4 อุปสรรคที่ขวางกั้น ปฏิบัติการกู้ 5 ชีวิต บนเรือดำน้ำไททัน ท่ามกลางการเอาใจช่วยของคนทั้งโลก...
ท่ามกลางความมืดมิดที่อยู่ลึกลงไปมากกว่า 3,800 เมตรใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ จนแสงสว่างส่องลงไปไม่ถึงนั้น กำลังมีถึง 5 ชีวิต ที่นั่งแออัดยัดเยียดกันอยู่ในที่คับแคบ ที่มีห้องน้ำอยู่เพียงห้องเดียว และอากาศที่ใช้หายใจก็ค่อยๆ เริ่มเบาบางลงทุกขณะ กำลังรอคอยปฏิบัติการกู้ภัยด้วยความหวัง
หลังเรือดำน้ำที่มีชื่อว่า “ไททัน” ของ “บริษัทโอเชียนเกต” ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรือนำเที่ยวพาชมซากเรือสำราญแห่งตำนานอย่าง “ไททานิก” ที่ต้องใช้เงินมหาศาลถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 21มิ.ย. 23) เพื่อแลกกับ 1 ที่นั่งที่แสนจะคับแคบและอึดอัด (เรือดำน้ำไททัน มีความยาวประมาณ 6.4 เมตร) ได้ขาดการติดต่อกับเรือพี่เลี้ยงที่อยู่บนผิวน้ำ ซึ่งลอยลำอยู่ห่างจากอ่าว Cape Cod รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปทางตะวันออกประมาณ 900 ไมล์ (1,448 กิโลเมตร) หลังพาคณะทัวร์รวม 5 คน ดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที! ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 มิ.ย. 23
...
อย่างไรก็ดี...จนถึงปัจจุบัน (21 มิ.ย. 23) ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ และแคนาดาทั้งใต้น้ำและทางอากาศ ซึ่งกินพื้นที่ถึงประมาณ 7,600 ตารางไมล์ ก็ยังไม่พบ “ความหวังที่ชาวโลกรอคอย”
ข้อมูลเบื้องต้นเรือดำน้ำไททัน :
เรือดำน้ำไททัน เป็นเรือดำน้ำลึก 1 ใน 3 ลำของบริษัทโอเชียนเกต โดยข้อมูลเบื้องต้นเรือดำน้ำลำนี้ มีน้ำหนักประมาณ 10,432 กิโลกรัม ยาวประมาณ 6.4 เมตร และสามารถดำน้ำได้ลึกสูงสุดประมาณ 4,000 เมตร โดยตัวเรือถูกสร้างขึ้นจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์หนาพิเศษและหุ้มด้วยไททาเนียมถึง 2 ชั้น ส่วนภายในเรือมีลักษณะคล้ายกับรถมินิแวน และมีห้องน้ำเล็กๆ ไว้สำหรับทำธุระส่วนตัวเพียง 1 ห้อง ส่วนปริมาณออกซิเจนนั้นมีใช้ได้สูงสุดประมาณ 96 ชั่วโมง สำหรับผู้โดยสารในเรือรวม 5 คน โดยผู้โดยสารในเรือรวม 5 คน จะประกอบไปด้วย ผู้บังคับเรือ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน และผู้โดยสาร (นักท่องเที่ยว) อีก 3 คน
ทั้งนี้ ตามรายงานเบื้องต้นระบุว่า เรือดำน้ำไททันต้องอาศัยเรือผิวน้ำทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยง ในการนำทางให้เรือไททัน ดำดิ่งลงไปหาซากเรือไททานิกที่เป็นเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้
ปัญหาและความยากลำบากสำหรับการกู้ภัย :
1. ออกซิเจนสำหรับ 5 ชีวิต
แม้ว่า...“บริษัทโอเชียนเกต” จะยืนยันว่า ภายในเรือดำน้ำไททัน มีปริมาณออกซิเจนใช้ได้นานถึง 96 ชั่วโมง (4 วัน) สำหรับผู้โดยสาร 5 คน หากแต่ปริมาณออกซิเจนดังกล่าว "ยังไม่เคยถูกทดสอบมาก่อน" เนื่องจากที่ผ่านมา “เรือดำน้ำไททัน” ใช้เวลาสำหรับการเดินทางเพื่อดำดิ่งลงไปสู่ซากเรือไททานิก ซึ่งอยู่ที่ความลึก 3,800 เมตร ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง และใช้เวลาสำรวจเรืออีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำให้รวมเวลาทั้งหมดสำหรับการ ดำน้ำสู่ซากเรือไททานิกในแต่ละเที่ยวเพียงประมาณไม่เกิน 10 ชั่วโมงเท่านั้น
...
2. การติดต่อสื่อสารใต้ท้องทะเล :
สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เรือดำน้ำไททันขาดการสนับสนุนจากเรือพี่เลี้ยงอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงมีเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับเรือประสบภัยลำนี้ได้ คือ ต้องติดต่อสื่อผ่านลงไปใต้ท้องทะเล อย่างไรก็ดี การติดต่อสื่อสารใต้น้ำ นั้น แตกต่างจากบนพื้นดินอย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก “น้ำ” จะ “ปิดกั้น” การแพร่กระจายของ “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” อย่างรวดเร็ว นั่นจึงแปลว่า หน่วยกู้ภัย จะไม่สามารถใช้ “เรดาร์ , GPS , แสงสปอตไลท์ หรือ ลำแสงเลเซอร์ เป็นอุปกรณ์ทุ่นแรงสำคัญในปฏิบัติการค้นหาท่ามกลางความลึกและมืดมิดครั้งนี้ได้!
ส่วน “อุปกรณ์โซนาร์” ซึ่งใช้คลื่นเสียงเพื่อค้นหาตำแหน่ง นั้น ในทางเทคนิคสำหรับการค้นหาเรือดำน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ที่กว้างใหญ่และอยู่ในระดับความลึกมากๆ นั้น ก็จำเป็นต้องอาศัยเวลามากพอสมควรอีกเช่นกัน!
...
3. ปฏิบัติการช่วยเหลือและกู้ภัย
มีเรือดำน้ำเพียงไม่กี่ลำในโลกเท่านั้นที่สามารถลงไปที่ความลึกที่ “เรือดำน้ำไททัน” สามารถลงไปถึง ดังนั้น...หากการสูญหายที่ว่านี้ “เรือดำน้ำไททัน” เกิดไปประสบปัญหาที่ความลึกดังกล่าวจากความเป็นไปได้ที่เรืออาจเกิดไปติดเข้ากับซากเรือไททานิก (ระดับความลึก 3,800 เมตร) จนไม่สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำได้ด้วยกำลังของตัวเอง คำถามต่อไป คือ การปฏิบัติการกู้ภัยจะดำเนินต่อไปอย่างไร
นั่นเป็นเพราะ....ในอดีตที่ผ่านมาปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยเหลือเรือดำน้ำที่จมลงในจุดที่ลึกที่สุด ที่เคยประสบความสำเร็จนั้นอยู่ในระดับความลึกเพียง 450 เมตร และติดอยู่ใต้น้ำนาน 76 ชั่วโมง ในปี 1973 เท่านั้น ในขณะที่ “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” ของกองทัพสหรัฐฯ นั้น มีระดับดำน้ำลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300-400 เมตรเท่านั้น
หรือเอาล่ะ...ในกรณีที่ แม้เรือดำน้ำไททัน อาจสามารถลอยขึ้นสู่ระดับความลึกที่พอให้การช่วยเหลือได้ ปัญหาต่อไป คือ...ประตูของเรือดำน้ำไททันที่จะนำทั้ง 5 ชีวิต ออกมาจากเรือได้นั้น ต้องใช้การเปิดจากด้านนอกเรือเท่านั้น! คำถาม คือ เวลาและออกซิเจน จะยังเหลือมากเพียงพอสำหรับ ปฏิบัติการช่วยเหลือหรือไม่?
...
ฉะนั้น...แม้หากพบเรือดำน้ำไททันได้สำเร็จจริง “แต่ปฏิบัติการกู้ภัยก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายแน่นอน”
4. แรงดันน้ำในแต่ละระดับชั้นความลึกสมหาสมุทร :
ข้อมูลควรรู้! ระดับชั้นความลึกและแรงดันน้ำใต้มหาสมุทร
1. Epipelagic Zone : ระดับผิวน้ำที่แสงสว่างส่องถึง ซึ่งมีความลึกไม่เกิน 200 เมตร โดยมีอุณหภูมิผิวทะเลตั้งแต่ สูงสุด 36 องศาเซลเซียส (ในอ่าวเปอร์เซีย) ถึง ต่ำสุด -2 องศาเซลเซียส (ใกล้ขั้วโลกเหนือ)
2. Mesopelagic Zone : ความลึกเกิน 200-1,000 เมตร เป็นชั้นความลึกที่แสงสว่างส่องถึงน้อยมากและมีออกซิเจนน้อย โดยชั้นความลึกนี้เป็นบริเวณที่อุณหภูมิของน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็วตามความลึกที่เพิ่มขึ้น (ตั้งแต่ระดับ 8-4 องศาเซลเซียส) โดยมีแรงดันน้ำที่ระดับ 300-1,500 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
3. Bathypelagic Zone : ลึกเกิน 1,000-4,000 เมตร เป็นเขตมืดที่มีแรงดันน้ำสูง โดยชั้นความลึกนี้จะแตกต่างจาก Mesopelagic Zone เนื่องจากอุณหภูมิน้ำจะคงที่ ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส และมีแรงดันน้ำมากกว่า 5,850 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
4. Abyssopelagic Zone : ลึกเกิน 4,000-6,000 เมตร มีพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของมหาสมุทรที่มีระดับความลึกนี้ ขณะที่อุณหภูมิน้ำเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส หรือ “ใกล้จุดเยือกแข็ง” ส่วนแรงดันน้ำอยู่ที่ระดับมากกว่า 11,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
5. Hadopelagic Zone : ลึกเกิน 6,000-11,000 เมตร เป็นร่องลึกใต้ Abyssopelagic Zone โดยจุดที่ลึกที่สุดอยู่ที่ร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) นอกชายฝั่งของญี่ปุ่น โดยมีความลึกถึง 10,911 เมตร และมีอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส (จุดเยือกแข็ง) ส่วนแรงดันน้ำอยู่ที่ระดับ 8 ตันต่อตารางนิ้ว!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :