ค่าย Johnny การลาออกและการขอโทษของประธานรุ่นที่ 3 "จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา" ที่ยังคงถูกตั้งคำถามถึงความจริงใจ...

“ทั้งในนามของบริษัทและในนามส่วนตัว ดิฉันยอมรับเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และดิฉันขอกล่าวคำขอโทษอย่างสุดซึ้งต่อบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทุกคน” จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา (Julie Keiko Fujishima) หรือ “Julie K” วัย 57 ปี ประธานบริษัท Johnny & Associates Inc. กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนที่มารอรับฟังคำ “การขอโทษอย่างเป็นทางการ” ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศยาวนานร่วม 4 ชั่วโมง ของบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา

จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา (Julie Keiko Fujishima) หรือ “Julie K” วัย 57 ปี ประธานบริษัท Johnny & Associates Inc.
จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา (Julie Keiko Fujishima) หรือ “Julie K” วัย 57 ปี ประธานบริษัท Johnny & Associates Inc.

...

เพราะ...ประโยคด้านบนทั้งหมดที่ว่าไปนั้นเท่ากับเป็นการ “ยอมรับต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก” จากทางค่าย Johnny ว่า “จอห์นนี คิตากาวะ” (Johnny Kitagawa) อดีตประธานและผู้ก่อตั้ง Johnny & Associates Inc. ผู้ล่วงลับ (เสียชีวิตเมื่อปี 2019 สิริอายุ 87 ปี) กระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย ซึ่งในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งเคยเป็นเด็กฝึกหัด "Johnny’s Joniors" ในอดีตรวมอยู่ด้วย 

ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงที่ “จอห์นนี คิตากาวะ” ยังมีชีวิตอยู่ เขายืนยันมาตลอดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ หนำซ้ำยังเคยชนะคดีฟ้องร้องสื่อมวลชนที่พยายามนำเสนอข่าวเรื่องอื้อฉาวนี้มาแล้วด้วย!  

จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา (อดีต) ประธานบริษัท Johnny & Associates Inc. (ขวา) “โนริยูกิ ฮิงาชิยามา” (Noriyuki Higashiyama) ประธานคนใหม่ (ซ้าย)
จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา (อดีต) ประธานบริษัท Johnny & Associates Inc. (ขวา) “โนริยูกิ ฮิงาชิยามา” (Noriyuki Higashiyama) ประธานคนใหม่ (ซ้าย)

จะเกิดอะไรขึ้นหลังการแถลงขอโทษต่อสาธารณชน :  

“Julie K” ซึ่งกล่าวยืนยันทั้งน้ำตานองหน้าว่า นอกจากการกล่าวคำขอโทษ และจะขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว (มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.) ทางบริษัทจะดำเนินการบรรเทาทุกข์ (จ่ายเงินชดเชยและเยียวยาจิตใจ) ให้กับเหยื่อทุกคน พร้อมกับส่งต่อตำแหน่งประธานบริษัทให้กับ “โนริยูกิ ฮิงาชิยามา” (Noriyuki Higashiyama) วัย 56 ปี อดีตสมาชิกวงโชเนนไต (Shonentai) เข้ามารับหน้าที่กอบกู้ภาพลักษณ์ของบริษัท เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการแก้ไขปัญหารวมถึงเปิดทางไปสู่การปฏิรูปองค์กรอย่างแท้จริง

ในขณะที่ประธานบริษัทคนใหม่ กล่าวยืนยันกับสื่อมวลชนเช่นกันว่า จะรีบแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการปฏิบัติ (Chief Compliance Officer) หรือ CCO ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทญี่ปุ่น ถือเป็นตำแหน่งที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน เพื่อให้เกิดจริยธรรมในการเป็นบรรษัทธรรมาภิบาลโดยเร็ว 

...

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเหตุการณ์คราบน้ำตา และใบหน้าที่เศร้าสร้อยของ “Julie K” ในวันดังกล่าว สื่อมวลชนในประเทศญี่ปุ่น กลับมามีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นการมุ่งหน้าปฏิรูปองค์กรเพื่อให้เกิดความโปร่งใสของ ค่าย Johnny ภายใต้การนำของประธานคนใหม่ “โนริยูกิ ฮิงาชิยามา” เอาไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้ 

ข้อสงสัยต่อการปฏิรูปองค์กรและการเยียวยาเหยื่อ : 

1. อำนาจของ “จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา” ในฐานะหลานสาวของ “จอห์นนี คิตากาวะ” ซึ่งปกคลุมอยู่เหนือบริษัทยังไม่ได้จางหายไปไหน เพราะแม้จะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท หากแต่ในโลกของความเป็นจริง “Julie K” ยังคงเป็น “ผู้ถือหุ้น 100%” ของบริษัทเช่นเดิม! 

ฉะนั้น คำถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ คือ การปฏิรูปองค์กรเพื่อนำไปสู่ความโปร่งใส อีกทั้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องข้อกล่าวหาต่างๆที่มีต่อ “จอห์นนี คิตากาวะ” จะปรากฏความจริงได้อีกมากน้อยเพียงใด?  

...

เพราะค่าย Johnny ยังคงเน้นย้ำว่า...จนถึงวันนี้ บริษัทไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องข้อกล่าวหาต่างๆ ของ จอห์นนี คิตากาวะ ได้ เนื่องจากอดีตผู้ก่อตั้งได้เสียชีวิตไปแล้ว และเหตุผลเดียวที่ทำให้ผู้บริหารสูงสุดของทางบริษัท ยอมรับในประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของ จอห์นนี คิตากาวะ ก็เป็นเพราะผลสรุปจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนอิสระชุดพิเศษดังกล่าว

2. มาตรการเยียวยาเหยื่อจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเหยื่อแต่ละรายจะได้รับการชดเชยอย่างไร? 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ มาตรการเยียวยาเหยื่อ เพราะแม้จะได้รับคำมั่นจาก “Julie K” ว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อ แต่กลับไม่มีการเสนอแผนการเยียวยาที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน

3. ประธานบริษัทคนใหม่มีอำนาจหรือความจริงใจในการปฏิรูปองค์กรมากแค่ไหน?

ในสายตาของสื่อญี่ปุ่น อดีตไอดอลวงโชเนนไต ถือเป็น “ลูกรักลำดับต้นๆ” ของทั้ง “จอห์นนี คิตากาวะ” และ “เคย์โกะ แมรี คิตากาวะ” (Keiko Mary Kitagawa) พี่สาวของ “จอห์นนี คิตากาวะ” และอดีตประธานบริหาร Johnny & Associates Inc. (เสียชีวิตเมื่อปี 2021 สิริอายุ 93 ปี) ซึ่งในผลสรุปการสอบสวนระบุว่า...เป็นผู้ที่ปกปิดเรื่องอื้อฉาวของน้องชายมาเป็นเวลานานด้วย

...

นอกจากนี้ “โนริยูกิ ฮิงาชิยามา” ยังตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในวันแถลงข่าวถึงประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศของ “จอห์นนี คิตากาวะ” โดยยืนยันว่า ยังมีความเชื่อมั่นในตัวของอดีตประธานบริษัทผู้ล่วงลับที่เขาให้ความเคารพเหมือนพ่อว่าไม่มีทางที่จะมีพฤติกรรมต่ำช้าเช่นนั้นแน่นอน...เพราะแม้จะเคยได้ยินข่าวลืออื้อฉาวนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีพนักงานในบริษัทคนใด เข้ามาขอคำปรึกษาหารือ หรือปรับทุกข์เกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย 

ขณะเดียวกันเมื่อถูกซักถามถึงข้อเรียกร้องจากชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง ที่อยากให้มีการนำชื่อ Johnny ออกจากชื่อของบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่แห่งนี้ นั้น อดีตไอดอลวงโชเนนไต ยืนกรานว่า บริษัทจะยังคงใช้ชื่อ Johnny & Associates Inc. ต่อไป เพราะชื่อของผู้ก่อตั้งเป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิ สำหรับเหล่าไอดอลที่เคยอยู่ในสังกัดแห่งนี้มาอย่างยาวนาน 

มันจึงเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า...เมื่อเป็นเช่นนี้ ประธานของค่าย Johnny คนใหม่จะมีความเป็นอิสระจากตระกูลของผู้ก่อตั้ง รวมถึงมีความกล้าหาญในการสร้างองค์กรไปสู่อนาคตได้มากน้อยเพียงใด?

เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือก่อนหน้านี้ อดีตไอดอลชั้นแนวหน้าของค่าย Johnny อย่าง “ทักกี้” (Tacky) หรือ ฮิเดอากิ ทากิซาวา (Hideaki Takizawa) ซึ่งถูกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเมื่อปี 2019 จู่ๆ ก็ขอประกาศลาออก และโบกมือลาบริษัทไปแบบเงียบๆ หลังเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 3 ปี ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า “เกิดความขัดแย้งในเรื่องการปฏิรูปบริษัทอย่างรุนแรง” กับ “Julie K” ประธานบริษัทในเวลานั้นมาแล้ว

นานาทัศนะที่มีต่อ ประธานค่าย Johnny รุ่นที่ 3 :   

หลังมรณกรรมของทั้ง “จอห์นนี คิตากาวะ” (น้าชาย) และ “เคย์โกะ แมรี คิตากาวะ” (แม่) นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งในวงการ J POP ไม่เชื่อว่า “จูลี เคย์โกะ ฟูจิชิมา” จะรักษาสถานะความยิ่งใหญ่ของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้เอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าฐานแฟนคลับอันเหนียวแน่นจะยังคงให้การสนับสนุนศิลปินในค่ายนี้เป็นอย่างดีก็ตาม 

เนื่องจาก “Julie K” ถูกมองว่า ปราศจากพรสวรรค์ในการค้นหาและบ่มเพาะศิลปินสายเลือดใหม่เช่นเดียวกับ “น้าชาย” รวมถึงไม่ได้มีความเก่งฉกาจในเชิงการบริหารธุรกิจและสร้างคอนเนกชันทางการเมืองได้เช่นเดียวกับผู้เป็น “แม่” นั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้การเผชิญมรสุมลูกใหญ่ของบริษัท จากข่าวฉาวที่โหมกระหน่ำอยู่ในเวลานี้ จึงไม่ต่างอะไรกับ “ความท้าทาย” ครั้งสำคัญในเรื่องฝีมือการบริหารบริษัทที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 100,000 ล้านเยน (24,000 ล้านบาท) ของทายาทรุ่นที่ 3 ไปในทันที! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง