เหตุสะเทือนขวัญ อดีตตำรวจกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เป็นประเด็นที่ต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เคยเกิดเหตุในลักษณะนี้ และนำไปสู่แนวทางการแก้ไข ทั้งการทำหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงการจัดการอาวุธปืนที่เป็นต้นตอการก่อเหตุ
“สุวิทย์ ยงหวาน” อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา กว่า 28 ปี เล่าถึงการระงับเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ว่า ตำรวจทุกโรงพักต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว สามารถเข้าไประงับเหตุได้ภายใน 3 นาที ในรถของหน่วยเคลื่อนที่เร็วมีอาวุธพร้อมหยุดยั้งคนร้ายทันที โดยหน่วยนี้จะมีอาวุธปืนในรถยนต์ 3 ประเภท คือ ปืนเอ็ม 4 คาร์บิน ปืนลูกซอง และปืนพกประจำกาย สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกันจะมีโล่ป้องกันกระสุน เพื่อใช้ในการป้องกัน
ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และอุปกรณ์การป้องกันที่เหมาะสมให้พร้อมรับกับเหตุร้าย ซึ่งต้องมีทุกโรงพัก จะได้ระงับเหตุได้ทันเวลา
สำหรับการเก็บหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาจะมีการทำงานที่รอบคอบ และเก็บหลักฐานในจุดต่างๆ โดยเร็ว เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในพื้นที่น้อยที่สุด ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์กราดยิงในรัฐโคโลราโด เมื่อปี พ.ศ.2540 ใช้เวลาเคลียร์สถานที่เกิดเหตุเกือบ 1 อาทิตย์ แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นตำรวจค่อยๆ พัฒนาการทำงานให้เร็วขึ้น ปัจจุบันใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่เฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง
...
“ทุกโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาจะมีตำรวจประจำอยู่ในโรงเรียน 2 คน ถ้ามีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของนักเรียน ตำรวจในโรงเรียนจะเข้าไประงับก่อนเกิดเหตุ ขณะเดียวกันตำรวจที่ไปฝังตัวในโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้กับตำรวนในท้องถิ่น เพราะผู้ก่อเหตุจะต้องเข้าเรียนในในระดับขั้นพื้นฐาน เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นและก่อเหตุอาชญากรรม ข้อมูลของเด็กคนนั้นจะถูกส่งต่อเพื่อทำการจับกุม หรือทำการควบคุมความประพฤติร่วมกับผู้ปกครอง”
สิ่งที่หน่วยงานรัฐของไทยควรทำคือ อบรมความรู้ให้กับครูและผู้เกี่ยวข้องถึงแนวทางป้องกันตัวเองหากเกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้น เพราะจากกรณีนี้เห็นได้ว่าหลายฝ่ายยังไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับเหตุร้ายนี้ได้อย่างไร สำหรับการจัดการความกดดันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีส่วนในการช่วยเหลือและป้องกันหากพบว่าเกิดความเครียดทั้งจากเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว โดยในสหรัฐอเมริกา ผู้กำกับจะประเมินผลการทำงานทุกเดือน หากเห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานของลูกน้องลดลง จะต้องเข้าไปพูดคุย หรือถ้าเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นความผิดปกติจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาทันที
“สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่อยากให้มองตำรวจไทยแบบเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดี แต่ตำรวจดียังมีมาก เพียงแต่ว่าประชาชนจะต้องช่วยสนับสนุนการทำงาน และคอยเป็นหูเป็นตาหากเกิดเหตุร้ายขึ้นในชุมชน ซึ่งจะทำให้การทำงานของตำรวจสะดวกมากขึ้น”
ตำรวจอังกฤษห้ามพกปืนนอกเวลาราชการ
Aaron Le Boutillier อดีตตำรวจในประเทศอังกฤษ เล่าถึงปมการก่อเหตุร้ายว่า กรณีกราดยิงที่เกิดขึ้นในไทย สาเหตุหลักมาจากปัญหาส่วนบุคคล อาวุธปืนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนร้ายขาดความยับยั้งชั่งใจและก่อเหตุขึ้น เพราะจากการวิจัยอาชญากรรมทั่วโลกพบว่า เมื่อคนร้ายมีอาวุธปืนในครอบครองจะมีความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม จนส่งผลให้เกิดความรุนแรง
“เหตุการณ์กราดยิงในอังกฤษเคยเกิดขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในการแก้กฎหมายให้คนที่มีอาวุธปืนเถื่อน นำมามอบให้กับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นโดยไม่มีความผิด และมอบเงินให้กับคนที่นำปืนมามอบให้ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีปืนกว่า 1 ล้านกระบอกที่ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ จนต่อมาเหตุอาชญากรรมในเมืองลดลง”
สำหรับการครอบครองอาวุธปืนของตำรวจอังกฤษ จะห้ามพกปืนหลังเลิกงาน โดยปืนที่ใช้ถือเป็นของราชการ ต้องเบิกจ่ายอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนทำงานและเลิกงาน หากตรวจพบว่ามีกระสุนปืนหายไปเพียงแค่ 1 นัด ต้องถูกตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่หายไป ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถตอบได้ จะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งย้ายให้ไปทำงานในหน่วยที่ไม่ต้องพกปืน ซึ่งเป็นลักษณะการทำโทษโดยลดตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน
...
“ในอังกฤษเมื่อเกิดเหตุกราดยิง หรือการก่อเหตุร้ายแรง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมหารือกันเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานและหาแนวทางแก้ไขทันที เห็นได้ในหลายกรณีที่ผ่านมาในการแก้กฎหมายเพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม ซึ่งหน่วยงานรัฐของไทยควรมีมาตรการป้องกันหลังจากนี้”
“รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา “เหตุกราดยิง อีกกี่บทเรียนที่ต้องถอด” ว่า เหตุร้ายในครั้งนี้ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมาทบทวนการตรวจสอบสารเสพติดในร่างกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ รวมถึงต้องมีการประเมินสุขภาพจิต ถ้าคนที่ไม่ผ่านผู้บังคับบัญชาควรมีมาตรการช่วยเหลือ
ขณะเดียวกันต้องมีประเมินสุขภาพจิตรายบุคคล ในกรณีที่มีปืนไว้ในครอบครองหลังจากพ้นราชการแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้นำอาวุธปืนไปก่อเหตุจนส่งผลร้ายต่อประชาชนทั่วไปได้.