เรื่องของ 'ฝ่าม เญิ้ต เวือง' เจ้าของ VinFast เศรษฐีอันดับหนึ่งแห่ง 'เวียดนาม' และแหล่งลงทุนใหม่ที่น่าจับตามอง...

หนึ่งในกระแสโลกธุรกิจ ที่สามารถสร้างความฮือฮาช่วงเดือนสิงหาคมนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สัญชาติเวียดนาม 'VinFast' ที่มีเจ้าของเป็นชายวัย 54 ปี มหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่รวยที่สุดในเวียดนาม ชื่อ 'Phạm Nhật Vượng' หรือ 'ฝ่าม เญิ้ต เวือง'

ที่เปิดมาว่าสร้างความฮือฮาได้ เพราะเมื่อ 15 สิงหาคม 2566 ราคาหุ้นของ VinFast หรือ VFS เปิดตัวซื้อขายหลักทรัพย์วันแรก ที่ตลาดหุ้นแนสแด็ก (Nasdaq) ของสหรัฐอเมริกา ที่ระดับ 22 ดอลลาร์ และปิดสูงสุดระหว่างวันที่ 38.77 ดอลลาร์ ทำให้หุ้น VinFast พุ่งถึง 255% และเพิ่มความมั่งคั่งให้เวือง 39,000 ล้านดอลลาร์ 

การปิดตลาดหุ้นด้วยตัวเลขที่สูงขนาดนั้น ทำให้เขามีทรัพย์สินสุทธิ 44,500 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดอันดับ 5 ของเอเชีย แต่มีขึ้นก็ย่อมมีลง หลังจากนั้นเพียงวันเดียว หุ้น VinFast ก็ร่วงอย่างต่อเนื่อง อย่างวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ราคาดิ่งลงสู่ 15.40 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาเปิดตัวด้วยซ้ำ

...

ถึงอย่างนั้นทรัพย์สินของเวือง ยังคงทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 คนแรกของเวียดนาม และการพยายามนำ VinFast เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ก็เหมือนเป็นการท้าทาย Tesla ของอีลอน มัสก์ ซึ่งครองตลาด EV เดิมอยู่แล้ว จนบางคนเปรียบเปรยว่าเวือง คือ "อีลอนมัสก์แห่งเวียดนาม"

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยระหว่าง 'ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์' กับ 'ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์' นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มองเห็นว่า 'ฝ่าม เญิ้ต เวือง' ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และมีธุรกิจในเครืออีกมากมาย ที่ตอนนี้กลายเป็นส่วนสำคัญ และส่วนหนึ่งของ 'เวียดนาม' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

จุดเริ่มต้นของมหาเศรษฐี ฝ่าม เญิ้ต เวือง :

ใครจะไปรู้ว่าชีวิตที่ต้องระหกระเหินผลัดถิ่น จะเป็นจุดเริ่มต้นของมหาเศรษฐีเวียดนาม 'ฝ่าม เญิ้ต เวือง'

ดร.มุกดา บอกกับเราว่า ก่อนหน้านี้เวืองเป็นชาวเวียดนามคนหนึ่ง เกิด โต และเรียนที่ฮานอย ในช่วงภาวะสงครามที่ประเทศเวียดนามแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว กระทั่งได้ทุนการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต (ในเวลานั้น)

ซึ่งทางบ้านมีฐานะธรรมดา ไม่รวยแต่ก็ไม่จน เวืองเองมีความฝัน อยากแบ่งเบาภาระครอบครัวให้มีฐานะดีขึ้น แต่หลังจบการศึกษา สหภาพโซเวียตก็ได้ล่มสลายลง เขาจึงตัดสินใจไปใช้ชีวิตใหม่ที่ประเทศยูเครน 

"คุณเวืองเป็นคนขยัน และมองการณ์ไกลเรื่องการค้าขาย มีมุมมองทางธุรกิจที่น่าสนใจ" ดร.มุกดาบอกกับเรา 

หลังจากย้ายไปอยู่ประเทศยูเครน เวืองกู้เงินเพื่อเปิดร้านอาหารเล็กๆ และเริ่มทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายให้กับชาวยูเครน โดยใช้ชื่อสินค้าว่า 'Mivina' ดร.มุกดาให้ความเห็นว่า... "คนยูเครนสมัยนั้นไม่ได้ร่ำรวย คงทำให้อยากกินของอร่อย แต่ราคาไม่แพงมาก สิ่งนี้จึงตอบโจทย์" ผลตอบรับของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดีมาก กลิ่นและรสชาติมีเอกลักษณ์ จึงกลายเป็นที่นิยมของชาวยูเครนอย่างรวดเร็ว 

เวืองกู้เงินอีกครั้ง และก่อตั้ง 'TechoCom' องค์กรที่เชี่ยวชาญการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยใช้เทคโนโลยีเวียดนาม สิ่งนี้ยิ่งทำให้เวืองประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น จนกระทั่ง บริษัท Nestlé ได้เข้าซื้อ Mivina และ TechoCom เขานำเงินก้อนจากดีลนี้ กลับไปขยาย Vingroup ที่เวียดนาม

...

จุดเริ่มต้นและกลยุทธ์ของ Vingroup :

เวืองเริ่มทำ Vinpearl Resort ในจังหวะที่เวียดนามเริ่มให้เสรีทางการค้ามากขึ้น  และหลังจากนั้นมีธุรกิจอื่นๆ เพิ่มมาอีก จนกลายเป็น Vingroup สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร และคนหันมาสนใจมากขึ้น

"เรามองว่า พอสิ่งหนึ่งดี ก็ทำให้อื่นๆ ติดตลาดของประเทศไปด้วย เช่น คนเวียดนามบางคนอยู่บ้าน Vinhomes ส่งลูกไปเรียนที่ Vinschool ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ส่งไปที่ Vinmec ดังนั้น Vingroup ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในเวียดนาม และคาดว่ามีผลต่อ GDP ของประเทศด้วย"

ที่ ดร.มุกดา เล่ากับทีมข่าวฯ ว่า "คุณเวืองเป็นคนขยัน และมองการณ์ไกล" นอกจากนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Vingroup ของเขาประสบความสำเร็จ 

"สำหรับกลยุทธ์ของวินกรุ๊ป ถ้ามองอดีตที่ผ่านมาคิดว่า เมื่อคนเราประสบความสำเร็จอย่างหนึ่ง ก็สามารถต่อยอดไปหลายอย่างได้ดี เรื่องแบรนดิ้งและการตลาดของเขาดีมากๆ ถ้าดูจากประวัติการทำธุรกิจ เขาจะทำหรือหาอะไรมาขาย สิ่งนั้นจะตามกระแสของโลกและคนเวียดนาม 

...

ประมาณ 5-10 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ คนเวียดนามให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีนักลงทุน เวียดนามจะสังเกตเป็นพิเศษว่า สิ่งที่ทำอยู่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นตอนนี้รถ EV จึงเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจ"

ก่อน COVID-19 เวืองก็ได้พัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) พอเกิดโรคระบาดขึ้น คนก็หันมาใช้ E-Wallet "เราก็ไม่ทราบว่าเขาเป็นคนแรกที่เริ่มพัฒนาสิ่งนี้ไหม รู้แค่ว่าแต่ละสิ่งที่เขาทำ จะสอดคล้องกับกระแสสังคม และเขาเข้าใจความต้องการของคนในช่วงนั้น สั้นๆ ก็คือตีตลาดแตก"

VinFast ไม่ประสบความสำเร็จ? :

การที่ VinFast เข้าตลาดของสหรัฐฯ ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐบาลเวียดนามช่วยผลักดัน "คิดว่ารัฐเองก็มองเห็นโอกาสบางอย่าง จึงพยายามช่วยผลักดันให้สามารถเข้าตลาดอเมริกาได้"

แม้ตอนนี้คนอาจจะมองว่า Vingroup อาจไม่ประสบความสำเร็จจากการทำ VinFast แต่ส่วนตัวตัวของ ดร.มุกดา เองแล้วมองว่า นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และผู้บริโภคอาจจะยังไม่เข้าใจบางเรื่อง

...

"อาจจะยังตีตลาดอื่นไม่ได้ ตอนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ VinFast ปัจจุบันรถที่บริษัทผลิตแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ สำหรับคนเวียดนามผลตอบรับค่อนข้างดีในส่วนของรถจักรยานยนต์ เนื่องจากในเมืองรถติด และกลุ่มประชากรชอบความสะดวกรวดเร็ว 

Vingroup เองก็มีธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้บริโภคอาจจะมีความกังวลและข้อสงสัยว่า สุดท้ายแล้วตัวบริษัทเองมีความสามารถเรื่องอะไรกันแน่"

'จีน' มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม ถือเป็นอีกประเทศที่มีประสิทธิภาพ และกำลังผลิตรถ EV ถึงอย่างนั้น ดร.มุกดา ก็ยังมองว่า ทั้งสอง "เป็นคู่ค้ามากกว่าคู่แข่ง" โดยให้เหตุผลว่า... 

"สองประเทศมีพื้นที่ติดกัน คิดว่าเขาไม่อยากมีปัญหากันในเรื่องการค้า ตลาดของจีนและเวียดนามก็ต่างกัน ในอนาคตอาจจะเกิดความร่วมมือของสองประเทศ และจีนก็พร้อมช่วยเวียดนาม ตลาดจีนจะเน้นคนจีน และนำเข้ามาไทย สำหรับตลาดเวียดนาม จะเน้นที่คนเวียดนาม และประเทศที่เป็นมิตร เพื่อการค้าขายที่ราบรื่น"

โอกาสการลงทุนธุรกิจในเวียดนาม :

ปัจจุบัน เวียดนามกลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนชาวต่างชาติ เนื่องจากมีประชากรมาก และเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างช่วงนี้ไทยก็ไปลงทุนเรื่องอาหาร สินค้าและวัตถุดิบ

"โอกาสการลงทุนในเวียดนามมีค่อนข้างเยอะ ทั้งสินค้าและการบริการ กระแสช่วงนี้เน้นที่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม"

ดร.มุกดา บอกว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรในเวียดนาม ทั้งบริษัทท้องถิ่น หรือการลงทุนจากต่างประเทศ ล้วนต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ เนื่องจากหลายอย่างต้องได้รับใบอนุญาตและสัมปทานจากรัฐ กลยุทธ์หรือสิ่งทำจึงต้องไม่ย้อนแย้งกับนโยบายรัฐ "ประมาณว่ารู้ใจกันด้วย"

ตอนนี้เวียดนามเป็นอีกประเทศ ที่คนไทยควรจับตามอง และถ้ามีโอกาสก็น่าไปลงทุน แต่เวียดนามมีเหนือ กลาง ใต้ ทำให้วัฒนธรรมแตกต่างกัน บริษัทไทยที่มองหาโอกาสลงทุนที่เวียดนาม จึงควรเรียนรู้ความเป็นเวียดนาม เพื่อการทำธุรกิจให้สำเร็จได้อย่างราบรื่น 

"ไทยกับเวียดนามมีมิตรภาพที่ดีต่อกันอยู่แล้ว แต่เมื่อคนไทยไปลงทุนที่เวียดนาม จะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาและความรู้ด้านการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ คนไทยที่สามารถสื่อสารเวียดนามได้มีน้อย บางครั้งการใช้ล่ามก็ทำให้ข้อความตกหล่น ดังนั้นการจะไปลงทุนที่เวียดนามหรืออื่นๆ อยากให้เรียนรู้วัฒนธรรม และมองกันอย่างเป็นมิตร"

สุดท้ายแล้วยังไม่มีใครรู้ว่า VinFast จะประสบความสำเร็จในตลาด EV หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อ และต้องรอว่า 'Vingroup' และ 'ฝ่าน เญิ้ต เวือง' จะมีแผนการตลาดอย่างไรต่อไป

แต่เรื่องราวของเวืองก็ทำให้เห็นว่า "ทุกความพยายามอาจไม่เกิดความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จมาจากความพยายาม" และการที่ทีมข่าวฯ ได้พูดคุย กับ 'ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์' ก็ทำให้รู้ว่า ประเทศเวียดนามเป็นอีกหนึ่งโอกาสของเหล่านักลงทุน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :