หลังพนักงานออฟฟิศได้ทำความรู้จักการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Work From Home เรื่อยไปจนกระทั่งถึง Hybrid Work และ Remote Work ที่แสนอิสระ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 มาเนิ่นนานร่วม 3 ปี จนบางคนเริ่มรู้สึกชาชินกับการทำงานในลักษณะนี้ ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ความสะดวก และมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวมากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์การทำงานสุดฮิตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

หากแต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เริ่มทุเลาเบาบางลง “ความเปลี่ยนแปลง” ก็ได้เดินทางมาถึงอีกครั้ง เมื่อบรรดาบริษัทน้อยใหญ่เริ่มทยอยเรียกพนักงานของตัวเองกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันอีกครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกที่มีผลกำไรนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทเหล่านั้นมีเหตุผลอะไรสำหรับ “ข้อเรียกร้อง” ให้พนักงานกลับคืนสู่ชีวิตการสแกนนิ้ว หรือสแกนใบหน้า เพื่อเช็กเวลาการทำงานอีกครั้ง วันนี้ “เรา” ลองไปสำรวจความเห็นเหล่านั้นกันดู

...

Big Tech กับการเรียกพนักงานคืนออฟฟิศ :

Meta :

Meta หรือ Facebook ออกประกาศภายในให้พนักงานกลับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2022 โดยพนักงานทุกคนจะต้องมีเวลาสำหรับการเข้าทำงานเฉลี่ยอย่างน้อย 50% ของเวลาทำงานทั้งหมด

Microsoft :

Microsoft ประกาศให้พนักงานทุกคนต้องเข้าทำงานที่ออฟฟิศเฉลี่ยอย่างน้อย 50% ของเวลาทำงานทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2022

Alphabet :

Alphabet บริษัทแม่ของ Google ประกาศให้พนักงานทุกคนต้องเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2022

Apple :

Apple ประกาศให้พนักงานทุกคนเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยระบุว่าต้องเป็นวันอังคาร และวันพฤหัสบดี ส่วนอีกหนึ่งวันที่เหลือ แต่ละแผนกจะเป็นผู้กำหนด โดยเริ่มต้นในวันที่ 5 ก.ย. 2022

Twitter :

Twitter ภายใต้เจ้าของคนใหม่ “อีลอน มัสก์” ประกาศให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ย. 2022

Disney :

Disney ประกาศให้พนักงานเข้าทำงานในออฟฟิศ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 มี.ค. 2023

...

Amazon :

Amazon ประกาศให้พนักงานทุกคนเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 พ.ค. 2023

แรงต่อต้านการกลับเข้าออฟฟิศ :

หลังจากบริษัทต่างๆ เริ่มทยอยประกาศให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ แม้ในช่วงระยะแรกๆ นี้จะเป็นไปในลักษณะ Hybrid Work เพื่อให้ทุกคนเริ่มปรับตัว แต่ดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานส่วนหนึ่งที่มองว่า การทำงานในรูปแบบใหม่นั้น “มีความยืดหยุ่นให้กับชีวิตได้มากกว่า” อีกทั้งมองว่าความพยายามของบริษัทในการบีบบังคับให้กลับไปใช้ชีวิตจำเจ “สแกนหน้า” เข้าออฟฟิศเหมือนเดิม อาจนำไปสู่การลาออกครั้งใหญ่ ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับบริษัทในระยะยาวได้

โดยงานวิจัยของ Clarify Capital บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชื่อดังในสหรัฐฯ ระบุว่า พนักงานในสหรัฐฯ มากถึง 68% จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ระบุว่า พวกเขาอยากหางานใหม่ มากกว่าที่จะกลับเข้าออฟฟิศเพื่อทำงานแบบเดิมๆ ในขณะที่กลุ่มเจเนอเรชัน Z (อายุต่ำกว่า 24 ปี) นั้นออกอาการมากกว่า โดยมีมากถึง 79% ที่ให้คำตอบว่า จะมองหางานใหม่ หากต้องกลับเข้าทำงานในออฟฟิศอีกครั้ง

โดยรายงานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ Owl Labs ซึ่งพบว่ามากถึง 45% ของกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ในสายงานด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และไอที ในสหรัฐฯ ปรารถนาการทำงานแบบ Hybrid Work รองจากความต้องการเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีในอันดับแรกสุด

...

Tech Giants กับแรงต่อต้านการกลับคืนออฟฟิศ :

พนักงาน Amazon มากกว่า 5,000 คน ได้ร่วมกันลงนามเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านประกาศคำสั่งให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ รวมทั้งยังได้มีการรวมตัวกันโพสต์ข้อความในระบบการสื่อสารภายในบริษัทที่เรียกว่า “Inside Amazon” เพื่อแสดงการคัดค้านคำสั่งดังกล่าวด้วย โดยบางข้อความถึงกับระบุว่า “นี่คือความล้มเหลวสำหรับบทบาทการเป็นนายจ้างที่ดีที่สุดในโลกของ Amazon”

ทั้งนี้ พนักงานของ Amazon ที่คัดค้านคำสั่งดังกล่าว ซึ่งได้รวมตัวกันตั้งสเตตัส “Remote Advocacy” ได้โพสต์ข้อความให้เหตุผลที่น่ารับฟังต่างๆ ถึงบรรดาผู้บริหาร เช่น ต้องการมีเวลาสำหรับการดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพ และญาติที่มีอาการป่วย หรืออาจจำเป็นต้องย้ายที่อยู่เพื่อให้สะดวกสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตเข้าออฟฟิศเช่นในอดีตอีกครั้ง หลังจากในช่วงที่ WFH ก่อนหน้านี้ได้ตัดสินใจย้ายออกไปนอกเขตเมืองที่ค่าครองชีพไม่แพงนักเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และความคิดเห็นที่ว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจทำให้บริษัทต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูงไปจำนวนหนึ่ง รวมไปจนกระทั่งการหยิบยกรายงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า การทำงานแบบ Hybrid Work และ Remote Work ที่แสนอิสระนั้นไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดน้อยลงแต่อย่างใด!

“แอนดี แจสซี” (Andy Jassy) CEO ของ Amazon
“แอนดี แจสซี” (Andy Jassy) CEO ของ Amazon

...

เหตุผลของ Tech Giants ในการเรียกพนักงานคืนออฟฟิศ :

“แอนดี แจสซี” (Andy Jassy) CEO ของ Amazon ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจเรียกพนักงานทยอยกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันอีกครั้งว่า...

“การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อวัฒนธรรมองค์กรและความสามารถของพนักงานในการเรียนรู้และทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต เพราะการทำงานและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันนั้น มักจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นได้เสมอๆ อีกทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นั้น บางครั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพูดคุยหลังกลับจากการประชุม หรือแม้กระทั่งแค่มาพบกับเพื่อนร่วมงานในช่วงเช้าก่อนการทำงานด้วยซ้ำไป”

การโต้แย้งล่าสุดในประเด็นคำสั่งกลับคืนสู่ออฟฟิศระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับ Amazon เพียงบริษัทเดียว เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานบรรดา Tech Giants ต่างๆ ซึ่งเคยออกประกาศในลักษณะเดียวกัน ต่างต้องเผชิญหน้ากับ “แรงต่อต้าน” ในลักษณะเดียวกันนี้จากบรรดาพนักงานของตัวเองมาแล้วทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงก่อนหน้านี้ “แรงต่อต้านจากบรรดาพนักงาน” จะเคยได้รับชัยชนะ และทำให้บริษัท Tech Giants ทั้งหลายต้องพยายามหาทางผ่อนปรนเพื่อให้เกิดความสมดุลในองค์กร แต่สำหรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะเหล่า Tech Giants ต้องปรับตัว ด้วยการรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ในปี 2023 นี้ ทำให้ “สมการเดิม” ที่ฝ่ายพนักงานเคยมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า “อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป”

เพราะในเมื่อบริษัทต่างๆ ต้องประสบปัญหา “รายได้ลดน้อยลง” จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สิ่งแรกที่สามารถลดต้นทุนของบริษัทได้ย่อมหนีไม่พ้น “การปรับลดจำนวนพนักงานที่เกินความจำเป็น” อีกทั้งการหาช็อปพนักงานเพื่อมาทดแทนนั้น ก็ยังสามารถทำได้โดยง่ายและมีราคาประหยัดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเหล่าอดีตพนักงานบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ต้องตกงานเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันการนำพนักงานกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ในมุมหนึ่งย่อมทำให้บริษัทสามารถคาดหวังในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงผลตอบแทนที่ควรได้รับจากการลงทุนได้มากกว่ารูปแบบการทำงานแบบ WFH หรือแบบ Hybrid Work ที่อาจสามารถควบคุมประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการทำงานของพนักงานได้น้อยกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า “การกลับคืนสู่การทำงานในออฟฟิศ” อาจไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนักสำหรับผู้คนในปี 2023 ก็เป็นได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจทำให้บริษัทส่วนใหญ่มองหาการลดค่าใช้จ่ายในการเช่าสำนักงานตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว เพื่อไปหาออฟฟิศตามย่านเขตชานเมืองที่มีราคาถูกลงมากขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับ “การเดินทาง” และ “ค่าครองชีพ” ที่เคยเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของผู้คนที่ไม่อยากกลับคืนสู่ออฟฟิศ อาจทุเลาเบาบางลง และอาจเปิดทางไปสู่การเต็มใจกลับไปสแกนหน้าเพื่อเข้าทำงานในออฟฟิศอีกครั้งก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการต่างๆ ดังที่ว่านี้ คงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในที่สุด.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :