หลัง องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การระบาดโรคไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งกำลังเกิดการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกเวลานี้ เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (Public Health Emergency of International Concern) หรือ PHEIC ซึ่งถือเป็นการเตือนภัยขั้นสูงสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

คำถามที่ตามมาคือ...ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงน่าวิตกมากขนาดไหนแล้ว วันนี้ “เรา” ลองไปศึกษา "รายงานล่าสุดของ WHO" ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 65 กันดู

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

...

PHEIC :

เหตุผลในการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจาก WHO มองว่าการแพร่ระบาดของโรคถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขโลก และจำเป็นต้องมีการตอบสนองระหว่างประเทศเพื่อประสานงานกันในการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของโรคทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดีการประกาศดังกล่าว ไม่ได้มีข้อกำหนดให้รัฐบาลของแต่ละชาติต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงแต่การเรียกร้องให้แต่ละประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการตามข้อแนะนำและข้อเสนอแนะของ WHO อย่างเร่งด่วน รวมถึงให้ความร่วมมือในการรายงานเหตุการณ์ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขโลกเท่านั้น

จำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วโลก :

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ตามรายงานจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกแล้วรวม 16,016 คน เสียชีวิต 5 ศพ ใน 75 ประเทศทั่วโลก โดยแยกเป็นภูมิภาคดังต่อไปนี้

1. ภูมิภาคแอฟริกา มีผู้ติดเชื้อ 301 คน เสียชีวิต 5 ศพ
2. ภูมิภาคอเมริกา มีผู้ติดเชื้อ 3,772 คน
3. ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีผู้ติดเชื้อ 21 คน
4. ภูมิภาคยุโรป มีผู้ติดเชื้อ 11,865 คน
5. ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ติดเชื้อ 3 คน
6. ภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีผู้ติดเชื้อ 54 คน

โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด คือ 1. สเปน 3,125 คน 2. สหรัฐอเมริกา 2,316 คน 3. เยอรมนี 2,268 คน 4. สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ 2,137 คน 5. ฝรั่งเศส 1,453 คน, 6. เนเธอร์แลนด์ 712 คน 7. แคนาดา 615 คน 8. บราซิล 592 คน 9. โปรตุเกส 588 คน 10. อิตาลี 374 คน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยสะสมนี้ คิดเป็น 89% ของจำนวนผู้ป่วยสะสมทั่วโลก นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่มีรายงานการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงที่ไม่มีการเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับประเทศแอฟริกาตะวันออก หรือ แอฟริกากลาง ที่เคยมีรายงานการแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้อีกด้วย

ข้อมูลผู้ติดเชื้อ :

จากข้อมูลของ WHO ระบุว่า สามารถระบุเพศผู้ป่วยได้ 73% (11,740 คนจากผู้ติดเชื้อ ทั้งหมด 16,016 คน) โดยในจำนวนนี้เป็นเพศชายถึง 99% (11,613 คน จาก 11,740 คน) โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 36 ปี (ช่วงวัยประมาณ 31-43 ปี) โดยกลุ่มผู้ชายอายุระหว่าง 18-44 ปี คือกลุ่มวัยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 77% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ในขณะที่ผู้ที่มีอายุ 0-17 ปี อยู่ที่สัดส่วนเพียงประมาณ 1% เท่านั้น

...

ด้านกรณีที่มีการรายการเรื่องรสนิยมทางเพศ พบว่า 98% (5,470 คน จาก 5,561 คน) ระบุว่า เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ขณะที่จำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ติดเชื้อฝีดาษลิงนั้น ยอดสะสมอยู่ที่ 319 คน

กลุ่มอาการป่วยโรคฝีดาษลิงที่พบมากที่สุด :

แม้ว่ากรณีการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีอาการป่วยไม่รุนแรง แต่ไวรัสฝีดาษลิงอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยกลุ่มอาการหลังการติดเชื้อในผู้ป่วยจากยอดสะสม 9,099 คน หรือคิดเป็น 57% ของยอดผู้ป่วย 16,016 คน ตามรายงานล่าสุดของ WHO ระบุว่า กลุ่มอาการที่มักพบหลังการติดเชื้อคือ...

1. มีผื่นขึ้นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 90% (8,216 คน)
2. มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย 71% (6,477 คน)
3. มีไข้ 49% (4,429 คน)
4. มีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ 38% (3,426 คน)
5. ต่อมน้ำเหลืองขึ้นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 33% (2,985 คน)
6. ต่อมน้ำเหลืองขึ้นทั่วร่างกาย 32% (2,926 คน)
7. อ่อนเพลีย 24% (2,171 คน)
8. ปวดศีรษะ 22% (1,972 คน)
9. ปวดกล้ามเนื้อ 20% (1,825 คน)
10. ต่อมน้ำเหลืองบวมเฉพาะที่ 18% (1,634 คน)
11. ผื่นขึ้นที่ปาก 11% (999 คน)
12. ไม่มีอาการใดๆ 9% (780 คน)
13. หนาวสั่น 2.1% (192 คน)
14. ไอ 1.9% (171 คน)
15. เจ็บคอ 1% (95 คน)
16. อาเจียน 0.6% (57 คน)

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...