6 พ.ค. 2566 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3" เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 40 ของราชวงศ์อังกฤษอย่างเป็นทางการ ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กลางกรุงลอนดอน มีการถ่ายทอดสดให้ผู้คนทั่วโลกได้รับชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ปี 1953 ซึ่งมีการปรับขั้นตอนในพระราชพิธี ให้เหมาะกับยุคสมัยและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

แต่ก่อนการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เกิดคำถามจากประชาชนถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย เห็นได้จากผลสำรวจ “YouGov” เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พบว่า 51% จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 4,246 คน ไม่เห็นด้วยในการนำเงินภาษีของประชาชนมาจัดพระราชพิธี

ในอีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นโอกาสในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศอังกฤษ และหวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น แต่อีกมุมมองกลับเห็นว่าวันหยุดราชการที่เพิ่มขึ้นเป็นดาบสองคม ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดชั่วคราว จนสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย

...

โลกเปลี่ยน สะเทือนราชวงศ์อังกฤษ ต้องปรับบทบาทใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาราชวงศ์อังกฤษเผชิญกับแรงเสียดทาน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในหลายๆ เรื่อง “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งของชาวโลก ติดตามเฝ้าชมพระราชพิธีสำคัญนี้ เห็นว่า เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่คนรุ่นใหม่ ไม่รู้สึกต่อราชวงศ์อังกฤษเหมือนกับคนรุ่นเก่า เพราะสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ยึดมั่นในราชประเพณี อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในอังกฤษ และปัญหาค่าครองชีพต่างๆ ไม่ค่อยเอื้อ ทำให้คนไม่มีอารมณ์ในการเฉลิมฉลอง

“ด้วยเหตุนี้ตัวกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 รวมทั้งรัชทายาท พยายามอย่างเห็นได้ชัดในการเข้าหามวลชน มีการทักทายประชาชนที่มาร่วมงานพระราชพิธี เพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันกับประชาชนให้มากกว่าแต่ก่อน และขั้นตอนในพระราชพิธี ก็ปรับเปลี่ยนให้กระชับมากขึ้น”

การปรับเปลี่ยนบทบาทของราชวงศ์อังกฤษ ต้องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งขึ้นอยู่กับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ว่าจะปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างไร แม้ในอีกมุมหนึ่งมีประชาชน ไม่เชื่อว่ามีการลดค่าใช้จ่ายในการจัดพระราชพิธี แต่แนวทางปฏิบัติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่ามีการใช้จ่ายไปเท่าไร และบางส่วนมองว่าอาจคุ้ม เพราะได้แสดงให้เห็นถึงระบบกษัตริย์ เป็นประเพณีเก่าแก่ เป็นความภาคภูมิใจ อาจไม่ถึงกลับขาดทุนอะไรมากนักกับค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการให้คนในต่างประเทศ ได้ดูสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ

ไม่ปรับเปลี่ยน ย่อมล่มสลาย เป็นความจริงของโลก

แต่สุดท้ายแล้วสังคมโลกจะมองอย่างนี้หรือไม่ เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และเท่าที่สังเกตสถานะของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับคนในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็เริ่มลดทอนจากความสนใจของคนลงไปเรื่อยๆ และที่เหลือเป็นเพียงประเพณีที่สืบทอดเพียงเท่านั้น หากปรับตัวไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาจอยู่ได้ไม่ยั่งยืน เป็นสัจธรรมของโลก อย่างที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยกล่าวไว้ ”ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดและไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คือคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดที่จะอยู่รอด”

“หากไม่ปรับเปลี่ยนก็ย่อมล่มสลาย เป็นความจริงในโลกที่มีวิวัฒนาการ จะไม่ให้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยคงไม่ได้ อย่างที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ได้ปรับบทบาทมากขึ้น และเห็นเจ้าชายวิลเลียม เจ้าหญิงเคท เดินไปสัมผัสกับประชาชน พยายามทำตัวให้ติดดิน เพราะรู้ว่าสังคมเปลี่ยนไป”

แต่อันหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีมาตลอด ในเรื่องความห่วงใยสิ่งแวดล้อมของโลก ต้องยอมรับว่าเป็นกษัตริย์ที่คำนึงถึงโลกภายนอก โดยไม่คำนึงถึงเรื่องส่วนพระองค์ ได้ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกๆ เป็นวิสัยทัศน์ที่ดีต่อสภาพแวดล้อม แม้แต่การตกแต่งในพระราชพิธี ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

...

เศรษฐกิจรุมเร้า คนไม่มีอารมณ์ร่วมกับพระราชพิธี

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูบทบาททางการเมืองของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และบุคคลของสถาบันกษัตริย์ จะดำเนินการอย่างไร เพื่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ เพราะยังมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยในการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในพระราชพิธี เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างคุณูปการอย่างไรต่อประเทศจากการใช้งบ หรือต้องติดดินมากขึ้น โดยคำนึงปัญหาของประชาชนทั่วไป ด้วยความเอื้ออาทรและขึ้นอยู่กับพระราชกรณียกิจ

“ต้องเข้าใจว่าช่วงนี้อารมณ์คน อาจไม่รู้สึกใดๆ กับพระราชพิธี เพราะต้องกระเสือกกระสนทำมาหากิน จากปัญหาเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง จนกระทบค่าครองชีพ ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ปรับตัว อาจเป็นสิ่งชำรุดในประวัติศาสตร์ แต่คงไม่ล่มสลายไปง่ายๆ แบบหายไปเลย ก็ต้องติดตามดูบทบาทกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และคนในราชวงศ์ ขณะที่เรื่องภายในราชวงศ์ ก็เริ่มมีปัญหา เหมือนคนในครอบครัวมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องทัศนคติ”

...