ถามตรง นาซาปกปิดความลับยูเอฟโอหรือไม่? #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับ รายงานของนาซา ล่าสุด กับการศึกษา UFO ...
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นาซาเปิดเวทีสาธารณะรายงานผลการทำงานศึกษาปรากฏการณ์ในอากาศที่อธิบายไม่ได้ยูเอพี (Unidentified Aerial Phenomena : UAP) หรือที่มักเรียกกันเป็นเรื่องของยูเอฟโอ (UFO)
“เชื่อคิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปดูรายงานผลการทำงานของทีมงานนาซา และดูว่า ก้าวต่อไปของนาซาในเรื่องของยูเอพีหรือยูเอฟโอจะเป็นอย่างไร?
จุดยืนที่เปลี่ยนไปของนาซา
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) จากการประกาศของนาซาตั้งทีมพิเศษเพื่อศึกษาปรากฏการณ์อากาศที่อธิบายไม่ได้ หรือยูเอพี ซึ่งสื่อและทั่วไปก็เรียกกันติดปากเป็นเรื่องของยูเอฟโอ
นาซาก็ไม่ปฏิเสธว่า โครงการศึกษายูเอพีโดยทีมงานพิเศษนี้ ก็คือโครงการศึกษายูเอฟโอนั่นเอง
แต่ที่นาซาเลือกใช้คำยูเอพีแทนยูเอฟโอ ก็เพราะว่า สำหรับคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำ ยูเอฟโอ ก็จะนึกถึง จานบิน หรือ มนุษย์ต่างดาว ในขณะที่ความตั้งใจของนาซาในการตั้งทีมพิเศษเพื่อศึกษาหาเรื่องนี้ ก็เปิดกว้างถึงปรากฏการณ์แปลกๆ ในท้องฟ้าและที่อื่นๆ ที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวก็เป็นไปได้
...
ที่ผ่านมาในอดีต จุดยืนของนาซาที่แสดงออกมาเกี่ยวกับยูเอฟโอ คือ การพยายามอธิบายว่า ยูเอฟโอ เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ยังอธิบายไม่ได้ แต่ไม่มีหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาว
การตั้งทีมพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องนี้ นับเป็นจุดยืนที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของนาซาเกี่ยวกับเรื่องของยูเอฟโอ เพราะทางนาซาแถลงชัดเจนในการตั้งทีมพิเศษว่า ทีมพิเศษนี้ จะทำงานตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่แปลกๆ ของยูเอพีหรือยูเอฟโอ อย่างเป็นอิสระ และอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
จุดยืนที่เปลี่ยนไปของนาซานี้ จริงๆ แล้ว ก็สอดคล้องกับจุดยืนของวงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับยูเอฟโอ เพราะแต่เดิมมา วงการวิทยาศาสตร์ก็ถือว่า เรื่องยูเอฟโอ เป็นเรื่องไม่เป็นสาระทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพส่วนใหญ่ (แทบทั้งหมด) ก็ไม่อยากแตะเรื่องของยูเอฟโอ
ถึงขณะนี้ จึงกล่าวได้ว่า นาซาก็ได้ร่วมกระแสในการศึกษาเรื่องของยูเอฟโออย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับวงการวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะช้ากว่าวงการวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีความสำคัญต่อเรื่องของยูเอฟโอ...
เพราะนาซาเป็นหน่วยงานของรัฐ และที่สำคัญ นาซามีขีดความสามารถสูงในเรื่องของเทคโนโลยี และบุคลากร ที่สามารถจะระดมนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพเข้ามาร่วมโครงการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนชัดเจน
ทีมนาซามาตามนัดรายงานผลศึกษายูเอฟโอ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นาซาแถลงข่าวการจัดตั้งทีมงานพิเศษ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ยูเอพีหรือยูเอฟโอ ที่คุ้นเคยกัน ทีมงานมีทั้งหมด 16 คน มี เดวิด สเปอร์เกล (David Spergel) อดีตนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เป็นหัวหน้าทีม คณะทำงานในทีมเป็นนักวิทยาศาสตร์, นักบิน และมนุษย์อวกาศ, ผู้เชี่ยวชาญด้าตาและปัญญาประดิษฐ์, ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านการบิน และผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์
ภารกิจของทีมงานพิเศษนี้ คือ ศึกษารายงานปรากฏการณ์ในอากาศและที่อื่นๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ดังเช่นว่า เป็นเครื่องบินหรือวัตถุสิ่งบินหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์...
โดยมีกรอบการทำงานของทีมงานพิเศษนี้ คือ ศึกษาจากรายงานประเภทไม่ใช่รายงานลับ (unclassified report) ที่รวบรวมจากรายงานของเอกชนและทางการ และมีภารกิจจำเพาะ คือ ให้ศึกษากระบวนการได้มาของรายงานทั้งหมดที่ศึกษาด้วย
เพื่ออะไร?
เพื่อเป็น “roadmap” หรือ “แนวทาง” หรือ “แผนทำงาน” ต่อไปของนาซาสำหรับเรื่องยูเอพี
ซึ่งหมายความว่า ภารกิจหลักของทีมงานพิเศษ มิใช่เพื่อรวบรวมรายงานใหม่ของยูเอพี แต่ให้เน้นการศึกษารายงานที่มีอยู่ (ที่สามารถหามาศึกษาได้) ว่า จะเป็นยูเอพีหรือยูเอฟโอ ที่อธิบายไม่ได้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน และเจาะศึกษาวิธีการรวบรวมรายงานเกี่ยวข้องกับยูเอพี ที่มีอยู่ เพื่อดูว่า จะสามารถปรับปรุง – ขยาย –ให้เกิดรายงานใหม่ที่มีคุณภาพได้อย่างไร แล้วจึงสรุปผลส่งให้นาซา สำหรับการพิจารณาของนาซาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เกี่ยวกับยูเอพีหรือยูเอฟโอ ที่จะมีประสิทธิภาพ หรือครอบคลุมรายงานสำคัญให้ได้มากที่สุด
...
สำหรับการทำงานของทีมงาน มีกำหนดเริ่มต้นทำงาน อย่างเป็นทางการวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยมีกรอบเวลาทำงาน 9 เดือน และใช้งบประมาณทั้งหมด หนึ่งแสนดอลลาร์
ทั้งนี้ นาซาประกาศว่า ทีมงานพิเศษมีอิสระทำงานในการศึกษายูเอพีหรือยูเอฟโออย่างเต็มที่ และสัญญาว่า จะประกาศผลการทำงานของทีมงานต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย โดยคาดว่า จะเป็นประมาณกลางปี พ.ศ. 2566 ซึ่งตามกำหนดแผนการทำงานของทีมงานเวลา 9 เดือน เริ่มจากวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ก็จะครบกำหนด 9 เดือนในวันที่ 24 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
การแถลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสองเดือนก่อนกำหนดวันสิ้นสุดโครงการศึกษา ยูเอพีของทีมงานพิเศษนี้ ก็แสดงว่า ทีมงานพิเศษได้ทำงานในส่วนเป็นภารกิจหลักเสร็จสิ้นแล้ว และได้ผลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสมบูรณ์ หรือเกือบจะสมบูรณ์แล้ว
จึงนับได้ว่า ทีมงานพิเศษของนาซาได้มาตามนัด ตามที่นาซาประกาศเมื่อเริ่มตั้งทีมงานพิเศษนี้ขึ้นมา ว่า จะรายงานผลการทำงานของทีมงานในประมาณกลางปี พ.ศ. 2566
ส่วนรายงานฉบับสมบูรณ์ นาซากล่าวว่า ทีมงานจะส่งให้นาซาประมาณปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ตามกำหนดครบ 9 เดือนของการทำงาน
...
ผลการทำงานทีมพิเศษนาซา
การเปิดเวทีสาธารณะรายงานผลการทำงานของทีมนาซาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จัดที่สำนักงานกลางของนาซาในกรุงวอชิงตัน เป็นเวทีสาธารณะถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้าน ร่วมแสดงความคิดเห็นและถามประเด็นที่สนใจได้
บนเวทีสาธารณะ มีทีมงานพิเศษแสดงตัวบนเวที โดยมีผู้บริหารของนาซาร่วมเวทีด้วย และมีผู้บริหารสำนักงานใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องยูเอพีหรือยูเอฟโอ เข้าร่วมเวทีสาธารณะด้วย
ผู้บริหารนาซาที่ร่วมเวที คือ นิโคลา ฟอกซ์ (Nicola Fox) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์อวกาศ (Space Science Directorate) และ แดน อีแวนส์ (Dan Evans) ผู้ช่วยรองผู้บริหารการวิจัยของนาซา และเป็นผู้รับผิดชอบทีมงานพิเศษศึกษา
ยูเอฟโอ ของนาซาครั้งนี้
ส่วนผู้บริหารจากเพนตากอนที่ได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีด้วย คือ ฌอน เคิร์กพาทริกค์ (Sean Kirkpatrick) ผู้อำนวยการสำนัก เอเออาร์โอ (AARO : All-Domain Anomaly Resolution Office : สำนักงานตรวจสอบความไม่ปรกติทุกขอบเขต)
เอเออาร์โอ เป็นสำนักงานตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอของเพนตากอน ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 หลังการประกาศตั้งทีมงานพิเศษของนาซาประมาณหนึ่งเดือน แต่มีประวัติการทำงานเกี่ยวกับรายงานยูเอฟโอของเพนตากอนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ในชื่ออื่นๆ
การตั้งสำนักงานเอเออาร์โอของเพนตากอน ก็แสดงถึงจุดยืนที่เปลี่ยนของเพนตากอน ที่หันมาให้ความสนใจเรื่องยูเอฟโอ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์คล้ายกับนาซา
แต่ภารกิจหลักของเอเออาร์โอ จะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของยูเอฟโอเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และการทำงานก็จะเป็นลักษณะของหน่วยงานราชการจริงๆ มากกว่านาซา
...
สรุปสาระและประเด็นจากเวทีสาธารณะ มีอะไรบ้าง?
เดวิด สเปอร์เกล หัวหน้าทีมพิเศษรายงานสรุปผลการดำเนินงานของทีมในการศึกษา วิเคราะห์ รายงานเกี่ยวกับยูเอพีหรือยูเอฟโอ ที่ทีมงานเข้าถึง
อย่างแน่นอน สำหรับคำถามใหญ่ที่รอฟังคำตอบมากที่สุด คือ ทีมงานได้พบรายงานที่ศึกษาว่า มีที่เป็นหลักฐานชัดเจนการมาถึงโลกของมนุษย์ต่างดาวมากน้อยแค่ไหน? กี่รายงาน? หรือว่าไม่พบเลย?
คำตอบซึ่งคงจะสร้างความผิดหวังแก่ผู้ติดตามที่เชื่อว่า มนุษย์ต่างดาวได้เดินทางมาถึงโลกแล้ว คือ จากรายงานที่ศึกษาทั้งหมด ก็มีอยู่จำนวนไม่มากที่ “อธิบายไม่ได้” จริงๆ แต่โดยสรุปรวม ก็ไม่พบรายงานที่มีหลักฐานชนิดปฏิเสธไม่ได้ว่า “เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว” เลย
ทว่า เดวิด สเปอร์เกล ก็อธิบายว่า การยังไม่พบหลักฐานที่เป็นเรื่องของมนุษย์ต่างดาวโดยตรงเลย ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะเป้าหมายหลักของการศึกษา มิได้มุ่งเจาะศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า เป็นเรื่องของมนุษย์ต่างดาวอย่างลงลึกเต็มที่...
เพราะเป้าหมายหลักของทีมงาน คือ ศึกษากระบวนการและวิธีการในการเก็บรายงานเกี่ยวกับยูเอพี และคุณภาพของรายงาน พร้อมๆ กับที่พยายามเจาะศึกษาว่า จะเปลี่ยนจากยูเอฟโอ เป็น ไอเอฟโอ (IFO : Identified Flying Object) หรือสิ่งบินที่ไม่ลึกลับ ได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งหมดทั้งปวง ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เป็น “roadmap” หรือ “แนวทาง” มอบให้แก่นาซา ตามภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากนาซา
อย่างไรก็ตาม สำหรับ เดวิด สเปอร์เกล เอง กล่าวว่า ถ้าให้เขาสรุปผลการศึกษาทั้งหมดเป็นเพียงประโยคเดียว ก็จะเป็น “เราต้องการรายงานที่มีคุณภาพสูง!”
นาเดีย เดรค (Nadia Diake) ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์และนักเขียนสารคดีวิทยาศาสตร์กับ National Geography และเป็นหนึ่งในทีมพิเศษ กล่าวบนเวทีว่า :-
รายงานของทีมงาน ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีที่สมควรจะได้เจาะศึกษาจำนวนมาก โดยเธอกล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอ ที่รวบรวมโดย สำนักเอเออาร์โอ ของเพนตากอน เป็นรายงานย้อนหลังรวม 27 ปี รวมเป็นรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอทั้งหมดประมาณ 800 รายงาน
การตรวจสอบเพื่อค้นหารายงานที่น่าสนใจจริงๆ จึงเป็นเหมือนกับการควานหาเข็มในกองฟางขนาดใหญ่มาก ในขณะที่ทีมพิเศมีเวลาเพียง 9 เดือน ในการศึกษารายงานต่างๆ เท่าที่จะทำได้
สก็อตต์ เคลลี (Scott Kelly) หนึ่งในทีมพิเศษ อดีตมนุษย์อวกาศของนาซา เคยประจำอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาหนึ่งปี มีประสบการณ์เกี่ยวกับยูเอฟโอมาเป็นหลายทศวรรษ จากการปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินของกองทัพเรือ เล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ในขณะกำลังเป็นนักบินขับเครื่องบินอยู่ใกล้หาดเวอร์จิเนีย
แล้วผู้ช่วยนักบินบอกเขาว่า ดูเหมือนเราะจะบินผ่านยูเอฟโอลำหนึ่ง
สก็อตต์ เคลลี จึงขับเครื่องบินอ้อมกลับไปดู แต่ก็พบว่า จริงๆ แล้ว มันเป็นบอลลูนขนาดใหญ่
บนเวทีสาธารณะ มีตัวอย่างกรณีการพบร่องรอยหลักฐานที่ชวนสงสัยว่า เป็นยูเอฟโอจริงหรือไม่อีก ดังเช่น :-
• คณะนักวิจัยในออสเตรเลีย จับได้สัญญาณคลื่นวิทยุแปลกๆ แต่ในที่สุด จากข้อสังเกตว่า คลื่นวิทยุแปลกๆ มักจะเกิดขึ้นมาก ในช่วงเวลาอาหารกลางวัน
และในที่สุด จากการตรวจสอบอย่างละเอียดลงไปอีก ก็พบว่า เป็นคลื่นวิทยุจากเตาไมโครเวฟที่ใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน
• การพบกลุ่มจุดแสงลึกลับในอากาศเวลากลางคืน โดยนักบินกองทัพเรือ ที่มีลักษณะการเคลื่อนที่แปลกๆ ในน่านฟ้าตะวันตกของสหรัฐฯ และนักบินก็พยายามขับเครื่องบินไล่ตามกลุ่มจุดแสงลึกลับนั้น แต่ก็ไล่ไม่ทัน จนกระทั่งในที่สุด ก็จึงทราบว่า จริงๆ แล้ว เป็นแสงจากเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่ง ที่กำลังบินตรงไปที่สนามบินนั่นเอง
แต่เนื่องจากอยู่ไกลกันมาก นักบินจึงขับเครื่องบินไล่ไม่ทัน ส่วนการที่จุดแสงจากเครื่องบินพาณิชย์ มีลักษณะการเคลื่อนที่แปลกๆ ก็เป็นเพราะจุดแสงจากเครื่องบินที่กะพริบ ทำให้นักบินที่ไล่ตาม เห็นเป็นแสงมีลักษณะการเคลื่อนที่แปลกๆ
กรณีตัวอย่างของ สก็อตต์ เคลลี และคลื่นวิทยุในออสเตรเลีย กับกลุ่มจุดแสงจากเครื่องบินที่เคลื่อนที่แปลกๆ แสดงถึงตัวอย่างรายงานเกี่ยวกับยูเอฟโอที่คลาดเคลื่อน หรือทำให้การค้นหาคำตอบคลาดเคลื่อนได้ และก็มีรายงานลักษณะเดียวกันนี้มากมาย ในรายงานเกี่ยวกับยูเอพีหรือยูเอฟโอ
ถามตรงนาซาปกปิดความลับยูเอฟโอหรือไม่?
ท้ายการรายงานโดยทีมพิเศษของนาซา มีการเปิดโอกาสให้ผู้ชมจากทางบ้าน ถามนาซาและทีมงานพิเศษ
คำถามหนึ่ง คือ นาซาปกปิดอะไรหรือไม่?
คำถามอาจจะมาจากความสงสัยว่า ทำไม ผลการศึกษาจึงสรุปว่า ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวอย่างชัดเจนเลย!
แดน อีแวนส์ จากนาซาตอบ ย้ำเจตนารมณ์ของนาซาในเรื่องนี้ คือ ความโปร่งใสและอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยสรุปว่า :-
นี่คือ เหตุผลทำไมเรา (นาซา) จึงจัดเวทีสาธารณะวันนี้!
แล้วอย่างไรต่อไป?
หลังการเปิดเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทีมงานพิเศษก็จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมด เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งนาซา ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
ตามกำหนดแล้วจะมีการเปิดเวทีสาธารณะรายงานสรุปผลที่สมบูรณ์ของทีมงานหรือไม่?
ผู้เขียนเชื่อว่า ขึ้นอยู่กับผลสรุปการศึกษาสุดท้ายว่า มี “อะไร” สำคัญเป็นพิเศษ แตกต่างไปจากที่ได้เปิดเผยไปแล้ว ในเวทีสาธารณะวันที่ 31 พฤษภาคม หรือไม่?
ถ้าไม่มี ก็อาจไม่มีการเปิดเวทีสาธารณะ หรือการแถลงข่าวสรุปผลสุดท้ายของการศึกษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่อาจเป็นรายงานข่าวปรกติของนาซาที่มีเป็นประจำอยู่แล้ว
ที่สำคัญ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ก็จะเป็นเรื่องของนาซา ที่จะต้องพิจารณารายงานสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของทีมพิเศษ เพื่อวางแผนต่อไปว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป กับเรื่องของยูเอพีหรือยูเอฟโอ
ผู้เขียนเชื่อว่า นาซาจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะทีมพิเศษได้ทำงานตามพันธกิจของนาซาแล้ว และเชื่อว่า จะมีข้อเสนอแนะในการทำงานต่อไปของนาซาสำหรับเรื่องยูเอฟโอ ซึ่งน่าจะเป็นโครงการใหญ่ ใช้เวลามากขึ้น (มากกว่า 9 เดือน) มีทีมงานหรือผู้ร่วมโครงการมากขึ้น และมีงบประมาณสนับสนุนมากขึ้น
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไรกับรายงานที่ทีมงานศึกษายูเอพีหรือยูเอฟโอของนาซาได้รายงานไปแล้ว....และคิดว่า นาซาน่าจะเดินหน้าเรื่องเกี่ยวกับยูเอฟโอต่อไปอย่างไร?