• การเปลี่ยนผ่านรัชกาลใหม่ของสหราชอาณาจักร จากรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ภายหลังเสด็จสวรรคต มาสู่รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของสหราชอาณาจักร และการเปลี่ยนแปลงในประเทศเครือจักรภพ ภายหลังหลายประเทศเริ่มทยอยส่งสัญญาณจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ออกจากการเป็นประมุขของประเทศตามประเทศบาร์เบโดส

  • วิกฤติเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรและยุโรป ยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนและโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่และกษัตริย์องค์ใหม่ ต้องเผชิญร่วมกัน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานและราคาพลังงานพุ่งสูงจะเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงฤดูหนาว จากการคว่ำบาตรของรัสเซีย และท่าทีต่อสงครามในยูเครน จากนโยบายต่างประเทศย่อมส่งผลต่อดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก

  • พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสนพระทัยปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน น่าจะมีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายการค้าของสหราชอาณาจักรและยุโรป อาจนำมาสู่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม วิกฤติความแปรปรวนอย่างรุนแรงของภูมิอากาศ การอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ การทำลายพื้นที่ป่า และมลพิษในมหาสมุทร จะถูกนำมาหารือในเวทีนานาชาติ เพื่อความร่วมมือให้มากขึ้น

...

การเปลี่ยนผ่านรัชกาลใหม่ของสหราชอาณาจักร สู่รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือกษัตริย์ภายใต้กฎหมายตามพระราชประเพณี ได้สร้างเสถียรภาพต่อระบบการเมือง ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จากภาวะเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องทำหน้าที่แก้ปัญหา และท่าทีต่อปัญหาสงครามในยูเครน จากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ ย่อมส่งผลต่อดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการดำเนินการออกจากอียูให้เรียบร้อย การเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับไทยกับสหรัฐฯ และกับประเทศอื่นๆ แบบทวิภาคี และพหุภาคีกับอาเซียน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจในภูมิภาค

โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่-กษัตริย์องค์ใหม่ ต้องเผชิญร่วมกัน

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรและยุโรป เป็นประเด็นเร่งด่วนและประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลใหม่และกษัตริย์องค์ใหม่ต้องเผชิญร่วมกัน และปัญหาการขาดแคลนพลังงานและราคาพลังงานพุ่งสูงจะเป็นปัญหาใหญ่ของยุโรปในช่วงฤดูหนาว จากการคว่ำบาตรของรัสเซีย และการที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นผู้สนพระทัยอย่างยิ่งต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน คาดว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในยุโรปและสหราชอาณาจักร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการค้าของสหราชอาณาจักรและยุโรปที่ให้ความสำคัญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“อาจนำมาสู่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นวิกฤติการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศและความแปรปรวนอย่างรุนแรงของภูมิอากาศ ประเด็นอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ประเด็นการทำลายพื้นที่ป่า ประเด็นมลพิษในมหาสมุทร จะถูกนำมาหารือในเวทีนานาชาติเพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม แต่บทบาทของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในอดีตต่อประเด็นสาธารณะต่างๆ อาจลดได้ในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ต้องมีบทบาทในพระราชพิธี และงานพิธีการต่างๆ มากขึ้น”

นอกจากนี้ ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะถูกพูดถึงมากขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ใหม่ พร้อมกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นภาระทางการคลังต่อประชาชนผู้เสียภาษีให้น้อยลง ท่ามกลางปัญหาฐานะการคลังของรัฐบาลอังกฤษ กระแสสาธารณรัฐที่เพิ่มขึ้น ทั้งในสหราชอาณาจักร ในประเทศเครือจักรภพ และทั่วโลก จะทำให้ระบอบกษัตริย์อังกฤษต้องมีกษัตริย์ที่สอดคล้องกับยุคศตวรรษที่ 21 ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ มีพัฒนาการที่สอดคล้องกับยุคใหม่มากขึ้น

...

ประเทศในเครือจักรภพ ทยอยถอดสถาบันกษัตริย์

ในกรณีประเทศในเครือจักรภพจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ หรือทยอยถอด “กษัตริย์อังกฤษ” ออกจากการเป็นประมุขของประเทศ จะเกิดขึ้นตามประเทศมอริเชียสได้ดำเนินการยกเลิกระบอบกษัตริย์ไปเมื่อปี 2535 และประเทศบาร์เบโดส เมื่อปี 2564 มีการเลือกประมุขผ่านกลไกรัฐสภา และเปลี่ยนผ่านจากระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นระบอบประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง อย่างสันติด้วยการลงประชามติของประชาชน

“ประเทศบาร์เบโดส เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่การเป็นสาธารณรัฐเมื่อปีที่แล้ว ทางเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และประเทศเครือจักรภพ ได้เข้าร่วมงานพิธีเฉลิมฉลองนี้ด้วย ต่างกล่าวถึงการแสดงจุดยืนอันน่าชื่นชมของพระองค์ท่าน มีการยอมรับความผิดพลาดในอดีตของจักรวรรดิอังกฤษ ในการสร้างระบบทาสอันกดขี่ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และยอมรับถึงระบบทาสอันโหดร้าย ที่บาร์เบโดสเคยเผชิญมาในอดีตจากน้ำมือจักรวรรดิอังกฤษ จึงเชื่อมั่นว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ ของสหราชอาณาจักร จะร่วมกับประชาชนต่อต้านการเหยียดหยามเชื้อชาติหรือสีผิว และรณรงค์ให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสให้ลดน้อยลง เพื่อให้โลกมีสันติธรรม มีสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น”

ส่วนบทบาทของกษัตริย์พระองค์ใหม่ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ต่อปัญหาสงครามและความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อาจทำให้แนวโน้มของสงครามและผลกระทบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังได้ทรงแสดงสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยการกล่าวปฏิญาณว่า จะรับใช้ประชาชนสหราชอาณาจักรด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเคารพและความรัก (would serve the British people with loyalty, respect and love) และสนับสนุนยืนยันปกป้องหลักการของรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของประเทศ (Uphold the constitutional principles at the heart of our nation).

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา