แมนฯซิตี้ ทริปเปิลแชมป์ ความสำเร็จที่มาจากแรงผลัก , ความหลงใหล , ความมุ่งมั่น และแรงปรารถนา ของ "เป๊ป กวาร์ดิโอลา"...

ทริปเปิลแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ทีมลำดับที่ 5 ของอังกฤษที่สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ 3 สมัยติดต่อกัน และเป็นแชมป์ลีกได้ถึง 5 สมัย จาก 6 ฤดูกาลหลังสุด เพียงเท่านี้มันมากพอแล้วหรือยัง สำหรับการการันตีว่า ท้องฟ้า ณ เมืองแมนเชสเตอร์ ณ เวลานี้ ควรจะเป็น “สีฟ้า” มากกว่า “สีแดง” เฉกเช่นที่เคยเป็นมาหลายทศวรรษ เพราะ ณ วันนี้ สโมสรเรือใบสีฟ้า หาใช่เพียง “เพื่อนบ้านที่น่ารำคาญ” ดังที่ “เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” บรมกุนซือ ให้คำจำกัดความแบบ “จิกกัด” อริร่วมเมืองอีกต่อไปแล้ว! 

 ส่วนหากถามว่า...ปรากฏการณ์ท้องฟ้าเมืองแมนเชสเตอร์ เปลี่ยนจาก “สีแดง” ไปเป็น “สีฟ้า” ได้อย่างไร? คำตอบคงมีเพียงคำตอบเดียว ทั้งหมดนั้นเกิดจากการเสกสรรปั้นแต่ง ของชายที่มีชื่อว่า...“โจเซฟ กวาร์ดิโอลา” และจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ ความพยายามไขรหัส “คำตอบ” ที่ว่า เหตุใดท้องฟ้า ณ โมงยามนี้ จึงถูกย้อมจนกลายเป็น “สีฟ้า”

...

กุญแจผู้ชนะใน 7 ฤดูกาลภายใต้ โจเซฟ กวาร์ดิโอลา : 

1. การเข้าเบรกเก็บชัยชนะในช่วงเวลาชี้ชะตา : 

หลังเริ่มต้นการทำงานที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาล 2016-17 ด้วยความล้มเหลวเนื่องจากไม่มีแชมป์ใดติดมือ แถมยังพาทีมเข้าป้ายเพียงอันดับ 3 ในลีก โดยมีคะแนนห่างจากแชมป์ในฤดูกาลนั้นอย่าง “เชลซี” ถึง 15 คะแนน แต่หลังจากเริ่มตั้งหลักได้ ตู้โชว์ที่ซิตี้ ก็ไม่เคยว่างเว้นจากถ้วยรางวัลอีกเลย! 

ฤดูกาล 2017-18 : แชมป์พรีเมียร์ ลีก, ลีกคัพ 

ฤดูกาล 2018-19 : แชมป์พรีเมียร์ ลีก, เอฟเอคัพ, ลีกคัพ 

ฤดูกาล 2019-20 : ลีกคัพ 

ฤดูกาล 2020-21 : แชมป์พรีเมียร์ ลีก, ลีกคัพ 

ฤดูกาล 2021-22 : แชมป์พรีเมียร์ ลีก 

ฤดูกาล 2022-23 : แชมป์พรีเมียร์ ลีก, เอฟเอคัพ, แชมเปียนส์ลีก  

นอกจากแชมป์ที่ได้ติดไม้ติดมือแล้วใน 7 ฤดูกาลที่ว่านี้ “ทีมของเป๊ป” ยังแสดงให้เห็นถึง “จุดเด่น” ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ “ความแข็งแกร่งในช่วงชี้เป็นชี้ตาย” ซึ่งถือเป็น “กุญแจสำคัญ” ที่นำไปสู่การเป็นแชมป์ลีกในบั้นปลายได้อยู่เสมอๆ

ฤดูกาล 2016-17 : ทำสถิติไม่แพ้ใคร 9 นัดติดต่อกันในลีก 

ฤดูกาล 2017-18 : ทำสถิติแพ้เพียงนัดเดียวจาก 15 นัดติดต่อกันในลีก

ฤดูกาล 2018-19 : ทำสถิติชนะ 14 นัดติดต่อกันในลีก 

ฤดูกาล 2019-20 : ทำสถิติชนะ 8 จาก 10 นัดในลีก 

ฤดูกาล 2020-21 : ทำสถิติชนะ 22 นัด จาก 26 นัดในลีก 

ฤดูกาล 2021-22 : ทำสถิติไม่แพ้ใครในช่วง 12 นัดสุดท้ายในลีก

ฤดูกาล 2022-23 : ทำสถิติชนะ 12 นัด จาก 16 นัดสุดท้ายในลีก 

...

2. จิตวิทยา และการปลูกฝัง DNA ผู้ชนะ : 

ชายผู้พิสมัยความสมบูรณ์แบบอันประกอบไปด้วย Passion (ความหลงใหล), Fire (ความมุ่งมั่น), Desire (แรงปรารถนา) เคยออกปากเรียกลูกทีมของเขาด้วยความไม่พอใจว่า “Happy flowers Team” หลังสังเกตเห็นถึงความ “มุ่งมั่น” ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการไล่ล่าทีมจ่าฝูง ณ เวลานั้น อย่าง อาร์เซนอล ลดน้อยถอยลงแม้ว่าทีมจะเก็บชัยชนะได้ก็ตาม เพราะ “เป๊ป” ไม่เคยพอใจเพียง “ผลของชัยชนะ” เพราะสิ่งที่สำคัญที่ลูกทีมของเขาทุกคนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นเวลาลงสนามก็คือ “ความมุ่งมั่นและสมาธิที่จดจ่ออยู่กับลูกฟุตบอลเท่านั้น” 

“หากคนอื่นตัดสินแมนฯ ซิตี้จากการยิงประตูและชัยชนะ แต่สำหรับผม มันมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะปฏิกิริยาของนักเตะในเวลาที่ไม่มีลูกบอลอยู่กับตัวเอง ทุกคนต้องมีสมาธิและสนใจในรายละเอียดต่างๆ ให้มากขึ้น” 

ซึ่ง “แรงกดดัน” ที่ เป๊ป “อัดเข้าใส่” นั้น แม้แต่นักเตะระดับซีเนียร์ของทีม หรือขุนพลคู่ใจที่คนภายนอกต่างเชื่อว่าน่าจะเป็นนักเตะที่ “ไม่สามารถแตะต้องได้” อย่าง “เควิน เดอ บรอยน์” ต่างก็ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยเฉพาะในรายของ “จอมทัพจากเบลเยียม” นั้น อาจจะถูกกระตุ้นจาก “เป๊ป” มากกว่าลูกทีมคนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำไป นั่นเป็นเพราะ “กุนซือ Tiki Taka” เคยยอมรับกับสื่อมวลชนว่า “เควิน เดอ บรอยน์ มักจะเล่นได้เหนือดุจเทวดาเสมอๆ หากเขาเริ่มมีอารมณ์ที่บูดบึ้ง 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น” 

...

3. Pass Masters : 

จ่ายบอล-เคลื่อนตัว-จ่ายบอล-จบสกอร์ และเข้ารุมแย่งเมื่อเสียบอลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป้าหมายการครอบครองบอลให้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็น “ฝ่ายกระทำ มากกว่า ถูกกระทำ” นี่คือ Concept ฟุตบอล ของ “เป๊ป” และ 7 ฤดูกาลที่ผ่านมา “แมนฯ ซิตี้” ก็รันตาม Concept ที่ว่านั้น ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ! 

โดยฤดูกาล 2022-2023 มีค่าเฉลี่ยการครอบครองบอลเฉพาะในลีกตลอดทั้งฤดูกาล 65.3%, ฤดูกาล 2021-2022 อยู่ที่ 68.2%, ฤดูกาล 2020-2021 อยู่ที่ 63.7%, ฤดูกาล 2019-2020 อยู่ที่ 66.6%, ฤดูกาล 2018-2019 อยู่ที่ 68.1%, ฤดูกาล 2017-2018 อยู่ที่ 71.9%, ฤดูกาล 2016-2017 อยู่ที่ 64.9%

...

จากค่าสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทั้ง 7 ฤดูกาล แมนฯ ซิตี้ ภายใต้ “เป๊ป” มีค่าเฉลี่ยการครอบครองเกินกว่า 60% ทั้งสิ้น เรียกว่า “ในเวลาที่เผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ แมนฯ ซิตี้ แทบจะไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำจากฝ่ายตรงข้ามเลยก็ว่าได้”  

ไม่เพียงเท่านั้น “การส่งบอล” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับ Concept นี้ เหล่านักเตะของสโมสรเรือใบสีฟ้ายังสามารถ Pass ได้อย่างแม่นยำเข้าเป้าหมายอีกด้วย! 

โดยฤดูกาล 2022-23 ซึ่งพวกเขาฟาด “ทริปเปิลแชมป์” ได้สำเร็จนั้น บรรดาเด็กๆ ของเป๊ป ทำสถิติส่งบอลสำเร็จเฉพาะในลีกได้รวมกันมากถึง 21,252 ครั้ง! ซึ่งมากกว่าทีมที่ทำสถิติมาเป็นอันดับ 2 อย่าง ลิเวอร์พูลถึง 15% (ลิเวอร์พูลทำได้ 18,340 ครั้ง) และมากกว่าทีมที่ทำสถิติรั้งท้ายของลีกอย่าง “นอตติงแฮมฟอเรสต์” ถึง 148%! (ฟอเรสต์ ทำได้เพียง 8,558 ครั้ง) 

และนักเตะที่สามารถจ่ายบอลเข้ากรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้ามได้สำเร็จมากที่สุดนั้น เชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่าเขาคือผู้ใด?....โดย KDB ทำได้ทั้งสิ้น 334 ครั้ง ซึ่งมากกว่าอันดับสองของทีมอย่าง “ริยาด มาห์เรซ” ถึง 143%! (มาห์เรซ ทำได้เพียง 137 ครั้ง) 

โดยพื้นที่ที่นักเตะแมนฯ ซิตี้ มักจะเริ่ม Build up เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณ 45 เมตร จากปากประตูของตัวเอง เพื่อทั้งตรึงพื้นที่และกดดันฝ่ายตรงข้ามให้อยู่แต่ในแดนของตัวเอง โดยนักเตะที่ได้รับมอบให้เป็นศูนย์กลางของการจ่ายบอล และควบคุมจังหวะเกม คือ “โรดรี” มิดฟิลด์ที่เล่นได้อย่างสม่ำเสมอและเป็นกำลังสำคัญทั้งเกมรุกและรับให้กับทีมอย่างแท้จริง ลงเล่นรวมเฉพาะในลีก 2,830 นาที (นักเตะที่ลงเล่นมากที่สุดในลีกของซิตี้ หากไม่นับ เอแดร์สัน ผู้รักษาประตู ทำสถิติจ่ายบอลสำเร็จ 2,645 ครั้ง โดยในจำนวนนี้เป็นการผ่านบอลยาวเกิน 30 หลา สำเร็จมากถึง 84.7%! (เดอ บรอยน์ ทำได้ 58.2%) 

และเมื่อเป็นฝ่ายกระทำ มากกว่า ถูกกระทำ จากการที่สามารถครอบครองบอลได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม นอกจากทำให้ นักเตะแมนฯ ซิตี้ ใช้พลังงานน้อยกว่าคู่แข่งที่ต้องคอยวิ่งไล่เพื่อหาทางแย่งบอลแล้ว การเข้าเพรสซิ่งกดดันยังบีบให้คู่ต่อสู้ มีค่าเฉลี่ยที่ต้องเริ่ม Build up เกมที่ระยะ 37 เมตร จากปากประตูของฝ่ายตัวเองด้วย!

4. เกมรับอันมั่นคง : 

การทำให้ฝ่ายตัวเองครอบครองบอลมากกว่าคู่แข่ง เป็นผลให้นักเตะเรือใบสีฟ้าสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่าคู่แข่งเป็นอย่างมาก โดยฤดูกาลนี้ นักเตะแมนฯ ซิตี้ มีค่าเฉลี่ยระยะทางการวิ่งรวมกันต่อเกมในลีกเพียง 124.81 กิโลเมตร เท่านั้น และมีเพียงทีมเดียวที่วิ่งน้อยกว่า คือ “คริสตัล พาเลซ” ซึ่งมีสถิติอยู่ที่ 108 กิโลเมตรต่อเกม ส่วนทีมที่วิ่งมากที่สุด คือ “นิวคาสเซิล” ที่ทำสถิติ 151.64 กิโลเมตรต่อเกม

และเมื่อลูกฟุตบอลพุ่งเข้าหากรอบประตูฝ่ายตัวเองได้น้อย “เกมรับของทีม” จึงเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคาม” น้อยลง ด้วยเหตุนี้ แมนฯ ซิตี้ จึงเสียประตูในฤดูกาลนี้ไปเพียง 31 ประตู ซึ่งเป็นสถิติการเสียประตูที่น้อยที่สุดในลีก

โดยตลอดทั้งฤดูกาล ลูกทีมของเป๊ปถูกฝ่ายตรงข้ามยิงเข้ากรอบรวมกันได้เพียง 263 ครั้ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดในลีก (รองลงมา คือ อาร์เซนอล 336 ครั้ง) ซึ่งสถิติที่ว่านี้น้อยกว่า ทีมที่ถูกยิงเข้ากรอบมากที่สุดในลีก คือ “บอร์นมัธ” (613 ครั้ง) ถึง 133%!

สำหรับสถิติการเสียประตูในลีก ของแมนฯ ซิตี้ นับตั้งแต่ โจเซฟ กวาร์ดิโอลา เข้ารับตำแหน่ง : 

ฤดูกาล 2016-17 : 39 ประตู, ฤดูกาล 2017-18 : 27 ประตู, ฤดูกาล 2018-19 : 27 ประตู, ฤดูกาล 2019-20 : 35 ประตู, ฤดูกาล 2020-21 : 32 ประตู, ฤดูกาล 2021-22 : 26 ประตู, ฤดูกาล 2022-23 : 33 ประตู

5. เกมรุกบุกแหลก :  

เมื่อจุดเริ่มต้นคือเน้นการ “ครอบครองบอล” ผู้เล่นมิดฟิลด์จึงกลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับ Concept นี้ไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ การมีแผงมิดฟิลด์เชิงรุกของซิตี้ในฤดูกาลนี้ อันประกอบไปด้วย KDB, แจ๊ค กรีลิช, แบร์นาโด ซิลวา, ฟิล โฟเดน, ริยาด มาห์เรซ, อิลคาย กุนโดกัน ซึ่งส่วนผสมระหว่างบู๊และบุ๋นอย่างกลมกล่อม จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง “ช่างดูง่ายดายไปเสียทุกสิ่ง” 

แถมในฤดูกาลนี้...เมื่อ แมนฯ ซิตี้ได้ “จิ๊กซอว์” สุดท้ายที่ “เป๊ป” พยายามค้นหามาเนิ่นนานเพื่อหวังอุดช่องโหว่หลังสิ้นสุดยุคสมัยของ “เซร์คิโอ กุน อเกวโร” จนทำให้ไปยึดแท็กติก กองหน้า False 9 อยู่พักใหญ่ๆ ทุกอย่างมันก็ช่างยิ่งง่ายดายเข้าไปอีก! 

และ... “เจ้าเด็กนรกจากนอร์เวย์” นาม “เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์” ก็คือ “คำตอบ” ที่ว่านั้น กองหน้าเป้าร่างยักษ์ที่เข้ามาเปลี่ยนการเข้าทำจากทุกทิศทางแบบไม่จำกัดของทีมเป๊ป ให้กลายเป็นประตู!

พละกำลัง ความเร็วเร่ง การโจมตีทางอากาศ การวิ่งหาช่อง แรงขับและความกระตือรือร้นเพื่อหวังพิสูจน์ตัวเองอันแทบไร้ขีดจำกัด และที่สำคัญ เล่นได้เข้าขากับ “ศิลปินลูกหนังจอมแอสซิสต์” ได้ราวกับเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน การทำสถิติ 35 ประตูเฉพาะในลีก จนทำลายสถิติที่ยืนยงมานานของ “แอนดี้ โคล” และ “อลัน เชียเรอร์” (34 ประตู) ตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เพียงฤดูกาลแรกที่ย่างก้าวเข้าสู่พรีเมียร์ลีก จึงแทบไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคนแต่อย่างใด  

และนี่คือสถิติการกระหน่ำประตูอันน่าตื่นตะลึง ของ เด็กนรกจากนอร์เวย์ในฤดูกาลนี้ : 

ลงเล่น 35 นัด รวม 2,776 นาที (เฉพาะในลีก) แอสซิสต์ 8 ครั้ง ยิง 36 ประตู จากการกระหน่ำยิงทั้งหมด 107 ครั้ง เข้ากรอบประตู 60 ครั้ง (33.6%) ค่าเฉลี่ยการทำประตู 77.1 นาที ต่อ 1 ประตู โดยจากทั้ง 36 ประตู เป็นการยิงในกรอบเขตโทษ 35 ประตู นอกกรอบเขตโทษอีก 1 ประตู และใช้ขาซ้ายยิง 23 ประตู ขาขวา 6 ประตู และโหม่งอีก 7 ประตู  

เห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว คงไม่น่าแปลกใจแล้วใช่ไหมว่า เพราะเหตุใด ทีมเรือใบสีฟ้าจึงกระหน่ำประตูรวมทุกถ้วยในฤดูกาลนี้ได้มากมายถึง 150 ประตู ซึ่งมากที่สุดในบรรดา 5 ลีกชั้นนำของยุโรป และยังสามารถยิงประตูคู่แข่งได้ 3 ประตูขึ้นไป รวมกันถึง 31 นัดอีกด้วย! ถึงแม้ว่าตัวเลขรวมนี้จะ “น้อยกว่า” การกระหน่ำยิงประตูได้รวมกัน 169 ประตู เมื่อฤดูกาล 2018-19 ที่ “เป๊ป” สามารถพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีกเอฟเอคัพ และลีกคัพ ก็ตามเถอะ!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง