อะไรคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การ “ปลดฟ้าผ่า” “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) จาก CEO “OpenAI”...

6 พ.ย. 23 ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องอันเต็มไปด้วยความยินดีของบรรดาพนักงานบริษัท “OpenAI” หลัง “ChatGPT” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวได้เพียง 1 ปี ประสบความสำเร็จอันงดงาม โดยสามารถสร้างจำนวนผู้ใช้งานได้มากถึง 100 ล้าน Users ต่อเดือน ภายในระยะเวลาเพียงสองเดือนหลังการเปิดตัว ซึ่งถือเป็นสถิติการเพิ่มฐานจำนวนผู้ใช้งานที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุด ขณะที่ ณ ปัจจุบัน ChatGPT มีฐานจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 100 ล้าน Active Users ต่อสัปดาห์! ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักพัฒนา (Developer) อีกมากกว่า 2 ล้านคน รวมถึงมากกว่า 92% ของบรรดาบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ที่หันมาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย

ซึ่งความสำเร็จอันน่าเหลือเชื่อนี้ ได้รับผลตอบแทนที่ “สุดคุ้มค่า” ทันที หลังสามารถร้องเรียกนักลงทุนระดับใหญ่เบิ้มๆ โดยเฉพาะ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ที่ยอมนำเม็ดเงินมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (456,592 ล้านบาท) มาร่วมลงทุน 

...

โดยศูนย์กลางที่สร้างให้เกิด “ความสำเร็จ” ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้นี้ ก็คือ “แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) อัจฉริยะหนุ่มวัยเพียง 38 ปี ผู้สามารถถอดประกอบคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ! 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความสำเร็จและเม็ดเงินจำนวนมากที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่บริษัท จู่ๆ คณะกรรมการบริหารของบริษัท OpenAI ก็กลับมีมติปลด “แซม อัลต์แมน” พ้นจากตำแหน่ง CEO บริษัทที่ตัวเขาเองสู้อุตส่าห์ปลุกปั้นขึ้นมากับมือ ภายใต้เหตุผลที่ค่อนข้างสร้างความ “ประหลาดใจ” ให้กับนักลงทุนที่ว่า “ไม่สามารถสร้างความมั่นใจในฐานะการเป็นผู้นำ และมีการสื่อสารที่ไม่ตรงไปตรงมาอย่างสม่ำเสมอ” 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ “แซม อัลต์แมน” เข้าใกล้จุดที่ “สตีฟ จ๊อบส์” (Steve Jobs) ผู้ล่วงลับเคยตกต่ำจนถึงขีดสุด จนต้องกระเด็นออกจากบริษัท Apple ที่ตัวเองสร้างมากับมือเช่นเดียวกันบ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปพยายามค้นหา “คำตอบ” ที่ว่านี้กันดู....

ความเห็นต่างเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ : 

ในมุมของ “แซม อัลต์แมน” มองว่าการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือ AI นั้น การนำไปใช้ทดสอบในวงกว้างในพื้นที่สาธารณะนั้น ถือเป็น “สิ่งที่มีความจำเป็น” ต่อการที่จะพัฒนาให้ AI เกิดความ “สมบูรณ์แบบ” เพราะยิ่งมีการใช้งานในวงกว้างมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งพบ “จุดบกพร่อง” ที่ต้องนำไปแก้ไขและพัฒนาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น 

หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง กลุ่มคนที่คัดค้านความเห็นดังกล่าวมองว่าการพัฒนา AI ควรยึดถือเรื่องความปลอดภัยสูงสุดเป็นลำดับแรก ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการดำเนินการพัฒนาอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป” นั่นคือควรมีการทดสอบในระบบปิด (การทดสอบในห้องปฏิบัติการ) เสียก่อน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะเกิด “ประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและมีความปลอดภัยมากพอก่อนที่จะให้มนุษย์นำไปใช้งาน” เพราะหากปล่อยให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในวงกว้างมากจนเกินไป อาจทำให้เกิด “ความเสี่ยง” ที่ไม่อาจประเมินได้

“แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) ซ้าย “อิลยา ซุตสเคเวอร์” (IIya Sutskever) ขวา
“แซม อัลต์แมน” (Sam Altman) ซ้าย “อิลยา ซุตสเคเวอร์” (IIya Sutskever) ขวา

...

ซึ่งคนที่ยึดถือแนวทางนี้อย่างชัดเจนและมักจะออกมาแสดงการคัดค้าน “แซม อัลต์แมน” หลายต่อหลายครั้งก็คือ “อิลยา ซุตสเคเวอร์” (IIya Sutskever) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ และหนึ่งในบอร์ดบริหารของบริษัท OpenAI ที่ยกมือ “ขับไล่” อดีต CEO หนุ่มนั่นเอง! 

โดยครั้งหนึ่ง “อิลยา ซุตสเคเวอร์” ได้เคยโพสต์ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวออกสู่สาธารณชนผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อเร็วๆ นี้เอาไว้ว่า... 

“เรายังคงไม่มี Solution สำหรับการบังคับทิศทาง หรือควบคุม AI รวมไปจนกระทั่งถึงป้องกันไม่ให้มันถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งมนุษย์เองก็ยังไม่สามารถกำกับดูแล AI ที่ชาญฉลาดมากกว่าเราได้อย่างน่าเชื่อถือด้วย” 

จุดยืนเรื่องการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร : 

บริษัท OpenAI ถูกตั้งขึ้นในฐานะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรตั้งแต่ปี 2015 ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้อง หรือเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น แต่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “AI Apocalypse” หรือการที่เทคโนโลยี AI นำไปสู่การทำลายล้างอารยธรรมของมนุษย์ชาติ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี AI ไปใช้ในการสร้างอาวุธ หรือแม้กระทั่งการสร้างโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง  

...

ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างของบริษัท OpenAI ซึ่ง “แซม อัลต์แมน” เป็นผู้ออกแบบมากับมือ จึงไม่เหมือนกับบริษัททุนอื่นๆ นั่นคือคณะกรรมการบริษัทมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตัดสินในเรื่องการดำเนินนโยบายใดๆ ในขณะที่บรรดานักลงทุนจะไม่มีอำนาจในระดับคณะกรรมการบริษัททั้งสิ้น 

ทำให้เมื่อบอร์ดบริหารส่วนหนึ่งเห็นว่า เงินทุนจำนวนมากที่กำลังไหลบ่าเข้าสู่บริษัทกำลังทำให้วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้งบริษัท “สั่นคลอน” และถูกกดดันมากเกินไปในการมุ่งแสวงหารายได้จากเทคโนโลยี AI จึงต้องมีการ “ตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม” เอาไว้ก่อน 

โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้ สอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับการที่ “เอมเม็ตต์ เชียร์” (Emmett Shear) อดีตผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Twitch ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น CEO คนใหม่ของบริษัท OpenAI หลังการขับไล่ “แซม อัลต์แมน” ซึ่งได้เคยออกมาแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงการพัฒนาเทคโนโลยี AI เอาไว้ว่า...

“หากตอนนี้เราอยู่ที่สปีด 10 เราควรหยุดชั่วคราว และปรับลดกลับไปอยู่ที่ 0 เพราะผมคิดว่าเราควรตั้งเป้าไปที่ 1-2 แทน” 

...

ปัจจัยหลักที่ทำให้ “แซม อัลต์แมน” ถูกมองด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ : 

จากรายงานข่าวของสื่อหลายแห่งระบุว่า ประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง “แซม อัลต์แมน” และบอร์ดบริหารของ OpenAI มากที่สุด คือ การที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งมองว่า บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติมโดยเร็ว อันเป็นผลมาจากการที่ ChatGPT ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งสร้างฐานผู้ใช้งานที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ดี เมื่อฐานจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ย่อมต้องมี “ราคาที่ต้องจ่ายแพงมากขึ้นเรื่อยๆ” ด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

โดยประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากการที่เมื่อเร็วๆ นี้ ChatGPT เริ่มจะตอบสนองต่อความต้องการของฐานผู้ใช้งานได้น้อยลง บริษัท OpenAI จึงจำเป็นต้องเริ่มจำกัดจำนวนครั้งของผู้ใช้งาน รวมไปจนกระทั่งถึงอาจจำเป็นต้องยุติการเปิดรับสมาชิกแบบชำระเงินลงชั่วคราวนั่นเอง  

“ความทะเยอทะยาน” ในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท รวมถึงการหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ของ “แซม อัลต์แมน” นั้น ก็มีตั้งแต่การเปิดตัว Worldcoin โทเคนดิจิทัลที่ผู้ใช้ต้องสแกนม่านตาสำหรับการระบุตัวตน รวมถึงการเสนอโครงการพัฒนาชิป AI ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ “ทางลัด” ในการพัฒนา AI ที่สามารถคิดและทำงานเหมือนกับสมองของมนุษย์ กับกองทุนความมั่งคั่งต่างๆ ในดินแดนตะวันออกกลาง เรื่อยไปจนกระทั่งถึง การเชื่อมสัมพันธ์ด้านการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับ SoftBank Group Corp. และ โจนี ไอฟ์ (Jony Ive) อดีตนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลของ Apple 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายในการมุ่งแสวงหาเงินทุนและแหล่งรายได้มากขึ้น สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ChatGPT นั้น กลับถูกบรรดาบอร์ดบริหารของบริษัทส่วนใหญ่มองว่า แซม อัลต์แมน “กำลังล้ำเส้น” เรื่องความเสี่ยงจากอันตรายของเทคโนโลยี AI ถึงแม้ว่าอัจฉริยะหนุ่มวัย 38 ปี จะพยายามชี้แจงว่า ข้อกังวลดังกล่าวสามารถถูกบริหารจัดการได้ อีกทั้งประโยชน์ที่จะได้รับกับการที่ต้องแลกมาซึ่งความเสี่ยงนั้น จะได้รับผลลัพธ์ที่ “คุ้มค่า” มากกว่าก็ตามที! 

และ “ฟางเส้นสุดท้าย” ก็คือการที่ “แซม อัลต์แมน” พยายามลดทอนอำนาจของ “อิลยา ซุตสเคเวอร์” แกนนำคนสำคัญในการคัดค้านแนวคิดดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่ “ความตึงเครียดในคณะกรรมการบริษัทอย่างรุนแรง” จนนำไปสู่ “การปลดฟ้าผ่า” ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า “อาจส่งผลกระทบต่อก้าวกระโดดสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี AI นับจากนี้ก็เป็นได้”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง