ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเป็นอย่างไรต่อไป ภายหลังแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ มาเยือนไต้หวัน ในช่วงค่ำวันอังคารที่ผ่านมาโดยไม่สนคำเตือนของจีน และได้สร้างกระแสการถกเถียงในโลกโซเชียลอย่างร้อนแรงอีกครั้งว่าไต้หวัน เป็นประเทศ หรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนไทยควรจะแสดงจุดยืนอย่างไรในการเลือกข้างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
ไต้หวันเคยถูกญี่ปุ่นครอบครองในปี 1895 ก่อนกลับมาอยู่ใต้การปกครองของจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไต้หวันยังคงปฏิเสธความเป็นจีน พยายามเรียกร้องเอกราช แยกตัวจากจีน สถาปนาเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน หรือ Republic of China ซึ่งปกครองด้วยตัวเอง มีผู้นำจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่จีนประกาศชัดไต้หวัน เป็นเพียงมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกเท่านั้น จนกลายเป็นความคลุมเครืออย่างที่เป็นอยู่
ย่ิงชัยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของไต้หวัน ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนและไต้หวันย่ำแย่ลงไปอีก เพราะชูนโยบายเป็นเอกราชจากจีน ย่ิงเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาสนับสนุน และยั่วยุจีนมากขึ้นในสมัยโดนัล ทรัมป์ ด้วยการส่งอเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขและบริการด้านมนุษย์ มาเยือนไต้หวันในรอบหลายสิบปี เมื่อเดือน ก.ย. ปี 2563 ในช่วงการระบาดของโควิด กระทั่งแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ มาเยือนไต้หวัน สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก
...
หรือการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี จะทำให้การเมืองโลกร้อนระอุอีกครั้ง และไต้หวันจะมีโอกาสได้เป็นเอกราชจากจีนหรือไม่ ในการเป็นประเทศไต้หวันอย่างเต็มตัวเสียที จากการวิเคราะห์ของ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า การเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี เป็นความคิดที่ไม่ดี เพราะอยู่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร หรือแม้ในอนาคตอาจได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่โอกาสก็ยากมาก ถือเป็นการท้าทายยั่วยุจีน จากแนวคิดต่อต้านจีนมานาน อีกทั้งฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งเสริมในการเยือนไต้หวันครั้งนี้ ทำให้โจ ไบเดน และฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ออกมาเตือน
“เหมือนในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ เคยสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน เพื่อให้แตกแยกกับรัสเซีย อ้างเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่จีนในยุคนี้เข้มแข็งมากขึ้น พยายามไม่ให้นโยบายจีนเดียว ถูกละเมิด จากการเยือนของแนนซี เพโลซี หรือแม้แต่โจ ไบเดน ยังคงยึดมั่นจีนเดียว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะเอาไต้หวันมาเป็นของจีน และในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าจีนมีความชอบธรรมในการนำไต้หวันมาเป็นส่วนหนึ่ง ตามหลักการระหว่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติกระทรวงต่างประเทศของจีน ต้องออกมารักษาอธิปไตยในการตอบโต้แนนซี เพโลซี เพื่อปกป้องการละเมิดหลักการจีนเดียว แม้จีนมีสิทธิจะรวมไต้หวัน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากจะทำก็ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
ประเด็นการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี เชื่อว่าจะไม่เกิดสงครามอย่างแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ว่าจะเสียประโยชน์ทั้งคู่ เพราะต่างฝ่ายมีอาวุธนิวเคลียร์ และจีนสามารถต่อสู้กับสหรัฐฯ ได้อยู่แล้ว แต่จีนไม่ประสงค์จะทำ เพราะต้องการค้าขายกับโลกภายนอก ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างพึ่งพาอาศัยกัน หากทำสงครามจะเสียหายไปด้วยกันทั้งคู่ และการกระทำของแนนซี เพโลซี ด้วยการยั่วยุจีน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อในสหรัฐฯ ว่าไม่ฉลาด จนเกิดการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายจีนและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ มองว่าจีนขยายให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต
ส่วนสี จิ้นผิง จะหมดวาระในปี 2566 เตรียมเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 จะต้องแสดงความเข้มแข็งให้ชาวจีน ในการแสดงสำนวนโวหารต่อภายนอก แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างมีการยับยั้งชั่งใจไม่ให้แตกสะบั้น ตามพฤติกรรมของประเทศมหาอำนาจ จะต้องยึดผลประโยชน์มาก่อน โดยหลักการที่อ้างเป็นเพียงหลักลอยเท่านั้น
จากการถกเถียงในโลกโซเชียลว่าไต้หวัน เป็นประเทศหรือไม่นั้น ควรเลิกพูดกันได้แล้ว แม้แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สนับสนุนให้ไต้หวันเป็นประเทศ แต่อยากให้รักษาอธิปไตยไว้เท่านั้น ควรต้องยอมรับตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แม้จีนไม่เคยปกครองไต้หวันมาก่อน แต่ไต้หวันก็สามารถสืบทอดความเป็นประชาธิปไตยได้ หรือต่อให้จีนใช้กำลังยึดไต้หวันก็สามารถทำได้ ไม่เหมือนกรณีรัสเซียพยายามบุกยึดยูเครนโดยไม่ชอบธรรม อีกทั้งไต้หวันมีอาวุธที่ซื้อจากสหรัฐฯ ทุกปี สามารถตอบโต้กับจีนได้ และคนไต้หวันก็ไม่ต้องการจะอยู่ภายใต้จีน
...
“ฟันธงหากสี จิ้นผิง จะรวมไต้หวัน สามารถทำได้ในทางเดียวเท่านั้น คือต้องใช้กำลัง นอกเหนือความสมัครใจ ยกเว้นจีนต้องเปลี่ยนการปกครองแล้วรวมไต้หวันอย่างสันติ แต่เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งทุกวันนี้แม้ไต้หวัน ไม่เป็นเอกราช ก็เหมือนเป็นเอกราช เพราะชาวโลกไม่เดือดร้อนในการติดต่อกับไต้หวัน จะทำอะไรก็ทำไป คิดว่าสถานะไต้หวันยังคงอยู่อย่างน้อยในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับทัศนะของคนไต้หวันและจีน มีความคิดรวมเข้าด้วยกัน แต่ถ้าไต้หวันประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเอกราชเมื่อใด ทางจีนก็พร้อมจะใช้กำลังในทันที”