รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นถึง 8.3% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 8.1% เมื่อเทียบแบบรายเดือน รวมถึง CPI พื้นฐานเดือนสิงหาคม ที่ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าควรจะอยู่ที่ระดับ 6.1% ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในช่วงฤดูร้อน กลายเป็น “แรงกระแทกสำคัญ” ที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงถึง 1,276.37 จุด หรือ 3.94% ไปปิดที่ 31,104.97 จุด S&P 500 ลดลง 4.32% ไปปิดที่ 3,932.69 จุด ซึ่งถือเป็นการลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ส่วน Nasdaq Composite ลดลง 5.16% ไปปิดที่ 11,633.57 จุด

การขยายตัวของเงินเฟ้อ :

หากเป็นสถานการณ์ปกติเมื่อห่วงโซ่อุปทานเริ่มผ่อนคลาย และราคาพลังงานปรับตัวลดลง เงินเฟ้อ จะค่อยๆ ปรับตัวลดลง หากแต่รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนสิงหาคมนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า “ไม่ได้เป็นเช่นนั้น” เพราะแม้ว่าราคาพลังงานจะลดลง 5% ในเดือนนี้ นำโดยดัชนีน้ำมันเบนซินที่ลดลง 10.6% แต่การลดลงเหล่านั้นถูกชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นในดัชนีกลุ่มอื่นๆ เช่น ดัชนีอาหารที่เพิ่มขึ้น 0.8%, ดัชนีค่าที่พักพิงซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของ CPI เพิ่มขึ้น 0.7%, ดัชนีบริการการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 0.8% และดัชนีราคารถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น 0.8% จนกระทั่งทำให้ เงินเฟ้อ ไม่ได้ลดลง

...

เฟด กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย :

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา "เฟด" ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4 ครั้ง และใน 2 ครั้งหลังสุด (มิ.ย. และ ก.ค.) เป็นการปรับขึ้นในอัตรา 0.75% ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25-2.50%

เพราะอะไรนักลงทุนจึงหวาดวิตก :

ความคาดหวังของนักลงทุนในเวลานี้ คือ "เฟด" ควรจะยังคงยึดมั่นนโยบายที่เรียกว่า "Soft-Landing" หรือ ความพยายามชะลอเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงให้ค่อยๆ ปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายระยะยาว โดยที่ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง และภาวะเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว แต่ไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ก่อนหน้านี้ บรรดานักลงทุนจึงคาดว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ เฟด น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ติดต่อกันอีกเป็นครั้งที่ 3

อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังกดไม่ลงตามรายงานล่าสุด อาจบีบบังคับ “เฟด” จำเป็นต้องใช้ความก้าวร้าวมากขึ้น และกินระยะเวลามากขึ้นกว่าที่คาดไว้ เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่ยังพุ่งไม่หยุดก็เป็นได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ “สัญญาณแรงตรงชัด” ของ "นายเจอโรม พาวเวลล์" ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เพิ่งออกมากล่าวยืนยันอย่างชัดเจนก่อนหน้านี้เพียงไม่นานว่า เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าภารกิจจะแล้วเสร็จ (เงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ 2%) แม้ว่าอาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ก็ตาม

เงินเฟ้อ และ โจ ไบเดน :

เงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม เป็นสิ่งที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่พึงปรารถนาอย่างแน่นอน เนื่องจากจะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญให้ฝ่ายพรรครีพับลิกันหยิบมาโจมตีในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมที่ใกล้มาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งยังทำให้การอ้างผลงานเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หลัง เฟด ออกมาแถลงยืนยันว่า การเติบโตของตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง และการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา สามารถคลายกังวลได้ระดับหนึ่งว่าสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ไม่สามารถพูดออกมาได้เต็มปากมากนักอีกด้วย

...

ความไม่แน่นอน :

ความเสี่ยงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงไม่ยุติ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถกระตุ้นความไม่แน่นอนเรื่องห่วงโซ่อุปทาน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาพลังงาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้อยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้มันจึงยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในขณะนี้ได้ว่า เงินเฟ้อพุ่งถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง รวมถึงเมื่อไหร่ที่จะปรับตัวลดลง.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :