ความพยายามสืบค้นหาสาเหตุ "โศกนาฏกรรมอิแทวอน" ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 156 ศพ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย.) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ภายใต้การให้คำมั่นของรัฐบาลเกาหลีใต้ว่า "จะทำความจริงให้ปรากฏ" และล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ ได้ออกแถลงการณ์ "ขอโทษประชาชน" หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในเรื่องการบริหารจัดการควบคุมฝูงชนที่ล้มเหลวจนนำไปสู่เหตุสลดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ประธานาธิบดียูน ซอค ยอล (Yoon Suk-Yeol) แห่งเกาหลีใต้ นำคณะรัฐมนตรีเข้าแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตจาก โศกนาฏกรรมอิแทวอน
ประธานาธิบดียูน ซอค ยอล (Yoon Suk-Yeol) แห่งเกาหลีใต้ นำคณะรัฐมนตรีเข้าแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตจาก โศกนาฏกรรมอิแทวอน

...

อะไรคือความล้มเหลวที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเกาหลีใต้ต่อกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงอนาคตของย่านสถานบันเทิงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาหลีใต้จะเป็นอย่างไร วันนี้ "เรา" ค่อยๆ ไปไล่เรียงกันทีละประเด็น...

เหตุปัจจัยจากมุมของประชาชนและนักวิเคราะห์ ที่คาดว่าอาจนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอน : 

1. การรวมตัวของฝูงชนจำนวนมาก

ตามข้อมูลของ "สถานีรถไฟใต้ดินกรุงโซล" ระบุว่า มีประชาชนเดินทางไปและกลับที่สถานีอิแทวอน เพื่อมาร่วมงานเทศกาลฮาโลวีนในวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. มีจำนวนมากกว่า 100,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตามปกติในช่วงสุดสัปดาห์ถึง 3 เท่า อย่างไรก็ดีตัวเลขมากกว่า 100,000 คนที่ว่านี้ ยังคงต่ำกว่าจำนวนคนมากกว่า 200,000 คน ที่ออกมาร่วมงานเทศกาลฮาโลวีน เมื่อปี 2017 มากกว่าหนึ่งเท่า และมันยิ่งห่างไกลเข้าไปอีกกับจำนวนชาวเกาหลีใต้มากกว่า 1,000,000 คน ที่ออกมารวมตัวกันเต็มท้องถนนใจกลางกรุงโซล เพื่อร่วมเชียร์ทีมชาติเกาหลีใต้ในศึกฟุตบอลโลกปี 2002 หากแต่ทั้ง 2 อีเวนต์นี้กลับไม่ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันจนนำไปสู่ความโศกสลดแต่อย่างใด

โดยปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ทั้งชาวเกาหลีใต้และชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปีต้นๆ ต่างมุ่งหน้าไปยังย่านอิแทวอนในวันนั้น เป็นเพราะถือเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนที่ไม่มีหน้ากากอนามัยหรือข้อจำกัดต่างๆ เข้ามาขวางกั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ของเกาหลีใต้ อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา มีรายงานด้วยว่า วัยรุ่นชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้านพักเพื่อความปลอดภัยมาอย่างยาวนานด้วย

2. งานเทศกาลฮาโลวีน ที่ไร้ผู้รับผิดชอบ :

งานเทศกาลฮาโลวีนถึงแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันตก แต่ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลการเฉลิมฉลองที่ได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวของเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้ "อิแทวอน" ซึ่งถือเป็นย่านสถานบันเทิงชื่อดังย่อมเรียกร้องความสนใจจากผู้คนสายปาร์ตี้ได้ในทุกๆ ปี

หากแต่...งานเทศกาลฮาโลวีนที่อิแทวอนนั้น เป็นเพียงการรวมตัวกันหลวมๆ ของบรรดาเจ้าของกิจการต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการจัดงานของทางราชการแต่อย่างใด โดยตามรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า บรรดาเจ้าของกิจการมีการหารือเรื่องการจัดงานในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงการทำความสะอาดถนนหลังจบงานเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการหารือในเรื่องมาตรการควบคุมความปลอดภัยต่างๆ แต่อย่างใด

และในเมื่อการจัดการฮาโลวีนที่อิแทวอนไม่มีผู้รับผิดชอบในการจัดงานอย่างแท้จริง มันจึงยังไม่มีความชัดเจนว่า “ใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฎหมาย” ต่อเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

...

3. การเข้าควบคุมสถานการณ์ที่ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ :

สื่อมวลชนท้องถิ่นของเกาหลีใต้และสื่อมวลชนต่างชาติ ต่างตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ตรงกันว่า เมื่อได้มีการประมวลข้อมูลจากคลิปวิดีโอต่างๆ ที่มีการถ่ายภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ซึ่งปรากฏอยู่ตามโซเชียลมีเดียแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า “แทบไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัวเพื่อคอยทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนอยู่เลย”

ซึ่งการที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ รวมถึงไม่มีการวางแผนการเพื่อควบคุมฝูงชนไว้ล่วงหน้า จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพทั้งในแง่การบริหารจัดการฝูงชนรวมถึงการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จนกระทั่งไม่สามารถปรับแผนต่างๆ เพื่อรองรับในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ตำรวจเกาหลีใต้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตอีกว่า เหตุใดจึงไม่มีการนำโซเชียลมีเดียหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ มาใช้เพื่อการควบคุมฝูงชน เช่น การแจ้งเตือนหลังพบว่ามีจำนวนคนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่จนเกินควบคุม, การปิดการจราจรเพื่อหยุดฝูงชนเข้าพื้นที่, การใช้โดรนหรือกล้องวงจรปิดตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการแนะนำปัญหาการจราจรต่างๆ ก่อนจะเกิดเหตุโศกนาฏกรรม

...

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของเกาหลีใต้ ระบุว่าได้ส่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ 137 นาย เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ย่านอิแทวอนในวันเกิดเหตุ ซึ่งถือเป็นจำนวนกำลังพลที่มากกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว (ปี 2021) อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนท้องถิ่นได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า เมื่อปี 2021 มีผู้คนไปรวมกันที่ย่านอิแทวอนเพียงประมาณ 59,000 คนเท่านั้น นอกจากนี้ตามรายงานการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันดังกล่าว ยังมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบการใช้ยาเสพติดและการควบคุมการจราจรมากกว่าการเข้าควบคุมฝูงชนด้วย

4. งานฮาโลวีนและเสียงดนตรี :

การที่ผู้คนแต่งกายในชุดต่างๆ เพื่อมาร่วมงานเทศกาลฮาโลวีน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนในย่านดังกล่าวรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างล่าช้า นั่นเป็นเพราะการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยกู้ภัยถูกเข้าใจผิดในตอนแรกๆ ว่า "เป็นเพียงกลุ่มคนที่เดินทางมาร่วมงานเท่านั้น"

นอกจากนี้ เสียงดนตรีจากร้านรวงต่างๆ ที่เปิดเสียงดังสนั่น ยังทำให้การสื่อสารในบริเวณดังกล่าวโดยเฉพาะเสียงตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ รวมถึงเสียงตะโกนให้กลุ่มคนเคลื่อนตัวออกไปทำได้อย่างยากลำบาก และยังทำให้ผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นไม่รู้อีกด้วยว่า “กำลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น”

...

การร้องขอจากญาติและผู้ประสบเหตุ :

หลังคลิปเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอน ถูกเผยแพร่ราวกับไฟลามทุ่งในโลกโซเชียลมีเดย นอกจากรัฐบาลเกาหลีใต้ จะออกมาเรียกร้องให้ประชาชน “แสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตและญาติรวมถึงผู้ที่ประสบเหตุ” ด้วยการ “งดแชร์ภาพ คลิปวิดีโอหรือคอมเมนต์แสดงความเกลียดชังต่างๆ” จากเหตุการณ์ในวันนั้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในเกาหลีใต้ ยังได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนคำร้องขอดังกล่าวของรัฐบาลด้วย โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวนอกจากจะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้เสียชีวิตและญาติ รวมถึงผู้คนจำนวนมากที่ได้เห็นคลิปเหล่านั้นด้วย

เพราะการเห็นภาพโศกนาฏกรรมซ้ำไปซ้ำมา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตจนกระทั่งทำให้เป็นโรควิตกกังวล (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ PTSD ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการได้สัมผัสกับเหตุการณ์ตึงเครียดหรือน่าหวาดกลัว จนกระทั่งทำให้เกิดอาการวิตกจริต

อนาคตของย่านอิแทวอน :

ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อันเข้มงวด ระหว่างปี 2020-2021 ทำให้ร้านอาหารและสถานบันเทิงหลายแห่งในอิแทวอนต้องปิดตัวลง ทั้งๆ ที่ย่านสถานบันเทิงนี้กำลังกลายเป็นจุดโฟกัสสำคัญของการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ อันเป็นผลมาจากซีรีส์สุดฮิต “Itaewon Class” ก่อนที่จะค่อยๆ กลับมาทยอยเปิดกิจการกันอีกครั้งอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ลง

ด้วยเหตุนี้ เทศกาลฮาโลวีน 2022 ซึ่งถือเป็นงานเฉลิมฉลองครั้งแรกหลังการ “ปลดหน้ากาก” ในรอบ 3 ปี จึงกลายเป็น “ประกายแสงแห่งความหวัง” ในการฟื้นตัวของผู้ประกอบการย่านอิแทวอนไปโดยปริยาย แต่แล้วเมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก “การฟื้นตัวของย่านธุรกิจสำคัญนี้" จึงตกอยู่ภายใต้คำถามอีกครั้ง โดยปัจจุบันร้านอาหารและสถานบันเทิงในย่านดังกล่าว ได้ประกาศปิดร้านชั่วคราวเพื่อเป็นการแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต ในขณะที่บางแห่งมีรายงานว่า อาจตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีได้หรือไม่

ทั้งนี้ตามข้อมูลของ Korea Real Estate Board ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ของเกาหลีใต้ ระบุว่า “อัตราห้องเช่าว่าง” (Vacancy Rates) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ในย่านอิแทวอน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วงจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเกาหลีใต้ช่วงปลายปี 2020

อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่ปี 2021 หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ “อัตราห้องเช่าว่างดังกล่าว” ลดลงมาอยู่ที่เพียง 7% ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “ย่านอิแทวอนกำลังจะฟื้นตัวจากความซบเซาได้แล้ว”

หากแต่ “โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น” อาจทำให้ “การฟื้นตัวของอิแทวอน” กลับไปสู่จุดที่ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า “บาดแผลทางใจ” ที่เกิดขึ้นกับชาวเกาหลีใต้จะสิ้นสุดลงได้เมื่อไหร่ และในระยะเวลาสั้นๆ นี้ คงไม่มีใครอยากจะเดินทางกลับไปในสถานที่ที่ตัวเองเคยต้องพบเจอเรื่องที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในชีวิตแน่นอน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน