เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ย้อนความทุกข์ทรมานของ "พโยเยริม" เหยื่อปัญหาการบูลลี่ในรอบรั้วโรงเรียนของเกาหลีใต้...

"ดิฉันเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในโรงเรียน ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย เป็นระยะเวลาถึง 12 ปี 

มีช่อง YouTube ช่องหนึ่ง เล็งเป้าหมายมาที่ดิฉัน และดิฉันมีประสบการณ์ถูกกลุ่มคนนิรนามรุมทำร้ายหลายต่อหลายครั้ง หากแต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ คนเหล่านั้นยังกล่าวหาด้วยว่า ความรุนแรงในอดีตที่ดิฉันเคยได้รับในโรงเรียนเป็นเรื่องโกหก

ตอนนี้ ดิฉันไม่เหลือความเชื่อมั่นสำหรับการทนต่อความเจ็บปวดนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่เหลืออะไรอีกแล้วที่จะทำให้ดิฉันสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อีกต่อไป ได้โปรดอย่ายอมแพ้กับความเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับดิฉัน" 

พโยเยริม” (Pyo Ye rim) อีกหนึ่งเหยื่อการบูลลี่ในโรงเรียนของเกาหลีใต้
พโยเยริม” (Pyo Ye rim) อีกหนึ่งเหยื่อการบูลลี่ในโรงเรียนของเกาหลีใต้

...

"พโยเยริม" (Pyo Ye rim) หญิงสาวที่ยอมเปิดเผยตัวเองในฐานะ "เหยื่อ" ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเกาหลีใต้ ซึ่งพยายามลุกขึ้นต่อสู้ให้มีการ "แก้ไขกฎหมาย" ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดปัญหาการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในโรงเรียน โดยเฉพาะการยกเลิกอายุความในการฟ้องร้อง และ การฟ้องร้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากเหยื่อ หลังได้รับแรงบันดาลใจจาก "The Glory" ซีรีส์ตีแผ่ปัญหาการบูลลี่สุดโด่งดังของประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2022 

แต่แล้ว...คำพูดจากบรรทัดด้านบนทั้งหมดซึ่งมาจากการอัปโหลดคลิปล่าสุดในช่อง YouTube ของเธอ คือ "การบอกลาทุกคนรวมถึงบรรดาผู้ที่เคยกลั่นแกล้งเธอเป็นครั้งสุดท้าย" หลังเจ้าหน้าที่กู้ภัย พบร่างของ "พโยเยริม" วัย 27 ปี ในอ่างเก็บน้ำเมืองปูซาน ปิดฉากชีวิตแสนเศร้าของเธอลงในที่สุด 

"อะไร" คือ ประสบการณ์เลวร้ายจากการถูก "บูลลี่" ที่ "พโยเยริม" เคยต้องเผชิญภายใต้รอบรั้วสถานศึกษาในประเทศเกาหลีใต้บ้าง? วันนี้ "เรา" ไปย้อนรับฟัง ความเลวร้ายเหล่านั้นกันดู เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด มันอาจทำให้ "ใครก็ตาม" ที่กำลังมีพฤติกรรมเหล่านั้น "ได้ฉุกคิดและหยุดการกระทำอันเลวร้ายเช่นนี้ลงเสียที!" 

และจากบรรทัดนี้ไป คือ สิ่งที่ "พโยเยริม" ได้แชร์ประสบการณ์ของเธอผ่านหลายๆ สื่อของประเทศเกาหลีใต้...

"หลังจากได้เห็นสิ่งที่ มุนดงอึน (รับบทโดย ซง ฮเย คโย) ต้องเผชิญในซีรีส์ The Glory แล้ว ดิฉันตำหนิตัวเองมาก เพราะมันผ่านมาหลายปีมากแล้วที่ดิฉันเอาแต่หนีจากผู้ที่กระทำความผิด เพียงเพราะดิฉันหวาดกลัวคนเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ดิฉันรู้สึกดีใจที่ซีรีส์เรื่องนี้จบลงด้วยการที่ มุนดงอึน ล้างแค้นได้สำเร็จ

เมื่อดูซีรีส์เรื่องนี้จบลง ความรู้สึกของ มุนดงอึน ได้ถ่ายทอดมาถึงดิฉัน และมันทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่า มีอะไรบ้างไหมที่ดิฉันสามารถทำได้ในตอนนี้ ดิฉันอายุ 27 ปีแล้ว มันจึงควรต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง"

"ฮักกโย พกรยอก" (학교 폭력) หรือ "ความรุนแรงภายในโรงเรียน"

...

จุดเริ่มต้นของการเป็น วังตา (왕따) หรือ เหยื่อ  : 

"พโยเยริม" บอกเล่าว่า เนื่องจากเธออาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ตลอดการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมปลาย เธอจึงต้องเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งปีการศึกษา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอไม่สามารถ "หลบเลี่ยง" กลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงกับเธอได้ ตลอดระยะเวลา 12 ปีในโรงเรียนดังกล่าว

"โดยกลุ่มคนที่ร่วมกันบูลลี่เธอนั้น มีทั้งหมด 4 คน และคนเหล่านั้นเลือกเธอเป็นเหยื่อเพราะเพียงเห็นว่า...เป็นคนเงียบๆ โดดเดี่ยว และไม่ค่อยมีเพื่อน"

สำหรับสิ่งที่ "วังตา" เช่นเธอต้องเผชิญจาก อิลจิน (일진) หรือ ผู้ไล่ล่า ก็มีตั้งแต่...ถูกลากเข้าไปในห้องน้ำและจับศีรษะของเธอกดลงไปในชักโครก เพียงเพราะอ้างว่าเสื้อผ้าของเธอมีกลิ่นเหม็น, รุมทุบตีในห้องเรียน, ตั้งใจเดินชนไหล่จนทำให้เธอล้มลงก่อนจะตามไปทำร้ายร่างกายต่อ, พูดจาข่มขู่ดูถูกเหยียดหยาม หรือใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่างๆ นานาอยู่เสมอๆ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การกลั่นแกล้งที่มีต่อเธอจะถูกยกระดับให้รุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก หากเธอไม่ยอมตอบคำถามจากคนกลุ่มนั้น 

...

"ดิฉัน เคยพยายามบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดกับครูคนหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากที่จะทำแบบนั้น หากแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ...การตั้งคำถามที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของดิฉัน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดิฉันจึงตัดสินใจเลือกที่จะปิดปากเงียบ และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเพราะอะไรพ่อและแม่จึงไม่เคยรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย" 

การตัดสินใจ "ลุกขึ้นสู้" หลังได้รับแรงบันดาลใจจาก The Glory :   

"พโยเยริม" ยอมรับว่า ความพยายามเรียกร้องความยุติธรรมของ มุนดงอึน ในซีรีส์ The Glory ทำให้เธอตระหนักได้ว่า ในขณะที่เธอพยายามเอาแต่วิ่งหนีปัญหา และต้องทนทุกข์ทรมานจากการต้องพึ่งพา "ยา" เพื่อช่วยให้ชีวิตของเธอสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ จากทั้งโรคนอนไม่หลับ, โรคซึมเศร้า และอาการปวดท้อง

หากแต่...บรรดาผู้ที่เคยกระทำย่ำยีกับเธอทุกคนกลับใช้ชีวิตอย่างมีความสุขราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หากแต่ที่น่าเสียดาย คือ เธอไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านั้นได้เพราะ..."คดีหมดอายุความไปแล้ว" 

อย่างไรก็ดี หลังมีการแชร์เรื่องราวดังกล่าวออกไป บรรดาศิษย์เก่าจากโรงเรียนเดียวกับ "พโยเยริม" ซึ่งเคยพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ออกมายืนยันว่า "เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องจริง" พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลรวมถึงภาพถ่ายของ "กลุ่มคนที่เคยร่วมกันทำร้ายร่างกาย พโยเยริม ทั้ง 4 คน" ลงบนโชเชียลมีเดีย 

จนกระทั่งพบว่าคนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มบูลลี่ นั้น ปัจจุบันกำลังรับราชการในกองทัพเกาหลีใต้ ส่วนคนที่เป็นรองหัวหน้ากลุ่ม ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นช่างทำผมในร้านหรูระดับไฮเอนด์ คนที่ 3 กำลังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหลังเพิ่งเข้าพิธีวิวาห์ ส่วนคนที่ 4 กำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังเพิ่งเปลี่ยนชื่อ

...

เรื่องน่าเศร้า...เมื่อกลุ่มผู้ก่อเหตุ ไม่ยอมขอโทษหรือแม้แต่ยอมรับความผิด : 

หลังเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปทั่วประเทศเกาหลีใต้ สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป คือทั้ง 4 คน พร้อมใจกัน "ปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้น" และ "ไม่" แม้แต่จะแสดงความเสียใจหรือขอโทษกับ "พโยเยริม" หนำซ้ำยังพยายามหาทางดำเนินคดีกับเธออีกด้วย 

โดยบรรดาสมาชิกที่รุมกลั่นแกล้ง "พโยเยริม" อ้างกับสื่อเกาหลีใต้ที่มาขอสัมภาษณ์ว่า "ไม่เคยรู้จักพโยเยริม" และ "จำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรกับพโยเยริมเอาไว้" รวมถึงอ้างว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ "พโยเยริม" แชร์ออกสู่สาธารณชนนั้นเป็นเรื่องโกหก และแน่นอน "หนึ่งในคำตอบ" ที่ "คุณ" ก็คงรู้นั่นก็คือ "การหงายการ์ดผู้เยาว์รู้เท่าไม่ถึงการณ์!"    

หากแต่ที่ดูจะ "เลวร้าย" สำหรับการตอบโต้ที่มีต่อ "พโยเยริม" มากที่สุด คือ การปรากฏตัวของช่อง YouTube ช่องหนึ่ง ที่สร้างคอนเทนต์เผยแพร่ข่าวเท็จโจมตีเธออย่างรุนแรง และพยายามกล่าวหาด้วยว่า "พโยเยริม" เป็นคนโกหกและมีอาการป่วยทางจิต พร้อมกับล้อเลียนพ่อและแม่ของเธอต่างๆ นานา 

ซึ่งการ "ตอบโต้" ที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนบีบคั้นให้ "พโยเยริม" เกิดความเครียดถึงขีดสุด และเลยเถิดจนถึงขั้นพยายามทำร้ายตัวเอง ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง 

ทั้งนี้ "ประเด็นสำคัญ" ที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงในรั้วโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นกับ "พโยเยริม" ไม่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายได้นั้น นอกจากประเด็นในเรื่องการขาดอายุความในการฟ้องร้องแล้ว ยังเกิดจากการที่ "ครู" ในสถานศึกษาดังกล่าว "ปฏิเสธ" ที่จะมาเป็น "พยาน" ในคดีนี้เนื่องจากเกรงว่าอาจถูกตั้งข้อหาประมาทเลินเล่อ รวมถึง ตำรวจของเกาหลีใต้ยังอ้างว่า "พโยเยริม" ไม่มี "หลักฐานการตรวจร่างกาย" จากการถูกทำร้ายในอดีตด้วย

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนเกาหลีใต้ : 

คำตอบ คือ ความเครียดและแรงกดดันจากการแข่งขันอันสูงล้นในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ 

อ้างอิง จาก สำนักงานวิจัยสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ (Statistics Research Institute) เปิดเผยว่า ในปี 2022 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของเกาหลีใต้ ใช้เวลาในการเรียนเฉลี่ยมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันในโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ส่วนระดับมัธยมต้นอยู่ที่มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน และระดับประถมศึกษาอยู่ที่ มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน 

อย่างไรก็ดี นักเรียนส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ ยอมรับว่า พวกเขาใช้เวลาในการเรียนมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเกือบ 2 เท่า ของค่าเฉลี่ย "องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OCED" ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมเวลาทำการบ้าน เรียนเพิ่มเติม และเรียนพิเศษส่วนตัว) อันเป็นผลมาจาก "การแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศเกาหลีใต้" 

โดยประเด็นเรื่องการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ นั้น ได้รับการยืนยันจาก "ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสถานศึกษาเอกชนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมปลายปี 2022 ตัวเลขพุ่งทะลุถึง 2.6 ล้านล้านวอน (69,964 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 ต.ค. 2023) แล้ว ตามรายงานของสำนักงานวิจัยสถิติแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ 

กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ ระบุว่า ชั่วโมงการเรียนที่ยาวนานและความเครียดทางวิชาการที่รุนแรง ทำให้คดีความรุนแรงในโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้น จากประมาณ 18,000 คดี ในปี 2013 เพิ่มเป็นถึง 63,000 คดีในปี 2022 หากแต่ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ ปัจจุบัน การมาถึงของ "โชเชียลมีเดีย" ได้ทำให้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนมีระดับของความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจาก "เหยื่อ" ถูกก่อกวนได้ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน 

ผลกระทบที่มีต่อ "เหยื่อ" การบูลลี่ในโรงเรียนเกาหลีใต้ : 

ผลสำรวจของสมาคมจิตเวชของเกาหลีใต้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า เหยื่อของการบูลลี่ในโรงเรียนมากถึง 94.1% ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และ 72.5% มีอาการวิตกกังวล ขณะเดียวกันมากถึง 84.3% ป่วยเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ 

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชของเกาหลีใต้ ยังระบุด้วยว่า ผู้ที่ก่อความรุนแรงในโรงเรียน มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ สูงกว่าปกติมากถึง 3-4 เท่า เมื่อเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ 

ด้วยเหตุนี้ การบูลลี่ในรอบรั้วโรงเรียนจึงไม่ได้ส่งผลกระทบด้านจิตใจในระยะยาวต่อทั้ง "ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ" เท่านั้น แต่มันมีผลกระทบกับ "ผู้ที่กระทำ" ด้วยเช่นกัน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง