ความพยายามเพื่อการยืดชีวิตของมนุษย์ให้ยืนยาว กับเรื่องราวการสร้าง อะไหล่อวัยวะจากสัตว์...

ความพยายามเพื่อการยืดชีวิตของมนุษย์ให้ยืนยาวที่สุด! 

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ยูเอ็มเอ็มซี. (UMMC. : University Of Maryland Medical Center) สหรัฐอเมริกา ประกาศความสำเร็จในการเปลี่ยนหัวใจของหมู ผ่านการดัดแปลงยีน ให้แก่มนุษย์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่เป็นรายที่สอง 

"เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตาม ความพยายามถึงล่าสุดของมนุษย์ ในการที่จะมีชีวิตยืนยาวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาศัย "อะไหล่อวัยวะ" จากสัตว์ และจากตัวของมนุษย์เอง

สู่อนาคตคนมีไต และ หัวใจหมู! 

เรื่องของมนุษย์ ที่มีอวัยวะดังเช่น ไต, หัวใจ หรือ อวัยวะอื่นๆ อยู่ในร่างกาย เป็นเรื่องที่คิดกันมานาน ตั้งแต่เมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 20 ที่ความก้าวหน้าของการแพทย์ ได้พัฒนาถึงระดับสามารถจะเปลี่ยนอวัยวะของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...

โดยเริ่มจากการเปลี่ยนอวัยวะระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แล้วก็การเปลี่ยนอวัยวะจากสัตว์ให้กับมนุษย์

อย่างแน่นอน ปัญหาใหญ่ของการเปลี่ยนอวัยวะ คือ การไม่ยอมรับอวัยวะแปลกปลอม ของร่างกาย ซึ่งการแพทย์ก็ก้าวหน้าต่อมา จนกระทั่งสามารถเอาชนะปัญหานี้ได้อย่างน่าพอใจ จนกระทั่งทำให้การเปลี่ยนอวัยวะระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เดินหน้าอย่างรวดเร็ว

ถ้าการเปลี่ยนอวัยวะระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ที่นับว่ายากมากแล้ว การเปลี่ยนอวัยวะจากสัตว์ให้แก่มนุษย์ ก็ยิ่งยากกว่าหลายเท่า

แต่ก็เพราะปัญหาแปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับความก้าวหน้าของการเปลี่ยนอวัยวะที่ยิ่งก้าวหน้า ก็ยิ่งเกิดการขาดแคลนอวัยวะที่จะเปลี่ยน ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนและไปไกลถึงอาชญากรรมการค้าอวัยวะมนุษย์! 

นั่นแหละ ทำให้วงการแพทย์จึงหันไปมอง สัตว์ เป็นแหล่ง "อะไหล่อวัยวะ" จะเปลี่ยนให้กับมนุษย์ 

แต่จริงๆ แล้ว ความพยายามในการเปลี่ยนอวัยวะของสัตว์ให้กับมนุษย์ เกิดขึ้นจริงๆ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ. 1905 ที่ประเทศฝรั่งเศส กับการปลูกถ่ายส่วนหนึ่งของไตของกระต่าย ให้กับเด็กที่เป็นโรคไต แต่เด็กก็มีชีวิตอยู่ได้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นเวลา 16 วัน  

ในช่วงประมาณสองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ก็มีความพยายามในการทดลองเปลี่ยนอวัยวะของสัตว์หลายชนิด เช่น แกะ, หมู และ ลิง ให้กับมนุษย์ แต่ทั้งหมด ถือว่า ไม่ประสบผลสำเร็จ

การเปลี่ยน หรือปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์ให้กับมนุษย์ จึงเงียบไป จนกระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ร่างกายยอมรับอวัยวะแปลกปลอม ได้มากขึ้น เรื่องของการเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และจากอวัยวะของสัตว์ จึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง 

ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก คือ กรณีของ "เบบี้เฟ" (Baby Fae) เด็กทารกอเมริกันได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ คือ หัวใจของ ลิงบาบูน แทนหัวใจของเธอ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1984 

ถึงแม้เธอจะมีชีวิตหลังการเปลี่ยนหัวใจอยู่ได้ 21 วัน แต่วงการแพทย์ถือว่า การปลูกถ่ายหัวใจให้เธอนั้น ประสบความสำเร็จ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ก็มาจากปัญหาการไม่ยอมรับสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย 

ทั้งก่อนและหลังกรณีของ เบบี้เฟ ก็มีความพยายามในการเปลี่ยนอวัยวะของสัตว์ให้แก่มนุษย์ ทั้งไต และหัวใจ รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ ด้วย  

ความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยน หรือปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์ให้แก่มนุษย์ คือ การสร้างกลุ่มของสัตว์ที่ผ่านการตัดต่อยีนด้วยพันธุวิศวกรรม เพื่อลดปัญหาการต่อต้านอวัยวะแปลกปลอมของร่างกาย

ก่อนจะถึงกรณีล่าสุดเปิดเรื่องของเราวันนี้ คือ การเปลี่ยนหัวใจของหมูพันธุวิศวกรรม  ก็มีกรณีของความก้าวหน้าในการเปลี่ยนไตของหมู ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับมนุษย์ 

...

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2021 คณะแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์แลงโกน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University Langone Health) ผ่าตัดเปลี่ยนไต 2 ข้างของหมู ที่ผ่านการดัดแปลงยีน ให้กับชายคนหนึ่งที่อยู่ในภาวะสมองตาย 

เป็นการทดลองเปลี่ยนไต ของสัตว์ที่ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับมนุษย์ เป็นครั้งแรก 

หลังการเปลี่ยนไต ปรากฏว่า ไตของหมู สามารถทำงานได้อย่างเป็นปรกติ คือ รักษาการไหลของเลือด ให้ดำเนินต่อไปได้ และที่สำคัญ ในระยะแรกๆ ของการผ่าตัดเปลี่ยนไต ไม่มีการต่อต้านของร่างกาย ต่อไตจากหมู ถึงแม้ต่อมา ก็มีสัญญาณการไม่ยอมรับอวัยวะจากหมู โดยร่างกายมากขึ้น 

การทดลองครั้งนั้น ยุติลงในเวลา 77 ชั่วโมงเพราะสภาพของร่างกายที่อยู่ในภาวะสมองตายอยู่แล้ว 

หลังการทดลองเปลี่ยนไตของหมู ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับมนุษย์ครั้งนั้น ก็มีการทดลองคล้ายกันต่อๆ มา 

ล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 ทีมแพทย์เดียวกับที่ทำการเปลี่ยนไตหมู ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับมนุษย์เป็นครั้งแรก ก็ได้เปลี่ยนไตของหมูที่ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับ มอริช มิลเลอร์ (Maurice Miller) อายุ 58 ปี โดยที่มอริช มิลเลอร์ ก็เช่นเดียวกับผู้รับการเปลี่ยนไตคนก่อนๆ ที่อยู่ในภาวะสมองตาย แต่มีการปรับปรุงรายละเอียดเกี่ยวกับการดัดแปลงยีนของหมู เพื่อลดการต่อต้านของร่างกายผู้รับให้ดีขึ้นอีก 

ผลปรากฏว่า ไตหมูในร่างของผู้รับ สามารถทำงานแทนไตมนุษย์ ได้อย่างดี 

การทดลองครั้งใหม่นี้ ไตหมู ทำงานอยู่ในร่างกายผู้รับเป็นเวลา 61 วัน 

หลังจากนี้ คณะแพทย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก็เตรียมการเพื่อจะทำการทดลองเปลี่ยนไตหมู ให้กับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตจริงๆ ต่อไป 

...

จากการเปลี่ยนไต มาเป็นการเปลี่ยนหัวใจ

ในขณะที่การเปลี่ยนไตหมู ให้กับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังต้องรอกันต่อไปอีก 

แต่การเปลี่ยนหัวใจของหมู ที่ผ่านการดัดแปลงยีนให้แก่มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2023 โดยทีมแพทย์ที่ ยูเอ็มเอ็มซี. ซึ่งก็เป็นทีมเดียวกับที่ทำการทดลองเปลี่ยนหัวใจของหมู ผ่านการดัดแปลงยีนให้กับมนุษย์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2033 

ในการเปลี่ยนหัวใจหมูให้กับมนุษย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นครั้งแรกนั้น ผู้ได้รับการเปลี่ยน คือ เดวิด เบนเนตต์ (David Bennett) อายุ 57 ปี 

ก่อนการเปลี่ยนหัวใจ เดวิด เบนเนตต์ ป่วยเป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง ต้องอาศัยเครื่องบายพาสหัวใจและปอด (Heart Lung Bypass) อยู่แล้วเป็นเวลา 6 สัปดาห์ 

หลังการเปลี่ยนหัวใจจากหมู เขามีชีวิตอยู่ต่อมาได้ 2 เดือน 

จากกรณีของ เดวิด เบนเนตต์ คณะแพทย์จึงได้ข้อมูลความรู้เพิ่มขึ้น ในการเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนหัวใจของหมูให้กับคนป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป 

...

มาถึงการเปลี่ยนหัวใจหมูแก่คนยังมีชีวิตอยู่เป็น ครั้งที่สอง ผู้ได้รับการเปลี่ยนหัวใจ คือ ลอเรนซ์ ฟอซีตเท (Lawrence Faucette) อายุ 58 ปี 

หัวใจหมูที่ใช้เปลี่ยน เป็นหัวใจที่ผ่านการดดัดแปลงและตัดต่อยีน รวม 13 ยีน 

หลังการเปลี่ยนหัวใจหมูให้กับ ลอเรนซ์ ฟอซีตเท จนกระทั่งถึงวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2023 มีรายงานจากโรงพยาบาลว่า ผลการเปลี่ยนหัวใจได้ผลดีอย่างที่คาดหวัง  เพราะผู้ป่วยสามารถหายใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ 

อนาคตของอะไหล่มนุษย์จากสัตว์ ... 

หัวใจ และ ไต เป็นอวัยวะจากสัตว์สำหรับมนุษย์ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ 

แต่จริงๆ แล้ว ก็ยังมีอวัยวะอื่นๆ จากสัตว์ที่ได้รับความสนใจ คือ ปอด, ตับ, ลำไส้ ฯลฯ 

ทว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้อวัยวะของสัตว์ เป็นอะไหล่ให้กับมนุษย์ ก็ยังเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันของร่างกายมนุษย์ กับอวัยวะของสัตว์ 

ทางออกที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุด ก็คือ การแก้ไขดัดแปลงยีนของอวัยวะสัตว์ เพื่อให้ร่างกายมนุษย์ยอมรับ ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายวิธีการที่จะแก้ไขดัดแปลงยีนของอวัยวะของสัตว์ เช่น เทคนิค คริสเปอร์แคสไนน์ (CRISPR-Cas 9) 

เทคนิคการตัดต่อยีนที่ดีขึ้น สร้างความหวังมากเป็นพิเศษสำหรับการใช้อวัยวะจากสัตว์ เปลี่ยนให้กับมนุษย์ เพราะทำได้ง่ายกว่า และเห็นผลเร็วกว่าวิธีการสร้างสัตว์ให้ มียีนมนุษย์ตั้งแต่เกิด ด้วยวิธีการทำโคลนนิง (cloning) 

แต่สำหรับมนุษย์เองล่ะ สถานการณ์เป็นอย่างไร? 

************

โคลนนิง เพื่อสร้างอะไหล่มนุษย์! 

เรื่องการทำโคลนนิง เพื่อสร้างก๊อบปี้ของต้นแบบ เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1997 กับการปรากฏตัวของ แกะโคลนดอลลี (Dolly) ที่เกิดจากเซลล์ต้นแบบจากแกะโตแล้ว  แทนที่จะเป็นโคลนนิงของแกะจากเซลล์ต้นกำเนิด คือ สเต็มเซลล์ (stem cell) ของตัวอ่อนแกะ

ความก้าวหน้าเรื่องโคลนนิง เกี่ยวกับมนุษย์ ทำให้เกิดกระแสเรื่อง การสร้าง ก๊อบปี้มนุษย์ และการสร้างอะไหล่มนุษย์ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการสร้างอะไหล่มนุษย์ จากโคลนนิง มีแง่คิดที่ทั้งท้าทาย เป็นไปได้ และที่ต้องเฝ้าระวัง 

อย่างง่ายที่สุด คือ การสร้างมนุษย์คนใหม่ เพื่อให้มีอวัยวะที่จะใช้กับอีกคนหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ จึงจะมีชีวิตอยู่ได้

และก็เคยเกิดมาแล้ว กรณีครอบครัวมีลูกซึ่งต้องมีการเปลี่ยนอวัยวะ เช่น ไต จึงจะมีชีวิตเติบโตเป็นปรกติได้.....

และก็ไม่สามารถจะรอ "ไต" ที่บริจาคได้ 

จึงมีลูกอีกคน...เพื่อแบ่งไต ให้กับพี่...

โชคดีที่เรื่องนี้ จบลงด้วยดี เพราะทั้งสองพี่น้อง... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้อง...ก็บอกทุกคนว่า "ดีใจที่ได้เกิดมา เพื่อให้พี่ได้มีชีวิตที่ดี" 

ทว่า กรณีเช่นนี้ เกิดขึ้นไม่มาก ดังนั้น ถ้าจะใช้โคลนนิงเป็นแหล่งสร้างอะไหล่มนุษย์ เป็นจำนวนมาก ง่ายที่สุด และทำได้ไม่ยาก จริงๆ ก็คือ สร้าง "มนุษย์โคลน" ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งก็ทำได้ "ง่าย" จริงๆ 

แต่ก็ทำกันไม่ได้! 

เพราะผิดกฎหมาย และผิดจริยธรรมแห่งความเป็นมนุษย์....

เหมือนกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สยองขวัญ ที่นักวิทยาศาสตร์จิตวิปลาส สร้างมนุษย์โคลนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยไม่ให้มี "สมอง" ดังเช่นคนปกติ 

นั่นคือ มีสมองเพียงแค่เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ แต่ "คิด" ไม่ได้! 

แล้วการสร้างเฉพาะอวัยวะมนุษย์ เพื่อเป็นอะไหล่มนุษย์ล่ะ? 

โคลนนิง เฉพาะอวัยวะเพื่อใช้เป็นอะไหล่ตนเอง! 

ความคิดเรื่องการทำโคลนนิงเฉพาะอวัยวะของมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนให้กับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ และตนเอง เป็นความคิดที่เกิดขึ้นและกล่าวถึง ...ถกกัน ...มากในช่วงการกำเนิดของ แกะดอลลี 

หลักคิดก็คือ โดยการใช้เซลล์จากมนุษย์ที่โตแล้ว เช่น เซลล์ผิวหนัง ไปเปลี่ยนให้เป็น สเต็มเซลล์ แล้วนำไปทำโคลนนิง เป็นอวัยวะ เช่น หัวใจ, ปอด, ตับ,ไต ฯลฯ 

ถึงแม้กฎหมายส่วนใหญ่ทั่วโลก จะเข้มงวดมากสำหรับเรื่องการทำโคลนนิงมนุษย์เต็มตัว แต่กฎหมายไม่เข้มงวด...จริงๆ ก็คือ อนุญาต....ให้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับโคลนนิงของมนุษย์ได้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 

แต่ความคิดเรื่องการทำโคลนนิง เฉพาะอวัยวะมนุษย์  ก็ค่อยๆ หดหายไปจากความสนใจ ในเชิงความเป็นข่าว เพราะปัญหาความยากลำบากในการทำโคลนนิงเฉพาะอวัยวะ เช่น หัวใจ ที่ทำได้ยากกว่า การทำโคลนนิงมนุษย์เต็มตัวทั้งคน ...

มาวันนี้ ประมาณกว่ายิ่สิบปีหลังกำเนิดของแกะโคลนดอลลี ความคิด และข่าวความเคลื่อนไหวในวงการวิทยาศาสตร์ สำหรับการสร้างอะไหล่มนุษย์จากกระบวนการโคลนนิง ก็เริ่ม "ดัง" ขึ้นมาอีก 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ที่จำเพาะลงไป ถึงเรื่องการตัดต่อ ยีน ที่ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผสมผสานกับเทคนิคในการสร้างอวัยวะเทียม ที่ก้าวหน้าขึ้น รวมไปถึงเรื่องเทคนิคการพิมพ์สามมิติ (3D-Print) ที่สามารถ "พิมพ์" วัตถุตามแบบ ที่ต้องการทุกชนิด และทุกขนาด ตั้งแต่เล็กๆ ถึงชิ้นส่วนยานอวกาศของจริง ก็ทำให้เรื่องของ การทำโคลนนิงเฉพาะอวัยวะของมนุษย์ ได้รับความสนใจอย่างจริงจังขึ้นมาอีก 

ตัวอย่างหลักคิด หรือวิธีการหนึ่ง ที่ผู้เขียน เชื่อ (จากประมวลการติดตามความเคลื่อนไหว และความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์) ว่า สามารถทำได้วันนี้ และจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกอย่างไม่ช้านานนัก คือ ทำ "เบ้า" หรือ "โครง" ต้นแบบของอวัยวะที่ต้องการ เช่น หัวใจมนุษย์ จากวัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายเองได้

จากนั้น ก็นำเซลล์มนุษย์ต้นแบบ เช่น จากผิวหนัง มาผ่านกระบวนการทำให้เป็น สเต็มเซลล์

แล้วใช้ กระบวนการเร่งการแบ่งเซลล์ต้นแบบ ให้เกิดขึ้นเร็ว และมากพอ ...

จากนั้นอีกก็นำเซลล์ต้นแบบ ที่ได้ไปใส่ "เบ้า" หรือ "โครง" ที่เตรียมไว้ แล้วก็กระตุ้นให้เซลล์ในเบ้า หรือ โครง เพิ่มจำนวน จนกระทั่งได้อวัยวะมีลักษณะ และขนาดเท่าของจริง ซึ่งถึงตอนนั้น เบ้า หรือโครงต้นแบบ ก็จะย่อยสลายไป ก็จะได้อวัยวะ คือ หัวใจของจริง ที่มี ยีน ของเจ้าของเซลล์ แต่แรก เป็นอะไหล่อวัยวะ "ของจริง" มิใช่ "อวัยวะเทียม" เพื่อเปลี่ยนให้กับคนที่ต้องการ .....

อย่างแน่นอน เป้าหมายของการทำโคลนนิงอวัยวะมนุษย์แบบนี้ ก็เพื่อให้ใช้กับ "เจ้าของเซลล์" เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของเซลล์ต้นแบบที่แพทย์วินิจฉัย ว่า "หัวใจ จะล้มเหลว" ในอนาคต ...

แล้ววิธีการนี้ จะใช้ผลิตอะไหล่อวัยวะจากโคลนนิง สำหรับคนทั่วๆ ไป ได้หรือไม่? 

นั่นคือ จะโคลนนิงอวัยวะอื่นๆ นอกเหนือไปจากหัวใจ เช่น ปอด, ตับ, ไต, ลำไส้ ฯลฯ ได้หรือไม่? 

อย่างแน่นอน คำตอบคือ ได้! 

แต่ผู้เขียนคิดว่า ไม่สมควร และไม่จำเป็น

ทำไมหรือ? 

ก็เพราะว่า สำหรับคนทั่วๆ ไป ก็มีอวัยวะจากคนอื่นๆ (จากฐานแหล่งบริจาคอวัยวะ) อยู่แล้ว....

ซึ่งถึงแม้จะยังไม่เพียงพอ เพราะมีผู้รอเปลี่ยนอวัยวะทั่วโลก เป็นจำนวนสูงกว่าอวัยวะที่มีให้เปลี่ยนอย่างมาก...

แต่ อวัยวะบริจาคจากคนอื่นๆ ก็มี และมากกว่า...และไม่ต้องผ่านกระบวนการ ดังเช่น การทำโคลนนิงอวัยวะ....อย่างเทียบกันไม่ได้ 

แสดงว่า การสร้างอะไหล่มนุษย์จากโคลนนิง เป็นเรื่องเฉพาะของ "อภิสิทธิ์ชน" ใช่หรือไม่?

คำตอบน่าจะเป็นว่า.. "ก็ใช่เป็นบางส่วน" เพราะในการวิจัย และพัฒนาการสร้างอะไหล่มนุษย์จาก โคลนนิง นอกเหนือไปจากอวัยวะที่จะใช้กับเฉพาะคนบางคนแล้ว  นักวิทยาศาสตร์ก็จะได้ข้อมูลความรู้เพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ทางด้านสุขภาพของมนุษย์ทุกคนด้วย 

อีกทั้งการมีอะไหล่อวัยวะเพิ่มขึ้นมาด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็ย่อมช่วย ลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะลงได้บ้าง

แล้วเรา...คนธรรมดาเดินดิน....จะช่วยเรื่องการขาดแคลนอวัยวะสำหรับเปลี่ยนอย่างเป็น รูปธรรม ได้บ้างหรือไม่? 

ผู้เขียนเชื่อว่า ได้! 

ทางหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่า จะช่วยได้อย่างมากก็คือ การบริจาคอวัยวะ เมื่อถึงเวลาที่เรา "ต้องจากโลกนี้ไป" ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตามอายุขัย หรือเหตุอย่างอื่น 

ผู้เขียนเองก็ได้บริจาคร่างกาย ให้กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียบร้อยแล้ว

ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องนี้อย่างไร?