“เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” (Sir.Jim Ratcliffe) ความหวังใหม่ของ "แมนยูฯ" หลัง 18 ปี หนี้สินจากน้ำมือตระกูลเกลเซอร์ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง...

หลัง “ตระกูลเกลเซอร์” ที่เหล่าสาวก “เรดอาร์มี” แสนชิงชังแถมยังแสดงออกถึงจุดยืนเรื่องการขับไล่ไสส่ง “เหล่าผู้มั่งมีชาวอเมริกัน” ให้พ้นออกจากรอบรั้วโอลด์แทรฟฟอร์ดไม่เว้นแต่ละวัน ยอมใจอ่อน “ตอบรับ” ข้อเสนอซื้อหุ้นสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในสัดส่วน 25% ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 1,250 ล้านปอนด์ (54,669ล้านบาท) ของ “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” (Sir.Jim Ratcliffe) หนึ่งในบุรุษที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งบนเกาะอังกฤษอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว “อะไร” คือ “สิ่งที่เหล่าเด็กผีทั้งผอง” ควรต้อง “รับรู้ข้อมูล” การซื้อขายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้บ้าง? 

วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปไล่เรียงข้อมูลเหล่านั้นร่วมกัน เผื่อว่า....บางที “ความฝันอันเรืองรอง” ที่ถวิลหามาแสนช้านาน อาจจะมาถึง (สักที) หลังปล่อยให้บรรดาพวกพี่ๆ ล้อเล่น เสียดสี และย่ำยี จนแทบจะต้อง กรี๊ดออกมาสิๆ วันละหลายๆ รอบ! 

...

A New Hope for Manchester United…

ความมั่งคั่งของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ :  

จากการประเมินของ Forbes “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” วัย 71 ปี ปัจจุบัน (ปี2023) ถือครองความมั่งคั่ง 23,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (79,639ล้านบาท) จากการเป็นเจ้าของ INEOS Group. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์และพลังงาน โดยมีธุรกิจในเครือ 36 แห่ง และโรงงานอีกถึง 194 แห่งใน 29 ประเทศ 

ความคลั่งไคล้ที่มีต่อยูไนเต็ด : 

"เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์" เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าชื่นชอบยูไนเต็ดมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น นักเตะคนโปรดของเขาคือ ศิลปินลูกหนังที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน “Eric The King Cantona” 

สำหรับ “ความทะยานอยาก” เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล นั้น อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์ INEOS Group. ได้มีการระบุเอาไว้ว่า ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์และพลังงานแห่งนี้ เป็นเจ้าของสโมสร Racing Club Abidjan ทีมระดับดิวิชั่น 1 ของลีกไอเวอร์รี่ โคสต์ , สโมสรโลซาน สปอร์ต (Lausanne-Sport) ในสวิสซุปเปอร์ลีก และ "สโมสรนีซ" (Nice) แห่งลีกเอิง 

และถ้าหาก...ใครยังจำได้ ในช่วงความอลหม่านที่สโมสรเชลซี นั้น “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามอย่างหนักหน่วง เพื่อหวังเข้าครอบครองสโมสรสิงห์บลูมาแล้วเช่นกัน

ดีลมูลค่า 1,250 ล้านปอนด์ สำหรับหุ้น 25% ของยูไนเต็ด :  

อ้างอิงจากถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ระบุว่า ดีลมูลค่า 1,250 ล้านปอนด์ (54,645 ล้านบาท) นี้ เป็นการซื้อหุ้น “Class B” จากสมาชิกตระกูลเกลเซอร์โดยตรงรวม 25% และเตรียมทำ Tender Offer เพื่อซื้อหุ้น “Class A” ของสโมสรในตลาดหุ้นนิวยอร์กอีก 25% (13,237,834 หุ้น) ด้วย 

โดยหลังจากกระบวนการซื้อขายได้รับการรับรองจากกฎหมายและพรีเมียร์ลีก ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ เสร็จสิ้นลง ตามรายงานข่าวของสื่อประเทศอังกฤษ (ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาทองคำสำหรับเอริค เทน ฮาก ในการโชว์ผลงานให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน) 

...

INEOS Group. จะจัดสรรเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับสโมสรรวม 234 ล้านปอนด์ (10,229ล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2024  

ส่วน “อำนาจ” ที่จะได้รับหลังการลงทุนครั้งใหญ่นี้ คือ “ได้รับผิดชอบเป็นผู้ดูแลเรื่องการบริหารทีมฟุตบอลทั้งระบบของยูไนเต็ด!” 

ขณะเดียวกัน "ส่วนที่ดี" อีกประการสำหรับการซื้อหุ้น 25% ในครั้งนี้ ของ เซอร์จอห์น แรค คลิฟฟ์ ซึ่ง “แตกต่าง” จากการซื้อยูไนเต็ดของตระกูลเกลเซอร์ ก็คือ...เงินทุนที่จะนำมาใช้สำหรับการซื้อหุ้นดังกล่าว “จะไม่ถูกโยกเข้าสู่งบดุลของสโมสร” ซึ่งจะเป็นการสร้าง “ภาระหนี้สิน” ให้กับสโมสรเพิ่มเติม เช่นที่ตระกูลเกลเซอร์เคยทำมาแล้วในอดีตอย่างแน่นอน! 

...

การบริหารทีมฟุตบอลของ INEOS Group. คาดหวังได้ขนาดไหน?

“เราทุกคนอยากเห็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับไปอยู่ในจุดที่เคยอยู่ นั่นคือระดับสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ เวทียุโรป และระดับโลก!” เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ 

ฉะนั้นเพื่อให้ “เรา” สามารถ “มองภาพของเรื่องนี้ได้ชัดเจนมากที่สุด” ไปดูผลงานการบริหาร “สโมสรนีซ” แห่ง ลีกเอิง จากฝีมือ INEOS Group. กันก่อน

การใช้เงินกับตลาดนักเตะของ INEOS Group. :  

นับตั้งแต่ INEOS Group. ใช้เงินมากกว่า 110 ล้านยูโร (4,172 ล้านบาท) สำหรับการเข้าครอบครองสโมสรนีซ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน 

ภายใต้การบริหารของ “บ็อบ แรตคลิฟฟ์” ซึ่งเป็นน้องชายของ “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” ได้มีการใช้เงินสำหรับเพียงเฉพาะการซื้อนักเตะไปแล้วรวมกันมากกว่า 262 ล้านยูโร (9,974ล้านบาท) ในขณะที่รายรับจากการขายนักเตะอยู่ที่ 134 ล้านยูโร (5,083 ล้านบาท) ทำให้ “ขาดทุน” จากเพียงเฉพาะตลาดนักเตะรวม 128 ล้านยูโร (4,855ล้านบาท) 

“บ็อบ แรตคลิฟฟ์” น้องชายของ “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” หลังการซื้อสโมสรนีซ
“บ็อบ แรตคลิฟฟ์” น้องชายของ “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” หลังการซื้อสโมสรนีซ

...

แล้วก่อนหน้าการบริหารของ INEOS Group. สโมสรนีซใช้เงินกับตลาดนักเตะอย่างไร?   

ฤดูกาล 2018/2019 สโมสรนีซ ใช้เงินซื้อนักเตะรวม 28 ล้านยูโร (1,062 ล้านบาท) และขายนักเตะไปได้มูลค่ารวมกันถึง 61.7 ล้านยูโร! (2,340 ล้านบาท) ทำให้มี "กำไร" จากเพียงเฉพาะตลาดนักเตะถึง 33.7 ล้านยูโร (1,278 ล้านบาท) 

โดยก่อนหน้าที่สโมสรนีซ จะถูก Take Over นั้น นโยบายการซื้อนักเตะจะเน้นไปที่บรรดา Wonder Kid เป็นหลัก เพื่อหวังปลุกปั้นมาขายต่อให้กับบรรดาสโมสรใหญ่ๆ ในราคาแพง แต่หลังจากการเข้าบริหารของ INEOS Group. เป็นต้นมา เพื่อไปให้ถึง “คำมั่นสัญญา” ที่ว่า สโมสรนีซจะต้องไปเล่นแชมเปียนส์ ลีก ให้ได้ภายใน 2-3 ปี การใช้เม็ดเงินหว่านลงไปในตลาดนักเตะจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

เพียงฤดูกาลแรกหลังการ Take Over สโมสรนีซ ใช้เงินมากถึง 52 ล้านยูโร (1,972 ล้านบาท) ในตลาดนักเตะทันที โดยนักเตะที่มีราคาแพงที่สุด คือ “แคสเปอร์ ดอลเบิร์ก” กองหน้าดาวรุ่งที่สโมสรใหญ่ๆ ในยุโรปในเวลานั้นรุมแย่งตัว ในราคา 20.5 ล้านยูโร (777 ล้านบาท)

หากแต่...แม้จะทุ่มเงินจำนวนมากตั้งแต่จบฤดูแรก ทีมกลับจบได้เพียงอันดับที่ 6 ในลีกเท่านั้น ทำให้ฤดูกาลต่อๆ มาจึงมีการใช้เงินในตลาดนักเตะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฤดูกาล 2022/23 มีการทุ่มเงินลงไปมากถึง 84 ล้านยูโร! (3,186 ล้านบาท) แต่ทีมก็ยังจบเพียงอันดับที่ 9 ในลีกเท่านั้น  

อย่างไรก็ดีฤดูกาลล่าสุด (2023/24) การทุ่มเงินของนีซ เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นแล้ว เนื่องจากปัจจุบัน (29 ธ.ค.23) อยู่ในอันดับที่ 2 ของ ลีกเอิง ตามหลังทีมจ่าฝูงอภิมหาเศรษฐีรวมดาราโลกอย่าง “ปารีส แซงต์ แชร์กแมง” อยู่ 5 คะแนน หลังผ่านไป 17 นัด 

INEOS Group. กับการเลือกใช้ผู้จัดการทีม :   

5 ฤดูกาลของนีซ ภายใต้การบริหารของ INEOS Group. มีการใช้ผู้จัดการทีมไปรวมกันแล้วทั้งสิ้น 6 คน! แต่ก็ยังคง “ไม่มีใคร” พาทีมผ่านเข้าไปเล่นแชมเปียนส์ ลีก หรือ แม้กระทั่งมีแชมป์ใดๆ ติดไม้ติดมือ 

INEOS Group. กับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทีมและสถิติแฟนบอล : 

ปัจจุบัน สนามเหย้าของสโมสรนีซ คือ “Allianz Riviera” ซึ่งมีความจุถึง 36,000 ที่นั่ง ถือเป็นสนามฟุตบอลที่ทันสมัยและดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นหนึ่งในสนามที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงสำหรับเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 และหลังจากนั้นยังเคยถูกใช้จัดการแข่งขันระดับอินเตอร์มาแล้วมากมาย

อย่างไรก็ดี แม้สนามจะมีขนาดใหญ่และทันสมัย รวมถึงสโมสรนีซ ยังทุ่มเงินซื้อนักเตะมาร่วมทีมอย่างหนักในช่วงที่ INEOS Group. ดูแล แต่ฐานแฟนบอลที่เข้าไปชมการแข่งขัน กลับมีค่าเฉลี่ยเพียง 22,000 คนต่อนัดเท่านั้น! 

ส่วนในด้านการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น สโมสรนีซ เพิ่งเปิดตัว ศูนย์ฝึกซ้อมอันสุดทันสมัยแห่งใหม่ที่มีมูลค่าถึง 14.4 ล้านยูโร (545 ล้านบาท) ไปเมื่อปี 2020 หรือ เพียง 1 ปี หลังการเข้า Take Over ของ INEOS Group.    

Situation In Manchester 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ 18 ปี ภายใต้ระบอบเกลเซอร์ :

อ่านมาถึงบรรทัดนี้...ก่อนที่ “เรา” จะไปกันต่อ หากใครจดจำความ “ขมขื่น” อันเกิดจากการ “กระทำย่ำยี” ของ ตระกูลเกลเซอร์ไม่ได้ กรุณา “คลิกอ่าน” แมนยูฯ 17 ปีแห่งหนี้สินที่ตระกูลเกลเซอร์เป็นผู้ก่อ เพื่อดื่มด่ำกับความเจ็บช้ำนี้เสียก่อน! 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อนการเปลี่ยนแปลง : 

ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2023) จากการประเมินของ Forbes สโมสรปิศาจแดงมีมูลค่า 4,800 ล้านปอนด์ (209,837ล้านบาท) 

สำหรับสถานะทางการเงินของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้น จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2023 (สิ้นสุดวันที่ 30มิ.ย.23) 

สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีรายได้รวม : 648 ล้านปอนด์ (28,328 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น +11.2% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี   

Adjusted EBITDA : 154.9 ล้านปอนด์ (6,771 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น +91% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี 

ขาดทุนจากผลการดำเนินงาน : 11.2 ล้านปอนด์ (489 ล้านบาท) ลดลง -87.4% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี 

อย่างไรก็ดี “หนี้สินจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว” ซึ่งส่วนใหญ่ คือ “เงินทุนที่ตระกูลเกลเซอร์กู้ยืมจากสถาบันการเงิน” เพื่อซื้อสโมสรตั้งแต่เมื่อปี 2005 นั้น แม้จะผ่านมาถึง 18 ปีเข้าให้แล้ว ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวนี้ ยังคงมีตัวเลขที่สูงถึง 650 ล้านปอนด์ (28,415 ล้านบาท)! 

อำนาจตระกูลเกลเซอร์ในสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด : 

ก่อนขายหุ้น 25% ให้กับ “เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์” บรรดาสมาชิกตระกูลเกลเซอร์แต่ละคน ถือหุ้นสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมากน้อยแค่ไหน? 

1.อัฟราม เกลเซอร์ (Avram Glazer) :

ถือหุ้น Class B : 16,606,979 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 14.38%  

2.โจเอล เกลเซอร์ (Joel Glazer) :

ถือหุ้น Class A : 1,707,614 หุ้น 

ถือหุ้น Class B : 21,899,366 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 19.11%

3.เควิน เกลเซอร์ (Kevin Glazer) : 

ถือหุ้น Class B : 15,899,366 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 13.77% 

4.ไบรอัน เกลเซอร์ (Bryan Glazer) : 

ถือหุ้น Class B : 19,899,365 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 17.23%

5.ดาร์ซี เกลเซอร์ (Darcie Glazer) : 

ถือหุ้น Class A : 603,806 หุ้น 

ถือหุ้น Class B : 20,899,365 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 18.15% 

6.เอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ (Edward Glazer) : 

ถือหุ้น Class B : 15,003,172 หุ้น 

สัดส่วนอำนาจการโหวต : 12.99% 

ทำให้เมื่อรวมสัดส่วนอำนาจการโหวตในบอร์ดบริหารของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตระกูลเกลเซอร์ ทั้ง 6 คน (จากทั้งหมด 12 คน) มีอำนาจในการโหวตรวมกันถึง 95.63%! (ก่อนการขายหุ้น 25% ให้กับ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์)

*** หมายเหตุ หุ้น Class A : 1หุ้น เท่ากับ 1 เสียงโหวต ส่วน หุ้น Class B : 1หุ้น เท่ากับ 10 เสียงโหวต โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการแบ่งหุ้นในลักษณะเช่นนี้ ก็เพื่อรักษาอำนาจในการตัดสินใจทิศทางการบริหารงานได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงยังเป็นการลดโอกาสในการถูกควบคุมกิจการจากภายนอกด้วย ***

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ