วิเคราะห์ 2 กรณีศึกษาและข้อมูลแวดล้อม “ฆาตกรใจเหี้ยม" เกินคำว่า “เยาวชน” ที่ทำให้เหล่าคนเกาหลีต่าง “หวาดผวา” และเศร้าสลด... 

ถอดรหัสอาชญากรรมจากผู้ที่ได้ชื่อว่ายังเป็น "เยาวชน" ในประเทศเกาหลีใต้ อะไรคือต้นสายปลาย ของความเกรี้ยวกราดจาก 3 วัยรุ่น ที่รุมกระหน่ำแทงเหยื่อจนเสียถึง 40 ครั้ง! และความโหดร้ายของหญิงวัยเพียง 17 ปี ที่ก่อเหตุล่อลวงฆ่าหั่นศพเด็กหญิง 8 ขวบ...เหยื่อที่เดินเข้ามาหามัจจุราชด้วยการเริ่มต้นสนทนาว่า "พี่คะ หนูขอยืมโทรศัพท์โทรหาคุณแม่ได้ไหมคะ?" 

คดีที่ 1 : 3 เยาวชนรุมแทงเหยื่อมากกว่า 40 ครั้งจนเสียชีวิตคาที่! 

ปี 2012 เยาวชน 3 คนที่มีอายุเพียง 16 ปี , 15 ปี และ 18 ปี ได้ร่วมกันก่อเหตุใช้อาวุธมีดและท่อเหล็กรุมแทงนักศึกษามหาวิทยาลัยหนุ่มวัย 20 ปี อย่างโหดเหี้ยมและทารุณมากกว่า 40 ครั้ง ที่บริเวณท้อง, คอ, ศีรษะ จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างสยดสยองในสวนสนุกย่านชินชน (Sinchon) ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า การก่อเหตุฆาตกรรมที่สุดโหดเหี้ยมนี้ มีต้นสายปลายเหตุมาจาก....ทั้งกลุ่มฆาตกรและเหยื่อ ซึ่งรู้จักกันจากการเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ “ซา-รยอง คาเฟ่” (Sa-ryeong Cafe) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้ที่ชื่นชอบวงการบันเทิงและดนตรี ได้เปิดศึก “วิวาทะทางไซเบอร์” ผ่านแอปพลิเคชัน KaKao Talk  

โดย เยาวชนอายุ 16 ปี หนึ่งในผู้ที่ร่วมลงมือก่อเหตุ รับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “สาเหตุที่ทำให้พวกเราโกรธแค้น เป็นเพราะผู้ตาย แชตข้อความตอบโต้กับพวกเรา ด้วยท่าทีที่ทั้งจองหอง อวดดี และหยิ่งผยอง”

...

ปมความขัดแย้งที่นำไปสู่เหตุฆาตกรรมรุมแทงสยอง : 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ เปิดเผยถึง “ปมความขัดแย้ง” ที่นำไปสู่เหตุฆาตกรรมว่า หลังจาก นาย A (นามสมมติ) นักศึกษาวัย 20 ปี (ผู้ตาย) ได้เลิกรากับ นางสาวบี (นามสมมติ) แฟนสาววัย 21 ปี ได้ทำให้ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มห้องสนทนา ซึ่งเดิมมีอยู่ด้วยกัน 4 คน 

ประกอบไปด้วย นาย A , นางสาว B และ เด็กชาย C (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี และ เด็กหญิง D (นามสมมติ) แฟนสาวอายุ 15 ปี ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ...เด็กชาย C เด็กหญิง D และ นางสาว B ได้ไปเปิดห้องสนทนาใหม่ที่ไม่มี “นาย A” ร่วมอยู่ด้วย! 

ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ “นาย A” รู้สึกไม่พอใจทั้ง 3 คนเป็นอย่างยิ่ง และจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการส่งข้อความมาข่มขู่เยาวชนทั้งสองคนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้ง...การขู่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือ การส่งข้อความต่างๆ นานาไปยังเด็กหญิง D เพื่อยุยงให้เลิกกับ เด็กชาย C เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การคุกคามทางไซเบอร์ของ “นาย A” ที่รุนแรงที่สุดและเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ “เหตุฆาตกรรมสุดสยอง” ในครั้งนี้ก็คือ...การที่ผู้ตาย (นายA) ได้จงใจเผยแพร่ FAKE NEWS ไปทั่วโซเชียลมีเดียของเกาหลีใต้ว่า ทั้ง เด็กชาย C และ เด็กหญิง D รวมถึง นาย E (นามสมมุติ) เยาวชนอายุ 18 ปี (หนึ่งในผู้ร่วมลงมือสังหาร ซึ่งเป็นเพื่อนใหม่ของเด็กชาย C และ เด็กหญิง D) เป็น “สมาชิกของลัทธิประหลาด” ที่บูชาภูตผีปิศาจ และเพิ่งถูกไล่ออกจากลัทธิ เพราะไม่ได้เข้าร่วมการทำพิธีการที่สุดแปลกและพิสดาร นั้น ได้นำมาซึ่ง "ความอับอายและโกรธแค้น" ให้กับทั้ง 3 คน จนถึงขั้นมีการ “ส่งข้อความขู่ฆ่า” ไปถึง “คู่กรณี” อยู่เป็นระยะๆ   

ด้วยเหตุนี้ ผู้ก่อเหตุทั้ง 3 คน จึงได้นัดแนะกันเตรียมอาวุธซึ่งประกอบไปด้วย “มีดและท่อเหล็ก” ก่อนจะทำทีเป็นเรียก “นาย A (ผู้ตาย)” มาพบที่สวนสาธารณะ จากนั้น เมื่อเหยื่อปรากฏตัว “นาย E” ซึ่งไม่เคยพบผู้ตายมาก่อน ได้ใช้ท่อเหล็กทุบศีรษะเหยื่อจากทางด้านหลัง จากนั้นทั้ง 3 คน จึงได้ช่วยกันรุมแทงผู้ตายจนเสียชีวิตคาที่! 

...

ฮยอน พี (Hyena-Pi) ข้อพิพาทในโลกออนไลน์ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งในโลกจริง : 

คดีฆาตกรรมสุดสยองนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเทศเกาหลีใต้ทันที โดยเฉพาะในประเด็น “ความเกรี้ยวกราด” ของเยาวชนทั้ง 3 คน ที่แม้จะรุมแทงเหยื่อจนเสียชีวิตคาที่ไปแล้ว แต่ยังคงกระหน่ำแทงต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งถึง 40 ครั้ง อย่างโหดเหี้ยมกลางย่านชุมชน ทั้งๆ ที่ เยาวชน 2 คน จากทั้งหมด 3 คน เคยมีโอกาสพบเจอกับผู้ตายเพียง 4-5 ครั้ง ส่วนอีก 1 คน ไม่เคยมีโอกาสพบเจอกับเหยื่อก่อนวันลงมือเลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว! 

โดยความเห็นจากนักวิเคราะห์ด้านอาชญากรรมในเกาหลีใต้ เชื่อว่า ลักษณะของการก่อเหตุซึ่งเป็นการรุมแทงมากกว่า 40 ครั้ง แม้เหยื่อจะเสียชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่ใช่การกระทำอันเกิดความสับสนหรือตื่นตระหนกอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงเป็นผลมาจากเกลียดชังและความโกรธแค้นที่สะสมมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งระเบิดออกมาในที่สุด 

...

แล้วเพราะอะไร....ความโกรธแค้นและความเกลียดชังจึงถูกสะสมกระทั่งระเบิดออกมาเป็นความโหดเหี้ยมและเกรี้ยวกราดได้มากมายถึงขนาดนี้? 

“คำตอบ” คือ ในยุคปัจจุบันที่เส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ที่เริ่มบางเบาลงไปทุกขณะ ยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับ “การใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงสำหรับการท่องโลกดิจิทัลต่อวัน” เป็นผลให้ตัวตนในโลกออนไลน์เริ่มมีความสำคัญกับตัวตนในโลกของความเป็นจริง ได้ค่อยๆ แผ้วทางให้การโต้แย้งในโลกออนไลน์ สามารถนำไปสู่การทะเลาะวิวาททางกายภาพมากขึ้นทุกทีๆ

ซึ่ง “รูปแบบ” ที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับในประเทศเกาหลีใต้ ถูกเรียกว่า “ฮยอน พี” (Hyeoa-Pi) ซึ่งเป็น “สแลง” ที่มาจากการผสมผสานระหว่างคำว่า “ฮยอน-ชิล” (Hyeon-Sil) ที่แปลว่า “ความเป็นจริง” และคำว่า “Player Kill” ที่หมายถึง “การสังหารคาแรกเตอร์หลักของคู่แข่ง” ซึ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลายในโลกของเกม Massive Mutiplayer Online หรือ MMO ของเกาหลีใต้ 

...

แล้วปัจจุบันปัญหาในโลกออนไลน์จาก “ผู้เยาว์” ของเกาหลีใต้เป็นอย่างไร?  

หลังเกิดเหตุชายวัย 33 ปี ใช้อาวุธมีดแทงคนเสียชีวิต 1 ศพ ก่อนจะไปไล่แทงประชาชนได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน ในสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงโซล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม จนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2023 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ รายงานว่า พบการโพสต์ข้อความคุกคามและขู่ฆ่าในโลกออนไลน์ รวม 194 โพสต์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 65 คน และในจำนวนนี้ เป็นผู้วัยรุ่นและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ซึ่งตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ถือเป็น “ผู้เยาว์ที่ไม่ต้องรับโทษในความผิดคดีอาญาใดๆ” รวมกันถึง 34 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 52.31%! 

คดีที่ 2 : วัยรุ่นหญิง 17 ปี ก่อเหตุฆ่าหั่นศพแยกร่างเด็กหญิง 8 ขวบ 

“พี่จ๋าหนูขอยืมโทรศัพท์ โทรหาคุณแม่ได้ไหมคะ?” 

“คุณ” เชื่อหรือไม่ว่า...การเริ่มต้นสนทนาที่สุดแสนไร้เดียงสาของเด็กหญิงวัยเพียง 8 ขวบ กับ วัยรุ่นหญิงวัย 17 ปี จะนำมาซึ่งเหตุฆาตกรรมสุดสยองขวัญและน่าหดหู่ในบั้นปลาย ดังที่ “เรา” จะเล่าให้ฟังจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป... 

มีนาคม ปี 2017 น.ส. A (นามสมมติ) นักเรียนหญิงมัธยมปลาย วัย 17 ปี ซึ่งถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคันและทางครอบครัวอ้างว่า “ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ จับกุมในข้อหา “ฆ่าหั่นศพ” เด็กหญิงวัย 8 ขวบ ก่อนจะนำชิ้นส่วนใส่ถุงดำ 2 ใบ ไปทิ้งไว้บนหลังคาอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอินชอน 

จากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า “วัยรุ่นฆาตกรโหด” รายนี้ ยอมรับว่า ได้ล่อหลวงเหยื่อซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จากสนามเด็กเล่นขึ้นไปสังหารในห้องพัก หลังหนูน้อยเดินเข้ามาอย่างเป็นมิตร เพื่อหวังขอยืมโทรศัพท์โทรไปหาคุณแม่ของเธอ 

อย่างไรก็ดี เมื่อถูกซักถามถึง “แรงจูงใจ” ที่นำไปสู่การสังหารโหดครั้งนี้ “มัจจุราชในร่างวัยรุ่นสาว” กลับอ้างหน้าตาเฉยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนแรกว่า... “ไม่สามารถจดจำการกระทำอันแสนทารุณโหดร้ายที่ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย!”

และคดีนี้ ไม่เพียงแต่ น.ส. A เท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากในเวลาต่อมา “ผู้ต้องหา” ได้ให้การรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ได้รับคำสั่งฆ่า” จาก น.ส. B (นามสมมติ) วัย 18 ปี ซึ่งเป็น “เพื่อนสนิทที่สัมพันธ์ลึกซึ้ง” 

ซึ่งประเด็นนี้ “สอดคล้อง” กับ “หลักฐาน” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบ “ข้อความการสนทนา” ระหว่างทั้งคู่ ซึ่งมีพูดถึง “ความหลงใหลเรื่องซากศพและเหตุฆาตกรรม”

ยิ่งไปกว่านั้น จากการรวบรวมหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังพบ “ภาพจากกล้องวงจรปิด” ที่ในเวลาต่อมากลายเป็น “หลักฐานสำคัญ” ที่สามารถ “หักล้าง” คำกล่าวอ้างของ “ฆาตกรวัยรุ่นสาว” ที่ว่า...ตนเองไม่ได้มีการไตร่ตรอง หรือวางแผนสังหารเหยื่อเอาไว้ล่วงหน้า และมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ จาก อาการ “Asperger Syndrome” หรือความบกพร่องด้านพัฒนาการทางระบบประสาทที่มักเกิดในเด็ก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับออทิสติก ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ภาษา การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคม ขณะลงมือก่อเหตุ

แล้วเพราะอะไร ภาพจากกล้องวงจรปิด จึงสามารถหักล้างข้อแก้ตัวของฆาตกรได้? 

“คำตอบ” คือ ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งให้ศาลพิจารณานั้น ปรากฏอย่างชัดเจนว่า “จำเลย” มีการวางแผนอย่างรัดกุมทั้งก่อนและหลังลงมือสังหารเด็กน้อยวัยเพียง 8 ขวบอย่างโหดเหี้ยม! 

ภาพจากวงจรปิดบ่งชี้อะไร? 

“ฆาตกรสาว” จูงมือเด็กหญิงไปยังห้องพักซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่สังหาร โดยใช้ทางเข้าที่ไม่ได้มุ่งไปสู่ห้องพักของตัวเองโดยตรง นอกจากนี้เธอยัง “สวมแว่นกันแดดและใช่ร่ม” ขณะเดินออกจากห้องหลังก่อเหตุสังหารเรียบร้อยแล้ว และในเวลาต่อมา ยังมีการเปลี่ยนเป็น “ชุดนอน” ก่อนนำถุงขยะ 2 ถุง ซึ่งบรรจุชิ้นส่วนร่างกายของหนูน้อย ออกจากห้องพักไปทิ้งไว้บนหลังอพาร์ตเมนต์ “เพื่อหวังอำพรางตัวตน” 

ยิ่งไปกว่านั้นตำรวจ ยังพบ “ข้อความการสนทนากับผู้สมรู้ร่วมคิด” ในวันเกิดเหตุอันน่าตกตะลึงที่ว่า... “ฉันกำลังออกล่า (เหยื่อ)” 

และการสนทนาต่อมาที่สุดเขย่าขวัญที่ว่า... “ฉันกลับบ้านแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย” และเมื่อเพื่อนสาวคนสนิทสอบถามกลับว่า “(เหยื่อ) ยังมีชีวิตอยู่ไหม? นิ้วของเธอสวยไหม?” ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาจากฆาตกร คือ... “นิ้วของเธอสวยดี!” 

ในเมื่อมี “หลักฐาน” ที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า “มีทั้งเจตนาและการวางแผนฆาตกรรมมาเป็นอย่างดี” ทำให้ต่อมาในวันที่ 22 กันยายนปีเดียวกัน “ฆาตกรสาววัย 17 ปี” จึงถูกศาลแขวงอินชอนพิพากษา “จำคุก 20 ปี” ส่วน “ผู้สมรู้ร่วมคิด” วัย 18 ปี ถูกพิพากษา “จำคุกตลอดชีวิต” รวมถึงทั้งคู่ต้องสวมกำไล EM ที่ข้อเท้าเป็นเวลาถึง 30 ปี จากความผิดในข้อหาร่วมกันลักพาตัว , ฆาตกรรมและอำพรางศพ ซึ่งถือเป็น “บทลงโทษที่รุนแรง” สำหรับประเทศเกาหลีใต้

เนื่องจาก "ตามกฎหมายเยาวชนของเกาหลีใต้" (Juvenile Law) ซึ่งบังคับใช้กับบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 19 ปี ฉบับแก้ไขปรับปรุงล่าสุด (21 ธ.ค.2007) บัญญัติเอาไว้ว่า นอกจากผู้ที่มีอายุ 10-14 ปี จะไม่ต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำผิดกฎหมาย และจะอยู่ภายใต้การพิจารณาจากศาลแผนกคดีเยาวชน ซึ่งมีบทลงโทษสถานเบา เช่น การทำงานบริการสังคม หรือ ถูกกักตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่เป็นการป้องกัน “เยาวชน” ไม่ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ในคดีฆาตกรรม หรือ การก่ออาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ อีกทั้งโทษในคดีฆาตกรรมสูงสุดสำหรับเยาวชน คือ “จำคุก 15 ปี” เท่านั้น

แต่สำหรับคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญนี้ “ศาลแขวงอินชอน” ได้มีการนำกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นมาใช้สำหรับคดีนี้เป็นการเฉพาะ “ทั้งฆาตกรสาวและผู้สมคบคิด” จึงต้องรับกรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นอย่างสาสม (มากขึ้น) 

แล้วหากตัดภาพมา ณ ปัจจุบัน “เยาวชนในเกาหลีใต้” ได้รับโทษในคดีอาญามากน้อยเพียงใด? : 

สิงหาคม ปี 2023 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ของเกาหลีใต้ ได้อภิปรายโดยอ้างอิงข้อมูลจากศาลเยาวชนซึ่งระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2017-2022 ผู้ต้องหาในคดีอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม ปล้น และ ข่มขืน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 14-18 ปี จำนวน 18,084 คน ถูกลงโทษหนักในคดีอาญา (จำคุก) เพียง 567 คน หรือ คิดเป็นเพียง 3% เท่านั้น!

ส่วนที่เหลือ 17,517 คน หรือ มากถึง 96.9%! ได้รับการ “คุ้มครอง” ตามบทบัญญัติของกฎหมายเยาวชนของเกาหลีใต้ ด้วยการถูกส่งไปควบคุมตัวในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก รวมถึงเข้าโครงการทำงานบริการสังคมต่างๆ ซึ่งถือเป็น "โทษสถานเบา"  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :