เมื่อประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว ดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร ชนโลกทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์!

เมื่อ 114 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2451) เกิดการระเบิดลึกลับที่ ทังกัสกา ไซบีเรีย พื้นที่ป่าถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร สาเหตุเกิดจากดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยชนโลก แต่ระเบิดกลางอากาศ โชคดีไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 อุกกาบาตขนาดประมาณ 18 เมตร ระเบิดเหนือเมืองโชลยาบินสค์ ประเทศรัสเซีย เป็นครั้งแรก มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1,491 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีอาคารเสียหายกว่า 7,200 แห่ง

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2565 นาซา แถลงผลปฏิบัติการทดสอบการปกป้องโลกจากการถูกชน โดยยาน "ดาร์ต" (Dart) ว่า ได้ผลเกินคาด

จากการแถลงข่าวของนาซา แสดงว่า โลกสามารถปกป้องตนเองจากการถูกคุกคาม โดยดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางได้แล้วใช่ไหม?


การตื่นตัวอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในการปกป้องโลกจากการถูกชนโดยดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง มีจุดเริ่มต้นจาก “โครงการอิคารัส” (Project Icarus) ของนักศึกษาที่เอ็มไอที (MIT : Massachusettes Institute Of Technology) เมื่อปี พ.ศ.2510 เพื่อปกป้องโลก ถ้าดาวเคราะห์น้อยอิคารัสจะชนโลก

ดาวเคราะห์น้อยอิคารัส เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 1.4 กิโลเมตร มีวิถีโคจรอยู่ระหว่าง ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงต่อการคุกคามโลก

โครงการอิคารัส เสนอให้ใช้จรวดบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ 6 ลำ เดินทางไปสกัดอิคารัส โดยลำแรกมุ่งไปสกัดอิคารัสหลายเดือนก่อนชนโลก และลำสุดท้ายจะถูกยิงไปสกัดอิคารัสก่อนชนโลก 18 ชั่วโมง

นิตยสาร Time ทำโครงการอิคารัสเป็นสกู๊ปใหญ่ ในฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2510 ทำให้โครงการอิคารัสเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และก็สร้างกระแสความตื่นกลัวไปทั่วโลก เรื่องโลกาวินาศจากการถูกอิคารัสชน

ปี พ.ศ.2510 นั้น ผู้เขียนยังเรียนฟิสิกส์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย และก็จำกระแสความตื่นกลัวเรื่องวันโลกาวินาศได้ดี

...

ถึงแม้ อิคารัส จะไม่เป็นภัยคุกคามโลกจริงๆ แต่โครงการอิคารัสของคณะนักศึกษาที่เอ็มไอที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจุดกระแสของยักษ์ใหญ่นิตยสารระดับโลก คือ Time ก็ทำให้เกิดกระแสต่อเนื่อง คือ การตีพิมพ์เป็นเล่มของโครงการอิคารัส (พ.ศ.2511) และภาพยนตร์ "Meteor" ออกฉายปี พ.ศ.2522

Meteor เป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ นำแสดงโดย ณอน คอนเนอรี ที่โด่งดังจากบท เจมส์ บอนด์ และดาราสำคัญหลายคน เช่น นาตาลี วูด และ เฮนรี ฟอนดา แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งจากรายได้ในการออกฉายและนักวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสเปเชียล เอฟเฟกต์

ภาพยนตร์ The End Of The World
ภาพยนตร์ The End Of The World


ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เริ่มต้น และอยู่คู่กับโลกภาพยนตร์ตลอดมา!

ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของภาพยนตร์เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของโลก (ตามข้อมูลที่มีอยู่) คือ The End Of The World เป็นภาพยนตร์เดนมาร์ก ความยาว 77 นาที ออกฉายปี พ.ศ.2458

The End Of The World เป็นเรื่องประเภทวันสิ้นโลก มีดาวหางเป็นต้นเหตุที่โคจรเฉียดโลก ก่อให้เกิดความหายนะต่อธรรมชาติ และการจลาจลของมนุษย์

ก่อนการออกฉายภาพยนตร์ The End Of The World ประมาณหกปี ดาวหางแฮลลี ได้ปรากฏตัวให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าในปี พ.ศ.2453 และมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนเดินเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้

หลัง The End Of The World ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวันโลกาวินาศก็มีออกมาให้ชมกันอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุใหญ่ของวันโลกาวินาศในภาพยนตร์ คือ ภัยธรรมชาติจากนอกโลก และภัยจากมนุษย์ต่างดาวที่ต้องการยึดครองโลก

เรื่องเด่นที่สุดของประเภทภัยจากมนุษย์ต่างดาว คือ The War Of The Worlds ของ เอช.จี.เวลส์ ที่สร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ (จริงๆ) มาแล้วสองครั้ง พ.ศ.2496 มี ยีน แบร์รี แสดงนำ และ พ.ศ.2548 มี ทอม ครูส แสดงนำ)

แล้วก็มาถึงสองภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่สองเรื่อง เกี่ยวกับวันโลกาวินาศจากภัยที่มาจากนอกโลก คือ Deep Impact และ Amageddon

Deep Impact (พ.ศ.2541) แสดงนำโดย โรเบิร์ต คูวัล, เอไลจาห์ วูด และ มอร์แกน ฟรีแมน เป็นเรื่องความพยายามปกป้องโลกจากดาวหางชนโลกด้วยระเบิดนิวเคลียร์

Amageddon (พ.ศ.2541) แสดงนำโดย บรูซ วิลลิส, เบน แอฟเฟลกค์ และ ลิฟ ไทเลอร์ เป็นเรื่องความพยายามปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับ Deep Impact

ภาพยนตร์สองเรื่องนี้ออกฉายในเวลาใกล้เคียงกัน โดย Deep Impact ออกฉายก่อนเกือบสองเดือน

เปรียบเทียบกันแล้ว Amageddon ถูกใจคนดูมากกว่า (ทำรายได้ดีกว่า) แต่ Deep Impact ถูกใจนักวิจารณ์มากกว่า อย่างไรก็ดี ทั้งสองเรื่องก็ประสบความสำเร็จในด้านรายได้

...

ภาพยนตร์ Deep Impact
ภาพยนตร์ Deep Impact


ภาพยนตร์ Deep Impact มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเด็นของเรา เพราะเกี่ยวข้องกับ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก ด้วย ผู้เป็นหนึ่งในสาม "ฮีโร่" ของผู้เขียน (อีกสองคนคือ ไอน์สไตน์ และ ไอแซก อาซิมอฟ)

ที่มาของภาพยนตร์ Deep Impact เกี่ยวข้องกับ สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายวิทยาศาสตร์เรือง Hammer Of God (ตีพิมพ์ พ.ศ.2536) ของ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก มาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยจะรวม Hammer Of God กับภาพยนตร์ When World Collide (พ.ศ.2494)

When World Collide เป็นภาพยนตร์วันสิ้นโลก จากการถูกชนโดยดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์บริวารจากนอกระบบสุริยะ

Hammer Of God เป็นเรื่องของวันโลกาวินาศ จากการที่โลกจะถูกชนด้วยดาวเคราะห์น้อย

ในที่สุด เนื่องจาก สตีเวน สปิลเบิร์ก ติดภาระงาน (ภาพยนตร์) หลายเรื่อง เขาจึงวางมือจากการกำกับ Deep Impact และ Deep Impact ก็เดินหน้าต่อ เป็นเรื่องความพยายามในการปกป้องโลกจากดาวหาง มิใช่ดาวเคราะห์น้อย ดังในเรื่องของ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก

เนื่องจากเรื่องราวใน Deep Impact แตกต่างจากเรื่องของ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก มาก จนในที่สุดไม่มีการระบุชื่อของ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก และ Hammer Of God ในเครดิตท้ายเรื่อง

...

ภาพยนตร์ Amageddon
ภาพยนตร์ Amageddon

ถึงแม้ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก จะไม่มีชื่อในภาพยนตร์ Deep Impact แต่เขาก็มีบทบาทสำคัญสำหรับกระแสการตื่นตัวเพื่อปกป้องโลกจากการถูกชนโดยวัตถุจากนอกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Rendezvous With Rama (พ.ศ.2516) ซึ่งเป็นเรื่องของยานอวกาศจากนอกระบบสุริยะ และความพยายามของมนุษย์ในการสำรวจยาน "Rama"

ใน Rendezvous With Rama มีการกล่าวถึง "Project Spaceguard" (โครงการเฝ้าระวังอวกาศ) ซึ่งค้นพบยาน Rama จากนอกระบบสุริยะ

หลังการตีพิมพ์และความสำเร็จของ Rendezvous With Rama ชื่อ "Spaceguard" ของอาเธอร์ ซี.คลาร์ก ก็ได้รับการนำไปใช้จริง โดยหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในหลายประเทศ ดังเช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิตาลี, ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยความยินยอมและร่วมมืออย่างเต็มใจของ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก จนกระทั่งคำว่า "Spaceguard" มีความหมายถึง การเฝ้าระวัง ค้นหา และศึกษาวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) ที่อาจจะคุกคามโลก

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู. (IAU : International Astronomical Union) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนกลุ่มสมาคมดาราศาสตร์ทั่วโลก ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ชื่อ Beginning The Spaceguard Survey เมื่อปี พ.ศ.2538

ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการของ ไอเอยู. นำมาสู่การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ ชื่อ "Spaceguard Foundation" (มูลนิธิเฝ้าระวังอวกาศ) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในหลายประเทศ กับภารกิจการเฝ้าระวังภัยจากอวกาศ

...


ขบวนดาวหางชนดาวพฤหัสบดี!

นอกเหนือไปจากโครงการอิคารัสของนักศึกษาเอ็มไอที และ อาเธอร์ ซี.คลาร์ก แล้ว ปรากฏการณ์ขบวนดาวหางชูเมเกอร์ - เลวี 9 (Shoemaker - Levy 9) ชนดาวพฤหัสบดี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2537 ก็มีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นการตื่นตัวในเรื่องการป้องกันโลกจากภัยนอกโลก

ขบวนดาวหางชูเมเกอร์ - เลวี 9 ชนดาวพฤหัสบดี ด้วยพลังอำนาจการทำลาย เทียบได้กับอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ถึง 600 เท่า

ผลการชนของขบวนดาวหาง ทำให้เกิด "จุดดำยักษ์" ขนาดใหญ่กว่า 12,000 กิโลเมตร ที่ดาวพฤหัสบดี

หลังขบวนดาวหางชนดาวพฤหัสบดี โครงการเฝ้าระวังภัยจากนอกโลกก็ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นทั่วโลก


"วันดาวเคราะห์น้อย"

ในการประชุมของ ที่ประชุมทั่วไปสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “Asteroid Day” (วันดาวเคราะห์น้อย) หรือ “International Asteroid Day” (วันดาวเคราะห์น้อยระหว่างประเทศ) เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามโลกจากอวกาศ

วันที่ 30 มิถุนายน ได้รับการเลือกให้เป็น วันดาวเคราะห์น้อย จากเหตุการณ์ระเบิดลึกลับที่ทังกัสกา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2451

ถึงแม้จะยังไม่เป็นที่ยุติว่า การระเบิดที่ทังกัสกา เกิดจากดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย แต่สหประชาติก็เลือก “ดาวเคราะห์น้อย” เป็น “ตัวแทน” สิ่งคุกคามโลกจากอวกาศ


จากนี้ก็มาถึงโจทย์ใหญ่ของเราวันนี้ คือ ถ้าโลกจะถูกชนล่ะ?

ความสำเร็จของการทดสอบแผนปกป้องโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยชน โดย “ยานดาร์ต” ตามการแถลงของ นาซา ว่าได้ผลเกิดคาด แสดงว่าโลกสามารถปกป้องตนเองจากการถูกคุกคามโดยดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางแล้วใช่หรือไม่?

ก่อนจะได้คำตอบสุดท้าย ไปดูเรื่องความก้าวหน้าในการเตรียมการเพื่อปกป้องโลกกันก่อน

สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับภัยจากนอกโลก ซึ่งถึงวันนี้ถือว่า “ดี” เพราะในปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุที่อาจคุกคามโลก ทั้งดาวเคราะห์น้อย และดาวหางอย่างมากมาย

มีการเฝ้าระวังจับตาวัตถุจากนอกโลกที่อาจคุกคามโลกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และก็มีรายงานประจำวันเผยแพร่แก่คนทั้งโลกถึงสภาพการณ์ล่าสุด

แล้วสิ่งที่เราจะต้องทำ ถ้า “โลกจะถูกชน” นั่นคือ ถ้ามีการค้นพบวัตถุจากนอกโลก ที่จะชนโลกอย่างแน่นอนล่ะ มนุษย์โลกพร้อมในการปกป้องโลกได้หรือยัง?

โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า ตั้งแต่การตื่นตัวเรื่องภัยคุกคามนอกโลก ก็มีการตื่นตัวอย่างมากในการเตรียมตัวป้องกันโลก

แล้วอาวุธ หรือวิธีที่จะป้องกันโลกมีอะไรบ้าง? และมีความพร้อมแค่ไหน?

มีดังเช่น.......

• อาวุธนิวเคลียร์ มีความพร้อมสูง แต่ขึ้นอยู่กับ “เวลา” ที่จะต้องไปสกัดสิ่งคุกคามโลก ซึ่งทราบล่วงหน้าได้นานเท่าใดก็ยิ่งดี

เคยมีการเสนอส่งจรวดติดระเบิดนิวเคลียร์ไป "รอ" ผู้บุกรุกในวงโคจรรอบโลก แต่ความคิดนี้ถูก “ปัดตก” อย่างรวดเร็ว เพราะเกรงว่าโลกจะกลายเป็นเหยื่อของระเบิดนิวเคลียร์เหล่านั้นเอง

• อาวุธเคมี มีความพร้อมสูง แต่จะใช้ได้เฉพาะกับวัตถุคุกคามโลกขนาดเล็ก หรือถ้าเป็นขนาดใหญ่ ก็จะต้องใช้อาวุธเคมีจำนวนมากเป็นชุดไปสกัดในอวกาศไกลออกไปจากโลกมาก

• กระจกยักษ์ เป็นกระจกโค้งไปรวมแสงยิงใส่วัตถุคุกคามโลก แต่ไม่ใช่ไประเบิดทำลาย หากเป็นเหมือนไปรวมแสงติดไอพ่น ให้วัตถุคุกคามโลกค่อยๆ เบนไปจากโลก

• เลเซอร์พลังสูง จากพื้นโลก หรือในอวกาศ ยิงวัตถุคุกคามโลก ให้เบนไปจากโลก

• ใช้ยานอวกาศไปชนกับผู้บุกรุก หรือชนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่าผู้บุกรุก ให้ไปชนผู้บุกรุกอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้เบนไปจากโลก

ปฏิบัติการยาน “ดาร์ต” ชนดาวเคราะห์น้อยของนาซาล่ะ?

นาซา ส่งยาน “ดาร์ต” (Dart : Double Asteroid Redirectional Test) หนัก 610 กิโลกรัม เดินทางจากโลก วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เป้าหมายคือ ระบบดาวเคราะห์น้อยสองดวง ดวงใหญ่ ชื่อ ดิดีมอส (Didymos) และดวงเล็กกว่า ชื่อ ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) โคจรเป็นดวงจันทร์รอบดิดีมอส

ยานดาร์ต เดินทางไปถึง และชนไดมอร์ฟอส วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2565 เพื่อทดสอบว่า ยานดาร์ต มีโมเมนตัมพอจะทำให้ ไดมอร์ฟอส เปลี่ยนวิถีโคจรหรือไม่

หลังการชน นาซา อาศัยกล้องโทรทรรศน์ทั้งบนโลกและในอวกาศ รวมทั้งยาน “ลิเซียคิวบ์” (Liciacube : Light Italian Cube Sat For Imaging Of Asteroid) ขนาดเล็ก ที่แยกตัวจากยานดาร์ต ก่อนชนกับดาวเคราะห์น้อย ติดตามดูผลปฏิบัติการว่าได้ผลหรือไม่

แล้วนาซาก็แถลงผลปฏิบัติการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2565 ว่า ได้ผลเกินคาด เพราะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ไดมอร์ฟอส จะต้องโคจรรอบ ดิดีมอส เร็วขึ้นอย่างน้อย 73 วินาที จึงจะถือว่าปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จ แต่ ไดมอร์ฟอส โคจรรอบ ดิดีมอส เร็วขึ้นถึง 32 นาที

ผลปฏิบัติการของ ยานดาร์ต นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของนาซาในการปกป้องโลก แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าความสำเร็จของนาซายังเป็นเพียงความสำเร็จขั้นต้นเท่านั้น เพราะสถานการณ์ในการปกป้องโลกจริงๆ จะยากกว่า “ศักยภาพ” ที่โลกมีอยู่วันนี้มาก

นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวว่า “จริงๆ แล้วมนุษย์ยังไม่ได้เตรียมตัวปกป้องโลกจากสถานการณ์จริงๆ เลย ที่ทำกันอยู่ถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงการเตรียมตัวอย่างเชิงวิชาการ และที่นาซาทำมาแล้ว ก็ยังเป็นเพียงการขยับตัวเล็กๆ เท่านั้น”

แต่ก็มีนักคิด นักวิทยาศาสตร์บางคน ที่กล่าวเสียงดังว่า “ไม่ต้องวิตกกังวลกันเกินไปหรอก เพราะมนุษย์สามารถจะเผชิญ และเอาตัวรอดได้เสมอกับทุกสถานการณ์”

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?

อุ่นใจขึ้นหรือไม่ กับความสำเร็จของนาซา และความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังพยายามปกป้องโลก?

หรือเห็นด้วยว่า ถึงอย่างไร มนุษย์ก็จะเอาตัวรอดได้เสมอ?