“ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” กับ 3 ประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ และทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่มีการกล่าวถึง จักรวาล 11 มิติ ที่ทำให้แนวคิด Multiverse เป็นที่สนใจ #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์

“ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” (Everything Everywhere All At Once) เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซีที่ “ยุ่งเหยิง” แต่สนุก!

“ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” เป็นตัวอย่าง “เกรดเอ” สำหรับ“คนอยากเขียน” นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี!

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส สร้างเป็นภาพยนตร์ออกมาแล้ว และก็สร้างประวัติการณ์ เป็นภาพยนตร์ที่ “คิด เขียนบท สร้าง กำกับและแสดง” โดยคนเอเชีย (ในสหรัฐอเมริกา) แทบทั้งหมด ที่คว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 (ประจำปี พ.ศ. 2566 ประกาศผล 13 มีนาคม พ.ศ. 2566) ได้มากถึง 7 รางวัล

แถมยังคว้ารางวัลสำคัญ คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม คือ มิเชล โหย่ว ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรางวัลออสการ์

สำหรับวงการหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ ถึงขณะนี้ ยังไม่มี “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” ฉบับนิยายวิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์ออกมาให้อ่านกัน

แต่สำหรับผู้เขียน ตั้งแต่ได้ชมภาพยนตร์ ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ก็รู้สึกทันทีว่า นี่คือตัวอย่างดีที่สุดเรื่องหนึ่ง สำหรับคนอยากเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี

...

ผู้เขียนเติบโตมากับนิยายวิทยาศาสตร์ของ จันตรี ศิริบุญรอด (พ.ศ. 2460-2511) และหัสนิยาย “พล นิกร กิมหงวน” และ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ของ ป. อินทรปาลิต (พ.ศ. 2453-2511)

จาก จันตรี ศิริบุญรอด และ ป. อินทรปาลิต ทำให้ผู้เขียนอยากเป็น “นักเขียน” นิยายวิทยาศาสตร์เหมือนจันตรี ศิริบุญรอด และอยากเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ที่เก่งเหมือน ดร.ดิเรก แต่จะไม่ทำตัวให้น่าหมั่นไส้เหมือน ดร.ดิเรก ที่ชอบทำตัวเป็นคนหัวนอก คาบไปป์ พูดภาษาไทยต้องมีคำว่า “เป็น” (is, am, are) อยู่เสมอ

หลังจากที่ผู้เขียนได้เริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง (ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2513 เมื่อเรียนจบฟิสิกส์ และเข้าประจำทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังด้วย และก็ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร ในการฝึกอบรมหรือบรรยายเกี่ยวกับ นิยายวิทยาศาสตร์ และ “การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์” เกือบพร้อมๆ กับการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ยัง สนุก และยินดี ทำหน้าที่เป็น วิทยากร สำหรับการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มาถึงทุกวันนี้

ในการเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนต้องคัดเลือกมาเป็นตัวอย่าง...

และในทันทีที่ผู้เขียนได้ชมภาพยนตร์ ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ก็รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาว่า ได้พบ “เพชร” เป็นตัวอย่างเกรดเอชั้นดีเรื่องหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์ สำหรับคนอยากเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี...

เป็นการพบที่มาช้าหน่อย แต่สำหรับผู้เขียนไม่มีอะไรหรอก ที่ “ช้าเกินไป”

หลังการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 เพียง 5 วัน ผู้เขียนก็ได้นำซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สเป็นตัวอย่างประกอบการบรรยายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ สำหรับการประกวดเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ปทุมธานี และรู้สึกว่า “ดี” จริง

มาวันนี้ “เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” จึงขอนำ “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านที่สนใจการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี

แล้วท่านผู้อ่านที่ไม่สนใจเฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีล่ะ?

อย่างแน่นอน นิยายวิทยาศาสตร์มิได้มีเฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี ซึ่งผู้เขียนก็จะครอบคลุมไปถึงด้วย แต่ไม่ลงลึกเท่า

แล้วท่านผู้อ่านที่ไม่สนใจนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ชอบดูหนังวิทยาศาสตร์ล่ะ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่สนใจการสร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซีล่ะ?

สำหรับเรื่องการสร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเอง นอกเหนือไปจากการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ “หลงใหล” การสร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย และอย่างแน่นอน ก็จะมี “บางอย่าง” จากซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส มาฝากท่านผู้อ่านด้วย

...

แล้วท่านผู้อ่านที่ไม่ชอบนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ล่ะ?
ผู้เขียนก็หวังว่า “เมื่อ” หรือ “ถ้า” ท่านอ่านที่ผู้เขียนนำมาแบ่งปันกันวันนี้แล้ว ก็อาจจะชอบนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง

สามประเภทของนิยายวิทยาศาสตร์!

ถึงแม้การแบ่งประเภทของนิยายวิทยาศาสตร์ จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็น เพราะนิยายวิทยาศาสตร์ดีที่สุด แต่เขียนยากที่สุด ก็คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ไม่แบ่งประเภท หรือมีทุกประเภท แต่การศึกษาประเภทของนิยายวิทยาศาสตร์ก็เป็นประโยชน์สำหรับการเข้าถึงและสร้างสรรค์นิยายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่า

สำหรับการแบ่งประเภทของนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างเร็วๆ อาจแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ (1) hard science fiction (2) soft science fiction และ (3) fantasy science fiction

hard science fiction หรือ นิยายวิทยาศาสตร์แบบแข็ง มักเรียกกันสั้นๆเป็น Hard sci-fi (ฮาร์ดไซไฟ) คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่เน้นหลักการ-เนื้อหา-สาระวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมีความเป็นไปได้จริงๆ ดังเช่น Twenty Thousand Leagues Under The Sea ของ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne)

...

soft science fiction นิยายวิทยาศาสตร์แบบอ่อน หรือ นิยายวิทยาศาสตร์เชิงสังคม ไม่เน้นตัวเนื้อหาของวิทยาศาสตร์ แต่เน้นบทบาทและผลกระทบของวิทยาศาสตร์ต่อสังคม ดังเช่นเรื่อง Fahrenheit 451 ของ เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury)

fantasy science fiction หรือ นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี

นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้าง เกือบจะไร้ขีดจำกัด ในการใช้จินตนาการของผู้เขียน และจำนวนมากทีเดียวที่แทบจะแยกไม่ออกกับนิยายหรือวรรณกรรมจินตนาการบริสุทธิ์ หรือ pure fantasy...

เพราะในนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี อาจเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะเกิดเฉพาะในเรื่องประเภทแฟนตาซีบริสุทธิ์ ดังเช่น เรื่องของเวทมนตร์คาถา พ่อมด-แม่มด มังกร ดาบวิเศษ พลังอำนาจวิเศษ เรื่องของผี-วิญญาณ รวมไปถึงเรื่องของโลกหรือจักรวาลหลายมิติ ดังเช่น มัลติเวิร์ส (multiverse)

พี่น้องตระกูลกริมม์
พี่น้องตระกูลกริมม์

...

นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีกับนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์

นิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์ที่รู้จักกันดี มีเช่น :-

เทพปกรณัม ของกรีก เรื่องของเทพซูส เทพธิดาวีนัส ฯลฯ

เทพปกรณัม ของชาวนอร์ส เรื่องของเทพโอดิน, ธอร์ ฯลฯ

เทพนิยายของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (Jacob และ Wilhelm Grimm) เรื่องซินเดอเรลลา, สโนว์ไวท์ ฯลฯ

เทพนิยายของไทยเรื่อง สังข์ทอง, กากี ฯลฯ

เทพนิยายยุคใหม่ เรื่อง ปีเตอร์ แพน ของ เจ.เอ็ม. แบร์รี เรื่องชุดแฮร์รี พอตเตอร์ ของ เจ.เค. โรว์ลิง ฯลฯ

แล้วนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีล่ะ ?

ตัวอย่างมีเช่น :-

เรื่องชุดการผจญภัยบนดาวอังคารและดาวศุกร์ของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ ผู้สร้างตัวละครอมตะ ทาร์ซาน

เรื่องเกี่ยวกับโลกมังกร ของ แอนน์ แม็คแค็ฟฟรีย์

ตามอาเธอร์ ซี. คลาร์ก เขายกย่อง Dune ของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต และ The Lord Of The Rings ของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน เป็นนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีดีที่สุด

เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีกับนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์ อยู่ตรงไหน ?

คำตอบตรงๆ ง่ายๆ คือ ถึงแม้นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความแปลกพิสดาร ที่พบกันเป็นประจำในนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์ แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี จะต้องมี “ความเป็นวิทยาศาสตร์” คือ “ที่มาที่ไป” ของความแปลกประหลาดพิสดารในเรื่อง โดยที่ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องอธิบาย (ในเรื่อง)....
ส่วนนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์ ผู้เขียนสามารถใช้ “จินตนาการ” ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึง “ความเป็นมาเป็นไป” ของเรื่องราวหรือสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง

มัลติเวิร์สกับวิทยาศาสตร์

สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน มัลติเวิร์สเป็นประเด็นเรื่องหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปหมายถึง โลกหรือจักรวาลหลายมิติ ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ สลายตัวไป อย่างคู่ขนานหรือพร้อมๆ กัน หรือเป็นอิสระต่อกัน

คำภาษาอังกฤษที่ใช้ มีเช่น parallel world (โลกคู่ขนาน) , Parallel universe (จักรวาลคู่ขนาน) และ multiverse (มัลติเวิร์ส) ที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่ โดยมีคำภาษาไทยที่มีการกล่าวถึงบ่อยขึ้นสำหรับ multiverse คือ พหุจักรวาล

ความคิดเรื่องจักรวาลหลายมิติ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ เพราะมีการถกกัน ในวงการนักคิดย้อนหลังไปไกลถึงยุคของนักปราชญ์ นักคิด และนักวิทยาศาสตร์โบราณ เมื่อกว่าสองพันปีก่อนแล้วว่า โลกและจักรวาลของเรา เป็นเพียงโลกหรือจักรวาลเดียวที่มีอยู่หรือไม่?

ดีโมคริตุส (ประมาณ 460 ปี ก่อน ค.ศ. - 370 ปี ก่อน ค.ศ.) ผู้ตั้งคำ “Atom” คิดว่า “ไม่น่าจะใช่”

แต่ อริสโตเติล (384 ปีก่อน - ค.ศ. - 322 ปีก่อน ค.ศ.) คิดว่า ถ้าโลกและจักรวาลที่เรารู้จัก ไม่ใช่โลกและจักรวาลเดียวที่ “พระเจ้าสร้างขึ้นมา” ก็เป็นเรื่องที่ “ซับซ้อน” มากเกินความน่าจะเป็น

ทว่า ความคิดทั้งหมดในสมัยเก่าก่อนโน้นล้วนเป็น “ความคิดบริสุทธิ์” เชิงปรัชญา ไม่มีหลักหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วย “ตัดสิน”

และจริงๆ แล้ว คำ “multiverse” ตามหลักฐานที่ทราบกัน ก็เป็นคำใหม่ ถูก “เอ่ยถึง” เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยวิลเลียม เจมส์ (William James) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ในบทความ “Is Life Worth Living” (ชีวิตคุ้มค่าหรือไม่ ?) โดยเขากล่าวถึง “moral multiverse” ในความหมายเชิงปรัชญาเกี่ยวกับ “Good” (ดี) และ “Duty” (หน้าที่) ของมนุษย์ในการดำรงชีวิต ว่า ล้วนมาจาก moral multiverse ของธรรมชาติ ซึ่งมีสภาวะ “เปลี่ยนแปรได้ง่าย (plasticity)” และ “เฉยเมย (indifferent)”

หลังวิลเลียม เจมส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการของฟิสิกส์ควอนตัม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ และทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ เมื่อปี พ.ศ. 2458 เรื่องของมัลติเวิร์สในเชิงวิทยาศาสตร์จริงๆ ก็จึงได้เริ่มขึ้น

ที่เริ่มขึ้นได้อย่างค่อนข้างเร็ว คือจากฟิสิกส์ควอนตัม เพราะมีเรื่องของการดำรงอยู่อย่างเป็นคู่ (duality) ของ “อนุภาคและคลื่น” เป็นหลักการพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็นำมาสู่เรื่องของ “จักรวาลคู่ขนาน” และ พหุจักรวาล (multiverse)

จากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ซึ่งนำมาสู่เรื่องของกำเนินจักรวาลแบบบิกแบง ก็มีการพัฒนาความคิดต่อไปว่า จักรวาลของเราไม่น่าจะเป็นเพียงจักรวาลเดียวที่เกิดจากบิกแบง

เพราะน่าหรืออาจจะมีจักรวาลอื่นๆ ที่เกิดจากบิกแบงอื่นๆ ทั้งที่เกิดพร้อมๆ กันกับจักรวาลของเรา หรือเกิดในขณะเวลาอื่น หลังการเกิดบิกแบงที่ก่อกำเนิดจักรวาลของเรา หรือแม้แต่ก่อนการเกิดบิกแบงนำมาสู่ตัวเราวันนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่ง ประสบความก้าวหน้าในการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปกับทฤษฎีควอนตัม เกิดเป็นทฤษฎีสตริง (string theory) ซึ่งกล่าวถึงจักรวาล 11 มิติ ก็มีผลทำให้ความคิดเรื่อง multiverse ได้รับความสนใจมากขึ้น

ถึงสถานการณ์ล่าสุดกล่าวได้ว่า ความคิดเรื่องจักรวาลหลายมิติหรือ multiverse ได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ว่า ปฏิเสธไม่ได้

แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ “ชัดเจน” ว่า มีจริงหรือไม่ !

มัลติเวิร์สในซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส

เรื่องราวย่นย่อที่สุดของภาพยนตร์ ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส คือ การผจญภัยสุดพิสดารและยุ่งเหยิงของ มิเชล โหย่ว (ในบทของ Evelyn Wang) หญิงจีนในอเมริกา เจ้าของร้านเครื่องซักผ้าอัตโนมัติ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการยื่นแบบแสดงภาษี และเรื่องยุ่งยากในครอบครัว กับสามี ลูกสาว และพ่อ แล้วก็พบกับตัวตนของตัวเอง และคนอื่นๆ ในจักรวาลอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของมัลติเวิร์ส ที่เข้ามาพัวพันกัน โดยมีภารกิจเพื่อ “กู้” หรือ “ปกป้อง” มัลติเวิร์สมิให้ถูกทำลาย

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซี ที่มีมัลติเวิร์สเป็นแก่นของเรื่อง โดยไม่มีการอธิบายที่มาที่ไปของมัลติเวิร์ส แต่ใช้ความคิดและจินตนาการของผู้สร้าง ทำให้เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น แล้วปล่อยให้ผู้ชมเป็นคนตัดสินเองว่า เป็นภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีที่ “เข้าท่า” หรือ “ใช่เลย” หรือไม่ ?

ผลปรากฏเกินคาดว่า ทั้งผู้ชมและสถาบันภาพยนตร์รางวัลออสการ์ ล้วนผงกหัวให้ว่า “เข้าท่า” คือ “ใช่เลย”

และนี้คือตัวอย่างชั้นดีของคนอยากเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี

กล่าวคือ ในการเขียนแฟนตาซี ก็สามารถใช้ “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะดูแปลกหรือเป็นไปไม่ได้เพียงใด

แล้วปล่อยให้ “ผู้ชม” หรือ “ผู้อ่าน” เป็นคนตัดสิน !

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส กับการสร้างภาพยนตร์แฟนตาซี

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซี มีการเดินทางทะลุมิติและฉากแอ็กชันที่น่าทึ่ง

โดยทั่วไป ภาพยนตร์แฟนตาซีที่เกี่ยวกับการผจญภัยทะลุมิติของฮอลลีวูด จะใช้งบประมาณการสร้างระดับเป็นร้อยล้านถึงหลายร้อยล้าน เช่น Avatar : The Way Of The Water ใช้งบประมาณ 350-460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เวลาถ่ายทำเป็นเวลาสามปี

แต่ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สใช้งบประมาณการสร้างเพียง 18-24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เวลาถ่ายทำเพียง 38 วัน

แล้วผลที่ออกมา สำหรับซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สก็ต้องบอกว่า “สุดยอด”

ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ทำได้อย่างไร?

คำตอบตรงๆ คือ การทำงานและวางแผนกับการเตรียมการที่ดี โดยฝีมือของ “สอง แดเนียล” คือ Daniel Kwan และ Daniel Scheinert ผู้ร่วมกันคิดพล็อตเรื่อง เขียนบท อำนวยการสร้าง และกำกับ

สองแดเนียลใช้เวลา 8 ปี ในการทำงานและวางแผน อีกหนึ่งปีในการเตรียมการผลิต และเริ่มถ่ายทำจริงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 38 วัน ก็ปิดกล้อง

มิเชล โหย่ว เล่าว่า การถ่ายทำที่ทำกันได้เร็ว เกิดจากการเตรียมงานที่ยอดเยี่ยมและความความตั้งใจของนักแสดงและผู้เกี่ยวข้อง

งบประมาณที่ใช้น้อย ส่วนหนึ่งก็มาจากความชาญฉลาดของสองแดเนียลในการสร้างเรื่อง ซึ่งถึงแม้จะเกี่ยวกับการเดินทางทะลุจักรวาล ที่ต้องมีการลงทุนมากมายสำหรับเทคนิคพิเศษ แต่สองแดเนียลก็เลือกการใช้เอฟเฟกต์ที่ไม่ต้องมีการลงทุนมหาศาล แต่ให้ได้ผลออกมาที่ผู้ชม “ทึ่ง” และ “สนุก”

ผลงานของแดเนียลในการสร้างซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส จึงเป็นตัวอย่างบทเรียนวิเศษ สำหรับนักและคนอยากสร้างภาพยนตร์ที่ผู้เขียนนำมา “ฝาก” ท่านผู้อ่าน ที่สนใจการสร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แฟนตาซีด้วยในวันนี้

ในภาพยนตร์ ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส มีตัวละครหลักไม่มาก แต่สำคัญทุกตัว

สำหรับผู้เขียน ชอบมิเชล โหย่ว อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon ที่เธอรับบทนำร่วมกับ โจว เหวิน ฟะ แต่ใน ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส เธอเป็นตัวแสดงนำหลักของเรื่องทั้งหมด และเธอก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม

ตัวละครที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษอีกคนหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่สรรพากร รับบทโดย เจมี ลี เคอร์ติส ที่เป็นดาราฮอลลีวูดมานาน รับบทเป็นดารานำหญิงหลายเรื่อง

แต่ใน ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส เจมี ลี เคอร์ติส เป็นนักแสดงตัวละครสำคัญคนเดียวที่ไม่ใช่คนเอเชีย และก็ได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงไปครองอย่างเหมาะสม และก็เป็นออสการ์ตัวเดียวในชีวิตการแสดงของเธอด้วย

ท่านผู้อ่านล่ะครับ ที่ได้ชมและชอบซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ท่านชอบตัวละครตัวไหนมากเป็นพิเศษ ? หรือชอบ “อะไร” เป็นพิเศษในภาพยนตร์?

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจอยากเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี ท่านได้รับประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่ จากซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส?

ท่านผู้อ่านที่ไม่สนใจนิยายวิทยาศาสตร์หรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ล่ะครับ ถึงตอนนี้ รู้สึก “สนใจ” ขึ้นมาบ้างไหมครับ?