พรุ่งนี้ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันสุดท้าย ปีเก่า 2566 และเตรียมต้อนรับปีใหม่ 2567!

หลายคนคงจะกำลังรอคอยของขวัญปีใหม่

ของขวัญ เป็นสิ่งที่น่าจะนำความสุขความชื่นอกชื่นใจ แก่ทั้งผู้รับและผู้ให้

แล้วทำไมจึงต้อง “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก”?

ก่อนจะเดินหน้าเล่าและคุยกับท่านผู้อ่านวันนี้ต่อ ผู้เขียนต้องรีบขอเรียนกับท่านพี่น้องชาวกรีกทุกท่านว่า เรื่องของเราวันนี้ มิได้หมายถึง หรือเกี่ยวกับคนกรีกที่เป็นตัวตนจริงๆ ในปัจจุบัน หรืออาจจะในอดีตที่เป็นต้นเรื่องราวของเรา วันนี้...

เพราะคำเตือน “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” มีที่มาจากเรื่องราวในมหากาพย์สงครามกรุงทรอย ที่เล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน แถมยังถูกขยายเรื่องราวไปถึงอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ คือ “Trojan horse” หรือ ”ม้าโทรจัน” อีกด้วย

อย่างแน่นอน ผู้เขียนมี “ของขวัญ” ปีใหม่สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่มิใช่ของขวัญจากชาวกรีกอยู่แล้ว แต่ประเด็นเรื่องใหญ่ของเราวันนี้ ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่าน ไปทบทวนเรื่องราวที่มาของคำกล่าว “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” แล้วไปเจาะส่วนของขวัญจากชาวกรีกนี้ของโลกยุคปัจจุบัน เพื่อที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของของขวัญอันตรายนี้

...

ที่มา “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก”

ทำไมต้องระวัง?

อย่างเบาๆ เพราะของขวัญตามคำกล่าว “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” จะทำให้จุดยืนของชีวิตที่ดีงาม ต้องสั่นไหว!

แล้วอย่างหนักๆ ล่ะ ก็เพราะของขวัญจากชาวกรีกตามคำกล่าวนี้ จะนำความเดือดร้อนแสนสาหัสมาให้

สาหัสแค่ไหน?

หนักที่สุด ก็จะเหมือนกับกรุงทรอยในมหากาพย์สงครามกรุงทรอย ที่สามารถต้านกองทัพกรีกได้ยาวนานถึงสิบปี แต่ในที่สุด ก็ต้องล่มสลายเพราะ “ของขวัญจากชาวกรีก” ตามกลศึกม้าไม้ซ่อนทหารกรีกอยู่ข้างใน

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงที่มาของ “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” ก็มักจะนึกถึงมหากาพย์ The Iliad ของกวีกรีก โฮเมอร์ (Homer) กัน

แต่จริงๆ แล้ว ใน The Iliad ของ โฮเมอร์ เรื่องราวจบลงหลังจากที่ อคิลลีส (Achilles) ฆ่า เฮกเตอร์ (Hector) ในสนามรบ แล้วกษัตริย์เพรียม (Priam) ได้ไปขอศพของเฮกเตอร์จากอคิลลีส เพื่อไปประกอบพิธีศพให้สมเกียรติของนักรบผู้กล้าหาญแห่งทรอย ซึ่งอคิลลีสก็ให้

เหตุการณ์ที่เกิดใน The Iliad เป็นเหตุการณ์ปีที่เก้าของสงครามกรุงทรอย

เหตุการณ์อันเป็นที่มาของคำกล่าว “ระวัง...ของขวัญชาวกรีก” มาจากเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอยในรูปแบบของเรื่องเล่าต่อๆ กันในกรีกโบราณ และในบทกวีของกวีคนอื่นๆ นอกเหนือไปจากโฮเมอร์

แต่ที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์นำมาสู่คำกล่าวดังกล่าว ที่เป็นมหากาพย์ชัดเจน มีอยู่ในสองมหากาพย์

หนึ่ง คือ มหากาพย์ The Odyssey ของ โฮเมอร์ ที่เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ โอดิสซิอุส (Odysseus) หรือ ยูลิสซีส (Ulysses) เป็นเวลาสิบปีหลังสงครามกรุงทรอย แต่ก็เป็นการกล่าวถึงอย่างไม่ลงละเอียดนัก

สอง คือ มหากาพย์ เอเนียด (Aeneid) ของกวีโรมันเวอร์จิล (Virgil) เรื่องของเอเนียส (Aeneas) เจ้าชายทรอยที่หลบหนีจากรุงทรอย ในระหว่างที่กรุงทรอยกำลังถูกเผา เดินทางทางทะเลไปสู่อิตาลี และเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรโรมัน

ในมหากาพย์ Aeneid บอกเล่าเรื่องราวการล่มสลายของกรุงทรอยมากกว่าใน The Odyssey ของโฮเมอร์ แต่โดยภาพรวมจากแหล่งต่างๆ นำมาสู่คำกล่าว “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” ลำดับเป็นเรื่องราวอย่างย่นย่อได้ดังต่อไปนี้ :-

เมื่อสงครามกรุงทรอยดำเนินการถึงปีสุดท้าย คือ ปีที่สิบ โอดิสซิอุส ออกอุบายให้สร้างม้าไม้ขนาดยักษ์ ซ่อนทหารกรีกอยู่ภายในได้ 50 คน ทิ้งไว้ที่ชายหาด แล้วกองทัพเรือกรีกทั้งหมด ถอยไปตั้งหลักไม่ให้มองเห็นได้จากฝั่งกรุงทรอย

แล้วทิ้ง ไซนอน (Sinon) ไว้กับม้าไม้

ทำไมจึงเป็นไซนอน บางแหล่งกล่าวว่า เพราะไซนอนเป็นสหายสนิทของโอดิสซิอุส

บางแหล่งกล่าวว่า เพราะไซนอนเป็นทหารกรีกที่กล้าหาญที่สุด กล้าที่จะเสี่ยงชีวิตกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติ

...

กษัตริย์เพรียม และกองทัพทรอยออกจากกรุงทรอยมาที่ม้าไม้ยักษ์ พบไซนอนที่บอกกับกษัตริย์เพรียมว่า กองทัพกรีกเห็นว่า ไม่มีทางชนะศึกกรุงทรอยได้ จึงยกทัพเรือกลับ...

แต่ทิ้งม้าไม้และไซนอนไว้ที่ชายหาด เป็นการบูชาเทพเจ้า เพื่อให้กองทัพเรือกรีกกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

และที่ต้องสร้างม้าไม้ให้ใหญ่โต ก็เพื่อมิให้ชาวทรอย ลากม้าไม้เข้าสู่กรุงทรอยได้ เพราะถ้าชาวทรอยนำม้าไม้เข้าสู่กรุงทรอยได้ เทพเจ้าก็จะไม่ปกป้องให้กองทัพเรือกรีกกลับถึงบ้านโดยปลอดภัย

แต่มิใช่ทุกคนจะเชื่อไซนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคสซานดรา (Cassandra) ธิดาของกษัตริย์เพรียมเอง และเลาคูน (Laocoon) ผู้เป็นนักพยากรณ์และพระประจำเทพอะพอลโล ซึ่งเป็นเทพฝ่ายกรุงทรอย

แคสซานดรา ผู้ได้รับพรจากเทพอะพอลโล ให้สามารถพยากรณ์อนาคตได้ แต่ก็ถูกสาปจากเทพอะพอลโลเอง (เพราะแคสซานดราไม่ตอบสนองความรักของเทพอะพอลโล) ว่า ถึงแม้เธอจะพยากรณ์อนาคตได้ แต่จะไม่มีใครเชื่อ

แคสซานดรา บอกกษัตริย์เพรียม และชาวทรอยทุกคนว่า ม้าไม้ยักษ์เป็นตัวอันตรายจากกรีก ที่จะต้องถูกทำลาย แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ!

เลาคูนเป็นผู้กล่าวคำว่า “ข้าพเจ้ากลัวชาวกรีก แม้แต่เมื่อพวกเขานำของขวัญมาให้!”

แต่ในระหว่างที่เลาคูนพยายามเตือนกษัตริย์เพรียมและชาวทรอยให้ตระหนักถึงภัยจากม้าไม้กรีก เทพอาทีนา (Athena) ผู้เป็นเทพคู่ปรับของ อะโฟรไดต์ หรือ วีนัส ก็ส่งงูยักษ์สองตัวจากทะเล ขึ้นมาฆ่าเลาคูนและบุตรชายสองคน

ฝ่ายกรุงทรอยจึงเชื่อไซนอน และลากม้าไม้เข้าสู่กรุงทรอย

สงครามกรุงทรอยจึงยุติลงคืนนั้น ด้วยความพินาศของกรุงทรอยจากกองทัพกรีก

...

จากกลศึกม้าไม้สงครามกรุงทรอย สู่ม้าโทรจันในคอมพิวเตอร์

จากความแพร่หลายของเรื่องราวสงครามกรุงทรอย ตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนยุคสมัยของโฮเมอร์เสียอีก และอย่างแน่นอน ก่อนเวอร์จิล คำกล่าวของเลาคูนเตือนชาวทรอยถึงภัยจากม้าไม้กรีก จึงสืบทอดต่อๆ กันมา มิใช่เฉพาะในยุโรป แต่แพร่หลายไปทั่วโลก ถึงปัจจุบัน มาเป็นคำกล่าวติดปากกันว่า “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก”

แล้วก็เลยเข้ามาสู่วงการคอมพิวเตอร์ในชื่อของ “Trojan horse” หรือ “ม้าโทรจัน”

trojan เป็นคำภาษาละติน trojanus หมายถึง “เกี่ยวกับทรอย”

สงครามกรุงทรอย หรือ Troy war จึงรู้จักเรียกกันเป็น “Trojan war” หรือ “สงครามโทรจัน” ด้วย

ม้าไม้โทรจันในความหมายเดิมและยังใช้กันอยู่ หมายถึง “ม้าไม้ยักษ์” ที่เป็นกลศึกของกองทัพกรีก ทำให้กรุงทรอยแตก

...

ในโลกของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ต่างๆ ทั่วโลก คือ อินเทอร์เน็ต

ม้าโทรจัน มีความหมายเฉพาะถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกแฝงอยู่ในโลกไซเบอร์ ดังเช่น อีเมล, ข่าวประชาสัมพันธ์, โฆษณา เพื่อหลอกลวงให้ผู้รับหรือเห็นข่าวสาร เปิดรับข่าวสาร และตกเป็นเหยื่อ เช่น เปิดไฟล์ที่ดู “ใสๆ” ส่งมากับอีเมล ทำให้ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวหรือบัญชีธนาคาร และถึงขั้นเปลี่ยน “การทำงาน” ของคอมพิวเตอร์ของผู้ตกเป็นเหยื่อ

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ม้าโทรจันในคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเมื่อไร แต่คาดว่า น่าจะเกิดขึ้นกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน ซึ่งในปัจจุบัน คือ อินเทอร์เน็ต แต่ม้าโทรจันอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มี “อินเทอร์เน็ต” ที่ใช้งานกันโดยเกิดขึ้นกับการเริ่มต้นของเครือข่ายคอมพิวเตอร์แรกของโลก คือ อาร์พาเน็ต (Arpanet) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2512...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการส่งอีเมลเป็นครั้งแรก โดย เรย์ ทอมลินสัน (Ray Tomlinson) ในปีพ.ศ. 2514 ผ่านทางอาร์พาเน็ต

ในส่วนหนึ่ง ม้าโทรจันในคอมพิแตอร์ไม่ใช่ไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่สามารถ “ติด” คอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้ เพราะ ม้าโทรจันจะทำหรือเป็นอันตรายเฉพาะเมื่อผู้รับ “เปิด” ไฟล์ที่แนบ หรือทำตามที่ “ข่าวสาร” บอก...

ยกเว้น...และกำลังกังวลกันทีเดียว...ในวงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ ที่นักพัฒนาคอมพิวเตอร์จะพัฒนา “ม้าโทรจัน” ให้ “เก่ง” ในด้านไม่พึงประสงค์มากขึ้นไปอีก

ทว่า เท่าที่กำลังเป็นอยู่ “ม้าโทรจัน” ก็เป็น “จอมวายร้าย” ที่เล่นเอาเกิด (อย่างไม่สนุก) กับตำรวจไซเบอร์ ที่พยายาม “ปกป้อง” ผู้ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตาม “แนวโน้ม” การขับเคลื่อนประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) เข้าสู่ “สังคมดิจิทัล”

วัคซีนป้องกันของขวัญอันตรายยุคใหม่!

สงครามกรุงทรอย ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ได้เกิดขึ้นและยุติไปแล้ว เมื่อประมาณ 1,200 ถึง 1,100 ปีก่อน ค.ศ.

แต่ผลจากเรื่องราวสงครามกรุงทรอย คือ “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก” ยังไม่ยุติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคำเตือนถึงภัยจากของขวัญที่นำมาโดยชาวกรีก

ของขวัญอันตรายนี้ จึงเป็นเสมือนกับโรคร้ายที่กำลัง “ทำร้าย” หรือ “คุกคาม” คนทั่วโลกในปัจจุบัน

แล้ว “วัคซีน” ป้องกันโรคร้ายนี้ มีหรือยัง?

สำหรับผู้เขียนขอตอบว่า “มี!” และ “ชะงัด” จริง!

แล้ววัคซีนที่ว่านี้ อยู่ที่ไหน? หายากหรือไม่? ราคาแพงแค่ไหน?

คำตอบของผู้เขียน คือ วัคซีน (วิเศษ) นี้ อยู่ “ต่อหน้า” ทุกคนเอง ถ้าตั้งใจจะมองหา และที่วิเศษสุด คือ ราคาไม่แพงเลย เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ต้องเสียเงินเลยถ้ารู้วิธีเข้าถึงวัคซีน

วิธีเข้าถึงวัคซีน สำคัญที่สุด ต้องรู้ว่า ของขวัญจากชาวกรีกที่อันตรายนี้ จริงๆ แล้ว คืออะไร?

แล้วของขวัญจากชาวกรีกนี้ คืออะไร?

อย่างตรงๆ คือ ของขวัญที่ไม่พึงประสงค์!

ไม่พึงประสงค์อย่างไร?

เพราะ :-

*ดีเกินไป!

*แพงเกินไป!

*ไม่สมเหตุสมผล!

*ไม่สมควรได้!

ดูแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก แล้วทำไมจึงดูเหมือนว่า วัคซีนป้องกันอันตรายจากของขวัญไม่พึงประสงค์นี้ ไม่ถูกนำมาใช้อย่างที่ “น่าจะเป็น”?

ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อท่านผู้อ่านคิดต่อไปอีก ก็จะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า สาเหตุที่ “วัคซีน” ถูกเมินเฉย จนกระทั่งของขวัญไม่พึงประสงค์จึง “อาละวาด” ได้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ก็เพราะถูก “ความโลภ” “ความอยากมีอยากได้” “ความหลง” ครอบงำ ไม่ยอมรับวัคซีน

แล้วภัยจาก “ม้าโทรจัน” ในคอมพิวเตอร์ล่ะ?

ผู้เขียนยอมรับว่า ลำพัง “วัคซีน” ที่กล่าวไปแล้ว ไม่สามารถป้องกันภัยจากม้าโทรจันได้ ดังเช่นของขวัญไม่พึงประสงค์โดยตรง เพราะ...

คนตกเป็นเหยื่อของม้าโทรจัน จำนวนมาก เกิดจากความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความแนบเนียนของม้าโทรจัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงทั้งอันตรายของม้าโทรจันและความเป็นประโยชน์จริงของ “วัคซีน” ก็จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยจากม้าโทรจันได้มาก

ของขวัญ...ที่พึงประสงค์...จากใจ !

ของขวัญดีที่สุด คือ ของขวัญที่มีความสุขทั้ง “ผู้รับ” และ “ผู้ให้”

สำหรับผู้เขียน ในวาระส่งท้ายปีเก่า 2566 ต้อนรับปีใหม่ 2567 ผู้เขียนขอมอบของขวัญด้วยใจ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีชีวิตที่เป็นมงคล...

มีพลังทั้งจิตใจและร่างกาย เพื่อที่จะสามารถทำสิ่งดีๆ ที่ตั้งใจตลอดไป ทั้งเพื่อตนเองและคนอื่นๆ

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ ตั้งใจมอบของขวัญอะไร...แก่ใคร...ในวาระพิเศษนี้ครับ?