ทันทีที่ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนไต้หวัน ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการเดินหน้าแผนซ้อมรบบริเวณใกล้กับเกาะไต้หวัน แต่อีกแนวรบสำคัญคือการกดดันทางเศรษฐกิจที่ดุเดือด เพื่อลดทอนอำนาจของจีน นี่จึงเป็นความท้าทายนโยบาย “จีนเดียว” หรือ “one-China policy” ที่ทั่วโลกต่างจับตา เพราะจะซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ก่อนหน้านั้นได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน

“รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า การมาเยือนไต้หวันของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา เป็นการเพิ่มความกดดันให้กับจีนในเชิงความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้จีนมีปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ และเป็นจังหวะสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของจีนทรุดตัว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากอเมริกาทำให้เศรษฐกิจจีนทรุดตัวลงได้ จะทำให้จีนขาดเม็ดเงินที่จะนำมาพัฒนาอาวุธทางทหาร และจะสร้างความมั่นคงให้กับอเมริกา ในการเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

“แนวรบสำคัญของสหรัฐฯ คือเศรษฐกิจ ที่ต้องฉวยโอกาสความได้เปรียบระหว่างที่จีนพยายามแก้ปัญหาในประเทศ โดยการมาเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา เพื่อให้จีนพะวงทั้งศึกภายใน และการรุกคืบของศึกภายนอก โดยสหรัฐฯ มีประเทศในยุโรปคอยหนุนหลัง ขณะญี่ปุ่นและเกาหลี พร้อมจะร่วมมือกดดันจีน แต่อย่าลืมว่าจีน มีพันธมิตรสำคัญอย่างเกาหลีเหนือที่มีผู้นำเบ็ดเสร็จ พร้อมจะนำอาวุธหนักอย่างนิวเคลียร์ มาต่อกรกับศัตรู ซึ่งถ้าเกิดสงครามจริงจะมีความรุนแรงมากกว่าสงครามยูเครน”

...

หากประเมินแนวรบด้านเศรษฐกิจของจีน จะเห็นถึงความแข็งแกร่งเมื่อจับมือกับรัสเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีการส่งออกผลด้านการเกษตรเป็นอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะรัสเซีย ที่ส่งออกข้าวสาลีเป็นรายใหญ่ของโลก รวมถึงการส่งออกพลังงานไปขายให้กับประเทศในยุโรป สิ่งนี้ทำให้สหรัฐฯ เกิดความวิตกกังวล และหาแนวทางกดดันเพื่อลดการเติบโตด้านเศรษฐกิจ

สำหรับไทยหากเกิดสงครามจากความขัดแย้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีโครงการขนาดใหญ่ที่หวังพึ่งพิงจีน เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถ้าเกิดสงครามขึ้น จะทำให้นักลงทุนจีนยกเลิกการลงทุนในไทยจำนวนมาก

ขณะเดียวกันผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ของจีนทั้งการนำเข้าและส่งออก ส่วนผลกระทบจากไต้หวัน จะทำให้การนำเข้าแรงงานไทยไปไต้หวันชะลอตัว ซึ่งตอนนี้ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ อสังหาริมทรัพย์ในไทยที่ขายให้กับคนจีน มียอดขายชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

ในภาวะความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ ไทยต้องพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลาง คำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องพยายามเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ ที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการค้าขาย เช่น การขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศในยุโรป อาจจะต้องขนส่งสินค้าผ่านมายังไทย ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการผสานการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง


ไทยต้องวางตัวเป็นกลาง ยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก

“รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจของไต้หวันจะไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะมีแนวโน้มว่าจะเติบโต 3.5-4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แต่ในเชิงความสัมพันธ์ทางประเทศระหว่างไต้หวันกับจีนจะมีความตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่ท่าทีของจีนต่อจากนี้จะโต้ตอบสหรัฐฯ รุนแรงมากขึ้น แต่คาดว่าสหรัฐฯ จะไม่ก่อสงครามการค้ากับจีนเหมือนสมัย “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ส่งผลกระทบทางการค้า

มาตรการโต้ตอบของจีนต่อจากนี้ จะใช้แนวทางการทูตเพื่อโต้ตอบในเวทีระดับโลกมากขึ้น ไทยควรวางตัวเป็นกลาง โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และควรวางยุทธศาสตร์และท่าทีให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทย

"ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร" ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ต้องจับตาท่าทีของจีนหลังจากการมาเยือนของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนมีท่าทีกดดันไต้หวันด้วยมาตรการต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ยังอยู่ในกรอบที่พยายามจำกัดขอบเขตไม่ให้ลามจนเกิดเป็นสงคราม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการแสดงแสนยานุภาพทางทหารของจีนหลังจากการเยือนในครั้งนี้ มีความเสี่ยงอาจเกิดอุบัติเหตุปะทะกันกับกองทัพของไต้หวันหรือสหรัฐฯ ได้ และอาจจุดชนวนเป็นความขัดแย้งหรือสงครามโดยไม่คาดคิด แต่โอกาสค่อนข้างต่ำ เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างระมัดระวัง

เนื่องจากไม่มีใครต้องการสงครามในขณะนี้ สหรัฐฯ เองมีปัญหาสงครามยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ส่วนจีนก็กำลังจะมีการประชุมสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะต่ออายุให้แก่สี จิ้นผิง ในเดือนพฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะต้องจับตาพัฒนาการของเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาค.

...