“เชื่อ คิด และทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ไปหาคำตอบ...และความหมาย....ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ในมุมมองและข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์
คนเราจะมีอายุยืนถึง 120 ปี ได้ไหม?
คำตอบคือ ได้!
มีคนที่มีอายุถึง 120 ปี จริงๆ ไหม?
คำตอบคือ มี!
แล้วอายุยืนถึง 120 ปี ดีไหม?
คำตอบขึ้นอยู่กับความหมายของคำว่า “ดี”!
“เชื่อ คิด และทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ไปหาคำตอบ...และความหมาย....ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ในมุมมองและข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า...ทุกขณะเวลาที่ยังมีลมหมายใจอยู่!
ใครอายุเกิน 120 ปี บ้าง?
ใครอายุเกิน 120 ปี ยกมือขึ้น?
ทอดตาไปทั่วโลกวันนี้ จะเห็นคนหลายคน ยกมือขึ้น ทั้งหญิง และชาย
แต่เมื่อขอหลักฐานที่เชื่อถือได้ ยืนยันหรือให้ใครก็ได้ที่มั่นใจจริงๆ ว่า คนยกมือมีอายุเกิน 120 ปี จริงๆ
ผลก็จะเป็นว่า...มือที่ยกขึ้น...หายไปหมด!
เพราะตามหลักฐาน และข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็จะมีคนที่มีอายุเกิน 120 ปี จริงๆ แต่ก็จะไม่สามารถยกมือได้วันนี้ เพราะมีอยู่เพียงคนเดียว เป็นผู้หญิง และขณะนี้ เธอก็ ไม่อยู่เสียแล้ว!
เธอคือ ณาน กาลม็อง (Jeanne Calment) ชาวฝรั่งเศส ได้ชื่อ (และมีหลักฐานรับรอง) เป็นมนุษย์ (ทั้งชายและหญิง) มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ตลอดกาล คือ เธอเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ขณะมีอายุ 122 ปี 5 เดือน 14 วัน
...
แล้วชาวจีนที่มีข่าวว่า มีอายุยืนถึง 256 ปีล่ะ?
เป็นความจริง มีชายชาวจีนชื่อ หลี่ ชิงหยุน เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2476 โดยชาวบ้านที่รู้จักเขา รับรองให้ว่า เขามีอายุถึง 256 ปี แต่ไม่มีหลักฐานเชื่อถือได้ รับรอง หรือยืนยัน ....
ตำแหน่งผู้มีอายุมากที่สุดในโลกตลอดกาล จึงยังเป็นของ ณาน กาลม็อง
แล้วคนที่ยังมีลมหายใจอยู่ ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกถึงวันนี้ล่ะ?
ผู้ครองตำแหน่งอายุยืนที่สุดในโลกขณะนี้ ที่เป็นชาย คือ ฮวน วินเซนเต เปเรซ (Juan Vincente Perez) ชาวเวเนซุเอลา เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 ถึงวันนี้ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566) ก็จะมีอายุครบ 114 ปี กับอีกหนึ่งเดือนเศษ
ที่เป็นหญิง คือ มาเรีย บรานยาส โมเรรา (Maria Branas Morera) ชาวสเปน
ยาอายุวัฒนะ และศิลานักปราชญ์
กล่าวกันว่า คนยิ่งมีชื่อเสียง ยิ่งมีอำนาจ ก็จะยิ่งกลัวการมีอายุสั้น!
ผู้มีอำนาจในอดีตย้อนหลังไปเป็นพันๆ ปี จึงพยายามสรรหาวิธีการที่จะไม่ตาย หรืออยู่อย่างมีอายุยืนยาวที่สุด หรือแม้แต่เมื่อตายไปแล้ว ก็อยากจะมีชีวิต “หลังความตาย” ที่มั่งมีศรีสุขและอำนาจ เหมือนขณะยังมีชีวิตอยู่
มีหลักฐานอย่างชัดเจน (เป็นหนังสือผูกโบราณเขียนบนแผ่นไม้ไผ่) ว่า พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ กษัตริย์แห่งจักรวรรดิจีนพระองค์แรก มีคำสั่งให้เจ้าหัวเมืองทุ่มเทความพยายามในการหายาอายุวัฒนะมาถวาย และมีเรื่องราวของนายทหาร นักเดินทาง หรือนักสำรวจจีนในยุคสมัยของพระองค์ ที่หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเดินทาง คือ การแสวงหายาอายุวัฒนะ
และก็ดูเหมือนว่า พระองค์ก็ได้ทรงทดลอง (เสวย) ยาอายุวัฒนะหลายขนาน ที่ถูกนำมาถวาย ...
แต่พระองค์ ก็ทรงมีพระชนมายุสั้นเพียง 49 พรรษา สวรรคตในปี พ.ศ. 333
สาเหตุการสวรรคตของพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ นอกเหนือไปจากการทำศึกสงคราม เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ประเทศจีน คาดกันว่า เป็นเพราะยาอายุวัฒนะหลายขนาน ที่ถูกนำมาถวาย มีสารพิษเป็นส่วนผสมสำคัญอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปรอท”
สิ่งควบคู่กับยาอายุวัฒนะในยุคสมัยเก่าก่อน ก็คือ “philosopher’s stone” หรือ ศิลานักปราชญ์ ที่หมายถึงสิ่งมีลักษณะเป็นศิลา หรือหิน และที่มิได้มีลักษณะของ “หิน” เลย เช่น เป็นวัตถุ หรือบางสิ่งบางอย่าง ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถเปลี่ยน “วัตถุไม่มีค่า” เช่น ก้อนหินธรรมดา หรือ ตะกั่ว ให้กลายเป็น วัตถุมีค่า เช่น ทอง แล้ว ก็อาจจะมี คุณสมบัติพิเศษ เป็น “ยาอายุวัฒนะ” ได้อีกด้วย
...
ตัวอย่างที่รู้จักกันดีในวงการวิทยาศาสตร์สำหรับเรื่องนี้ ก็คือ กรณีของ ไอแซก นิวตัน สุดยอดนักฟิสิกส์ยุคเก่า ก่อนไอน์สไตน์
นิวตัน ใช้เวลาและความพยายามในการแสวงหา “หินนักปราชญ์” ที่สามารถเปลี่ยนวัตถุไม่มีราคา เป็นวัตถุมีค่า เช่น ทองคำ ได้ ...
และเป็นที่เข้าใจกันว่า นิวตัน ก็มอง “หินนักปราชญ์” เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วย
โชคดีที่สำหรับตัวนิวตัน การแสวงหา “ศิลานักปราชญ์” ไม่ทำให้นิวตัน มีอายุสั้น เพราะเขามีอายุยืนถึง 85 ปี เมื่อเขาถึงแก่กรรม วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2270
แต่ในวัยของคนสูงอายุ นิวตัน ก็มีอาการความไม่มั่นคงทั้งร่างกาย และอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งอาจจะเกิดจากการทดลองเพื่อค้นหา “หินนักปราชญ์” ในฐานะเป็นหัวหน้าโรงกษาปณ์อยู่นานหลายสิบปี เพื่อเปลี่ยนวัตถุไม่มีราคาเป็นวัตถุมีค่า
นิวตัน มีผลงานการทดลองทางเคมีมากมาย แต่ไม่เป็นที่ยอมรับ และยืนยงในวงการวิทยาศาสตร์ ดังเช่น ผลงานทางฟิสิกส์ เพราะทางด้านเคมี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ “alchehistry” หรือ “อัลเคมี” ที่เป็นเรื่องของ “การเล่นแร่แปรธาตุ”
...
วิทยาศาสตร์ศตวรรษที่ยี่สิบ กับ ความเป็นอมตะของเซลล์
จากศตวรรษที่สิบเจ็ด (ยุคสมัยของนิวตัน) ถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ความเข้าใจโดยทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ คือ เซลล์ทุกชนิด ล้วนต้องตายในที่สุด นั่นคือ ความเป็นอมตะของเซลล์ ไม่มีจริง
แต่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน
หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ผู้คิดต่างจากนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป คือ อเลคซี แคเรล (Alexis Carrel) แพทย์และนักชีววิทยาขาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ.1912) สำหรับผลงานการเย็บหลอดเลือดและบาดแผล และการปลูกถ่ายอวัยวะ
ผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบล เป็นผลงานสำคัญสำหรับวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่อาจจะไม่เป็นที่จดจำกันนัก เพราะ อเลคซี แคเรล ได้สร้างผลงานที่ฮือฮากันมากในวงการวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ มาเป็นเวลาประมาณ 60 ปี
ในปีเดียวกับที่ได้รับรางวัลโนเบล อเลคซี แคเรล ได้ทำการทดลอง นำเนื้อเยื่อหัวใจของตัวอ่อนลูกไก่ มาเลี้ยงในขวดทดลอง แล้วก็ให้อาหารแก่เนื้อเยื่อ เป็นประจำ
ปรากฏว่า เนื้อเยื่อหัวใจลูกไก่นั้น สามารถมีชีวิต คือ มีการแบ่งเซลล์ได้ อยู่นานเป็นเวลาถึง 34 ปี (ถึงปี พ.ศ. 2489, ค.ศ. 1946) ในขณะที่ไก่ปกติ มีอายุอยู่ประมาณ 10 ปี
ถึงแม้ว่า ในที่สุด เนื้อเยื่อหัวใจลูกไก่นั้น ก็ตาย แต่ อเลคซี แคเรล ไม่ได้มีชีวิตอยู่ถึงวันที่ เนื้อเยื่อทดลองตาย และดังนั้น สำหรับตัวเขา ก็ได้เห็นว่า เนื้อเยื่อทดลอง มีชีวิตยืนยาวอยู่ได้นานมาก จนกระทั่งเขา จึงสรุปออกมาจากผลการทดลองว่า เนื้อเยื่อ หรือเซลล์ ....มิใช่เฉพาะของลูกไก่อ่อน...นั่นคือ เซลล์ทั่วไป รวมทั้งของมนุษย์ด้วย มีความเป็นอมตะได้
...
แต่หลังการจากไปของ อเลคซี แคเรล และการตายจริง ๆ ของเนื้อเยื่อไก่ใน ขวดทดลอง เป็นเวลาประมาณสิบปีเศษ ก็มีผลการศึกษาใหม่ เกี่ยวกับความเป็น อมตะ หรือไม่ของ เซลล์ ที่ “พลิกกลับ” อย่างสิ้นเชิง กับผลสรุปของ อเลคซี แคเรล
ผลการศึกษาใหม่ เซลล์ไม่เป็นอมตะ!
ปี พ.ศ.2504 หลังการจากไปของ อเลคซี แคเรล เป็นเวลา 17 ปี กระแสความตื่นเต้นกับ “ความเป็นอมตะของ เซลล์” ก็ต้องสะดุด....
เมื่อ เลียวนาร์ด เฮย์ฟลิกค์ (Leonard Hayflick : เกิด พ.ศ.2471 ปัจจุบันอายุ 95 ปี) นักสรีรวิทยา และจุลชีววิทยาชาวอเมริกัน ได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นอมตะหรือไม่ ของเซลล์ สรุปออกมาชัดเจนได้ว่า “เซลล์ทั่วไปของมนุษย์ จะแบ่งตัวอยู่ได้ประมาณ 50 ครั้ง แล้วเซลล์ก็จะตาย”
บทสรุปนี้ ได้มาจากการศึกษาทดลองกับ เซลล์ของมนุษย์ และจากการศึกษาตรวจสอบ การทดลองของ อเลคซี แคเรล ที่ว่า “เซลล์ทั่วไป มีความเป็น อมตะ”
นั่นคือ บทสรุปของ เลียวนาร์ด เฮย์ฟลิกค์ เป็นว่า “เซลล์ทั่วไป ไม่มีความเป็นอมตะ”
สำหรับผลการทดลองของ อเลคซี แคเรล กับเนื้อเยื่อลูกไก่ ล่ะ?
เลียวนาร์ด เฮย์ฟริกค์ เสนอคำอธิบายว่า การที่เซลล์เนื้อเยื่อลูกไก่ของ อเลคซี แคเรล มีอายุยืนยาว น่าจะมาจาก “อาหาร” ที่ป้อนให้เนื้อเยื่อลูกไก่ ทำให้มีเซลล์ใหม่เพิ่มขึ้นมา
ที่สำคัญ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใด ที่ทำการทดลองซ้ำแบบเดียวกับ อเลคซี แคเรล แล้วได้ผลออกมาแบบเดียวกันอีกเลย
บทสรุปของ เลียวนาร์ด เฮย์ฟลิกค์ จึงกลายเป็นบทสรุปที่ยอมรับกันในวงการวิทยาศาสตร์ต่อมา ถึงปัจจุบัน และได้รับการตั้งชื่อเรียกเป็น “Hayflick limit” หรือ “ขีดจำกัดเฮย์ฟลิกค์”
“เซลล์ธรรมดาไม่เป็นอมตะ” แต่ “เซลล์มะเร็งเป็นอมตะ”!
“ขีดจำกัดเฮย์ฟลิกค์” ทำให้ความหวังของการมีชีวิตอมตะของคนเรา จากความเป็นอมตะอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ของเซลล์ทั่วไปของมนุษย์ ตามความคิดของ อเลคซี แคเรล ก็หายไปด้วย
แต่แล้ว ก็มีการค้นพบโดย เลียวนาร์ด เฮย์ฟลิกค์ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ว่า ถึงแม้เซลล์มนุษย์ทั่วไป จะต้องตายหลังการแบ่งเซลล์แล้ว ประมาณ 50 ครั้ง ทว่าในร่างกายมนุษย์ มีเอนไซม์ ชื่อ เทโลมีเรส (telomerase) ซึ่งสามารถช่วยยืดอายุให้มีการแบ่งเซลล์ ได้มากกว่า 50 ครั้ง
ทว่า ก็เกิดปัญหาว่า เจ้าเอนไซม์ตัวนี้ ก็เป็นเอนไซม์ตัวโปรดของ เซลล์เนื้องอก และพบอยู่ใน 90 %ของเซลล์เนื้องอกทั้งหมดของมนุษย์ ทำให้เซลล์มะเร็งกลายเป็น เซลล์อมตะ ...
“ขีดจำกัดเฮย์ฟลิกค์” จึงเป็น “นาฬิกาชีวภาพ” (biological clock) ธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตอมตะได้
มนุษย์ เป็นอมตะไม่ได้ แต่อยู่ถึง 120 ปีได้
ก่อน “ขีดจำกัดเฮย์ฟลิกค์” ว่า เซลล์มนุษย์ มีชีวิตอย่างธรรมชาติได้อย่างจำกัด ก็เป็นที่เข้าใจกันทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ และทั่วไปว่า มนุษย์เราสามารถ จะมีชีวิตได้อยางไม่มีขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับ วิถีการดำเนินชีวิต และโรคภัยไข้เจ็บ กับ เหตุคุกคามชีวิตอื่นๆ
กล่าวคือ ถ้าไม่ “ตาย” เพราะอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ศึกสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ อดอาหาร และการคลอดลูก (สำหรับผู้หญิง) มนุษย์เราก็จะมีชีวิตอยู่ได้....ตลอดไป!
และสภาพความเปลี่ยนแปลงทางด้านการดูแลสุขภาพ (การสาธารณสุข) และความก้าวหน้าทางการแพทย์ ก็ทำให้มนุษย์ทั้งโลก โดยภาพรวม มีอายุยืนยาวขึ้น ...
หลักฐานชัดเจน คือ ในช่วงเวลาประมาณ 100 ปี จากช่วงก่อนขึ้นศตวรรษที่ยี่สิบ อายุเฉลี่ยของมนุษย์ทั้งโลก คือ ประมาณ 36 ปี ครั้งถึงต้นศตวรรษที่ ยี่สิบเอ็ด อายุเฉลี่ยของมนุษย์ทั้งโลก เพิ่มขึ้นถึงประมาณ สองเท่า คือ 70 ปี
แนวโน้ม ก็ดูจะดีขึ้นอีก เช่น การเสียชีวิตจากการคลอดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดสาเหตุหนึ่ง ทำให้ผู้หญิงในอดีตเสียชีวิต มาถึงปัจจุบันนี้ ถึงแม้การเสียชีวิตจากการคลอดลูก ดังเช่นในประเทศไทย ก็ยังมีเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นน้อย จนกระทั่งกล่าวได้ว่า ผู้หญิงไทยไม่กลัวการคลอดบุตรกันแล้ว
แต่เมื่อรับทราบกันถึง “ขีดจำกัดเฮย์ฟลิกค์” ก็มีคำถามหนึ่งที่อยากทราบคำตอบกัน คือ แล้วมนุษย์เรา จะมีชีวิตยืนยาว ได้มากที่สุดเท่าไร?
ปัจจัยใหญ่ที่สุด ก็คือ ขีดความสามารถของ เซลล์ ในร่างกายมนุษย์ ที่จะมีชีวิต คือ แบ่งเซลล์ต่อไปได้ และคำตอบที่ได้ออกมา คือ “เป็นไปได้” ที่มนุษย์เรา จะมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี!
อยู่ถึง 120 ปี ....ดีไหม?
โดยทั่วไป ไม่มีใครปฏิเสธว่า ชีวิต มีคุณค่า!
ดังนั้น การมีชีวิตที่ยืนยาว จึงย่อมเป็น สิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่การมีชีวิตยืนยาวถึง 120 ปี ดีจริงหรือไม่?
สำหรับผู้เขียนมองว่า ขึ้นอยู่กับการมีชีวิต ถึง 120 ปี แบบไหน? ...
ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น หรือเป็นภาระแก่คนอื่น การมีชีวิตยืนยาวถึง 120 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน
ดังนั้น สำหรับผู้เขียน การมีชีวิต... ไม่ว่าจะยืนยาว...หรือสั้น ...แค่ไหน.... เพียงขอให้เป็น ชีวิตที่มีคุณค่า มีประโยชน์ มิใช่เพื่อตนเองเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี! เป็นเรื่องที่ดี!
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร? อยากมีชีวิตถึง 120 ปี หรือไม่?