ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2022 กำลังกลายเป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ระหว่าง "ประชาธิปไตย กับ อำนาจนิยม" ซึ่งจะนำไปสู่การแยกขั้วและอาจลุกลามบานปลายไปสู่การใช้กำลัง จนกระทั่งสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสร้างปัญหาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024! ทั้งหมดที่ว่านี้ คือ มุมมองจาก "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ที่บอกกล่าวกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วันนี้ "เรา" ไปไล่เรียงกันทีละประเด็น
*** (หมายเหตุ ผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ณ วันที่ 10 พ.ย. พรรครีพับลิกัน มีแนวโน้มสูงมากที่จะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในวุฒิสภายังคงก้ำกึ่ง) ***
...
ความแตกแยกครั้งใหญ่ในรอบ 200 ปี :
“ผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ กำลังบอกว่า สังคมอเมริกันกำลังเข้าสู่ความแตกแยก และมีการแบ่งขั้วที่ชัดเจนและรุนแรงมากที่สุดในรอบ 200 ปี”
โดยประเด็นนี้ถูกฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านจุดยืนของพรรคเดโมแครตที่พยายามชูเรื่อง การต่อสู้ของระบอบประชาธิปไตย กับ ระบอบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ ของ "นายโดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งในเวลานี้สามารถแผ่อิทธิพลครอบงำพรรครีพับลิกันเอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มในพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่บ้างก็ตาม
“ในมุมมองของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น สิ่งที่เขากำลังแสดงออก คือ การไม่เชื่อในระบบของอเมริกัน เพราะฉะนั้นจึงมักมีการอ้างอยู่เสมอว่า มีการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งลึกๆ ของเรื่องนี้ น่าจะเป็นเพราะ ทรัมป์ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดมาตั้งแต่ความพยายามสร้างเหตุจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ แล้ว”
ความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง :
การที่กลุ่มของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากฝ่ายตัวเองพ่ายแพ้ และพยายามเน้นย้ำว่า ในกรณีที่พ่ายแพ้เป็นเพราะมีการโกงการเลือกตั้งนั้น อาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นตามมาได้
การ Come Back ของ โดนัลด์ ทรัมป์ :
แม้จะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่จากผลล่าสุดจะเห็นได้ว่า กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น สภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) สภาบน (วุฒิสภา) และผู้ว่าการรัฐ ได้รับชัยชนะมากพอสมควร ทำให้เชื่อว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 อย่างแน่นอน
รัฐประหารโดยไม่ใช้กำลังทหาร :
สิ่งที่น่ากลัวหลังการ Come Back ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" คือ ความพยายามทำรัฐประหารในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ใช้กำลังทหาร
“ทรัมป์ พยายามตอกย้ำกับผู้สนับสนุนของตัวเองเสมอว่า มีการโกงการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้เขาจึงพยายามทำรัฐประหารโดยไม่ใช้กำลังทหาร ผ่านวิธีการบิดเบือนผลคะแนน โดยการบีบบรรดา “คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี” ซึ่งเป็นตัวแทนจากแต่ละรัฐตามสัดส่วนประชากร และมีหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่โหวตเลือกประธานาธิบดีตามผลคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน”
...
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้นั้น ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ แต่ ณ ปัจจุบัน เริ่มมีความสุ่มเสี่ยงอยู่บ้างแล้วในประเด็นนี้ เพราะในบางรัฐเริ่มมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เพื่อให้สภาท้องถิ่น เป็นผู้ตัดสินในประเด็นนี้
รวมถึงยังมีความพยายามยกเลิกการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มักจะเป็นคะแนนเสียงที่เลือกพรรคเดโมแครตเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งการลดเวลาสำหรับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ไปลงคะแนนเสียงล่าช้าก็มักจะเป็นคนที่เลือกพรรคเดโมแครตอีกเช่นกัน
อีกประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยง และอาจเป็นผลให้ โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถหยิบฉวยมาใช้เพื่อบิดเบือนผลการเลือกตั้ง คือ ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา หากมี ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ประกาศว่าไม่เชื่อในผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นมา ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นจะถูกตัดสินโดยคะแนนเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ซึ่งหากกรณีเช่นนั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสเป็นคนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มันคงเป็นเรื่องที่สร้างความปั่นป่วนต่อระบอบการเมืองของสหรัฐอเมริกาในอนาคตอย่างแน่นอน
...
“ปัจจุบันเริ่มมีนักวิเคราะห์ทางการเมืองในสหรัฐฯ มองว่า การ Come Back ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจนำไปสู่วิกฤติรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญในสหรัฐฯ ขึ้นได้”
และประการสุดท้าย...ปากท้อง สำคัญกว่า การเมือง :
สำหรับคนอเมริกันแม้จะรู้ดีว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวคิดในแบบอำนาจนิยม อีกทั้งยังมีประวัติสีเทาหลายต่อหลายเรื่อง เช่น การหลบเลี่ยงภาษี, ขโมยเอกสารลับของทางการราชการ หรือแม้กระทั่งทัศนคติในเชิงลบต่อระบอบการเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ คนอเมริกันส่วนหนึ่ง กลับมองข้ามเรื่องฉาวๆ เหล่านี้ไปและให้ความสำคัญ กับประเด็นปัญหาเรื่องปากท้อง หรือปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า จนเป็นผลให้พรรคเดโมแครตตกที่นั่งลำบาก
“ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากราคาพลังงาน เงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ กลายเป็นจุดเปราะบางที่ทำให้พรรคเดโมแครต ประสบความยากลำบากในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง”
...
โซเชียลมีเดีย ตัวแปร ผลการเลือกตั้ง :
ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ เพราะ "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ยังคงสามารถทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ “หลงเชื่อ” ได้อยู่ต่อไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนประเด็นจากแง่ลบ กลายเป็น แง่บวก ได้อย่างเหลือเชื่อ
ความพ่ายแพ้ของเดโมแครต :
“ในความเป็นจริงแล้ว ผลการเลือกตั้งกลางเทอมส่วนใหญ่ ความพ่ายแพ้ของประธานาธิบดีไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตก”
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การเมืองแบบอเมริกัน” นั้น ในการเลือกตั้งกลางเทอมส่วนใหญ่ ชาวอเมริกันมักจะนิยมเลือกพรรคตรงข้ามกับประธานาธิบดี เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจนั่นคือ ข้อแรก
ข้อที่สอง ระบบการเมืองแบบประธานาธิบดีไม่เหมือนกับระบบรัฐสภา เพราะระบบรัฐสภา รัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี มาจากสภา ฉะนั้น สภาจึงสามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาได้
แต่ในระบบอเมริกันนั้น ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะฉะนั้นประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีก็ยุบสภาไม่ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมจะออกมาเป็นอย่างไร ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังคงทำหน้าที่ประธานาธิบดีต่อไป
ข้อที่สาม ระบบการเมืองของสหรัฐฯ ไม่เหมือนกับ ระบบการเมืองในยุโรป พรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ก็ไม่เหมือนกับ พรรคการเมืองต่างๆ ในยุโรป เพราะพรรคการเมืองในยุโรปจะมีระบบในการควบคุม แต่สำหรับกรณีของสหรัฐฯ ภายในพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน จะมีกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขวาจัด กลุ่มกลางๆ หรือ กลุ่มซ้ายจัด ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ นักการเมืองในสหรัฐฯ ต้องให้ความสนใจกับเสียงเรียกร้องและความเห็นของประชาชนที่เลือกตัวเองเข้ามา เพราะหากไม่ยินยอมทำตามเช่นนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนก็จะไม่ยอมเลือกให้กลับเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส. หรือ ส.ว. แน่นอน
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถลงไปประสานพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่แม้ว่าจะอยู่พรรคตรงกันข้ามแต่มีจุดยืนตรงกัน เพื่อหาทางประนีประนอมในการเดินหน้าผลักดันกฎหมายต่างๆ ในการบริหารประเทศได้ แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะยากลำบากไปบ้างในการประสานงานก็ตาม ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังสามารถใช้อำนาจออกกฎหมายพิเศษที่เรียกว่า คำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ได้อีกด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง