การเปลี่ยนถ่ายสู่เจ้าของรายใหม่ นาม "อีลอน มัสก์" (Elon Musk) ที่มาพร้อมการประกาศจุดยืนสำคัญว่าจะทำให้ "ทวิตเตอร์" (Twitter) กลายเป็น “พื้นที่แห่งเสรีภาพในการพูดแบบไร้ขีดจำกัด” กลับนำไปสู่การตั้งคำถามกลับจากบรรดาสารพัดแบรนด์ ว่า “เสรีภาพในการพูดแบบไร้ขีดจำกัด” ที่ว่านี้ จะทำให้บรรดา “ข้อมูลเท็จหรือคำพูดสร้างความเกลียดชังต่างๆ” ซึ่งนอกจากจะถือเป็น “จุดด่างพร้อย” ของแพลตฟอร์ม ที่ต้องพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอดแล้ว ยังมีผลทำให้ “ชื่อเสียงของแบรนด์ต่างๆ” ที่มาลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ ต้องพลอยมัวหมองตามไปด้วยนั้น จะคืนชีพกลับมาท่วมท้น “ทวิตภพ” อีกครั้งหรือไม่?

อีลอน มัสก์ กับ เสรีภาพในการพูด :

ความวิตกกังวลถึง “เสรีภาพในการพูดแบบไร้ขีดจำกัด” ตามนิยามของ “อีลอน มัสก์” ได้ถูกกระตุกให้เกิดความน่าหวาดหวั่นมากขึ้น หลัง “เจ้าพ่อเทสลา” ทวีตข้อความถึงกรณี นายพอล เพโลซี สามีของ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ถูกคนร้ายบุกใช้ค้อนทุบศีรษะจนได้รับบาดเจ็บสาหัส พร้อม Link ทฤษฎีเสียงลือเล่าอ้างในโลกออนไลน์ ก่อนที่เจ้าตัวจะยอมลบทวีตดังกล่าวทิ้งในเวลาต่อมา หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

...

ทั้งนี้ พฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์ที่ล่อแหลมในลักษณะนี้ของ “อีลอน มัสก์” ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะในอดีต “เจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์” ได้เคยทวีตข้อความที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทวีตแสดงความเกลียดชังจนหวิดจะถูกดำเนินคดี, การทวีตโจมตีกลุ่มผู้สนับสนุนด้านความปลอดภัยยานยนต์ที่เป็นปรปักษ์ กับรถยนต์เทสลา หรือแม้กระทั่งกรณีการทวีตข้อความที่ส่อไปในทาง “ปั่นราคาหุ้นและคริปโตฯ” จนถูกคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ลงดาบมาแล้ว

รวมถึงที่ผ่านมา “อีลอน มัสก์” ยังได้ประกาศจุดยืนต่อต้านการแบนบัญชีทวิตเตอร์ที่ละเมิดต่อมาตรฐานชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ บัญชีทวิตเตอร์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกแบนมายาวนานตั้งแต่เหตุการณ์การจลาจลที่รัฐสภาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงได้ถูก “ยกเลิก” หลังเจ้าของคนใหม่ก้าวขึ้นยึดอาณาจักรแห่งนี้ได้สำเร็จ

อีลอน มัสก์ กับ แรงต่อต้าน :

เมื่อ “ความวิตกกังวล” มาบรรจบกับ “ความคลุมเครือ” เรื่องทิศทางในอนาคตโดยเฉพาะในประเด็นการกลั่นกรองเนื้อหา กลุ่มเครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชนมากกว่า 40 องค์กร ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ มูลนิธิสิทธิเพื่อคนผิวสีในสหรัฐฯ (National Association for the Advancement of Colored People) หรือ NAACP จึงได้ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง 20 บริษัทที่ลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ ให้ยุติการเป็นพันธมิตรแพลตฟอร์ม หาก “อีลอน มัสก์” ยังคงกล้าที่จะเดินหน้าพาทวิตเตอร์ไปสู่ “เสรีภาพในการพูดแบบไร้ขีดจำกัด” ที่ปราศจากการกลั่นกรองเนื้อหา จนกลายเป็นศูนย์รวมการแพร่เรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ข้อมูลเท็จ ทฤษฎีสมคบคิด รวมถึงวาจาสร้างความเกลียดชังต่างๆ

...

โดยแรงสั่นสะเทือนนี้ เป็นผลให้ General Motors หรือ GM รวมถึง อาวดี้ (Audi) ยักษ์ใหญ่แห่งโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัดสินใจประกาศยุติการลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ (Twitter) ชั่วคราว โดยอ้างว่า ต้องการทำความเข้าใจกับทิศทางใหม่ของทวิตเตอร์ หลังการเปลี่ยนมือไปสู่ “อีลอน มัสก์” และหลังจากนั้นไม่นานมีรายงานว่า “Interpublic Group หรือ IPG บริษัทเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีแบรนด์ดังอย่าง โคคา-โคลา, อเมริกันเอ็กซ์เพรส, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และ นินเทนโด อยู่ภายใต้การดูแล ได้แนะนำให้ลูกค้าหยุดการโฆษณาลงบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ชั่วคราวด้วยเช่นกัน

อีลอน มัสก์ หลังการครอบครองทวิตเตอร์ :

เพียงแค่มีข่าวว่า “อีลอน มัสก์” ปิดดีลทวิตเตอร์ลงได้สำเร็จ โพสต์ที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง (Hate speech) ได้เพิ่มขึ้นถึง 1,300% ทันที แถมในช่วงที่พีกที่สุด คำพูดแสดงความเกลียดชังที่ว่านี้ ยังปรากฏอยู่บนทวิตเตอร์มากถึง 170 ครั้งภายในเวลาเพียง 5 นาที จากรายงานของ Dataminr บริษัทวิเคราะห์สื่อออนไลน์ชื่อดัง

...

นักวิจัยจาก Montclair State University ระบุว่า เพียง 12 ชั่วโมง หลัง “อีลอน มัสก์” เป็นเจ้าของทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการ “โลกทวิตเตอร์” เต็มไปด้วย “สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร” (Hostile Environment) มากขึ้น โดยเฉพาะคำพูดสร้างความเกลียดชังที่ทั้งหยาบคายและไม่เป็นมิตร โดยมุ่งเป้าไปการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์ เป็นหลัก

โดยตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่ “อีลอน มัสก์” เข้าครอบครองทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการจนถึงช่วงเที่ยงวัน มีทวีตข้อความแสดงความเกลียดชังมากถึง 4,778 ทวีต หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยมากกว่า 398 ทวีตต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงระยะเวลา 7 วันก่อนหน้านี้ (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 84 ทวีตต่อชั่วโมง) ถึง 4.7 เท่า! และข้อความ Hate Speech เหล่านี้ สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า 3 ล้านคน บนทวิตภพอีกด้วย

...

ทั้งนี้ ผู้ทำวิจัยดังกล่าว ได้ให้ความเห็นถึงปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของ Hate Speech ในครั้งนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดจาก “ผู้ใช้วาจาสร้างความเกลียดชังเหล่านั้น” รู้สึกว่าตนเองจะไม่ถูก “แบน” หรือ “ระงับบัญชีชั่วคราว” จากทวิตเตอร์อีกต่อไป นอกจากนี้ การที่มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไร้ซึ่งการควบคุม ยังอาจเป็นตัวกระตุ้นให้สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้งานได้อีกด้วย

อีลอน มัสก์ กับการกลั่นกรองเนื้อหา :

แม้จะถูกดาหน้ากดดันและตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานการกลั่นกรองเนื้อหาบนทวิตภพอย่างหนักหน่วง แต่ “อีลอน มัสก์” กลับยังคงไม่มี “คำตอบ” ในประเด็นนี้อย่างชัดเจน และเลือกที่จะ “ซื้อเวลา” โดยการเลื่อนการตัดสินใจเรื่อง "มาตรฐานการกลั่นกรองเนื้อหาต่างๆ ที่ชัดเจน" รวมถึงการปลดแบนบัญชีที่ละเมิดมาตรฐานชุมชนก่อนหน้านี้ออกไป หลังการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นจากทุกมุมมองในประเด็นร้อนนี้

และนี่คือ...อีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตา ของ “ทวิตเตอร์” ภายใต้เจ้าของคนใหม่ที่มีชื่อว่า “อีลอน มัสก์”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :