ยังคงไม่มีหลักประกัน และการยอมรับต่อไป นักวิชาการวิเคราะห์ ผลประชามติ 70% ไม่แก้ รธน. ออสเตรเลีย เพิ่มสิทธิ์ ชาวอะบอริจิน ตั้งองค์กรเสียงพื้นเมืองต่อรัฐสภา...
ท่ามกลางไฟสงครามระหว่าง อิสราเอล และฮามาส ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการสูญเสียมากมาย ทั้งคนอิสราเอล ปาเลสไตน์ หรือแม้แต่แรงงานไทยที่เดินทางไปเสี่ยงชีวิต เพื่อขุดทองหาเลี้ยงชีพ
อีกฟากหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ประเทศออสเตรเลีย มีการลงประชามติ ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 122 ปี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการ “ยอมรับ” และ “เพิ่มสิทธิ์” ให้ชนเผ่าอะบอริจิน และชนเผ่าเกาะช่องแคบทอร์เรส เพื่อตั้งหน่วยงาน ให้คำแนะนำรัฐบาลออสเตรเลีย “องค์กรเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา” หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน มีชาวพื้นเมือง 3.8% จากประชากรทั้งหมด 26 ล้านคน
และคำตอบที่ได้รับ คือ เสียงส่วนใหญ่ เกือบ 70% คือ การโหวต “NO”
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ “แอนโทนี อัลบาเนซี” นายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้ ที่รณรงค์ให้ประชาชนโหวต “Yes” ถึงกับแสดงความผิดหวัง ขณะที่ฝ่ายรณรงค์ให้โหวต “No” บางส่วนก็มีเชื้อสายอะบอริจิน โดยบอกว่าเป็นกฎหมายที่คนผิวขาวสร้างขึ้น ในปี 1901
...
จากประวัติศาสตร์ดำมืดในดินแดนออสเตรเลีย เป็นที่รู้กันว่า ชนกลุ่มแรกที่ย่างเหยียบรุกรานแผ่นดินออสเตรเลีย ฆ่าฟันชนเผ่าพื้นเมืองเดิม ที่เคยอยู่มาก่อนหลายพันปี ก็คือ “กลุ่มนักโทษ” ชาวอังกฤษ และกว่าจะถึงทุกวันนี้ การเห็นชาว “อะบอริจิน” มีความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ ก็เพิ่งมีการรับรอง เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น
จาก “เจ้าของดินแดน” กลายเป็น “ทาส” ถูกทารุณกรรม อีกทั้งยังเคยถูก พราก “ลักพาตัว” ลูกหลาน ด้วยนโยบายรัฐ นำเด็กเลือดผสม ระหว่างคนขาวกับชาวอะบอริจินนับแสนคน ตลอด 60 ปี ไปอยู่ใน “ค่ายสงวนพันธุ์อะบอริจิน” จนถูกโลกขนานนามว่าเป็น “ชนรุ่นที่ถูกลักพาตัว” (stolen generation) ทำให้กลุ่มเด็กเหล่านี้ ไม่มีความผูกพันในครอบครัว มีปัญหาชีวิต การศึกษา และบางคนก็ป่วยทางจิต
กระทั่ง ปี 2551 นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ของออสเตรเลีย ต้องกล่าวคำขอโทษ และแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ....แต่ทั้งหมดนั้น คือ ด้านมืดที่ยังซ่อนเร้นในดินแดนศิวิไลซ์
ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงผลประชามติ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 ของชาวออสเตรเลีย ว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน กล่าวคือ คนผิวขาวจำนวนมากยังไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนพื้นเมืองอย่างชาวอะบอริจิน ได้สิทธิเป็นกรรมการในการเสนอนโยบาย หรือควบคุมนโยบายของรัฐ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาเอง
“เรื่องนี้ นายกฯ คนปัจจุบัน “แอนโทนี อัลบาเนซี” เป็นคนรณรงค์ให้ผ่าน โดยบอกว่า “ความเมตตา” ต่อชนพื้นเมืองนั้น ไม่มีผลเสียหายใดๆ เลย เพียงแต่เป็นการให้โอกาสคน “เจ้าของพื้นที่” หรือ คนพื้นเมืองเดิม ได้มีปากมีเสียงเป็นของตนเอง ทั้งที่พวกเขาเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ คือ มีเพียง 8-9 แสนคน ของประชากร 20 กว่าล้านคน”
...
ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า พื้นที่ในประเทศออสเตรเลียนั้นมีมากมาย พื้นที่ว่างเปล่าก็เยอะ แต่คนผิวขาว ส่วนใหญ่ ยังรู้สึก “อคติ” ฝังรากลึก ตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เริ่มรุกราน เมื่อยึดครองได้ ก็ไม่ให้สิทธิ์ ปราบปราม
สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อน “ความไม่เท่าเทียม” ที่ยังคงมีอยู่ ทั้งสิทธิ์ในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ยังถูกจำกัด แค่รู้ว่าเป็นคนที่มีเชื้อสายอะบอริจิน มาสมัครงานก็จะถูกรังเกียจ ทั้งที่ยุคสมัยใหม่ มันควรเท่าเทียมในเรื่องเชื้อชาติ
เมื่อถามว่า การลงประชามตินี้ สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชน ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่ อาจารย์ไชยวัฒน์ ยอมรับว่า เป็นเช่นนั้น แม้ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย แต่กลับยังมีปัญหาการกีดกันสิทธิขั้นพื้นฐานกับคนพื้นเมือง
“การที่เขาเรียกร้องให้มีการบรรจุวาระดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ เพียงต้องการสร้าง “หลักประกัน” ไม่ว่าจะละเมิดมาก หรือน้อย ก็ควรมีหลักการให้ยึดเป็นหลักก่อน แต่...แค่สร้างหลักการยังไม่ได้ แบบนี้ก็น่าจะมีปัญหาต่อไป โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียม”
...
ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ยอมรับว่า ส่วนตัวเอง ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่ผ่านเรื่องนี้ เพราะการผ่าน ก็จะไม่ส่งผลอะไรมากนัก หากผ่านเรื่องนี้ไปได้ ประวัติศาสตร์นับร้อยปี จะได้เจือจาง สร้างโอกาสหล่อหลอมเป็นชาติ ทุกอย่างมันก็จะกลมกลืนไปได้ เมื่อมาถึงยุคนี้แล้วแก้ไม่ได้ ก็คงต้องติดขัดต่อไปเรื่อยๆ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ