ตลอดรัชสมัยของ "สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2" แห่งสหราชอาณาจักร ที่ยืนยาวมาร่วม 7 ทศวรรษ มีนายกรัฐมนตรีอังกฤษสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่รวมกันทั้งสิ้น 15 คน โดยทั้ง 15 คนนี้ มีทั้งนายกรัฐมนตรีที่มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ นายกรัฐมนตรีที่เกิดในสมัยการครองราชย์ของพระองค์ นายกรัฐมนตรีที่เป็นพระสหายสนิทตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงพระเยาว์ รวมไปจนกระทั่งถึง นายกรัฐมนตรีหญิง

ทั้ง 15 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เป็นท่านใดกันบ้างวันนี้ "เรา" ไปไล่เรียงกันทีละคน

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (ซ้าย)
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (ซ้าย)

1. วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) 1951-1955

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 25 พรรษา บุรุษแกร่งผู้พาอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวัยที่สูงถึง 80 ปี อย่างไรก็ดี วินสตัน เชอร์ชิลล์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่พระองค์ทรงชื่นชอบมากที่สุด เนื่องจากมีรายงานว่าเมื่อใดก็ตามที่พระสหายผู้สูงวัยได้เข้าเฝ้าฯ มักจะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครงอยู่เสมอ

...

2. แอนโทนี อีเดน (Anthony Eden) 1955-1957

วิกฤตการณ์คลองสุเอซซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและอียิปต์ ที่นำไปสู่การสูญเสียอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์ ต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน รวมถึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารลับของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้รับเอกสารลับจากทางรัฐบาลอังกฤษ

3. ฮาโรลด์ แมคมิลแลน (Harold Macmillan) 1957-1963

“ไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ แต่ยังมีพระสติปัญญาที่ชาญฉลาดและเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อด้วย” ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ อดีตนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ แมคมิลแลน จดไว้ในไดอารีหลังได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2

4. อเล็กซ์ ดักลาส-โฮม (Alec Douglas-Home) 1963-1964

อีกหนึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระสหายสนิทของพระองค์มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และพระองค์ยังทรงร้องขอให้ อเล็กซ์ ดักลาส-โฮม ช่วยตั้งชื่อม้าของพระองค์อีกหลายตัวด้วย

5. ฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) 1964-1970 และ 1974-1976

ฮาโรลด์ วิลสัน ซึ่งเป็นคนที่มีพื้นเพมาจากระดับฐานราก และเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน (Labour Partry) คนแรกในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระราชวังบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพระกระยาหาร นายกรัฐมนตรีท่านนี้มักจะชื่นชอบการเข้าไปช่วยทำความสะอาดในห้องครัวอยู่เสมอๆ

ซึ่งความอบอุ่นและเป็นกันเองที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้หลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้าฯ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ฮาโรลด์ วิลสัน จึงมักได้รับพระราชทานให้เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานเลี้ยงอำลาตำแหน่งที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งถือเป็นเกียรติที่พระองค์ทรงมอบให้กับ วินสตัน เชอร์ชิลล์ และ ฮาโรลด์ วิลสัน เท่านั้นอีกด้วย

6. เอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Edward Heath) 1970-1974

มุมมองต่อความเห็นในเรื่องที่อังกฤษควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปหรือไม่ ทำให้ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับ นายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีธ ที่สนับสนุนการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอย่างเต็มตัว

7. เจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan) 1976-1979

เจมส์ คัลลาฮาน เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเคยทูลฯ ถามความเห็นในเรื่องที่ยังตัดสินใจไม่ได้ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ “การหันพระพักตร์มาจ้องมองที่ใบหน้า” พร้อมกับมีพระราชดำรัสอย่างทรงมีอารมณ์ขันว่า “นี่คือสิ่งที่คุณได้รับ”

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (ขวา) มาร์กาเรต แทตเชอร์ (ซ้าย)
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (ขวา) มาร์กาเรต แทตเชอร์ (ซ้าย)

...

8. มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) 1979-1990

แม้จะมีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่าง สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 และ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กผู้นี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก แต่อดีตที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในงานเลี้ยงฉลองอายุครบ 80 ปี ของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งขณะนั้นเริ่มป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จนกระทั่งมักมีอาการหลงลืม นั้น พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์จับมือนายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้อย่างอ่อนโยนพร้อมกับพาเธอเดินไปทั่วงานเลี้ยงเพื่อทักทายกับแขกที่มาร่วมงานอย่างอบอุ่น

นอกจากนี้ เมื่อพระองค์เตรียมเสด็จฯ กลับ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้กล่าวว่าตนเองก็ควรกลับด้วยเช่นกัน พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสกลับไปอย่างอ่อนโยนว่า “เลดี้แทตเชอร์ คุณควรอยู่ในงานเลี้ยงต่อไปนะ เพราะนี่คืองานเลี้ยงของคุณ”

ดาวิด คาเมรอน (คนแรกทางซ้าย) , จอห์น เมเจอร์ , ควีนเอลิซาเบธที่ 2 , โทนี แบลร์ , กอร์ดอน บราวน์ เหล่าอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ดาวิด คาเมรอน (คนแรกทางซ้าย) , จอห์น เมเจอร์ , ควีนเอลิซาเบธที่ 2 , โทนี แบลร์ , กอร์ดอน บราวน์ เหล่าอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

...

9. จอห์น เมเจอร์ (John Major) 1990-1997

ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีในการนำพาอังกฤษฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สงครามอ่าวเปอร์เซียรอบแรก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา

10. โทนี แบลร์ (Tony Blair) 1997-2007

แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เกิดในรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แต่ โทนี แบลร์ กลับเป็นอีกหนึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับพระองค์ โดยเฉพาะความเห็นต่างเรื่องโบราณราชประเพณีต่างๆ ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงไม่เห็นด้วยนักที่ โทนี แบลร์ ให้ความสนิทชิดเชื้อกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ มากจนเกินไปด้วย

11. กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) 2007-2010

เชื่อกันว่า กอร์ดอน บราวน์ คืออีกหนึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นมากนักกับ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานอภิเษกสมรสของเจ้าชายวิลเลียม

12. เดวิด คาเมรอน (David Cameron) 2010-2016

นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 อย่างไรก็ดี เดวิด คาเมรอน ถือเป็นคนที่คุ้นเคยกับราชวงศ์อังกฤษ เนื่องจากเป็นพระสหายสนิทของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ ขณะเดียวกัน เดวิด คาเมรอน ยังเป็นทายาทสายตรงของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ด้วย

13. เทเรซา เมย์ (Theresa May) 2016-2019

แม้จะไม่มีรายงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ กับ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ในช่วง 3 ปีที่ดำรงตำแหน่งปรากฏออกมามากนัก หากแต่การที่ เทเรซา เมย์ ประกาศต่อสื่อมวลชนก่อนเข้าเฝ้าฯ ว่า การดำรงนายกรัฐมนตรีอังกฤษถือเป็นเกียรติอย่างสูงสุด ทำให้หลายฝ่ายตีความว่า ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น

...

บอริส จอห์นสัน (ซ้าย) ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (ขวา)
บอริส จอห์นสัน (ซ้าย) ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (ขวา)

14. บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) 2019-2022

แม้ว่าพ่อหนุ่มผมยุ่งจะประกาศตัวว่าเป็นผู้ให้ความเคารพต่อราชวงศ์อังกฤษอย่างสูงสุด หากแต่การจัดปาร์ตี้ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งนอกจากจะถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว มันยังเป็นงานเลี้ยงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าพิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เพียงเล็กน้อย มันจึงดูเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พูดอยู่ไม่ใช่น้อย

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์

15. ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) 2022

นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายในรัชสมัย ของ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง