผลงานของทีมถอดรหัสลับ ที่ เบลตช์ลีย์ พาร์ก ทำให้สงครามโลกครั้งที่สอง ยุติเร็วขึ้นสองถึงสามปี และได้ช่วยชีวิตคนที่จะต้องสูญเสียจากการสงครามโลกครั้งที่สองที่ยืดยาว ได้มากถึง 21 ล้านคน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ยุติลง ในสหรัฐอเมริกา ผู้ทำงานกับโครงการลับสร้างระเบิดปรมาณู คือ โครงการแมนฮัตตัน กลายเป็น “ฮีโร่” ของประเทศและของโลก
แต่ในอังกฤษ สถานการณ์กลับเป็นแบบตรงกันข้าม
แทนที่ทีมงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัวริง จะกลายเป็น “ฮีโร่” ของประเทศอังกฤษและของโลก ทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการถอดรหัสลับที่ เบลตช์ลีย์ พาร์ก ต้องถูกเก็บเป็น “ความลับของประเทศ”
ไม่มีการฉลองชัยชนะเหนือนาซีเยอรมัน อย่างเอิกเกริก ไม่มีการยกย่อง ทัวริง และทีมงานเป็น “ฮีโร่”
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทัวริง ก็ได้ทำงานให้กับรัฐบาลและประเทศอังกฤษ ในตำแหน่งทางวิชาการต่อ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปอย่าง “เงียบๆ”.....
จนกระทั่งชะตากรรมไล่ตามทัน ทัวริง ในพฤติกรรมทางเพศ คือ ความเป็นเกย์ของเขา
ทัวริง ถูกจับในปี ค.ศ. 1952 ด้วยข้อหา “เป็นเกย์” ผิดกฎหมายอังกฤษในขณะนั้น
ทัวริง ถูกตัดสินว่า มีความผิดจริง และมีทางเลือกให้เขาสองทาง ....
ทางหนึ่ง คือ เข้ารับการบำบัด ความเป็นเกย์
อีกทางหนึ่ง คือ รับโทษจำคุก
ทัวริง ยอมรับโทษโดยการบำบัด และในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1954 เขาก็จากโลกไป....โดยการฆ่าตัวตาย ด้วยแอปเปิลไซยาไนด์
อลัน ทัวริง....วันนี้!
ปี ค.ศ. 2013 หลังการจากไปของ อลัน ทัวริง เป็นเวลา 59 ปี ประเทศอังกฤษก็มีกฎหมายอนุญาตให้มีการแต่งงาน ระหว่างชายรักร่วมเพศได้
ชื่อเสียงของ อลัน ทัวริง ได้รับการ “เชิดชู” อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งในเรื่องบทบาทของเขาสำหรับการถอดรหัสนาซีเยอรมัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และในด้านการบุกเบิกคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ รวมทั้ง การบุกเบิกในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ
“Turing Test” หรือ “การทดสอบทัวริง” ตามชื่อของ อลัน ทัวริง มีความหมายเป็นบรรทัดฐานในการทดสอบเครื่องจักรว่า ถึงขั้นเป็น ปัญญาประดิษฐ์หรือไม่?
ในปัจจุบัน มีสถาบันรางวัล สถานที่มากมายเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ในหลายประเทศทั่วโลกที่ถูกตั้งตามชื่อของ อลัน ทัวริง บุรุษผู้มาก่อนเวลา
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ มีเรื่องราวมากมายของ บุรุษ และสตรี ผู้ต้องประสบชะตากรรมเพราะ “มาก่อนเวลา”
สำหรับผู้เขียน นอกเหนือไปจาก จิออร์ดาโน บรูโน และอลัน ทัวริง ก็ยังมีอีกบางคนที่โผล่ขึ้นมาในความคิดของผู้เขียน ....
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ?
นึกถึงใครบ้างครับ?