หากย้อนภาพ เมื่อ 2-3 วันก่อน ณ ดินแดนเสรีในชื่อดินแดนนามว่า “ฝรั่งเศส” คล้ายกลายเป็นเมือง “บ้านป่าเมืองเถื่อน” เพราะเหตุจลาจลในหลายพื้นที่ มีการเผาทำลายทรัพย์สิน ปล้นสะดม และถึงวันนี้ (4 ก.ค. 2566) มีการประท้วงต่อเนื่อง 6 คืนแล้ว มีการจับกุมผู้ประท้วงไปแล้วกว่า 2 พันคน 

จากรายงานของสื่อต่างประเทศ รายงานถึง “เชื้อไฟ” ที่ให้การประท้วงลุกลามใหญ่โต เพราะ “ตำรวจ” ได้จ่อยิงวัยรุ่นชายคนหนึ่ง ที่ทำผิดกฎจราจร 

เดิมที “ฝรั่งเศส” ก็มีการประท้วงบ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุด มาจากประเด็นการผ่านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญและสวัสดิการรัฐ ของ ประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” ผู้นำฝรั่งเศส ที่ขยายกำหนดเวลาการเกษียณอายุ เป็น 64 ปี ซึ่งจะทำให้แรงงานชาวฝรั่งเศสทำงานนานขึ้น และได้รับเงินบำนาญและสวัสดิการหลังเกษียณช้าลง

กฎหมายขยายเวลาเกษียณ ทำลายวัฒนธรรม “สุขนิยม” 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขยายภาพให้ฟังว่า ต้นรากการประท้วงจริงๆ มาจากการแก้ไขกฎหมายเกษียณอายุ จาก 62 ปี เป็น 64 ปี 

ประเด็นต่อมา คือ แก้ไขจำนวนปีของผู้มีสิทธิ์ที่จะเกษียณอายุ เป็น 43 ปี (ก่อนหน้านี้น้อยกว่านี้) แปลว่า คนที่จะมีสิทธิ์รับบำนาญเกษียณอายุ จะต้องทำงานอย่างน้อย 43 ปี 

สรุปทั้ง 2 ประเด็นคือ ทำงาน 43 ปี และ เกษียณในวัย 64 ปี 

แต่ในความเป็นจริง คนอายุ 64 ปี อาจจะยังทำงานอยู่ ไม่เกษียณก็ได้ เพราะ หากคนที่เริ่มทำงานในวัย 22-23 ปี จะทำงานครบ 43 ปี ในวัย 66-67 ปี 

“การแก้ไขกฎหมายนี้ ทำให้คนฝรั่งเศส ไม่พอใจมาก เพราะการเกษียณของคนฝรั่งเศสจะได้สวัสดิการเยอะมาก ได้เงิน 70% ของเงินเดือน ซึ่งสูงมาก เป็นสวัสดิการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก!! ประเด็นสำคัญ คือ วัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศสแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะคนของเขาฝันว่า หลังเกษียณแล้วจะได้ใชัชีวิตอย่างมีความสุข สามารถเดินทางไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ หรือ ถ้าใครอยากทำงาน หากเกษียณอายุเร็ว แปลว่าเขาจะหาเงินจากทางอื่นเพิ่มได้ เช่น สอนหนังสือ” 

รศ.ดร.สมชาย บอกว่า จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานในฝรั่งเศส....กลับกัน กฎหมายลักษณะคล้ายกันที่สเปน และ เยอรมนี มีการแก้ไขกฎหมายเกษียณในวัย 65 ปี สูงกว่าที่ฝรั่งเศสเสียอีก แต่ทุกคนก็พอใจ

“เพียงแต่ฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมแตกต่างจากคนอื่น เรียกว่า “สุขนิยม” และเงินจากการเกษียณอายุได้มากกว่าประเทศ ทำให้มีการประท้วงเยอะมาก” 

**หมายเหตุ** ในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. 66 มีแรงงานฝรังเศสออกมาเดินขบวนและประท้วงทั่วประเทศ โดยในวันนี้ ก.มหาดไทย ของฝรั่งเศส คาดการณ์ว่ามีผู้ประท้วงราว 782,000 คน รวม 112,000 คนในกรุงปารีส

ไม่พอใจ เนื้อหา แถมใช้วิธี “เผด็จการ” ออกกฎหมาย 

อาจารย์สมชาย อธิบายต่อว่า นอกจากเนื้อหาที่ไม่ถูกใจแล้ว ขั้นตอนการออกกฎหมายฉบับนี้ ยังมีปัญหาด้วย 

“มาครง” รู้ดีว่า ตอนนี้ฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หากไม่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ฝรั่งเศสก็จะมีงบประมาณไม่เพียงพอ เขาจึงมองเรื่องการลดค่าใช้จ่ายด้วยการขยายเวลาการเกษียณอายุ เพราะเขามีสิ่งจำเป็นที่จะนำมาเงินมาใช้ เช่น การเพิ่มงบด้านความมั่นคง เพราะปัญหา “รัสเซีย-ยูเครน” และยังมีเรื่องอื่นๆ อีก 

...

ตอนที่ “มาครง” ขึ้นสู่อำนาจ เขาต้องการผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ แม้กฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่... “ไม่ถูกใจ” ประชาชนก็ตาม 

“เชื้อไฟที่เพิ่มขึ้นมา เพราะ “มาครง” ไม่สามารถทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาได้ เพราะเขามีเสียงข้างน้อย ฝ่ายค้านไม่ร่วมมือด้วย เมื่อประเมินแล้ว ว่าอาจจะผ่านกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ มาครง จึงใช้ขั้นตอนพิเศษ ที่มีประเทศเดียวในโลก”

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญของ “ฝรั่งเศส” ปี 1958 ในมาตรา มาตรา 49/3 กำหนดไว้ว่า... “ให้อนุญาตให้รัฐบาลออกกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการเงินสวัสดิการต่อสังคม รัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้โดยไม่ต้องให้สภาลงมติ” 

อาจารย์สมชาย ขยายความว่า แค่พูดในสภา และบอกว่าจะออกกฎหมายฉบับนี้ และออกกฎหมายได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการยอมรับจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ จึงคล้ายกับระบบเผด็จการในการผ่านกฎหมาย 

คำถามคือ ทำไม มาตรา 49/3 จึงอยู่ใน รธน.ฝรั่งเศส อาจารย์สมชาย ย้อน “ที่มา” ว่า สมัยนั้น (ก่อนปี ค.ศ. 1958) รัฐสภาของฝรั่งเศสมีความยุ่งเหยิงมาก ทำให้รัฐบาลอายุสั้นรายแค่ปีเศษ จากวิกฤติดังกล่าว จึงมีแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง จากระบบรัฐสภา เป็น กึ่งประธานาธิบดี ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือ การตอกย้ำอำนาจของฝ่ายบริหาร 

...

ในความหมายที่เป็นเหตุเป็นผล อาจจะหมายถึง สร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้รัฐสภา แต่ในความเป็นจริงคือการ “ลดอำนาจรัฐสภา” นี่คือมาตราหนึ่งที่แสดงถึง “เจตจำนง” ในการลดอำนาจสภาเพื่อปกป้องการ “ล้มกฎหมาย” ที่สำคัญได้... 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อธิบาย ทั้งนี้ ยังสามารถใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ได้ ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งฝ่ายค้านก็ทำ ด้วยการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง แต่ก็แพ้ เพราะส่วนที่เป็นฝ่ายค้านบางส่วน แม้จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย แต่ก็ไม่ยอมลงมติ เพราะหากรัฐบาลแพ้ อาจต้องเลือกตั้งใหม่ ทำให้ฝ่ายตัวเองเสียเปรียบไปด้วย ทำให้รัฐบาลผ่านกฎหมายฉบับนี้ และ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตีความไว้ใช้ได้ 

นี่คือ ทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากลุกฮือ กับเนื้อหากฎหมาย และไม่พอใจวิธีการที่เป็นแบบ “เผด็จการ” ทำให้เกิดการประท้วงในทุกๆ สัปดาห์ 

ยิงวัยรุ่น “แอลจีเรีย” เติมเชื้อไฟ เหลื่อมล้ำ จนกลายเป็น “จลาจล” 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากกฎหมายขยายเวลาเกษียณ ที่สร้างความไม่พอใจแล้ว ก็มีเหตุ ตำรวจยิง วัยรุ่น ชาวแอลจีเรีย อายุ 17 ปี เสียชีวิต ทำให้เกิดความไม่พอใจและบานปลาย 

“สิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนการนำน้ำมันไปราดกองเพลิง โหมความไม่พอใจ แต่...เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชน คนกลุ่มน้อย โดยคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ชานเมือง มาร์กเซย ตูลูส สตารส์บูร์ก ตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้”

คำถามทำไม การประท้วงจึงรุนแรงโดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย คำตอบของคำถามนี้ อาจารย์สมชาย อธิบายว่า ฝรั่งเศส เปรียบดั่งสวรรค์ของคนกลุ่มน้อย คนที่ลี้ภัยจากหลายๆ ประเทศ มาที่ฝรั่งเศส 

...

แต่การมาถึงจุดๆ หนึ่ง ก็ได้สัญชาติฝรั่งเศส แต่ด้วยความแตกต่างด้านศาสนา รวมไปถึงวุฒิการศึกษา และกระจุกตัวอยู่ตามชานเมือง ทำให้คนเหล่านี้หางานทำลำบาก และมีความรู้สึกว่าถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียม เหมือนถูกกีดกัน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่าง ก็จะรวมตัวกัน 

เมื่อเป็นแบบนี้ เขาจึงรู้สึกว่า เหตุที่ตำรวจยิงวัยรุ่น เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย จึงปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม หากเป็นคนขาว ก็คงไม่ถูกยิงตาย... บวกกับกระแสโซเชียลมีเดีย ยิ่งโหมให้ไฟความโกรธมันเลวร้ายมากยิ่งขึ้น 

โหมข่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้ แต่ผู้นำเรา “มาครง” ยังไปดินเนอร์ ไปดูละคร... ทำให้หมู่คนวัยรุ่นไม่พอใจ 

กอร์ปกับ “ภาพลักษณ์” ของ “มาครง” ที่คนจำนวนมากมองว่าเขา “เท้าไม่ติดดิน” ซึ่งเดิม “มาครง” มาจากกลุ่มคนมีเงิน ผู้คนก็ตั้งคำถามว่า หากงบประมาณแผ่นดินไม่พอ ทำไมไม่เก็บภาษีคนรวยละ! 

อีกด้านหนึ่งคือ “กลุ่มขวาจัด” ก็โจมตี “มาครง” บอกว่าทำไมปล่อยให้กลุ่มคนชาติต่างๆ เข้ามาลี้ภัยเข้ามา ให้ออกนอกประเทศไปเลย 

ขณะที่ “ฝ่ายซ้าย” สิทธิมนุษยชน ก็โจมตีอีก บอกปฏิบัติกับคนไม่เท่าเทียม  

ด้วยเหตุผลหลายประการรวมกัน ทำให้ “การต่อต้าน” รัฐบาล “มาครง” จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา 

โดยสรุปคือ ปัญหาที่ฝรั่งเศสกำลังเจอในเวลานี้ หากเป็นปัญหาเฉพาะหน้า จะเกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย และเนื้อหากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการ แต่มันรุนแรงเพราะมีการยิงคนชนกลุ่มน้อยเสียชีวิต แต่ปัญหาหลักจริงๆ ของ “ฝรั่งเศส” คือปัญหาเชิงโครงสร้าง และมันจะทับถมไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างปี 2005 ก็เกิดเรื่องลักษณะแบบนี้ ตำรวจยิงคนกลุ่มน้อยจากแอฟริกา เสียชีวิต 2 ศพ เหตุการณ์ก็แบบนี้ มีการประท้วง เผา รวม 2 สัปดาห์ นานกว่าครั้งนี้ แต่ความรุนแรงน้อยกว่า

“ลึกๆ คือ สิ่งที่ฝรั่งเศส จะเจอ คล้ายกับในยุโรปที่มีการแยกขั้ว เหมือนสหรัฐฯ พอมาอยู่แล้ว กลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ต้อนรับ ไปๆ มาๆ กลายเป็นคนของประเทศ แต่พอกลายเป็นพลเมืองแล้ว ก็ตกงาน เจอความแตกต่าง ก็มองว่าตัวเองว่าถูกเล่นงาน แม้รัฐบาลพยายามย้ำเรื่องความมั่นคง ให้เคารพกฎเกณฑ์ คนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ก็จะตั้งคำถามกลับว่า “มาเล่นงานเอกลักษณ์ของเขาได้อย่างไร” เป็นการสะสมความไม่พอใจ นี่เองคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างตามภูมิรัฐศาสตร์ และเชื่อว่า เราจะได้เห็นแบบนี้อีกหลายครั้ง และอีกหลายประเทศ ที่ต้องเผชิญ”

โอกาส “แพะรับบาป” และการลาออก ของนายกฯ 

เมื่อถามว่า เหตุการณ์จลาจล และการประท้วงในฝรั่งเศส จะจบที่ตรงไหน รศ.ดร.สมชาย มองว่า ตอนนี้สถานการณ์เบาลง แต่ยังไม่จบ เพราะประท้วงมาเป็นเดือนแล้ว ซึ่ง “มาครง” ยังมีเครื่องมือ 1 ตัว คือ การประกาศ ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งหากมองย้อนปี 2005 ช่วง ปธน.ฌัก ชีรัก ประท้วงนาน แต่ก็คุมได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน 

ที่สำคัญคือ “มาครง” เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเลือกตรงจากประชาชน สภาจะมาอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ 

แต่ก็มีอีกวิธีการหนึ่ง หากเหตุการณ์บานปลาย คุมไม่อยู่ ก็อาจจะหา “แพะรับบาป” ด้วยการให้ นายกฯ ลาออก เพราะนายกฯ อยู่ภายใต้อาณัติของประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีเสียงข้างมากเป็นผู้เลือก 

พอมีเสียงข้างมากในสภา เขาก็สามารถตั้ง หรือ ล้ม นายกฯ ก็ได้ ทั้งที่กฎหมายต้องลงมติไม่ไว้วางใจ แต่...กับเรื่องนี้ บางรัฐบาลในอดีตก็ทำไม่ได้ เพราะนายกฯ กับ ประธานาธิบดีมาจากคนละพรรคการเมือง 

ดังนั้น สิ่งที่มาครง ทำได้ หากมีเหตุฉุกเฉินจริงๆ ก็แค่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานนายกฯ บวกกับฝ่ายตัวเอง จากนั้นแค่กระซิบให้นายกฯ ลาออก นี่คือเกมการเมืองอย่างหนึ่ง แต่ถือว่าไม่ได้แก้ที่ถูกทาง เพราะสิ่งที่คนทั่วไปกำลังโกรธและอยากเล่นงาน คือตัว “มาครง”

อาจารย์สมชาย ทำนายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้ “มาครง” จะไม่กระทบโดยตรง แต่ก็จะส่งผลในอนาคต โดยเฉพาะการออกกฎหมาย เพราะต้องใช้เสียงข้างมาก หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็จะส่งผลต่อการบริหารจัดการในอนาคต 

การปฏิรูประบบสวัสดิการ จากฝรั่งเศสถึงไทย...

ทีมข่าวฯ ถามประเด็นการขยายเวลาเกษียณในไทย มีโอกาสแค่ไหน และได้เห็นอะไรจากปัญหาฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกว่า การปฏิรูปสวัสดิการในไทยเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนไทยอยากให้มีอยู่แล้ว และเราต้องทำแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ (ลากเสียง) 

ตอนนี้เรามีคนอายุ 60 ปี จำนวน 13 ล้านคน อีก 16 ปี จะเพิ่มเป็น 22 ล้านคน แปลว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมสู่วัย 

เทียบตอนนี้ คนวัยทำงาน 65% ดูแลคนที่ไม่ทำงาน 35% (คนอายุมากกว่า 60 ปี และ อายุไม่เกิน 15 ปี ) 

อีก 3 ปีข้างหน้า คนใน 65% จะเหลือ 55% ดูแลคนที่ไม่ทำงาน 45% ตัวเลขนี้จะกลายเป็นการดูแลคนแก่เยอะมาก เมื่อผลเป็นแบบนี้ จะหนีไม่พ้นที่ฝรั่งเศส ด้วยการต่ออายุเกษียณล้านเปอร์เซ็นต์

“แต่ของประเทศไทย ก็อยากให้ต่ออายุ เพราะยังมีเงินเดือนกิน ต่างจากฝรั่งเศส ที่เขาได้เงินเกษียณเยอะ 70% มองกลับมาประเทศไทย ได้เงินสักเท่าไร ดังนั้น จึงเชื่อว่าอาจจะมีการต่ออายุเกษียณ เป็น 65-70 ปีก็ได้ ที่เป็นแบบนี้บริบทของสังคมแตกต่างกัน” รศ.ดร.สมชาย ทิ้งท้าย 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ