ย้อนหลังไปเกือบ 45 ปีก่อน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520!

เวลาประมาณสองทุ่ม!

ผู้เขียนกำลังขับรถจากจังหวัดสุรินทร์ กลับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังการบรรยายพิเศษที่วิทยาลัย ครูสุรินทร์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ในปัจจุบัน)

จริงๆแล้ว ในช่วงเวลาหลายปีที่ผู้เขียนประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ระหว่าง พ.ศ. 2513-2525) ผู้เขียนได้เดินทางไปบรรยายพิเศษในสถาบันระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยครู (ในยุคสมัยนั้น) และโรงเรียนมัธยม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่ง โดยที่ส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายในเรื่องของวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ากับอนาคตของมนุษยชาติ

แต่ที่จำได้ว่า เหตุการณ์กำลังเล่าสู่ท่านขณะนี้ เป็นเหตุการณ์เดินทางกลับจากสุรินทร์ เพราะวิทยาลัยครูสุรินทร์เพิ่งจะเปิดเป็นวิทยาลัยครูเต็มตัวค่อนข้างใหม่ คือ ไม่กี่ปีก่อน (พ.ศ. 2516)

และก็เพราะความเป็น “ถิ่นเมืองช้าง” เก่าแก่ของสุรินทร์ ยิ่งตอกย้ำให้ผู้เขียนจำสุรินทร์ได้อย่างไม่ตั้งใจมากขึ้น

ผู้เขียนชอบขับรถเดินทางไกลไปคนเดียวและชอบขับรถเวลากลางคืนเพราะอากาศเย็นสบาย และการเดินทางไกลในภาคอีสานสมัยนั้น ถึงแม้ถนนหนทางจะไม่ดีเท่าปัจจุบัน และจริงๆ แล้วก็ค่อนข้างเปลี่ยว

แต่ผู้เขียนไม่เคยรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” เพราะมั่นใจในความเป็นคนมีน้ำใจของคนไทยเรา

ทว่า ในคืนนั้น ขณะที่กำลังขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร เพราะถนนปลอดโปร่งและดูเหมือนจะเป็นคืนข้างขึ้น ดวงจันทร์ขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว

ทันใด ผู้เขียนก็รู้สึกเหมือนเห็นอะไรบางอย่าง เคลื่อนไหวถนนหน้ารถ และครู่เดียว ก็รู้สึกว่า รถได้เหยียบอะไรบางอย่าง ทำให้รู้สึกว่า รถกระดอนขึ้นเล็กน้อย

ผู้เขียนรีบเบรกและจอดรถ เหลียวไปดูด้านหลัง แต่ก็ไม่เห็นอะไรผิดสังเกตจึงถอยรถกลับไปดู แล้วก็เห็น “รอยเลือด” เป็นทางพาดไปอีกฟากหนึ่งของถนน

ผู้เขียนจึงเชื่อว่า ได้ขับรถชนอะไรบางอย่างจริงๆ และบางอย่างนั้น น่าจะเป็น “งู”

พยายามมองหาซากงูบนถนน แต่ก็ไม่มี จึงรู้สึกโล่งใจขึ้นหน่อยว่า ไม่ได้เหยียบงูจนตายบนถนน

แต่ก็ไม่สบายใจ เพราะไม่แน่ใจว่า งูจะบาดเจ็บแค่ไหน

ผู้เขียนพยายามนึกทบทวนในคืนนั้นว่า ทำไมผู้เขียนจึงตัดสินใจช้า ทำไมจึงไม่เห็นงูเคราะห์ร้ายตัวนั้น และเบรกหรือขับรถหลบงูให้ทัน

จริงๆแล้ว จากการชอบขับรถเดินทางไกลบ่อยๆของผู้เขียน ก็ได้เห็นงูบนถนนหน้ารถหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเหยียบงูตัวไหนเลย ยกเว้นงูตัวนั้น

แล้วเหตุการณ์ครั้งนั้น เกี่ยวกับเรื่องของเราวันนี้ “สมองกับครึ่งวินาทีความเป็นความตาย” อย่างไร?

...

คำตอบตรงๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกที่ “ติดตา ติดใจ” ของผู้เขียนตลอดเวลา แม้กระทั่งถึงทุกวันนี้ ว่า “ทำไมผู้เขียนจึงตัดสินใจช้า...” นั่นเอง

ถึงแม้บางครั้ง ผู้เขียนก็นึกถึงคำตอบที่ดูจะเป็นคำตอบง่ายๆ และก็น่าจะเป็นไปได้ว่า “ก็เป็นเรื่องความบังเอิญ ที่ผู้เขียนกำลังคิดอะไรเพลินๆ จึงไม่ใส่ใจดูถนนอย่างตั้งใจ”

แต่ก็จะรู้สึกขึ้นมาเองทันทีว่า เป็นคำตอบประเภท “แก้ตัวอย่างง่ายๆ แต่ก็ไม่มีสาระทางวิทยาศาสตร์”

ความรู้สึกไม่สบายใจในเหตุการณ์ขับรถชนหรือเหยียบงูคืนนั้น จึง “ดูจะ” อยู่กับผู้เขียนตลอดมา

จนกระทั่งต่อๆ มา จากการคิดตามความเคลื่อนไหวในความก้าวหน้าและพัฒนาการความคิดใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ วันหนึ่ง ผู้เขียนก็พบว่า บางที คำตอบหนึ่งที่อาจอธิบาย “เหตุการณ์ชนงู” คืนนั้นของผู้เขียนได้ เป็นคำตอบจากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ชื่อ เบนจามิน ลิเบต (Benjamin Libet)

การค้นพบเกี่ยวกับการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสั่งการของสมองให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายปฏิบัติตาม “คำสั่ง” ของสมอง


เบนจามิน ลิเบต เป็นนักประสาทวิทยาอเมริกัน เชื้อสายยิวยูเครน เกิดที่กรุงนิวยอร์ก ปี พ.ศ. 2459

ความสนใจเป็นพิเศษของ เบนจามิน ลิเบต คือ กลไก หรือกระบวนการเป็นขั้นตอนต่างๆ ของสมอง ในการทำงานเป็น “ศูนย์บัญชาการ” ควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อเกิดหรือมีเหตุกระตุ้นให้ร่างกายต้องมีการตอบสนอง เพื่อป้องกันอันตราย หรือเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด จากเหตุการณ์หรือความเป็นไปรอบตัว ในทุกสถานการณ์

จากการศึกษาและทดลองที่เบนจามิน ลิเบต ทุ่มเทให้กับ “โจทย์” ของเขาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 60 (ทศวรรษเริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1960 หรือ พ.ศ. 2503) จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษที่ 80 (ทศวรรษเริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถึงปี พ.ศ. 2526 ทำให้ เบนจามิน ลิเบตด้ค้นพบความรู้ใหม่ และเปิดช่องทางใหม่สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับ “สมอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกและกระบวนการทำงานของสมอง ในการ “บัญชาการ” ร่างกายในสถานการณ์ต่างๆ

เบนจามิน ลิเบต ทำการศึกษากับ “สมอง” อย่างไร?

เริ่มต้น ก็เป็นแบบค่อนข้างตรงๆ คือ “กระตุ้น” สมองของคนป่วยที่ต้องมีการผ่าตัดเปิดสมอง เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เช่น ความรู้สึกของเจ้าของสมองว่า รู้สึกถึงการกระตุ้นหรือไม่ ? และเวลาที่เจ้าตัว “รู้สึก” ว่าสมองถูกกระตุ้น

ต่อๆมา ก็อาศัยอุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้น ช่วยในการเจาะศึกษา “สมอง” และการทำหน้าที่ของสมองในฐานะเป็น “ศูนย์บัญชาการ” ดังเช่น เครื่องอีอีจี (EEG) วัดหรือจับคลื่นสมองเพื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมอง ทั้งที่เจ้าตัว “รู้สึก” และ “ไม่รู้สึก” รวมไปถึงการออกแบบทดลอง เพื่อศึกษากลไกและกระบวนการ รวมทั้งช่วงเวลาในการทำงานของ “ร่างกาย” ทั้งจากการถูกสั่งการโดยตรงของสมอง และจากการที่ร่างกายถูก “กระตุ้น” ดังเช่น “สัมผัส” หรือ “จิ้ม” ที่ผิวหนัง หรือที่แขน เพื่อดูว่า สมองใช้เวลา “อย่างไร” ในการรับรู้ว่า ร่างกาย เช่น ผิวหนัง ถูกกระตุ้น และถ้าสมองต้อง “สั่งการ” ให้เกิดปฏิกิริยาโดยร่างกาย เพื่อ “ป้องกัน” อันตราย เช่น ถ้าถูกวัตถุของแหลม “ทิ่มแทง” ที่แขน สมองก็จะต้องสั่งให้แขน ขยับ เคลื่อนไหว หลบเลี่ยงอันตราย

ตัวอย่างการทดลองของเบนจามิน ลิเบต มีเช่น ออกแบบให้ตัวอย่างทดลอง จับตามอง “จุดแดง” ที่เคลื่อนไหวเป็นวงกลมบนแผงหน้าปัดนาฬิกา เพื่อ “จับเวลา” ในการทดลอง เช่น เวลาตั้งแต่การรับรู้คำสั่งหรือโดยความตั้งใจของตนเองที่จะ “พลิกข้อมือ” โดยที่สมองก็จะถูกตรวจจับถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น “ช่วงเวลา” ที่เกี่ยวข้อง

ผลการทดลองที่คาดว่า น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ถึงแม้สมองจะต้องใช้เวลาในการรับสัญญาณ ก่อนจะสั่งการให้เกิดการพลิกข้อมือ แต่เวลาที่สมองใช้ น่าจะสั้นมากจนกระทั่งอาจจะ “จับเวลา” ไม่ได้

แต่ผลที่ได้จากการทดลองที่เบนจามิน ลิเบต “คาดไม่ถึง” ก็คือ สมองใช้เวลาประมาณเกือบครึ่งวินาที กว่าที่จะออกคำสั่งให้ร่างกายปฏิบัติ คือ พลิกข้อมือ !

...


แล้วการทดลองของ เบนจามิน ลิเบต อาจอธิบาย “เหตุการณ์ชนงู” ของผู้เขียนได้อย่างไร ?

คำตอบอยู่ที่คำอธิบายในการทดลองของเบนจามิน ลิเบต ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสมอง หรือสมองทำอะไร ในช่วงเวลาประมาณครึ่งวินาที ก่อนจะออกเป็นคำสั่งให้ร่างกายปฏิบัติ

คำอธิบายอย่างง่ายๆของเบนจามิน ลิเบต ก็คือ สมองใช้เวลาเกือบครึ่งวินาที ประมวลข้อมูลทั้งหมดที่สมองได้รับจากสิ่งกระตุ้น แล้วจึง “ตกผลึก” เป็นคำสั่ง “ง่ายๆ” และ “ชัดเจน” ให้ร่างกายปฏิบัติ

ซึ่งในกรณีประสบการณ์กับงูของผู้เขียน หมายความว่า ตั้งแต่ตาของผู้เขียนได้รับสัญญาณแสงจากตัวงู ที่กำลังเลื้อยข้ามถนน ตามที่ผู้เขียนรู้สึกเห็นอะไรบางอย่างเคลื่อนไหวตัดหน้ารถ ตั้งแต่ก่อนที่รถจะถึงตัวงู สมองก็ใช้เวลาประมาณเกือบครึ่งวินาที ประมวลข้อมูลสัญญาณแสงที่ส่งมาจากประสาทตาถึงสมอง แล้วจึงจะสรุปเป็นคำสั่ง ให้ร่างกายรับรู้การเห็นงูบนถนน และพยายามหยุดรถหรือหลบงู

ดังนั้น สิ่งที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้น คือ ไม่ทันที่สมองจะประมวลข้อมูลทั้งหมด และสั่งการให้ร่างกายหยุดรถหรือเบนรถหลบงู นั่นคือ ไม่ถึงครึ่งวินาที รถก็ถึงตัวงูเสียแล้ว

...


มิใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน จะเห็นด้วยกับผลการทดลอง และการตีความหมายของเบนจามิน ลิเบต!

การทดลองของเบนจามิน ลิเบต เป็นหนึ่งในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สำคัญแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ

นอกเหนือไปจากเรื่องการที่สมองต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวินาที ในการประมวลข้อมูลจากสิ่งกระตุ้น ซึ่งนับเป็น “องค์ความรู้ใหม่” ที่สำคัญแล้ว การทดลองของเบนจามิน ลิเบต ยังทำให้เขาได้รับการยอมรับ เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญทางด้าน “จิตสำนึก” (consciousness) และ “เจตจำนงเสรี” (free will) ของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ด้วย

ในยุคปัจจุบัน ไม่มีใครสงสัยว่า “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” ไม่ว่าจะเป็นอะไรจริงๆ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับสมอง ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสมองหรือไม่ ?

แต่ในอดีต ตั้งแต่ยุคทองของนักปราชญ์กรีกโบราณ ถึงแม้จะมีการถกกันถึงเรื่องของจิตสำนึก และเจตจำนงเสรี ดังเช่นในปัจจุบัน ทว่า อวัยวะทำหน้าที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ คือ “หัวใจ” มิใช่ “สมอง”...

เพราะความเข้าใจเก่าแก่ที่ยึดถือกันมานาน และปรากฏชัดเจนในข้อเขียนของอริสโตเติล (พ.ศ. 160 – พ.ศ. 222) ว่า “หัวใจ เป็นศูนย์รวมของชีวิต เป็นศูนย์กลางความรู้สึกนึกคิดของคน สมองเป็นแต่เพียงอวัยวะที่รวมโลหิตเท่านั้น”
ความเข้าใจเรื่องบทบาทของสมองกับหัวใจที่ถูกต้อง เพิ่งจะเกิดขึ้นโดยแพทย์กรีกคนสำคัญของโลกการแพทย์ คือ คลอเดียส เกเลน (Claudius Galen) หลังยุคสมัยของคริสโตเติลประมาณ 500 ปี

...


จากจุดเริ่มต้นของเบนจามิน ลิเบต ในการเจาะศึกษาสมองอย่างจริงจัง ด้วยกระบวนการและเทคโนโลยียุคใหม่ ทำให้เขาก้าวเข้าสู่เรื่องของ “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” อย่างค่อนข้างเป็นธรรมชาติ และเขาก็ทุ่มเทให้กับเรื่องของจิตสำนึกและเจตจำนงเสรีอย่างเต็มที่ด้วย

จริงๆแล้ว เรื่องของจิตสำนึกและเจตจำนงเสรี ก็มีทั้งส่วนที่ “เหมือนกัน” และที่ “แตกต่างกัน”

กล่าวคือ สำหรับ “จิตสำนึก” เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ (และคนทั่วไป) ยอมรับกันว่า “มีจริง” แต่ที่ยังถกเถียงกันก็คือ จริงๆแล้ว จิตสำนึกคืออะไร ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ? เกี่ยวข้องกับสมองหรือไม่ ? อย่างไร ?

ส่วน “เจตจำนงเสรี” ซึ่งอาจจะอธิบายง่ายๆเป็น “ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ” ดูจะมีประเด็นปัญหา “หนักกว่า" จิตสำนึก เพราะมีทั้งประเด็นว่า “มีจริงหรือไม่ ?” และ “เกิดขึ้นได้อย่างไร ?”

แล้วเบนจามิน ลิเบต คิดอย่างไรสำหรับ “จิตสำนึก”

คำตอบ คือ เขามีความเห็นว่า จิตสำนึกน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของสมอง โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็น “จิตไร้สำนึก” (unconscious) ของการทำงานของสมอง โดยน่าจะเกี่ยวกับส่วนการประมวลข้อมูลจากสิ่งกระตุ้น ก่อนจะสรุปผลออกมาเป็น “จิตสำนึก” คือ ความรู้สึกนึกคิดที่แสดงออกโดยสมอง

ส่วนสำหรับเรื่องของ “เจตจำนงเสรี” บทสรุปของเบนจามิน ลิเบต แสดงความโน้มเอียงไปในทิศทางว่า “น่าจะไม่มีจริง”

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ต่อความคิดเรื่องของ “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” ก็มีทั้งเสียงที่สนับสนุน และขยายความรวมไปถึงการทดลองเพิ่มเติมที่ละเอียด, พิสดารกว่าการทดลองของเบนจามิน ลิเบต...

และก็มีเสียงที่ “ไม่เห็นด้วย” ทั้งในส่วนรายละเอียดและกระบวนการที่เบนจามิน ลิเบตใช้ในการทดลอง

เสียงที่ไม่เห็นด้วย มีในประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนในการตีความของเบนจามิน ลิเบต ที่เห็นกันว่าต้องถกเถียงกันอีกมาก

สำหรับตัวเบนจามิน ลิเบตเอง ค่อนข้างจะมั่นใจในส่วนที่เป็นเรื่อง “จิตสำนึก” ซึ่งจริงๆแล้ว ก็ยังมิได้ชัดเจนว่า คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เกี่ยวกับสมองอย่างไร นอกไปจากบทสรุปรวบยอดว่า “จิตสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของผลจากการทำงานของสมอง”

แต่สำหรับเรื่อง “เจตจำนงเสรี” เบนจามิน ลิเบต ไม่ยืนยันในบทสรุปของเขาอย่างหนักแน่น และก็ยอมรับว่า “เจตจำนงเสรี” อาจจะมีจริง แต่อาจจะมีในลักษณะของ “free won’t” คือ ความเป็นเสรีในการ “ปฏิเสธ”...

ซึ่งก็ยิ่งดูจะทำให้เกิดการถกเถียงกันมากขึ้น !

เบนจามิน ลิเบต จากโลกไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2550 ขณะมีอายุ 91 ปี!

สำหรับโลกวิทยาศาสตร์ เบนจามิน ลิเบต ทิ้งมรดกทางปัญญาและความคิด ในประเด็นเรื่องของ “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” ให้นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาและนักคิด ได้ถกเถียงกันอย่างมีแนวทางที่เป็น “วิทยาศาสตร์” มากขึ้น

ถึงแม้ “น่าจะ” ไม่ช่วยให้เวทีการถกเรื่อง “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” ได้พบกับบทสรุปที่ “เป็นที่ยอมรับกัน”

หมายความว่า เรื่องของ “จิตสำนึก” และ “เจตจำนงเสรี” ก็คงจะยังเป็นประเด็นให้นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาและนักคิด ได้ถกเถียงกันต่อไปอีก...นาน

แต่มรดกอย่างหนึ่งที่เบนจามิน ลิเบต ทิ้งไว้ และเป็นที่ยอมรับกัน ก็คือ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง ที่ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวินาที ในการประมวลข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับมา ก่อนที่จะได้คำตอบเป็นคำสั่งที่ง่ายและชัดเจนให้ร่างกายปฏิบัติ

สำหรับผู้เขียน การค้นพบของเบนจามิน ลิเบต เกี่ยวกับการทำงานของสมอง ที่ใช้เวลาเกือบครึ่งวินาที จึงตกผลึกออกมาเป็นคำสั่งนั้น ถึงแม้จะช่วยให้ผู้เขียน “คิดว่า” ได้คำตอบสำหรับเหตุการณ์ชนงูของผู้เขียน ซึ่งก็มิได้หมายความว่า จะทำให้ผู้เขียนรู้สึก “พ้นผิด”...

แต่ก็มีผลอย่างสำคัญ ทำให้ผู้เขียน “ระมัดระวังตัว” มากขึ้น ในการเดินทางของชีวิต ที่จะต้องเผื่อ “ครึ่งวินาทีแห่งความเป็นความตายของสมอง” อยู่เสมอ ดังเช่นการขับรถ ที่จะต้อง “ตั้งใจ” ให้มากขึ้น ไม่ประมาทหรือมั่นใจเกินไปว่า จะสามารถหลบเลี่ยงเหตุฉุกเฉินได้ “ทัน” เสมอ

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไรเกี่ยวกับ “สมองกับครึ่งวินาทีแห่งความเป็นความตาย” ?

สำหรับเรื่อง “จิตสำนึก” กับ “เจตจำนงเสรี” ผ่านผู้อ่านเอง คิดว่า จิตสำนึกเกี่ยวกับสมองหรือไม่? แค่ไหน? และท่านผู้อ่านคิดว่า เจตจำนงเสรี มีจริงหรือไม่?