• เกมใหม่ต้องจับตาระหว่างรัสเซียและยูเครนในการทำสงคราม อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เป็นไปได้ จากปฏิกิริยาความเคลื่อนไหวของผู้นำทั้งสองประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ความขัดแย้งไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ด้วยการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างแน่นอน

  • เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครน ทั้งโดเนตสก์, ลูฮันสก์, ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน มาเป็นของรัสเซียอ้างว่าเป็นเจตจำนงของประชาชนจากการทำประชามติ และจะปกป้องเหมือนแผ่นดินแม่ ไม่สนชาติตะวันตกจะมองว่าไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย และหากยูเครนโจมตีดินแดนดังกล่าว ทางรัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์

  • ห่างกันไม่กี่ชั่วโมงโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ประกาศยื่นใบสมัครอย่างเร่งด่วนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซีย และเป็นวิธีขั้นเด็ดขาดปกป้องชาวยูเครนทั้งหมด ซึ่งการเจรจาจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้นำรัสเซียคนอื่น ที่ไม่ใช่ปูติน

  • ปัจจุบันยูเครนเป็นประเทศหุ้นส่วน อาจได้รับอนุญาตเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตในอนาคต ที่ผ่านมานาโตระวังเป็นอย่างมากไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย แต่ให้การช่วยเหลือยูเครนอย่างเต็มที่ทั้งด้านกำลังและอาวุธ

  • หากชาติสมาชิกนาโตรับรองยูเครน ก็เท่ากับประกาศเผชิญหน้ากับรัสเซียอย่างชัดเจน และก่อนหน้านั้นรัสเซีย ต้องการให้มหาอำนาจชาติตะวันตก รับประกันจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ข้อเรียกร้องของรัสเซียถูกปฏิเสธไป

...

สงครามรัสเซียกับยูเครน อาจยกระดับขึ้นมีความเสี่ยงสูงจะใช้อาวุธมหาประลัยรุนแรงหรือไม่ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า ขณะนี้ปูติน เอาตัวเองเป็นเดิมพัน จนถลำลึกมากขึ้น เพราะไม่สามารถยึดยูเครนได้ จากการตอบโต้ทุกวิถีทางของยูเครน ภายใต้การช่วยเหลือทางด้านกำลังและอาวุธของชาติตะวันตก ทำให้ทหารรัสเซียขวัญเสียและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และถ้าปูติน ไม่ทำอะไรก็จะยิ่งพ่ายแพ้ หมดความน่าเชื่อถือกับคนในประเทศ

“การผนวกดินแดนของยูเครน มาเป็นของรัสเซีย เป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้ใจคนในรัสเซีย ทั้งที่ทหารล้มตายไปเยอะหลายหมื่นนาย รถถังถูกทำลายในสนามรบเป็นจำนวนมาก หากเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็จะแย่ และการระดมกำลังพลสำรองที่ผ่านมาก็ล้มเหลว มีความสุ่มเสี่ยงจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อล้มกระดานก็ได้ เหมือนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น โดยอ้างว่าเพื่อยุติสงคราม ซึ่งรัสเซียอาจทำอย่างนี้ก็ได้”

การที่เซเลนสกี จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฟังจากเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ได้ออกมาพูดว่าทุกประเทศสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ แต่การจะได้เป็นสมาชิกหรือไม่ขึ้นอยู่ประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเป็นการออกมาพูดเหมือนแบ่งรับแบ่งสู้ และประเด็นอยู่ที่ว่ายูเครนสมัครทิ้งเอาไว้ แต่คงไม่มีโอกาสได้เป็นสมาชิกนาโตในเวลาอันใกล้ เพราะไม่เช่นนั้นคงได้เป็นสมาชิกตั้งแต่ต้นก่อนรัสเซียบุกยูเครน โดยนาโตยังคงให้การสนับสนุนช่วยเหลือทั้งกำลัง และอาวุธในการตอบโต้รัสเซีย เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรง

ย้อนไปในยุคสงครามเย็นมีการทำสงครามอยู่ตลอดเวลาระหว่างชาติมหาอำนาจ โดยช่วงสงครามเวียดนามฝ่ายรัสเซียให้การสนับสนุนเวียดนามเหนือ ส่วนสหรัฐฯสนับสนุนเวียดนามใต้ แต่ก็ไม่โจมตีรัสเซียโดยตรง หรือยุคแรกช่วงสงครามเกาหลี รัสเซียได้ขับเครื่องบินรบซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องพันธมิตรฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในช่วงนั้นจีนยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัสเซียมีแล้ว เป็นการใช้อาวุธเท่าที่จำเป็น เช่นเดียวกับกรณีรัสเซียกับยูเครน มีการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากดินแดนที่รัสเซียเพิ่งยึดมาถูกละเมิด

“ตรรกะอันนี้ทางยูเครน สามารถนำมาใช้ได้หากถูกรุกรานในการใช้อาวุธอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ชาติตะวันตกจะส่งอาวุธอะไรไปให้ หรือจะส่งนิวเคลียร์ไปให้หรือเปล่า เพราะยูเครนไม่มีนิวเคลียร์ จากบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ ในปี 1994 ร่วมกับรัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐฯ มีการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด เพื่อแลกกับเอกราชไม่ให้คุกคาม หรือใช้กำลังกับยูเครน หลังแยกตัวจากสหภาพโซเวียต”

...

การข่มขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจ แต่ครั้งนี้จะเห็นว่าโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ บอกกับปูติน หากใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครน ถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรง แต่ไม่ได้บอกในรายละเอียดว่าจะอย่างไรต่อไป เป็นการส่งเอกสารเป็นการส่วนตัวให้กับรัสเซียเท่านั้น ไม่ได้พูดในที่สาธารณะว่า สหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ยังคงสนับสนุนให้ยูเครนต่อไป จนขณะนี้รัสเซีย เข้าตาจนไม่สามารถยึดครองยูเครนได้

หรือแม้รัสเซียอ้างประชามติควบคุมดินแดนทั้ง 4 แคว้นของยูเครน แต่ได้ไม่ทั้งหมด ทำให้เสี่ยงถูกรุกตอบโต้ เพราะการผนวกดินแดนเป็นแค่แผ่นกระดาษ และในแง่กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีการยอมรับ แม้แต่จีนก็ไม่ยอมรับทั้งที่เป็นหุ้นส่วนกันกับรัสเซีย หรือประเทศในเอเชียกลางก็ไม่ยอมรับกับการกระทำของรัสเซีย ในการไปบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ลงประชามติ

สงครามรัสเซียกับยูเครน คงยืดเยื้อยาวนาน เพราะแม้ปูติน เสนอให้มีการเจรจาแต่เป็นแบบปูติน ซึ่งเซเลนสกี ก็ไม่ยอมรับ และจะต่อสู้ต่อไปภายใต้การสนับสนุนของชาติตะวันตก ส่วนปูติน ก็จะถลำลึกมากขึ้น ทำให้ต่างฝ่ายไม่ยอมกัน แต่ยิ่งทำให้รัสเซียจะเสียเปรียบในเวทีระหว่างประเทศ ในการทำผิดกฎบัตรสหประชาชาติ และสงครามจะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนในประเทศรัสเซีย แม้ว่าปูติน จะสามารถควบคุมได้ แต่อนาคตไม่แน่อาจมีอะไรมาเปลี่ยนแปลง หรือจนกว่าปูติน จะมีอันเป็นไป

...

“ปูติน กดดันมาก เพราะการรบไม่เป็นไปตามเป้า และพวกแปรพักตร์ก็ต้องการปูติน มาคุ้มครอง ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่เก็บเด็ดหัวทีละคน จากการรุกรานยูเครนของรัสเซียแบบไม่มีเหตุผล และประชาชนยูเครนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากอยู่กับรัสเซีย ทำให้การสู้รบไม่จบสิ้น โดยชาติตะวันตกก็ไม่ยอมให้ยูเครนเป็นของรัสเซีย แต่หากจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต จะกลายเป็นพันธะในการปกป้องยูเครน และเท่ากับเป็นการเผชิญหน้าโดยตรง หากจะทำก็ทำนานแล้วตั้งแต่แรก คงได้เห็นสงครามอีกยาวนานต่อไป”