เหตุแผ่นดินไหวตุรกี ขนาด 7.8 ความลึก 17.9 กม. ใกล้เมืองกาซีอันเตป ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ติดกับพรมแดนซีเรีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ต่างระดมกำลังแข่งกับเวลา หวังว่าจะมีผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่พังถล่มลงมา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น 2 หมื่นกว่าศพ และมีหญิงไทยเสียชีวิต 1 ศพ ส่วนผู้รอดชีวิตกลายเป็นคนไร้บ้าน สูญเสียคนที่รัก และต้องทุกข์ทรมานกับสภาพอากาศที่เหน็บหนาวติดลบ
โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี ได้มีนานาประเทศยื่นให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลไทยได้มอบเงินช่วยเหลือ และส่งทีม USAR Thailand (Urban Search and Rescue) จำนวน 42 นาย พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์กู้ภัย เครื่องมือสื่อสารผ่านดาวเทียม สุนัขกู้ภัย 2 ตัว ชื่อ "เซียร่า" และ "ซาฮาร่า" และยาและเวชภัณฑ์ ร่วมปฏิบัติการภารกิจ “Thailand for Turkiye” เป็นเวลา 10 วัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในซากอาคาร ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 9 ก.พ. เวลา 23.00 น. ได้ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบิน Turkish Airline มาถึงสนามบินอิสตันบูล เมื่อวันที่ 10 ก.พ. เวลา 12.00 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
...
เมื่อทีม USAR Thailand มาถึงตุรกี ได้ต่อเครื่องบินไปพร้อมกับทีมกู้ภัยจากประเทศจีน และทีมสุนัขกู้ภัย K9 จากประเทศฝรั่งเศส ในเวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อเดินทางไปยังสนามบินอาดานา (Adana) และเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปจังหวัดอดิยามาน (ADIYAMAN) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร หรือใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง เพื่อปฏิบัติภารกิจในการกู้ภัยคาดว่าในวันที่ 11 ก.พ.นี้ เช่นเดียวกับสุนัขกู้ภัย ทั้ง ”เซียร่า" และ "ซาฮาร่า" ต้องทำงานร่วมกับสุนัขกู้ภัยจากประเทศต่างๆ ล่าสุดมีรายงานว่าทีม USAR Thailand ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจที่เมืองฮาเตย์ (Hatay) ซึ่งก่อนหน้านั้นพบศพหญิงไทย อยู่ใต้ซากปรักหักพัง
ก่อนเดินทางไปปฏิบัติการภารกิจ “Thailand for Turkiye” เพียงไม่กี่วัน “เลอพงศ์ สวนสังข์” ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหัวหน้าทีม USAR Thailand เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวตุรกีต้องประสานกับทางองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นตัวกลางในการประสานกับทีมกู้ภัยจากทั่วโลกกว่า 100 ทีม ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ
เหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ซึ่งรุนแรงกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา และตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อก ไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้ทีมกู้ภัยทำงานลำบาก ถือเป็นสิ่งที่ทีมช่วยเหลือต้องเรียนรู้ร่วมกันทั่วโลก เพราะไม่แน่ว่าการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคตจะมีความรุนแรงมากกว่านี้ และอุปกรณ์การสื่อสารของทีม USAR Thailand จะใช้ระบบดาวเทียมทั้งหมด เพราะแผ่นดินไหว ได้ทำให้ระบบสื่อสารทั้งหมดไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นอุปกรณ์การช่วยเหลือต่างๆ ต้องรองรับสัญญาณดาวเทียม
...
แม้อุปสรรคการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกี มาจากอุณหภูมิหนาวเย็นเฉลี่ยอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส แต่ทางทีม USAR Thailand มีเครื่องนุ่งห่มที่ทนต่อความหนาวเย็น มีการฝึกฝนร่วมกับทีมกู้ภัยระดับนานาชาติ และมีอุปกรณ์ช่วยเจาะ ตัดสิ่งกีดขวาง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่นและจีน ทำให้มีความพร้อมในการลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ และสามารถกินอยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้ด้วยตัวเอง โดยประเทศต้นทางไม่ต้องช่วยเหลือด้านอาหาร.
เครดิตภาพ : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย