(จากวันนี้ พบกับ “เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” ทุกวันเสาร์เว้น เสาร์ )

ภาพยนตร์ Jurassic World : Dominion ได้ฤกษ์ (หลังต้องเก็บตัวหลบไวรัสโควิด-19 เป็นเวลาประมาณ 1 ปี) ฉายให้คนไทยได้ชมกันไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 (ก่อนสหรัฐอเมริกา 2 วัน)!

Jurassic World : Dominion เป็นภาคที่ 6 ของภาพยนตร์ชุด Jurassic Park ที่เปิดตัวภาคแรกไปในปี พ.ศ. 2536

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณสามสิบปีก่อน การเปิดตัวภาพยนตร์ Jurassic Park จากการกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก เปิดปรากฏการณ์การตื่นตัวในมุมมองใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์ยักษ์ไดโนเสาร์ว่า จะสามารถทำให้ไดโนเสาร์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้หรือไม่?

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ จะขอนำท่านผู้อ่าน ไปดูความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับภาพยนตร์ชุด Jurassic Park และความเคลื่อนไหวทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อหาบทสรุปถึงวันนี้ สำหรับคำถามใหญ่ของเขาว่า : -

“การทำให้ไดโนเสาร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมา” มีโอกาสที่จะเป็นไปได้แค่ไหน? หรือจะเป็น Mission Impossible คือ เป็นไปไม่ได้

ภาพจากภาพยนตร์ Jurassic World : Dominion
ภาพจากภาพยนตร์ Jurassic World : Dominion

...

คนสร้างหนังรักไดโนเสาร์ และคนดูหนัง ก็ชอบไดโนเสาร์!

ถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ Animation หรือภาพยนตร์การ์ตูน ที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์มากกว่า 150 เรื่อง

ก่อน Jurassic Park ภาพยนตร์เกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นส่วนตัว และขอเอ่ยถึงตรงนี้เพียง 4 เรื่อง คือ (1) One Milion B.C. (พ.ศ.2483 มี Victor Mature เป็นพระเอก) (2) One Million Years B.C. (พ.ศ.2509 เป็นภาพยนตร์ One Million B.C. สร้างใหม่ มี Raquel Welch เป็นนางเอก แต่ชื่อขึ้นนำก่อนพระเอก) (3) The Lost World (ฉบับคลาสสิก พ.ศ.2468) (4) King Kong (มีฉบับคลาสสิก มี Fay Wray เป็นสาวสวย ที่ Kong ปกป้องด้วยชีวิต)

ความโดดเด่นเป็นพิเศษของ Jurassic Park คือ ความเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไดโนเสาร์

ไมเคิล ไครช์ตัน (Michael Crichton) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง Jurassic Park และเป็นผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ Jurassic Park จบแพทยศาสตร์จาก ฮาร์วาร์ด แต่ชอบที่จะเป็นนักเขียนมากกว่านายแพทย์ ตั้งใจเขียน Jurassic Park ให้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ประเภท hard science fiction

แรงบันดาลใจให้ ไมเคิล ไครช์ตัน เขียน Jurassic Park คือ การค้นพบฟอสซิล ซากแมลงวัน ฝังจมอยู่ในอำพัน (ซากยางไม้กลายเป็นหินสีเหลือง) เมื่อปี พ.ศ.2525 โดยนักกีฏวิทยาอเมริกัน จอร์ช พอยนาร์ จูเนียร์ (George Poinar JR.: พ.ศ.2479 ถึงปัจจุบัน) และการเสนอความคิดของ จอร์ช พอยนาร์ จูเนียร์ ว่า น่าจะมีดีเอ็นเอ เหลืออยู่ในซากฟอสซิลแมลง

ไมเคิล ไครซ์ตัน นำความคิดของ จอร์ช พอยนาร์ จูเนียร์ มาขยายต่อว่า ได้มีการค้นพบ ดีเอ็นเอในเม็ดเลือดแดงของไดโนเสาร์ที่ถูกยุงกัดแล้วติดอยู่ในยางไม้ ซึ่งต่อมากลายเป็นอำพัน

จากดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ในแมลงนั้น ก็ถูกนำมาเสริมเติมเต็มโดย ดีเอ็นเอของกบ แล้วนำดีเอ็นเอที่เสริมเต็ม ไปทำโคลนนิ่ง (cloning) กับไข่ของสัตว์ตระกูลไดโนเสาร์ ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน คือ จระเข้ เกิดเป็นไดโนเสาร์

นอกเหนือไปจากความคิดที่ ไมเคิล ไครช์ตัน ได้จาก จอร์ช พอยนาร์ จูเนียร์ ในการทำโคลนนิง คืนชีพแก่ไดโนเสาร์แล้ว เขาก็ยังนำเอานักบรรพชีวินวิทยา ผู้ได้ชื่อเป็นนักล่าฟอสซิลที่มีตัวตนจริง มาเป็นต้นแบบตัวละครสำคัญในเรื่องด้วย คือ ดร.แจ็กค์ ฮอร์เนอร์ (Dr.Jack Horner : พ.ศ.2489 ถึงปัจจุบัน) โดยตั้งชื่อให้เป็น ดร.อะแลน กรานต์ (Alan Grant) รับบทโดย แซม นีลล์ (Sam Neill)

ดร.แจ็กค์ ฮอร์เนอร์ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้กับภาพยนตร์ชุด Jurssic Park ทั้ง 5 ภาคแรกด้วย

สตีเวน สปีลเบิร์ก กับ บทบาทในภาพยนตร์ ชุด Jurassic Park!

กล่าวกันว่า ถ้าไม่ใช่เพราะสตีเวน สปีลเบิร์ก ภาพยนตร์ Jurassic Park ก็คงจะประสบความสำเร็จ ดังเช่นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สร้างจากนิยายของ ไมเคิล ไครช์ตัน หลายเรื่อง

...

แต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ปรากฏ และก็อาจจะไม่มีการสร้างภาคต่อจนกระทั่งถึง 6 ภาค

เพราะจริงๆ แล้ว แก่นของเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ก็จบลงอย่างสมบูรณ์ ทั้งในภาพยนตร์ และในนิยายต้นเรื่อง ที่แก่นของเรื่องคือ การทำตัวเป็นพระเจ้าของมนุษย์ สร้างไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา และก็ต้องเผชิญกับ “การลงโทษ” ที่ต้องรับ

แต่ก็เพราะความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ Jurassic Park ไมเคิล ไครช์ตัน จึงเขียนภาคต่อ คือ The Lost World : Jurassic Park และสตีเวน สปีลเบิร์ก รับหน้าที่เป็นผู้กำกับดังเช่น Jurassic Park ภาคแรก

ถึงแม้สตีเวน สปีลเบิร์ก จะไม่กำกับภาพยนตร์ชุด Jurassic Park อีกสี่ภาคที่ตามมา คือ ภาค 3 Jurassic Park 3 ภาค 4 Jurassic World ภาค 5 Jurassic World : Fallen Kingdom และภาค 6 Jurassic World : Dominion แต่เขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง (Executive Producer) ทั้งสี่ภาค

โดยส่วนตัวของสตีเวน สปีลเบิร์ก เขาสนใจเรื่องเกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาว และเรื่อง การทำให้ไดโนเสาร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมามาก

ก็เพราะความสนใจเรื่อง มนุษย์ต่างดาว สตีเวน สปีลเบิร์ก จึงสร้างภาพยนตร์ที่ถือว่าดีที่สุดเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว ดังเช่น Close Encounters Of The Third Kind (พ.ศ.2020) และเรื่อง E.T.: The Extra – Terrestrial (พ.ศ.2525)

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับ ไดโนเสาร์ สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็เชื่อว่า วิทยาศาสตร์ จะทำให้ไดโนเสาร์กลับฟื้นคืนชีพได้ ถึงกับกล่าวเมื่อ ปี พ.ศ.2536 ว่า นักวิทยาศาสตร์ จะสามารถทำให้ไดโนเสาร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมา อาจเป็นในอีกประมาณ 40 ปี

ถึงวันนี้ ก็หมายถึงอีกประมาณ 10 ปีเท่านั้น

...

จากนี้ ก็มาถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ ต่อคำถามใหญ่ของเรา “ไดโนเสาร์คืนชีพ....เป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้?”

มาถึงวันนี้ ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว กล่าวได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ทราบวิธีการปลุกคืนชีพของไดโนเสาร์แล้ว และก็มีความพร้อมแล้ว แต่ที่ยังขาดอยู่ ก็คือ ปัจจัยพื้นฐานหลัก!

เปรียบง่ายๆ เหมือนกับการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์ทราบวิธีการ และมีอุปกรณ์เครื่องมืออย่างค่อนข้างครบครันแล้ว ขาดแต่เพียงวัตถุดิบต้นทาง เท่านั้น

สำหรับการปลุกคืนชีพไดโนเสาร์ ถึงวันนี้ วิธีการที่ตรงที่สุด ก็คือ การทำโคลนนิ่ง ทำอย่างไร?

ก็นำ ดีเอ็นเอ ของไดโนเสาร์ (ถ้ามี) ไปใส่แทนนิวเคลียสในไข่ของสัตว์ยังมีชีวิตอยู่ ที่ใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ มากที่สุด เช่น จระเข้ หรือสัตว์ชนิดอื่น แล้วก็กระตุ้นให้ไข่ที่มีดีเอ็นเอ ของไดโนเสาร์ แบ่งเซลล์ เกิดเป็นตัวอ่อนของไดโนเสาร์ เจ้าของดีเอ็นเอ

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุด ก็คือ ดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ ที่จะเป็นวัตถุดิบต้นแบบ

...

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2564 มีรายงานของ คณะนักวิทยาศาสตร์จีน จาก สภาวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy Of Science) ตีพิมพ์ในวารสาร Communication Biology การแยกเซลล์ ที่ยังอยู่ในสภาพดีของกระดูกอ่อนของไดโนเสาร์ Caudipteryx ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็กเท่า นกยูง มีอายุ 125 ล้านปี พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเชื่อว่า อาจจะมีดีเอ็นเอในสภาพดี อยู่ในเซลล์กระดูกอ่อนของไดโนเสาร์ที่พบ

ก่อนรายงานของคณะนักวิทยาศาสตร์จีน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 คณะนักบรรพชีวินวิทยาในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานในวารสาร National Science Review การค้นพบสิ่งที่อาจเป็นโครโมโซม และส่วนของ ดีเอ็นเอในฟอสซิลกระดูกอ่อนของกะโหลกหัวด้านหลัง ของไดโนเสาร์ ชื่อ Hypacrosaurus Stebingeri หรือ Duck – Billed Dinosaur (ไดโนเสาร์ปากเป็ด) มีอายุประมาณ 75 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ แต่ไม่เท่า Tyrannosaurus

ถ้าสิ่งที่คณะนักวิทยาศาสตร์จีน และคณะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ พบ มีดีเอ็นเอของไดโนเสาร์อยู่จริง ก็จะเป็นก้าวสำคัญของการปลุกฟื้นคืนชีพของไดโนเสาร์

เพราะถึงแม้ดีเอ็นเอที่พบ อาจจะไม่สมบูรณ์จริง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีวิธีการที่จะเสริมเติมความสมบูรณ์ให้กับ ดีเอ็นเอ ดังเช่นโดยใช้วิธีการตัดต่อดัดแปลง ยีนเรียก คริสเปอร์ / แคสไนน์ (Crisp/Cas9) หรือวิธีการอื่นๆ จนกระทั่งสามารถนำมาเป็นดีเอ็นเอต้นแบบ สำหรับการทำโคลนนิ่งสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมา

แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ถึงปัจจุบัน ยังไม่คิดว่า สิ่งที่ถูกรายงานในทั้งสองรายงาน รวมทั้งรายงานอื่นๆ การค้นพบฟอสซิล ที่มี หรืออาจมีดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ จะเป็นดีเอ็นเอ ที่มากพอ หรือสมบูรณ์ สำหรับการทำโคลนนิ่ง

ทำไมหรือ?

ก็เพราะถึงปัจจุบัน ดีเอ็นเอโบราณเก่าแก่ที่ถูกค้นพบ (และผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์) มีอายุประมาณ ห้าแสนปี โดยสถิติล่าสุด คือ 1.2 ล้านปี

แต่ไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 65 ล้านปี จึงเป็นเรื่องยากมากจริงๆ ที่จะพบดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ ที่จะมีสภาพดีพอ หรือมากพอ สำหรับการทำโคลนนิ่ง

อย่างไรก็ตาม นักล่าดีเอ็นเอไดโนเสาร์ รวมถึงเจ้าของรายงานการค้นพบร่องรอยหลักฐานของดีเอ็นเอไดโนเสาร์ ถึงแม้จะยอมรับว่า ยังไม่สามารถยืนยันการค้นพบ ดีเอ็นเอไดโนเสาร์ที่ดีพอ แต่ก็ไม่ถอดใจ!

รวมทั้ง ดร.แจ๊กค์ ฮอร์เนอร์ นักวิทยาศาสตร์นักล่าฟอสซิลโบราณ ผู้เป็นต้นแบบของ ดร.อะแลน กรานต์ ในภาพยนตร์ชุด Jurassic Park และสร้างผลงานเกี่ยวกับฟอสซิลโบราณมากมาย ก็ไม่เพียงแค่ไม่ถอดใจ แต่เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า วิทยาศาสตร์ จะสามารถปลุกไดโนเสาร์ ให้ฟื้นคืนชีพได้อย่างแน่นอน

ถึงแม้เขาจะยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะเป็นเมื่อไร?

ผึ้ง ดึกดำบรรพ์ อายุ 100 ล้านปี ใน อำพัน Credit : George Poinar Jr.
ผึ้ง ดึกดำบรรพ์ อายุ 100 ล้านปี ใน อำพัน Credit : George Poinar Jr.

คำถามใหญ่ของเรา “การทำให้ไดโนเสาร์ ฟื้นคืนชีพขึ้นมา มีโอกาสที่จะเป็นไปได้แค่ไหน? หรือจะเป็น Mission Impossible คือ เป็นไปไม่ได้? อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงวันนี้ จึงยังเป็น คำถามที่เปิดอยู่!”

สำหรับผู้เขียน เชื่อว่า เป็นไปได้ แต่ ก็ยังบอกอย่างมั่นใจไม่ได้ว่า เมื่อไร ...

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องนี้อย่างไร? ท่านเองคิดว่า เรื่องไดโนเสาร์คืนชีพ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หรือว่า เป็นไปไม่ได้?