เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ ชวนคิดกับจุดเริ่มต้นของกฎหมาย ของมนุษยชาติ สู่ "จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย" คือกฎหมายในใจคน

ทำไมสังคมมนุษย์จึงต้องมีกฎหมาย?

คำตอบง่ายๆ และคงไม่ปฏิเสธกันคำตอบหนึ่ง ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์อย่าง “สันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน”

แต่กฎหมายก็ถูกตราขึ้นมาด้วยมนุษย์ จึงถูกตราขึ้นมาใหม่ หรือฉีกกฎหมายเก่าทิ้งไป ด้วยความหวังว่า จะทำให้มนุษย์อยู่กันอย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น ด้วยวิธีการและผลการตรากฎหมายใหม่ที่แตกต่างกัน

สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ลงนามในกฎหมายเลิกทาส วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2406 แต่สงครามกลางเมืองจากความพยายามในการเลิกทาสได้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อสองปีก่อน (พ.ศ. 2404) และยืดเยื้อถึงปี พ.ศ. 2408 รวมเวลาเกิดสงครามกลางเมืองยาวนานกว่าสี่ปี มีทหารทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับสงครามเลิกทาสสูงถึงประมาณ 750,000 คน

แต่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส (ตามพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124) ในปี พ.ศ. 2448 ทำให้ทาสทั้งประเทศ หลุดพ้นจากการเป็นทาส โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียว

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ อย่างแน่นอน มิบังอาจเปิดห้องเรียนวิชากฎหมาย แต่มีเป้าหมายเพื่อเชิญชวนท่านผู้อ่าน ได้มาช่วยกันคิดเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้เขียนขอเรียกเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย” ที่จะเป็นกฎหมายสูงสุดหรือศักดิ์สิทธิ์จริง สำหรับการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์อย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

...

จุดเริ่มต้นของกฎหมาย

ผู้เขียนเชื่อว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ ของกฎหมาย มาจากทั้งความเหมือนและความแตกต่างของมนุษย์เรา ตั้งแต่เริ่ม บรรพบุรุษมนุษย์ยุคใหม่โฮโมเซเปียนส์ในแอฟริกา เมื่อประมาณสองแสนปีก่อน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่นๆ ชัดเจนในความเป็น “สัตว์สังคม” และทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เหนือสัตว์โลกอื่นๆ ทั้งหมด

ความเหมือนของมนุษย์เรา คือ ความต้องการจะมีชีวิตที่มั่นคง ปลอดภัย

ความแตกต่างของมนุษย์เรา คือ ความสามารถในการที่จะสร้างความมั่งคงและปลอดภัย ให้กับชีวิตของตนเอง และคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิด เป็นเบื้องต้น

กล่าวคือ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ล้วนอยากมีชีวิตที่มั่นคง มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แต่มนุษย์ผู้ชาย (โดยทั่วไป) จะสามารถล่าสัตว์ และต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยได้ดีกว่าผู้หญิง

ในขณะเดียวกัน ผู้หญิง (โดยทั่วไป) ก็จะแตกต่างไปจากผู้ชาย ในการจัดการเกี่ยวกับอาหาร ดูแลที่อยู่อาศัยได้ดีกว่าผู้ชาย แล้วก็ที่สำคัญคือ ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดสมาชิกคนใหม่ของกลุ่ม ของเผ่าพันธุ์ คือ ความเป็น “แม่” ของมนุษย์ทุกคน

จากความเหมือนและแตกต่างกันของมนุษย์เรา ตั้งแต่เริ่มต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือสังคม จึงเกิดเป็น “กฎกติกา” การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งต่อๆ มา จึงวิวัฒนาการมาเป็น “กฎหมาย” ที่ใช้บังคับสำหรับคนในกลุ่ม

อย่างแน่นอน กฎหมายเหล่านี้ ในช่วงเวลายาวนานก่อนจะมีภาษาเขียนเกิดขึ้น ล้วนเป็นกฎหมายที่ “รับรู้” กันโดยทางปฏิบัติ

จนกระทั่งมีภาษาเขียนเกิดขึ้น จึงเริ่มมีการเขียนเป็น “กฎหมาย” เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะเกิดขึ้นโดยมี “Code of Hammurabi” หรือ “กฎหมายฮัมมูราบี” ของกษัตริย์ฮัมมูราบี แห่งบาบิโลน เป็นกฎหมายที่มีการ “เขียน” เป็นหลักฐานฉบับแรกของโลก

พระเจ้าฮัมมูราบีมีพระชนม์ชีพอยู่ระหว่างเมื่อ 3,815 ถึง 3,781 ปีก่อน

กฎหมายฮัมมูราบี ถูกแกะสลักบนแผ่นหินสูง 2.25 เมตรหลายแผ่น แล้วนำไปแสดงอยู่ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวบาบิโลนเห็นและยึดปฏิบัติ

เนื้อหาของกฎหมายฮัมมูราบี ระบุการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผู้ที่กระทำ จะต้องถูกจับมารับการลงโทษ เช่น ผู้ให้สัญญา (การซื้อ-ขายทรัพย์สิน) อย่างเป็นทางการ จะต้องรักษาสัญญา ผู้ทำให้คนอื่นแขนหัก จะต้องได้รับโทษถูกหักแขนด้วย

...

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าฮัมมูราบีประมาณ 280 ปี คือ ประมาณเมื่อ 3,500 ปีก่อน โมเสสก็ได้รับ “บัญญัติสิบประการ” จากพระเจ้า สลักบนแผ่นหินสำหรับชนเผ่าพันธุ์ยิวที่ติดตามโมเสสได้ยึดปฏิบัติ

ต่อจากนั้นมา ถึงยุคสมัยของนักปราชญ์ชาวกรีกแห่งกรุงเอเธนส์ และจักรวรรดิโรมัน ก็จึงมีการตราเป็นกฎหมายบ้านเมืองอย่างเป็นกิจจะลักษณะเต็มรูปแบบ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากกฎหมายของแต่ละประเทศแล้ว ก็ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังเช่น :-

*กฎหมายอวกาศ

*กฎหมายคุ้มครองสตรี

*กฎหมายคุ้มครองเด็ก

*กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

*กฎหมายห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

*กฎหมายอาชญากรรมสงคราม

“ใคร” หรือ “องค์กรใด” เป็นผู้รับผิดชอบหรือยึดดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ?

มีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติ เป็นองค์กรมีบทบาทสำคัญมากเป็นพิเศษ แล้วก็ยังมีองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น :-

*ธนาคารโลก

*กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF)

*องค์การค้าโลก (WTO)

*ศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ : International Court of Justice หรือ World Court)

...

*ตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล (Interpol)

สำหรับวันนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศเพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายใหญ่ของเราวันนี้ คือ การตามหา “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย” ที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นภารกิจสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด รวมถึงคนไทยทุกคน ซึ่งย่อมหมายถึงท่านผู้อ่านทุกท่านและผู้เขียนเองด้วย

กฎหมายบ้านเมือง!

ในทุกประเทศที่มีสถานะเป็นประเทศเอกราช และมีระบบการปกครองประเทศเป็นแบบประชาธิปไตย ดังเช่น ประเทศไทยของเรา ล้วนมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ประชาชนคนไทยต้องยึดปฏิบัติ

แล้วก็ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือออกตามรัฐธรรมนูญ อีกจำนวนมาก แยกใหญ่ๆ ได้เป็นกฎหมายมหาชน (Public Law) และกฎหมายเอกชน (Private Law)

กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายใหญ่นำขบวน ตามมาด้วยกฎหมายการปกครอง, กฎหมายอาญา, ฯลฯ

...

ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน ในการทำสัญญาต่อกัน ดังเช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กฎหมายตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ผู้เขียนขอเรียกเป็น “กฎหมายบ้านเมือง” ที่คนไทยทุกคนต้องรู้ และต้องระวังไม่กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง...

เพราะจะแก้ตัวว่า กระทำสิ่งที่ผิกฎหมายเพราะไม่รู้ว่า ผิด ไม่ได้!

จากกฎหมายบ้านเมือง ถึงกฎหมายสังคม!

นอกเหนือไปจากกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ในทุกประเทศทั่วโลก ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนขอเรียกเป็น “กฎหมายสังคม” ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และความสงบสุข อีกทั้ง “ความงดงาม” ของสังคมในประเทศด้วย

กฎหมายสังคม มิได้มีการเขียนหรือตราเป็นกฎระเบียบที่ทุกคนในสังคม (ดังเช่น คนไทยในประเทศไทย) จะต้องยึดปฏิบัติ และไม่มีบทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดของกฎหมายสังคมจะต้องได้รับโทษ

อย่างตรงๆ กฎหมายสังคมก็คือหลักปฏิบัติและกฎกติกาทางสังคมที่ “รับรู้” และ “เป็นที่ยอมรับ” โดยคนส่วนใหญ่ในสังคม ว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม ที่พึงยึดปฏิบัติ หรือเป็นสิ่งที่เลวทราม ชั่วร้าย ที่ไม่พึงปฏิบัติ

ตัวอย่างกฎหมายสังคมของสังคมไทย มีเช่น :-

*ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก

*เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่

*คนแข็งแรงต้องไม่รังแกคนอ่อนแอกว่า

*เป็นผู้ชายต้องปกป้องผู้หญิง

*เป็นข้าราชการต้องซื่อสัตย์ สุจริต ต่อหน้าที่

*เป็นผู้แทนราษฎรต้องไม่โกงกิน

*เป็นคนต้องรู้จักให้เกียรติคนอื่น

ถึงแม้กฎหมายสังคมจะไม่มีบทลงโทษดังเช่นกฎหมายบ้านเมือง แต่ก็มีบทลงโทษทางสังคม รุนแรงที่สุดก็คือ การไม่คบหาสมาคมด้วย

บทลงโทษที่ดูจะไม่น่ามีผลทำให้คนเกรงกลัวกฎหมายสังคม

แต่จริงๆ แล้ว เป็นการลงโทษที่หนักหรือรุนแรงมากสำหรับผู้คน เพราะจะทำให้คนที่ถูกลงโทษตามกฎหมายสังคม เหมือนกับ “สิ้นความเป็นคน” ไปได้ทีเดียว และจะรู้สึกโดดเดี่ยว เจ็บปวด ยิ่งกว่าการถูกลงโทษ “ขังคุก” ตามกฎหมายบ้านเมืองเสียอีก

กฎหมายในใจคน!

ถึงแม้กฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายสังคม จะมีบทลงโทษตามกฎหมายและทางสังคม ที่ “น่าจะ” มีผลทำให้สังคมมนุษย์ อยู่กันอย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน แต่สภาพที่เป็นจริงของสังคม จะเป็น “ตัวชี้วัด” ที่บอกได้ว่า กฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายสังคม มีผลหรือมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่? แค่ไหน?

ถ้าสังคมอยู่กันอย่างสันติสุข ยุติธรรม และเท่าเทียมกันมากเพียงใด ก็แสดงว่า กฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายสังคม “ดีจริง” หรือ “ทำงานได้จริง” มากเท่านั้น

แล้วสำหรับประเทศไทยล่ะ?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในระดับโลก ประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศที่คนไทยเรา อยู่กันอย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ดีกว่าอีกหลายประเทศ...

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ประเทศไทยยังอยู่ห่างไกล จากความเป็นประเทศที่สังคมไทยอยู่กันอย่าง “สันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน” อย่างที่ควรจะเป็นอยู่อีกมาก แถมแนวโน้มก็ดูจะเลวร้ายลงไปอีกอย่างน่าเป็นห่วง

หลักฐาน...ดูจากอะไร?         

สำหรับกฎหมายบ้านเมือง ก็มีข้อมูลเชิงสถิติในระดับโลก เช่น World Prison Brief (อังกฤษ), World Population Review (สหรัฐอเมริกา) และ Statista (เยอรมนี) รายงานในปี พ.ศ. 2564 ว่า ประเทศไทยติดอันดับมีผู้ต้องขังล้นคุก 10 อันดับสูงสุด (top 10) ของโลก

และข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ของไทย ย้อนหลัง 10 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2563) พบว่า จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพราะมีผู้ต้องโทษแตะถึง 300,000 รายต่อปี และในปี พ.ศ. 2563 มีผู้ต้องขังสูงถึง 356,509 คน ในขณะที่เรือนจำในประเทศ สามารถรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 200,000 คน

แล้วก็มีข้อมูลว่า ตัวผู้กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง เป็นคนมีความรู้ มีทักษะความสามารถพิเศษทางเทคโนโลยีและกฎหมาย เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับกฎหมายสังคมล่ะ?   

อย่างชัดเจน ก็ดูจะเป็นไปตาม “ข้อสังเกต” ว่า ในเมื่อคนเราไม่เกรงกลัวกฎหมาย (บ้านเมือง) กันมากขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะไม่เกรงกลัวกฎหมายสังคมมากขึ้นด้วย...

เพราะในเมื่อคนเราไม่เกรงกลัวแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง ที่มีบทลงโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิตกันเสียแล้ว จะต้องไปกลัวกฎหมายสังคมที่ไม่มีบทลงโทษอย่างบังคับได้จริงไปทำไม!

แสดงว่า ประเทศไทยของเราสิ้นหวังจะอยู่กันอย่าง “สันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน” แล้ว ใช่ไหม?         

สำหรับผู้เขียน คิดว่า ไม่ใช่!

เพราะสำหรับผู้เขียน ยังมีกฎหมายอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้เขียนเชื่อว่า “ทรงพลัง” เหนือกฎหมายทั้งหมด

กฎหมายอะไร?

ผู้เขียนขอเรียกกฎหมายที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นกฎหมายทรงพลังที่สุดว่า “กฎหมายในใจคน”

อย่างสั้นๆ ตรงๆ กฎหมายในใจคน คือ “ความเกรงกลัวต่อการทำบาป!”

เป็นกฎหมายที่ไม่มีบทบัญญัติหรือตราเป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นกฎหมายบ้านเมือง หรือยึดถือกันโดยสังคมส่วนรวม ดังกฎหมายสังคม แต่จริงๆ แล้ว เป็นกฎหมายที่ “สกัดจากเป้าหมายสูงสุด” ของทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายสังคม

เป็นกฎหมายที่ผู้เขียนตกผลึกจากเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคม อย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน โดยอิงจากหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ศาสนา และธรรมชาติของมนุษย์

*จากหลักการของเหตุและผล (cause and effect) ของวิทยาศาสตร์ ที่มีเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน เป็น “ผล” ที่ต้องการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วย “เหตุ” คือ การเกรงกลัวต่อการทำบาป

*จาก หลักศาสนา ดังเช่น ศาสนาพุทธแห่งการยึดมั่นใน “กฎแห่งกรรม” ซึ่งถึงแม้จะไม่มีใครเห็นการกระทำ หรือความคิดที่ชั่วร้าย แต่จะมีคนหนึ่งที่ไม่สามารถจะปิดบังได้ คือ ตนเอง

*จากธรรมชาติของมนุษย์ ที่ผู้เขียนเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน มีจิตพื้นฐานที่สูงส่ง ที่ตระหนักแก่ใจดีว่า อะไรดี อะไรไม่ดี และจริงๆ แล้ว ก็ไม่อยากเป็นต้นเหตุทำให้คนอื่นเป็นทุกข์

ผู้เขียนยอมรับว่า กฎหมายในใจคน เป็นกฎหมายที่ปฏิบัติได้ยาก!

แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า กฎหมายในใจคน เป็นกฎหมายที่วิเศษ...ที่ศักดิ์สิทธิ์...จริง เป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย” จริง เปรียบดังเช่น จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งคริสตจักร ที่อยู่ในจิตวิญญาณของชาวคริสต์ทุกคน และผู้เขียนเชื่อว่า มีส่วนสำคัญทำให้ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนามีผู้นับถือมากที่สุดในโลกปัจจุบัน

แล้วกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายสังคมล่ะ?  

อย่างแน่นอน กฎหมายบ้านเมือง เป็นกฎหมายที่จะต้องมี และยึดปฏิบัติกันต่อไป เช่นเดียวกับกฎหมายสังคม ซึ่งจะต้องมีอยู่คู่กับกฎหมายบ้านเมืองต่อไป

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า กฎหมายในใจคน สามารถจะมีบทบาท ช่วยทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายสังคม ให้มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไรกับ “กฎหมายในใจคน”?

สำหรับกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายสังคม ท่านผู้อ่านคิดว่า จะช่วยกันทำให้ทั้งสองกฎหมาย มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร?