Freedom for Diaz กับ 12 วันแห่งพลังใจ และภาพสะท้อนเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาการลักพาตัวในประเทศโคลอมเบียในอดีตจนถึงปัจจุบัน...

หลังการถูกจับกุมตัว ในที่สุดตระกูลดิอาซและชาวโลกซึ่งต่างเป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของ “มานูเอล ดิอาซ” (Manuel Diaz) วัย 56 ปี บิดาของ “หลุยส์ ดิอาซ” (Luis Diaz) ปีกความเร็วจัดจ้านของสโมสรลิเวอร์พูลก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง และความสุขที่ว่านั้นก็ยิ่งถูกอัปให้เพิ่มเลเวลอีกเป็นเท่าทวี เมื่อทั้งพ่อและลูกได้พบกันเป็นครั้งแรกหลังต้องสูญเสียซึ่ง “อิสรภาพ” เป็นระยะเวลานานถึง 12 วัน 

เกิดอะไรขึ้นกับ “พ่อและแม่” ของ “หลุยส์ ดิอาซ” ในช่วง 12 วันแห่งความอัดอั้นตันใจนี้บ้าง? รวมถึงเหตุใดประเทศโคลอมเบีย จึงกลายเป็นดินแดนแห่งการ “ลักพาตัว”

วันนี้ “เรา” ลองไปย้อนลำดับเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกับพยายามค้นหาคำตอบที่ว่านี้ร่วมกัน....

...

12 วันกับการสูญเสียอิสรภาพของครอบครัวดิอาซ : 

28 ต.ค. 23 : จากรายงานของสื่อท้องถิ่นในประเทศโคลอมเบีย ระบุว่า “มานูเอล ดิอาซ” และ “ซิเลนิส มารูลันด้า” (Cilenis Marulanda) พ่อและแม่ของ “หลุยส์ ดิอาซ” ถูกกลุ่มคนร้ายติดอาวุธ 4 คน พร้อมรถจักรยานยนต์ บุกเข้าจับกุมตัวขณะอยู่ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองบาร์รันคัส (Barrancas) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย   

29 ต.ค. 23 : “ซิเลนิส มารูลันด้า” ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย โดยสื่อของโคลอมเบียรายงานว่าเธอถูกทิ้งไว้ในรถยนต์ ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจะถูกนำตัวไปยังสถานที่ปลอดภัย หลังจากนั้น ปฏิบัติการพลิกแผ่นดินค้นหาของกองทัพโคลอมเบียจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง

ด้าน “หลุยส์ ดิอาซ” ซึ่งกำลังเตรียมลงเล่นให้กับต้นสังกัดในเกมพรีเมียร์ลีกกับ “สโมสรนอตติงแฮม ฟอเรสต์” ขอถอนตัวออกจากทีม 

อย่างไรก็ดี พลังแห่งการแสดงออก “You’II Never Walk Alone” ของบรรดาเพื่อนร่วมทีม เพื่อส่งกำลังใจถึง “หลุยส์ ดิอาซ” ก็ได้ถูกแสดงออกมาอย่าง “ทรงพลัง” กับเหตุการณ์ที่ “ดิโอโก โชตา” ชูเสื้อหมายเลข 7 ประจำตัวของดาวยิงทีมชาติโคลอมเบีย หลังสามารถยิงประตูนอตติงแฮม ฟอเรสต์ ได้สำเร็จ

30 ต.ค. 23 : “หลุยส์ ดิอาซ” ได้รับคำแนะนำว่า ยังไม่ควรเดินทางกลับประเทศโคลอมเบียด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปีกหมายเลข 7 จึงต้องอยู่ในประเทศอังกฤษเพื่อรอรับฟังข่าวชะตากรรมของผู้เป็นบิดาด้วยความจำใจ ส่วนที่ประเทศโคลอมเบีย ได้มีการประกาศตั้งเงินรางวัลสูงถึง 40,000 ปอนด์ (1.7 ล้านบาท) ให้กับผู้ที่สามารถแจ้งเบาะแสของ “มานูเอล ดิอาซ”  

ขณะที่ปฏิบัติการค้นหานั้นทางการโคลอมเบีย ได้ระดมกำลังทหารมากกว่า 120 นาย เฮลิคอปเตอร์, เครื่องบินลาดตระเวน รวมถึงโดรน ออกปูพรมค้นหาอย่างจริงจัง

31 ต.ค. 23 : แม้จะมีปฏิบัติการค้นหาอย่างขนานใหญ่แต่กลับไร้วี่แววของ “มานูเอล ดิอาซ” จนกระทั่งทำให้เกิดความกังวลว่า “บางที” บิดาของปีกโคลอมเบีย อาจถูกพาตัวข้ามชายแดนไปยังประเทศอื่นแล้ว 

ด้วยเหตุนี้ “หลุยส์ ดิอาซ” จึงได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบิดา ขณะที่ประชาชนชาวโคลอมเบีย ได้ออกมารวมกันตามท้องถนนในเมืองบาร์รันคัส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพ่อของหลุยส์ ดิอาซ ด้วยเช่นกัน   

...

1 พ.ย. 23 : “หลุยส์ ดิอาซ” กลับมาร่วมฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลอีกครั้ง

2 พ.ย. 23 : รัฐบาลโคลอมเบีย ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า "กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ" (National Liberation Army) หรือ ELN เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวในครั้งนี้ จากนั้นไม่นาน ผู้แทนของ ELN ได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะว่า จะมีการปล่อยตัว “มานูเอล ดิอาซ” โดยเร็วที่สุด 

5 พ.ย. 23 : ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องชะตากรรมของผู้เป็นพ่อ แต่ “หลุยส์ ดิอาซ” ยังคงมีจิตใจที่แข็งแกร่ง โดยหลังจากถูกเปลี่ยนตัวลงไปเล่นในนัดที่ต้นสังกัดเจอกับสโมสรลูตัน ทาวน์ เขาสามารถยิงประตูตีเสมอได้เป็นผลสำเร็จ 

...

โดยหลังจากยิงประตูได้ ตัดสินใจเปิดเสื้อเพื่อโชว์ข้อความ “Freedom For Dad” เพื่อหวังร้องขอให้กลุ่ม ELN ยอมปล่อยตัวบิดา หลังจากนั้นเขายังโพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย เพื่อขอความเห็นใจจากกลุ่ม ELN อีกครั้ง 

6 พ.ย. 23 : ความหวังที่ “มานูเอล ดิอาซ” จะได้รับการปล่อยตัว “ดับวูบ” ลงอีกครั้ง หลังแกนนำกลุ่ม ELN ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า การปล่อยตัวประกันจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ารัฐบาลโคลอมเบียจะยอมถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่เขตอิทธิพลของ ELN 

8 พ.ย. 23 : สัญญาณการเจรจาระหว่างรัฐบาลโคลอมเบีย และ ELN เริ่มออกมาในเชิงบวกมากขึ้น หลังมีผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติและคริสตจักรคาทอลิกเข้ามาร่วมในการพูดคุย จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่า อาจจะมีการปล่อยตัว “มานูเอล ดิอาซ” ในเร็วๆ นี้ โดยจุดปล่อยตัวจะอยู่ใกล้ชายแดนประเทศโคลอมเบียและเวเนซุเอลา 

ด้าน “หลุยส์ ดิอาซ” เดินทางไปกลับสโมสรลิเวอร์พูลเพื่อเตรียมลงแข่งขันกับสโมสรตูลูส ที่ประเทศฝรั่งเศส ในศึกยูโรปาลีก 

8 พ.ย. 23 : ในที่สุด “มานูเอล ดิอาซ” ก็ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยมีผู้แทนขององค์การสหประชาชาติและคริสตจักรคาทอลิก เดินทางไปรับตัวที่จุดนัดพบ โดยสิ่งแรกที่ผู้เป็นพ่อทำหลังได้รับอิสรภาพ คือ การโทรหาลูกชายที่กำลังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส 

...

15 พ.ย. 23 : ชาวโคลอมเบียและชาวโลกต่างเต็มตื้นไปด้วยความสุข หลังได้เห็นภาพ “พ่อและลูกดิอาซ” หลั่งน้ำตากอดกันด้วยความสุข หลัง “ดิอาซผู้ลูก” เดินทางกลับมาตุภูมิเพื่อเตรียมรับใช้ชาติในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนอเมริกาใต้ 

สถิติการลักพาตัวในประเทศโคลอมเบีย : 

ในอดีตโดยเฉพาะช่วงยุค 90 ประเทศโคลอมเบีย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการลักพาตัวสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยในช่วงที่ “เลวร้ายที่สุด” นั้น เคยมีค่าสถิติการลักพาตัวสูงถึง 3,000 คนต่อปี!

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้สถิติการลักพาตัวสูงมากมายถึงขนาดนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศโคลอมเบีย ได้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จนทำให้เกิด “กองโจรและกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล” ขึ้นเป็นจำนวนมาก

ซึ่งทั้งกองโจรและกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธเหล่านี้ นอกจากเลือกใช้วิธี “ค้ายาเสพติด” แล้ว อีกหนึ่งยุทธวิธีที่เลือกใช้ คือ “ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ผู้มีชื่อเสียงและชาวต่างชาติ” เพื่อหาเงินทุนในการต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบียนั่นเอง 

สำหรับกองกำลังที่นิยมใช้วิธีการดังกล่าวมากที่สุด คือ กลุ่ม The Revolutionary Armed Forces of Colombia หรือ FARC ซึ่งเคยถือเป็นกลุ่มกบฏที่ใหญ่ที่สุด (เคยมีจำนวนกองกำลังติดอาวุธมากถึง 18,000 คน) และต่อต้านรัฐบาลได้อย่างแข็งแกร่งที่สุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (ปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลจนยอมวางอาวุธแล้ว) 

โดยหากอ้างอิงข้อมูลกระทรวงกลาโหมโคลอมเบีย กลุ่ม FARC รับผิดชอบการลักพาตัวในประเทศโคลอมเบีย ตั้งแต่ปี 1970-2010 ในสัดส่วนที่สูงถึง 8.5% (3,310 คน) ส่วนกลุ่ม ELN อยู่ในลำดับที่ 2 โดยคิดเป็นสัดส่วน 7.4% (2,893 คน) 

อย่างไรก็ดี หลังความพยายามในการสร้างสันติภาพมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งทำให้รัฐบาลโคลอมเบีย สามารถเจรจากลุ่มต่อต้านต่างๆ ให้ยอมวางอาวุธเพื่อมาร่วมกันพัฒนาประเทศชาติประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรณีของ FARC ปัญหาการลักพาตัวจึงค่อยๆ เบาบางลงตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา 

ดังจะเห็นได้จากสถิติการลักพาตัวระหว่างปี 2017-2021 ที่มีตัวเลขลดลงเหลือเพียงปีละไม่เกิน 200 คนเท่านั้น (อ้างอิงข้อมูลกระทรวงกลาโหมโคลอมเบีย) 

ปี 2017 : 195 คน 

ปี 2018 : 174 คน 

ปี 2019 : 163 คน 

ปี 2020 : 162 คน 

ปี 2021 : 137 คน

ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับในช่วงที่ประเทศโคลอมเบียมีกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากระหว่างปี 1993-2003 

ปี 1998 : 2,860 คน 

ปี 1999 : 3,204 คน 

ปี 2000 : 3,572 คน 

ปี 2001 : 2,917 คน 

ปี 2002 : 2,882 คน

ปี 2003 : 2,121 คน

อิทธิพลที่เหลือในปัจจุบันของกลุ่ม ELN :

กลุ่ม ELN ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1965 ถูกประเมินว่ามีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 3,000 คน นั้น ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีอิทธิพลมากเป็นลำดับ 2 ต่อจากกลุ่ม FARC และก็เช่นเดียวกัน “เส้นเลือดหลัก” ในการระดมทุนสำหรับหล่อเลี้ยงกองกำลังของ ELN คือ "การค้าขายยาเสพติดและการลักพาตัวเรียกค่าไถ่"

หากแต่หลังสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทวิภาคีกับรัฐบาลโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่ม ELN ได้ให้คำมั่นว่าจะหลีกเลี่ยง “การลักพาตัวพลเรือน” ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเหตุลักพาตัว “ครอบครัวดิอาซ” ภายใต้คำกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้นว่าเป็นเพียง “ตัวประกันเศรษฐกิจ” (Economic Hostage) เพราะ “มานูเอล ดิอาซ” เพียงแต่ถูก “ควบคุมตัว” เพื่อหวังหารายได้เท่านั้น การเจรจาสันติภาพกับฝ่ายรัฐบาลจึงเกิดปัญหาขึ้นในทันที แต่แล้วเมื่อถูก “กดดัน” อย่างหนักจากหลายๆ ฝ่ายในที่สุด กลุ่ม ELN จึงยอมคืนอิสรภาพให้กับครอบครัวดิอาซในที่สุด 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กลุ่ม ELN ยังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป ขึ้นบัญชีเป็น “องค์กรก่อการร้าย” อันเป็นผลมาจาก การใช้ความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว (โดยเฉพาะชาวต่างชาติเพื่อเรียกค่าไถ่) การค้ายาเสพติด และการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอีกมากมาย  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง