4 อุปสรรคสำคัญ ที่รอรับการรุกปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าสู่พื้นที่ฉนวนกาซาของ กองทัพอิสราเอล...
การระดมกำลังพลมากกว่า 300,000 นาย พร้อมเปิดฉากโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงในพื้นที่ "ฉนวนกาซา" ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 23 จนถึงปัจจุบัน (18 ต.ค. 23) ของ กองทัพอิสราเอล รวมทั้งมีการประกาศให้พลเรือนอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า “ทหารอิสราเอล” จะรุกเข้าไปในพื้นที่ขนาด 360 ตารางกิโลเมตร ของ “ฉนวนกาซา” เพื่อเปิดศึกภาคพื้นดินครั้งใหญ่กับ “กลุ่มติดอาวุธฮามาส” ในเร็ววันนี้
โดยนักวิเคราะห์ทางการทหารส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า การส่งกำลังทหารรุกเข้าไปพื้นที่ฉนวนกาซาของอิสราเอลในครั้งนี้ น่าจะมีความ “แตกต่าง” จากกรณีพิพาทที่นำไปสู่การส่งกำลังทหารอิสราเอลเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาก่อนหน้านี้ ซึ่งมักจะเป็นไปในรูปแบบการรุกคืบเข้าไปในระยะเพียงไม่กี่กิโลเมตร หลังเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายบุคคล และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ กลุ่มฮามาส จนกระทั่งมั่นใจได้ว่า “สามารถควบคุมการปฏิบัติการใดๆ ของฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว” ทหารอิสราเอลมักจะถอนกำลังกลับ
...
หากแต่ “ความขัดแย้งครั้งล่าสุด” นั้น การปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธฮามาส มีระดับความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายอิสราเอลมากกว่าในอดีตมาก ฉะนั้น “จึงมีความเป็นไปได้สูง” ที่ อิสราเอลอาจมี “เป้าหมาย” ถึงขั้นทำให้กลุ่มติดอาวุธฮามาส “สิ้นสภาพ” ในการมีอำนาจเหนือดินแดนฉนวนกาซา และเข้าปกครองดินแดนพิพาท (ชั่วคราว) ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการที่อิสราเอลจะไปให้ถึง “เป้าหมาย” ดังกล่าวให้ได้นั้น อาจต้องแลกมาด้วย “เวลา” และ “ราคา” ที่มากพอสมควร!
กองทัพอิสราเอลจะต้องพบกับอุปสรรคอะไร เมื่อรุกเข้าสู่ฉนวนกาซา?
การรบพุ่งในพื้นที่เขตเมือง :
ด้วยพื้นที่ ที่มีขนาดเพียง 360 ตารางกิโลเมตร แต่กลับอัดแน่นไปด้วยประชากรคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20,000 คน ต่อพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร นั้น นอกจากเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่มีความเคียดแค้นชิงชังชาวอิสราเอล จากความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ ยังเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยแคบๆ กำแพง และอาคารคอนกรีตที่มีความสูงแตกต่างกันจำนวนมาก ซึ่งถือเป็น “ภูมิประเทศ” ที่สุดแสนเอื้ออำนวยสำหรับ “ฝ่ายตั้งรับ” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภูมิประเทศเป็นอย่างยิ่ง! ถึงแม้ว่า...ฝ่ายที่รอซุ่มโจมตี อาจจะมีอาวุธที่มีศักยภาพด้อยกว่าฝ่ายรุกก็ตาม เพราะอาวุธปืนธรรมดาๆ เพียงกระบอกเดียวก็สามารถซุ่มยิงสังหารฝ่ายตรงข้ามได้!
ขณะเดียวกัน “สนามรบพื้นที่เขตเมือง” ยัง “ขัดขวาง” อำนาจการสนับสนุนจากอาวุธหนักต่างๆ เช่น การโจมตีทางอากาศ, ปืนใหญ่, ขีปนาวุธ หรือแม้กระทั่ง รถถัง ที่เคยเกื้อหนุนให้กองทัพอิสราเอลเป็นฝ่ายได้เปรียบกลุ่มติดอาวุธฮามาสมาโดยตลอด ต้องพลอย “ด้อยประสิทธิภาพลง” อีกด้วย
...
อุโมงค์ลับใต้ดิน :
และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ เป็นที่ทราบกันดีว่า “กลุ่มฮามาส” มีความเชี่ยวชาญในการ “ขุดอุโมงค์ใต้ดิน” เพื่อลักลอบนำอาวุธและกลุ่มนักรบ เข้า-ออก พื้นที่ฉนวนกาซามาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ซึ่ง “อุโมงค์ใต้ดิน” ที่ว่านี้ แม้กองทัพอิสราเอลจะเคยส่งกำลังทหารเข้าไปทำลายลงบ้างโดยเฉพาะที่อยู่บริเวณชายแดนอิสราเอล ในปฏิบัติการ “Operation Protective Edge” เมื่อปี 2014
แต่ส่วนใหญ่ของ “อุโมงค์ใต้ดิน” ซึ่งยังคงใช้งานได้อยู่จนถึงปัจจุบัน น่าจะสร้างปัญหาให้กับกองทัพอิสราเอลสำหรับการรุกเข้าพื้นที่ฉนวนกาซา ในปี 2023 นี้ อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการ “มุดใต้ดินเข้ามาซุ่มโจมตีตามฐานที่มั่นต่างๆ” ของกองทัพอิสราเอล
...
ความพร้อมรบของกลุ่มติดอาวุธฮามาส :
การลอบโจมตีแบบไม่คาดฝันซึ่งสามารถสร้างความสูญเสียให้กับอิสราเอลอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ย่อมทำให้กลุ่มฮามาสรู้ดีอยู่แล้วว่า ฝ่ายอิสราเอลจะต้องตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง ฉะนั้น ย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากที่ว่า “กลุ่มฮามาส” ต้องมีการตระเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด ทั้งในแง่กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ สำหรับการรอรับมือการปฏิบัติการภาคพื้นดินของอิสราเอลเป็นอย่างดี
ตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุม :
เงื่อนไขสำคัญอีกประการที่อาจมีผลต่อปฏิบัติการภาคพื้นที่ ในพื้นที่ฉนวนกาซาของอิสราเอล คือ ตัวประกันจำนวนมากที่ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวไปในระหว่างการโจมตีอิสราเอลครั้งล่าสุด นั่นเพราะ “ความปลอดภัยของตัวประกัน” อาจมีผลต่อการกำหนดยุทธวิธีในการรบ
เพราะที่ผ่านมา...อิสราเอลค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อการถูกจับกุมทหาร หรือพลเรือนพอสมควร ดังจะเห็นได้จากในปี 2011 อิสราเอลยอมแลกเปลี่ยนนักโทษมากกว่า 1,000 คน เพื่อแลกกับชีวิตทหารอิสราเอลหนึ่งนาย ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับกุมตัวไป
...
นอกจากนี้ อิสราเอล ยังเคยปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย 4 คน เพื่อแลกกับการที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ยอมคืนศพทหารอิสราเอล 2 นายด้วย
และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ฉนวนกาซาเพื่อกดดันกลุ่มติดอาวุธฮามาสจึงยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการใช้กำลังทหารปิดล้อม รวมถึง ตัดขาด น้ำ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง และอาหาร พร้อมกับประกาศว่า “มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อมีการปล่อยตัวประกันแล้วเท่านั้น” ก็เป็นได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง