เปิดขุมกำลังแสนยานุภาพ "กองทัพอิสราเอล" ทั้งทัพบก ทัพเรือ และ ทัพอากาศ ก่อนเตรียมเปิดฉากปฏิบัติการภาคพื้นดินในฉนวนกาซา...

หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสและอิสราเอลเปิดฉากใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารกัน จนกระทั่งทำให้ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 23 เป็นต้นมา ล่าสุด "นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู" ของ อิสราเอล ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า “กองทัพอิสราเอล” พร้อมส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการภาคพื้นดินในพื้นที่ฉนวนกาซาเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธฮามาสครั้งใหญ่ หลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสิ้นสุดลง 

แสนยานุภาพของกองทัพอิสราเอล...น่าหวั่นเกรงมากขนาดไหน? และจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากมีการระดมกำลังพลครั้งใหญ่ เข้าไปปฏิบัติการภาคพื้นดินในแบบ “ตึกต่อตึก” บนพื้นที่ขนาด 360 ตารางกิโลเมตร ของ “ฉนวนกาซา” วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันวิเคราะห์ฐานข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องอาวุธและกำลังพลของกองทัพอิสราเอล กันดูก่อน! 

...

กองทัพอิสราเอล : 

กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (The Israel Defense Forces) หรือ IDF ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1948 หรือเพียงสองสัปดาห์หลังมีการสถาปนาประเทศขึ้น 

ปัจจุบัน IDF มีกำลังพลประจำการ 169,500 นาย (อันดับที่ 28 ของโลก) และมีกำลังพลสำรองอีก 465,000 นาย สำหรับคอยปกป้องประชากร 9.3 ล้านคน และพิทักษ์พื้นที่ 20,770 ตารางกิโลเมตร

ใครบ้างที่ต้องเข้ารับราชการทหารอิสราเอล : 

พลเมืองทั้งหญิงและชายของอิสราเอล (ไม่ว่าจะพำนักในประเทศหรือต่างประเทศ) ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ยกเว้น ผู้ที่อุทิศตัวเองให้กับการศึกษา “โตร่าห์” คัมภีร์สูงสุดของศาสนายิวตลอดชีวิต หรือกลุ่มชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ ที่เป็นสตรีเคร่งศาสนา, สมรสแล้ว หรือ กลุ่มคนที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่า “มีปัญหาด้านสุขภาพร่างกายหรือสุขภาพจิต” 

สำหรับบุคคลที่เข้ารับราชการทหาร จะมีระยะเวลาในการประจำการในกองทัพ 32 เดือน (สำหรับผู้ชาย) และ 24 เดือน (สำหรับผู้หญิง)  

แสนยานุภาพกองทัพอิสราเอล 

กองทัพบก : 

กำลังพลประจำการ : 169,500 นาย

กำลังพลสำรอง : 465,000 นาย

รถถัง : 2,022 คัน 

รถหุ้มเกราะ : 615 คัน 

...

เขี้ยวเล็บสำคัญ : Merkava Mark 5 รถถังหลักรุ่นล่าสุดของกองทัพบกอิสราเอล ที่เพิ่งเข้าประจำการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2023 เพื่อเข้ามาทดแทนรถถังหลักรุ่นก่อนหน้า Merkava Mark 4 

Merkava Mark 5 มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จากการติดตั้งระบบ AI สำหรับเพิ่มอัตราการประมวลผล และการตรวจจับแบบอิสระ เพื่อช่วยให้สามารถยิงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ระบบนี้จะช่วยให้พลประจำรถ สามารถวางแผนภารกิจ นำทาง และปรับปรุงการรับรู้และประเมินสถานการณ์ในสนามรบได้ด้วยตัวเอง รวมถึงยังสามารถประสานงานกับหน่วยรบอื่นๆ (ปืนใหญ่, เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านรถถัง) เพื่อช่วยเพิ่มมิติในการรบด้วย 

นอกจากนี้ Merkava Mark 5 ยังมีการอัปเกรดระบบการป้องกันเชิงรุกที่เรียกว่า “Active Trophy” ซึ่งสามารถยิงสกัดจรวดต่อต้านรถถังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากรุ่นก่อน รวมทั้งยังมีการติดตั้งกล้องตรวจจับแบบ 360 องศา ที่สามารถมองเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืนที่เชื่อมต่อและสามารถแสดงผลกับหมวกของพลขับได้ (เช่นเดียวกับหมวกของนักบินเครื่องบินขับไล่) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสู้รบอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

...

Merkava Mark 5 มีอาวุธหลัก คือ ปืนใหญ่ MG253 ขนาด 120 มิลลิเมตร และสามารถแล่นด้วยความเร็วสูงสุดถึง 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง! 

ขีปนาวุธ : 

ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Gabriel : 

พิสัยการยิง 35-400 กิโลเมตร : ใช้ในกองทัพเรือและกองทัพอากาศของอิสราเอล โดยสามารถนำไปติดตั้งเพื่อโจมตีเป้าหมายได้ทั้งบนบก, เป้าหมายทางอากาศ และเป้าหมายในทะเล 

ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Delilah : 

พิสัยการยิง 249-299 กิโลเมตร : ขีปนาวุธที่พัฒนาโดยกองทัพอิสราเอล ซึ่งสามารถยิงจากระบบเคลื่อนที่บนถนน, อากาศสู่พื้น และพื้นสู่พื้น  

...

ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Lora : 

พิสัยการยิง 280 กิโลเมตร : ขีปนาวุธนำวิถีที่พัฒนาโดยกองทัพอิสราเอล ซึ่งสามารถยิงจากระบบเคลื่อนที่บนถนน, จากพื้นดินหรือในทะเลได้ 

ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ 

Jericho 2 : พิสัยการยิง 1,500-3,500 กิโลเมตร

Jericho 3 : พิสัยการยิง 4,800-6,500 กิโลเมตร

HIGHLIGHT : ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ IRON DOME : 10 ชุด

IDF มีแนวคิดสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศนี้ หลังถูกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มฮามาสใช้จรวดรวมกันมากกว่า 12,000 ลูก ยิงโจมตีเข้าใส่พื้นที่อิสราเอล ตั้งแต่ในช่วงปี 2000-2008 

หลังจากการทดสอบประสิทธิภาพครั้งสุดท้ายในปี 2011 อิสราเอล จึงได้นำระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,818 ล้านบาท) ต่อ 1 ชุด และมีต้นทุนต่อการยิงสกัดกั้นหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 100,000-150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (3.6-5.4 ล้านบาท) เข้าประจำการรวม 10 ชุด

ปัจจุบัน IRON DOME มีพิสัยทำการในการตรวจจับเป้าหมายและยิงสกัดกั้นได้ไกลถึง 64 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่สำหรับการป้องกันได้ถึง 150 ตารางกิโลเมตร ขณะเดียวกันยังมีอัตราความสำเร็จในการสกัดกั้นภัยคุกคามได้สูงถึง 97% ด้วย (ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ของ IDF)

กองทัพอากาศ 

เครื่องบินรบ : 345 ลำ 

ในจำนวนนี้ เป็นเครื่องบินรบสมรรถนะสูง เช่น F-16 : 196 ลำ, F-15 : 83 ลำ และ F-35 : 36 ลำ

เฮลิคอปเตอร์ : 142 ลำ ในจำนวนนี้เป็น “เฮลิคอปเตอร์จู่โจมอาปาเช” ถึง 43 ลำ 

เขี้ยวเล็บสำคัญ : F-35 เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 มันคือเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์สมรรถนะสูงแถมยังมีศักยภาพในการล่องหน (หลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์) ที่มีความคล่องตัวและสามารถปฏิบัติได้ในหลากหลายภารกิจ โดยเบื้องต้น ทางกองทัพสหรัฐฯ มีแผนจะนำ F-35 มาแทนที่ฝูงบิน F-16 และ A-10 Thunderbolt ที่ถูกใช้เป็นเครื่องบินรบหลักมานานกว่า 20 ปี 

อย่างไรก็ดี กองทัพอากาศอิสราเอลที่นอกจากจะถือเป็นชาติแรกในโลกที่สหรัฐฯ ยอมขาย F-35 ให้แล้ว พวกเขายังถือเป็นชาติแรกในโลกอีกเช่นกันที่นำ F-35 ไปใช้ในการรบจริง โดยเป็นการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในประเทศซีเรียเมื่อปี 2018 

กองทัพเรือ 

เรือรบ : 49 ลำ

เรือดำน้ำ : 5 ลำ 

เขี้ยวเล็บสำคัญ : อ้างอิงจากข้อมูลของ Nuclear Threat Initiative (NTI) องค์กรอิสระที่มุ่งเน้นการลดภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ ระบุว่า ปัจจุบันฐานทัพเรือของอิสราเอล ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองไฮฟา (Haifa) มีเรือดำน้ำจู่โจมพลังงานดีเซล ชั้น Dolphin ประจำการทั้งสิ้น 5 ลำ โดยมันถูกออกแบบและสร้างโดยบริษัท Howaldtswerke-Deutsche Werft หรือ HDW ของประเทศเยอรมนี 

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเพียงเรือดำน้ำพลังงานดีเซล แต่การข่าวของฝ่ายมั่นคงทั่วโลกเชื่อว่าอิสราเอลน่าจะมีการซุ่มพัฒนาขีดความสามารถของเรือดำน้ำทั้ง 5 ลำ ให้สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์สำหรับเป็น “ทางเลือก” ในการโจมตี ในกรณีที่ฝ่ายอิสราเอล ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อนเอาไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลเยอรมนียังคง “ปฏิเสธ” ที่จะแสดงความเห็นใดๆ ต่อกระแสข่าวดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากรายงานของ Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI ซึ่งเป็นสำนักวิจัยที่มุ่งเน้นเรื่องวิกฤติความขัดแย้งและอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบุว่า ในปี 2022 อิสราเอล ทุ่มงบประมาณมากกว่า 23,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (850,964 ล้านบาท) ไปกับงบประมาณด้านการทหาร หรือคิดเป็น 2,535 ดอลลาร์สหรัฐ (92,187 บาท) ต่อหัวประชากรในช่วงระหว่างปี 2018-2022 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีการใช้จ่ายด้านการทหารมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลก รองจาก “ประเทศกาตาร์” ซึ่งอยู่ที่ 3,379 ดอลลาร์สหรัฐ (122,880 บาท) ต่อหัวประชากร

นอกจากนี้สำหรับในปี 2022 อิสราเอล ยังทุ่มเทงบประมาณด้านกลาโหมโดยคิดเป็นถึง 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เป็นลำดับที่ 10 ของโลกอีกด้วย 

หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูล : International Institute for Strategic Studies Military Balance : อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 17 ต.ค. 23

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง