ล้วงลึก Japan’s Way วิถีการพัฒนาโครงสร้างฟุตบอลเฉพาะตัว ที่จะพา ทีมชาติญี่ปุ่น สู่การเป็นแชมป์โลกปี 2050...
การพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของ “วงการฟุตบอลญี่ปุ่น” ได้กลายเป็นหัวข้อที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกไปโดยปริยาย หลังการปรากฏตัวของ “นักเตะซามูไรบลู” มากหน้าหลายตาที่ถูกส่งออกจากเจลีกไปค้าแข้งในลีกชั้นนำทั่วทวีปยุโรป สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นกับทีมชาติญี่ปุ่นทั้งในระดับเยาวชน และทีมชาติชุดใหญ่ ได้อย่างชนิดไม่มีใคร “กล้าปฏิเสธ”
เบื้องหลังความสำเร็จอันเกิดจาก “Japan’s Way” หรือ “วิถีแห่งฟุตบอลเฉพาะตัวของญี่ปุ่น” ซึ่ง "ปฏิเสธ" การ "Copy and Paste" แนวทางความสำเร็จจากบรรดาทีมระดับท็อปของโลกนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร? แล้วเหตุใด “Football For Everybody” จึงมีความสำคัญมากกว่าการมุ่งเน้นไปที่เพียงเฉพาะผลการแข่งขัน ซึ่งจะให้ผลสำเร็จเพียงระยะสั้นๆ
ทั้งหมดนี้ “เรา” ไปร่วมกันพิจารณา “โปรเจกต์อันห้าวหาญ และหยิ่งผยอง” ที่ว่า...“เราจะเป็นแชมป์โลก (ให้ได้) ภายในปี 2050” นี้ ร่วมกัน!
...
จุดเริ่มต้น “Japan’s Way” วิถีแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น
1.การรวบรวมข้อมูล และ No Copy and Paste :
จุดเริ่มต้นสู่ “เป้าหมายแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2050” ของญี่ปุ่น มาจากการรวบรวมข้อมูลแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากวงการฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มชาติมหาอำนาจลูกหนังโลก
หากแต่ สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ได้ตั้งกฎเหล็กเอาไว้ว่า “จะต้องไม่มีการ No Copy and Paste” แนวทางเหล่านั้นมาใช้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่น โดยไม่คำนึงถึง “รากเหง้าแห่งวัฒนธรรม หรือ ภูมิหลังของชาวญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด”
โดย “ทาเคชิ โอโนะ” (Takeshi Ono) รองผู้อำนวยการด้านเทคนิคของ JFA ได้เคยระบุถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า....
“จุดเริ่มต้นคือ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีปรัชญาฟุตบอลของตัวเอง นั่นเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นห่างไกลจากประเทศชั้นนำในวงการฟุตบอลทั้งในทวีปยุโรป หรืออเมริกาใต้ ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงต้องการแผนการพัฒนาวงการฟุตบอลที่ไม่อาศัยเพียงการ Copy and Paste เพราะญี่ปุ่นมีรากเหง้าของวัฒนธรรม และพื้นฐานทางการศึกษาในแบบของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมีปรัชญาฟุตบอลเป็นของตัวเองเช่นกัน
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ในโลกสมัยใหม่แม้อาจสามารถรับข้อมูลจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลกได้ แต่ในบางครั้งเมื่อข้อมูลมีมากจนเกินไป มันอาจทำให้หลงทางได้เช่นกัน ดังนั้นญี่ปุ่นจึงอาจต้องตัดทิ้งบางสิ่งบางอย่างไป เพื่อให้สามารถมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางเดียวกันได้”
2.ทำไมจึงต้องเลือก Japan’s Way เส้นทางที่ No Copy and Paste :
จุดเริ่มต้นของฟุตบอลในญี่ปุ่นนั้น นอกจากสโมสรฟุตบอลอาชีพแล้ว โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีนักเตะระดับท็อปไปรวมตัวกันจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศชั้นนำด้านฟุตบอลของโลก ที่เหล่านักเตะ Wonder Kid มักไปรวมตัวอยู่ที่อะคาเดมีของสโมสรฟุตบอลต่างๆ
นั่นเป็นเพราะ...โรงเรียนในญี่ปุ่นซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังการถือกำเนิดของเจลีกในปี 1995 มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการพัฒนานักเตะรุ่นเยาว์ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีนักเตะดีๆ มากมายตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ครูกีฬาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างก็มีทั้งคุณภาพ และ Passion (โดยเฉพาะในโรงเรียนชื่อดังของญี่ปุ่นนั้นครูกีฬาที่ทำหน้าที่ผู้ฝึกสอน มักผ่าน professional license ด้วยซ้ำไป) ในแง่ของการขัดเกลาเหล่าเพชรเม็ดงามเหล่านี้ให้กลายเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น สถานศึกษาในญี่ปุ่น ยังมีการบ่มเพาะเรื่องเกียรติยศ และความภาคภูมิใจในฐานะนักกีฬาของโรงเรียนอย่างเข้มข้น ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้นักเตะเยาวชนต่างๆ ที่ลงเตะให้กับโรงเรียนจึงมี Passion ในการลงเตะแทบไม่แตกต่างกับเวลาลงเตะรับใช้สโมสรฟุตบอลอาชีพติดตัวมาแล้วตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุนี้สถานศึกษาทั่วประเทศญี่ปุ่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญอันแข็งแกร่งของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นไปโดยปริยาย
...
แล้วญี่ปุ่นได้คำตอบอะไรจากการรวบรวมข้อมูลวงการฟุตบอลทั่วโลกบ้าง?
1.การมุ่งเน้นการพัฒนานักเตะเยาวชน :
ยุคทองของทีมชาติโปรตุเกสเริ่มต้นขึ้นหลังการปรากฏตัวของกลุ่มนักเตะชั้นยอดอย่าง “เปาโล ซูซา”, “เฟอร์นันโด เคาโต”, “รุย คอสตา” และ “หลุยส์ ฟิโก” จนสามารถคว้าแชมป์โลก U-20 ได้สำเร็จ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับกรณีของ ทีมชาติสเปน และ ทีมชาติอาร์เจนตินา ที่มีกลุ่มนักเตะ Wonder Kid ระดับปรากฏการณ์อย่าง “อิเกร์ กาซิยาส”, “ซาบี”, “เซร์คิโอ อเกวโร” และ “ลิโอเนล เมสซี” ที่พาทีมชาติระดับเยาวชนกวาดแชมป์มาอย่างมากมาย ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นกำลังสำคัญในทีมชาติชุดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งมากพอสำหรับการไล่ล่าแชมป์โลก
2.การผสมผสาน และเปิดกว้างต่อความหลากหลาย เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ :
...
การเปิดรับความหลากหลาย และไม่แบ่งแยก ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการผสมผสานความรู้สึกนึกคิดที่จะนำไปสู่ทิศทางที่มุ่งหน้าไปสู่ความเป็นเอกภาพ และเป้าหมายร่วมกันนั้น จะทำให้ฟุตบอลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่กีฬาฟุตบอลไม่เป็นที่นิยมเท่ากับกีฬาเบสบอล เช่น ประเทศญี่ปุ่นในอดีต
โดยสิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ หากมองไปยังระดับโลก ความหลากหลายได้กลายเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเหล่าชาติมหาอำนาจลูกหนังโลกไปแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กรณี "ทีมชาติเยอรมนี" หลังความล้มเหลวที่ไม่น่าจดจำในฟุตบอลยูโร 2000 ทีมอินทรีเหล็กเริ่มต้นการบูรณะวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดศูนย์พัฒนาฟุตบอลทั่วประเทศ เพื่อควานหา “กลุ่มนักเตะสายเลือดใหม่” โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเชื้อชาติ จนกระทั่งได้ส่วนผสมที่ลงตัว และพาทีมชาติเยอรมนีกลับมาแข็งแกร่ง และคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จอีกครั้งในปี 2014
"ทีมชาติฝรั่งเศส" ซึ่งได้กลุ่มนักเตะเยาวชนที่สุดแข็งแกร่งจากประเทศอดีตอาณานิคม และความหลากหลายด้านเชื้อชาติบนดินแดนปารีเซียง สามารถคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 1998
นอกจากนี้ “ยุคทองของทีมชาติเบลเยียม” ซึ่งเกิดขึ้นหลังความล้มเหลวในฟุตบอลยูโร 2000 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพร่วม การเดินหน้าปฏิรูปวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างความปรองดองทางวัฒนธรรมระหว่างคนเชื้อสายดัตช์ และฝรั่งเศส ได้นำไปสู่การพัฒนาทีมชาติแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นทีมที่น่าเกรงขามขึ้นในทันที
ไม่เพียงแต่ศึกษาเรื่องความสำเร็จของชาติมหาอำนาจลูกหนังโลกเท่านั้น การรวบรวมข้อมูลของ JFA ยังมองไปที่ชาติลูกหนังในระดับใกล้เคียงกันด้วย เช่น เวลส์ ไอซ์แลนด์ และนิวซีแลนด์ เพื่อทำความเข้าใจจุดยืนทางด้านการพัฒนาวงการฟุตบอล รวมถึงจุดแข็ง และจุดอ่อนของบรรดาชาติเหล่านั้นด้วย
...
3.ความคลั่งไคล้ที่มีต่อฟุตบอล :
อ้างอิงข้อมูลจาก FIFA กลุ่มประเทศที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้สำเร็จ สัดส่วนของนักฟุตบอลอาชีพ และแฟนบอล (ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียน) จะมีตัวเลขที่สูงถึง 7% ของจำนวนประชากรในประเทศนั้นๆ ซึ่งจากข้อมูลนี้แปลว่า ฟุตบอลได้ถูกซึมซับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในประเทศเหล่านั้น ไม่ต่างอะไรกับ ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม และวัฒนธรรม ไปแล้ว
แล้วข้อมูลเรื่องการมุ่งพัฒนานักเตะเยาวชน, การผสมผสานความหลากหลาย และความคลั่งไคล้ที่มีต่อฟุตบอล ถูกนำมาขยำรวมกันจนนำไปสู่การวางโครงสร้างวงการฟุตบอลเอาไว้อย่างไร?
และนี่เอง...จึงกลายเป็นข้อแรกของ “Japan’s Way” วิถีการวางโครงสร้างฟุตบอลญี่ปุ่นในแบบฉบับของตัวเอง...Football For Everybody!
การสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลเฉพาะตัวแบบญี่ปุ่น :
อะไรคือโครงสร้างของวัฒนธรรมฟุตบอลเฉพาะตัวแบบญี่ปุ่น
1.สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทุกคน (นักเตะ แฟนบอล และประชาชนทั่วไป) สามารถสนุกสนานไปกับฟุตบอลได้
2.สร้างนักเตะที่สามารถคิด และตัดสินใจในเรื่องการใช้ความสามารถเฉพาะตัวในสนามได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้นักเตะรู้สึกสนุกสนานกับฟุตบอลได้อย่างเต็มที่
3.สร้างและพัฒนาผู้จัดการทีมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการดึงพรสวรรค์ในตัวนักเตะแต่ละคนออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ
4.นักเตะที่ถูกพัฒนาผ่านกระบวนการดังกล่าว ในฐานะบุคคลจะต้องกลายเป็นผู้เล่นที่มีความสามารถลงแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และเมื่อถูกดึงตัวมาร่วมทีมชาติจะต้องให้ความเคารพ และให้เกียรติเพื่อนร่วมทีม เพื่อร่วมกันต่อสู้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
5.ทีมชาติญี่ปุ่นจะถูกสร้างขึ้นโดย “ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล” และเป็นทีมชาติที่ทุกๆ คนมีความสุข ภาคภูมิใจ และสนับสนุนได้อย่างเต็มภาคภูมิ
และแนวทางทั้ง 5 ข้อนี้ถูกถอดมาเป็นมอตโตด้วยภาษาที่ทั้งกระชับและเข้าใจได้ทันที คือ “Football For Everybody” หรือ “ฟุตบอลสำหรับทุกคน”
อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่า “คุณ” ก็คงกำลังงงๆ เหมือน “เรา” ทำไมต้องเป็น...ฟุตบอลสำหรับทุกคน? และฟุตบอลสำหรับทุกคน...จะพาทีมชาติญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้อย่างไร? ซึ่ง “คำตอบ” ของ “คำถาม” นี้ก็คือ....
“ในอดีตฟุตบอลญี่ปุ่นมุ่งความสนใจไปที่การแข่งขันมากเกินไป ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะการมองเพียงแค่นั้นอาจเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในระยะสั้นๆ ซึ่งเราได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่ใช่!
เพราะหากเรามองไปที่ประเทศที่เคยคว้าแชมป์โลก พวกเขาไม่เพียงแต่มุ่งเรื่องการแข่งขันเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการเล่นฟุตบอลธรรมดาๆ ในทุกๆ วันด้วย ดังนั้น Football For Everybody จึงหมายถึง พ่อแม่ ครอบครัว ผู้สูงอายุ และแม้กระทั่งผู้พิการ ทุกคนสามารถที่จะสนุกสนานไปกับฟุตบอลได้ นั่นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ด้วยเหตุนี้ปฐมบทการพัฒนาวงการฟุตบอลด้วยวิถี Japan’s Way จึงให้ความสำคัญไม่เพียงแต่เฉพาะการแข่งขัน แต่มันรวมถึง ฟุตบอลที่สร้างความสุข เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความฝันของเราด้วย” ทาเคชิ โอโนะ (Takeshi Ono) รองผู้อำนวยการด้านเทคนิคของ JFA หล่นคำตอบที่ทุกคนคงกำลังข้องใจอีกครั้ง!
เหตุใดจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมฟุตบอลของญี่ปุ่น ด้วย Football For Everybody :
ในเมื่อหนึ่งใน “จุดแข็ง” ของฟุตบอลญี่ปุ่น คือ ชมรมทีมฟุตบอลต่างๆ ตามสถานศึกษาทั่วประเทศ การจัดสภาพแวดล้อมที่สร้างความสุขผ่านการเล่นฟุตบอล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นั่นเป็นเพราะมันสามารถดึงดูดให้ “เยาวชนหันมาสวมสตั๊ดลงไปหวดลูกบอล ภายใต้การดูแลของโค้ชที่มีความเชี่ยวชาญได้มากขึ้นๆ นั่นเอง”
และเพื่อให้การลงแข่งขันของ “แข้งรุ่นเยาว์” โดยเฉพาะกลุ่ม U-18 ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสู่การเป็นนักเตะอาชีพ สามารถพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง และทีม ได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง JFA จึงได้จับมือกับสมาคมฟุตบอลประจำจังหวัดทั้ง 47 แห่ง จัดระบบการแข่งขันระดับโรงเรียนเสียใหม่ โดยจัดการแข่งขันเป็น “ระบบลีก” ที่มีการแยกเป็นสายตะวันออก และตะวันตก และมี “โปรแกรมวันและเวลาการแข่งขันที่ชัดเจน” สำหรับเอื้อให้แต่ละสถานศึกษาสามารถลงเล่นในระบบฟุตบอลลีกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอันเข้มข้นได้สะดวก และง่ายมากขึ้นด้วย
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ “น่าจะเริ่มยาวเกินไปเสียแล้ว” หากจะเล่าถึงการจัดวางโครงสร้างฟุตบอลระยะยาวสู่การก้าวขึ้นเป็น “แชมป์โลก” ของทีมชาติญี่ปุ่นในส่วนอื่นๆต่อ ฉะนั้นในส่วนของแผนการอันห้าวหาญที่เหลือ สามารถติดตามอ่านกันต่อได้ในตอนต่อไป...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม