อุทกภัยครั้งร้ายแรงจากปริมาณฝนตกหนักที่สุดในรอบ 115 ปี จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันโดยรอบกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 8 ส.ค. ล่าสุด (10 ส.ค.) กระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ศพ สูญหายอย่างน้อย 7 คน โดยผู้เสียชีวิต 3 ศพ ถูกพบว่าเสียชีวิตหลังติดอยู่ในห้องพักชั้นกึ่งใต้ดินราคาถูก (Semi-Basement) หรือ พันจีฮา (Banjiha) ในภาษาเกาหลีใต้ที่ถูกน้ำท่วม ทางตอนใต้ของกรุงโซล
ส่วนรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 17 คน ส่วนความเสียหายนั้นปัจจุบันมีบ้านเรือนและอาคารเสียหายรวมกันทั้งสิ้น 2,676 หลัง และต้องอพยพประชาชนมากกว่า 1,253 คน ไปยังสถานที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ผลของการเกิดน้ำท่วมฉับพลันยังทำให้รถยนต์ตามท้องถนนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ถนนสายสำคัญหลายสายถูกน้ำท่วมจนใช้การไม่ได้ รวมถึงสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งถูกน้ำท่วมขังจนต้องปิดบริการ
ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทประกันภัยมากกว่า 12 แห่ง ได้รับการเรียกร้องค่าเสียหายจากรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมมากกว่า 4,791 คัน ในจำนวนนี้มากกว่า 946 คัน เป็นรถยนต์นำเข้าราคาแพง โดยมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 65,000 ล้านวอน และคาดว่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยสาเหตุที่มูลค่าเงินประกันสูงมากขนาดนี้เป็นเพราะมีรถยนต์หรูหราราคาแพงจำนวนมากถูกน้ำท่วมใน "ย่านกังนัม" ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
...
ปริมาณน้ำฝนถล่มกรุงโซลล่าสุด :
ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 8 ส.ค. จนถึงวันที่ 10 ส.ค. มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยสูงถึง 141.5 มิลลิเมตร (5.6 นิ้ว) ต่อชั่วโมง ทำให้พื้นที่กรุงโซลมีปริมาณน้ำฝนรวมแล้ว 525 มิลลิเมตร (20 นิ้ว) โดยเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกในวันที่ 8 ส.ค. เพียงวันเดียวสูงถึง 422 มิลลิเมตร (16 นิ้ว) ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ในทุกปี ซึ่งอยู่ที่ 348 มิลลิเมตร (13.7 นิ้ว) ถึง 177 มิลลิเมตร (6 นิ้ว)
นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาของเกาหลีใต้ด้วยว่า จะยังคงมีฝนตกหนักจนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 11 ส.ค. ด้วยปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 50-100 มิลลิเมตร (2-4 นิ้ว) ต่อชั่วโมง จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงได้
การป้องกันน้ำท่วมที่ยังไม่เพียงพอ :
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเทศบาลกรุงโซล เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2012 ได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันน้ำท่วมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์ใต้ดิน จนกระทั่งทำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ถึง 45 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่กรุงโซลกำลังเผชิญอยู่นั้น สูงถึง 85 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 8 ส.ค. มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 110 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทุกอย่างเกินกว่าที่จะสามารถรับมือได้ไหว
การเมืองกับอุทกภัย :
หลังเกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเกาหลีใต้ ประเด็นการย้ายสถานที่ทำงานจาก "ทำเนียบบลูเฮาส์" หรือ "ชองวาแด" ไปยัง กระทรวงกลาโหม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตยงซาน กรุงโซล ของ ประธานาธิบดียูน ซอกยอล (Yoon Suk-Yeol) ของเกาหลีใต้ กลับมากลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงอีกครั้ง เนื่องจากกว่าที่ประธานาธิบดียูน ซอกยอล จะปรากฏตัวที่สำนักงานฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อบัญชาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมืองหลวงนี้ ก็ล่วงเข้าถึงเวลา 09.30 น. ของวันที่ 9 ส.ค. แล้ว นั่นเป็นเพราะ “ผู้นำเกาหลีใต้” ไม่สามารถเดินทางออกมาจากบ้านพักที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักตั้งแต่ช่วงกลางดึกของวันที่ 8 ส.ค. จนต้องมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผ่านทางโทรศัพท์
...
โดยนักการเมืองฝ่ายค้าน ได้หยิบยกคำมั่นสัญญาจากผู้นำเกาหลีใต้ที่ว่า “การย้ายสถานที่ทำงานจาก “ชองวาแด” (Cheong Wa Dae) ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน” ขึ้นมาโจมตีเรื่องความสามารถในการทำงานในฐานะประธานาธิบดี อย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็น “ประธานาธิบดีที่ทำงานจากที่บ้านในยามฉุกเฉินไม่ใช่ผู้นำที่ผู้คนสามารถไว้วางใจได้” หรือ “การโทรศัพท์สั่งการจากบ้านพักไม่ใช่วิถีที่ประธานาธิบดีจะตอบสนองต่อภัยพิบัติในระดับชาติ” ทั้งๆ ที่ หากนายยูน ซอกยอล ยอมทำงานที่ชองวาแด ซึ่งมีบ้านพักรับรองอยู่ติดกับสถานที่ทำงาน การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จะสามารถทำได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
พร้อมกับนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับกรณีของ อดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ซึ่งได้หายตัวไปจากสายตาสาธารณชน นานร่วม 7 ชั่วโมง หลังเรือเซวอลล่มจนเป็นเหตุให้มีชาวเกาหลีใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงเด็กนักเรียนมัธยมปลาย เสียชีวิตมากกว่า 300 ศพ ในปี 2015 อีกด้วย
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้บริหารระดับสูงของเทศบาลกรุงโซล ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อสังคมออนไลน์อย่างรุนแรงในเรื่อง “ความเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา” อีกด้วย เนื่องจากปรากฏมีผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ได้โพสต์ภาพการดินเนอร์มื้อค่ำในร้านอาหารสุดหรูหราพร้อมแคปชั่น “ซุปร้อนในตอนเย็นที่ฝนตก ร้านนี้อร่อย” ลงบนเฟซบุ๊กในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังทุกข์ยากจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง