“Crypto winter 2022” ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้เล่นที่อยู่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากน้อยแล้วแค่ไหน หากนับตั้งแต่การเริ่มต้นการล่มสลายของ TerraUSD หรือ UST ซึ่งเคยเป็น Stablecoin ที่มีมูลค่ารวมสูงสุดถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญ LUNA จนกระทั่งฉุดรั้งให้ กองทุนป้องกันความเสี่ยงคริปโตยักษ์ใหญ่อย่าง "ทรี แอโรว์ส แคปิตอล" (Three Arrows Capital) หรือ 3AC ต้องล้มละลายตามไป วันนี้ “เรา” ลองไปตรวจสอบสถานะล่าสุด ของ แพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซี ที่ถูกแรงกระแทกตามมาจนกระทั่งต้อง “ประสบปัญหาสภาพคล่อง” ในเวลานี้กันดู

1. Celsius Network Ltd. :

ธุรกิจ : แพลตฟอร์มซื้อขาย-กู้ยืมคริปโตฯ

Celsius Network Ltd. กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่รายที่ 3 ต่อจาก Terra และ Three Arrows Capital ที่ต้องประกาศล้มละลาย หลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการล่มสลายของ Three Arrows Capital จนต้องประกาศให้มีการหยุดการทำธุรกรรมตั้งแต่วันที่ 12มิ.ย.22

...

รูปแบบการทำธุรกิจ :

เปิดรับฝากคริปโตฯ แก่ทั้งลูกค้ารายย่อย และสถาบันการลงทุนต่างๆ โดยให้ผลตอบแทนด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง โดยบริษัทจะสร้างผลกำไรด้วยการให้กู้ยืมสินทรัพย์แก่กองทุนป้องกันความเสี่ยงต่างๆ หรือ การเพิ่ม Leverage ให้แก่นักลงทุนที่ซื้อขาย Decentralized Finance หรือ DeFi ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

สถานะในปัจจุบัน :

บริษัทแถลงยอมรับว่า ได้รับผลกระทบแบบโดมิโน จากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทำให้บริษัทต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงและต้องประกาศให้หยุดการทำธุรกรรม และเข้าสู่กระบวนการตาม "กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ" (Bankruptcy Code) ในหัวข้อที่ 11 (Chapter 11) ซึ่งรองรับในกรณีที่องค์กรธุรกิจซึ่งประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อและจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้

โดยตามคำร้องของ Celsius Network Ltd. ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายระบุว่า ในขณะที่กำลังเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย บริษัทมีเจ้าหนี้มากกว่า 100,000 ราย โดยเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ กองทุน Pharos USD FUND และอีก 12.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นของกองทุน Alameda Research ของ “แซม แบงก์แมน-ฟรายด์” มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการคริปโตฯ

2. Yoyager Digital

ธุรกิจ : แพลตฟอร์มซื้อขาย-กู้ยืมคริปโตฯ

การล่มสลายของ Three Arrows Capital จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ได้กระทบต่อ Yoyager Digital อย่างรุนแรงเนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของกองทุนดังกล่าว โดยมีมูลค่าสูงถึง 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงได้มีการประกาศหยุดการทำธุรกรรมทั้งหมดลงในวันที่ 1 ก.ค. 22

โดยเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ Yoyager Digital คือ กองทุน Alameda Research

รูปแบบการทำธุรกิจ :

คิดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย 0% และให้ผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงแก่ลูกค้าที่นำคริปโตฯมาฝาก โดยบางเหรียญมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10% และเช่นเดียวกับ Celsius Network Ltd. การแสวงหาผลกำไรของบริษัทเน้นหนักไปที่ การให้กู้ยืมสินทรัพย์แก่กองทุนป้องกันความเสี่ยงต่างๆ และการซื้อขาย DeFi ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

สถานะในปัจจุบัน :

เข้าสู่กระบวนการตาม กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ในหัวข้อที่ 11 โดยในคำร้องที่ยื่นต่อศาลล้มละลายระบุว่า บริษัทมีคริปโตฯ อยู่บนแพลตฟอร์มมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินสดในนามของลูกค้ามากกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ฝากอยู่ในธนาคารพาณิชย์

...

3. Babel Finance

ธุรกิจ : ให้กู้คริปโตฯ

การให้ผลตอบแทนด้วย "อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2 หลัก" ทำให้บริษัทสามารถดึงดูดนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนหน้าใหม่ได้จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดคริปโตฯ พุ่งทะยานสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้สูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบการระดมทุนครั้งหลังสุดในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

รูปแบบการทำธุรกิจ :

แม้จะเน้นไปที่การซื้อขายเฉพาะ บิตคอยน์ (Bitcoin) อีเทอเรียม (Ethereum) และ Stablecoins เท่านั้น แต่แล้วเมื่อเกิดปรากฏการณ์ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลดิ่งลงเหว ความตื่นตระหนกและสับสนอลหม่านของตลาดทำให้บริษัทไม่สามารถไถ่ถอนสินทรัพย์คืนให้กับลูกค้าได้ทัน จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และต้องประกาศหยุดการทำธุรกรรมลง เมื่อวันที่ 17 ก.ค.22

สถานะในปัจจุบัน :

บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทกฎหมายชื่อดังอย่าง Kirkland & Ellis และวาณิชธนกิจ Houlihan lokey เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รวมถึงยังบรรลุข้อตกลงกับคู่สัญญาในสัญญาการชำระหนี้บางส่วน

...

4. Vauld

ธุรกิจ : แพลตฟอร์มซื้อขาย-กู้คริปโตฯ

รูปแบบการทำธุรกิจ :

เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มซื้อขายและให้กู้คริปโตฯ ข้างต้น แพลตฟอร์มสัญชาติอินเดียที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2018 อย่าง Vauld ให้ผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงแก่ลูกค้าที่นำคริปโตฯมาฝากเช่นกัน เพียงแต่ Vauld จะเน้นไปที่การสนับสนุนการลงทุนระยะยาว พร้อมกับเสนอทางเลือก “ดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้น” ให้กับนักลงทุนที่ถือครองคริปโตฯ มากกว่า 275 เหรียญบนแพลตฟอร์ม รวมถึงนำคริปโตฯไปใช้สำหรับการเก็งกำไรตามกองทุนประกันความเสี่ยงคริปโตฯต่างๆ

สถานะในปัจจุบัน :

เมื่อ Crypto winter เดินทางมาถึง ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง แม้บริษัทจะพยายามดิ้นรนด้วยการเลิกจ้างพนักงานถึง 30% รวมถึงตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแต่ในที่สุด Vauld ก็ต้องประกาศหยุดการทำธุรกรรมลงในวันที่ 4ก.ค.22 เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง พร้อมกับยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเลื่อนการชำระหนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับโครงสร้างเพื่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจากิจการให้กับ Nexo ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งสำคัญอีกด้วย

...

5. CoinFlex

ธุรกิจ : Physical futures exchange

รูปแบบการทำธุรกิจ :

ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ CoinFlex ใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เน้นการพึ่งพาการให้กู้ยืมและกลยุทธ์การซื้อขายที่มี Leverage สูงๆ เพื่อหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่บรรดานักลงทุน แต่แล้วเมื่อเผชิญกับวิกฤตจนกระทั่งไม่สามารถเรียก Margin Call ที่มีมูลค่าสูงถึง 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนใหญ่รายหนึ่งได้มันก็ถึงจุดวิกฤติ

สถานะในปัจจุบัน :

เมื่อ CoinFlex เริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้มีการประกาศหยุดการทำธุรกรรมชั่วคราวในวันที่ 23 มิ.ย.22 ก่อนยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและอนุญาตให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้ในวงจำกัด (10%ของยอดคงเหลือ) เมื่อวันที่ 14 ก.ค.22 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน CoinFlex ยืนยันว่ายังคงพยายามแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย การหาทางเจรจาร่วมทุนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงการเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ เพื่อหาทางฟื้นฟูกิจการต่อไป

6. Zipmex

ธุรกิจ : แลกเปลี่ยนคริปโตฯ

รูปแบบการทำธุรกิจ :

Zipmex ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ที่ให้ผลตอบแทนด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ปัจจุบันมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มมากกว่า 2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย และสิงคโปร์

สถานะในปัจจุบัน :

หลังเผชิญ “สภาวะตลาดคริปโตผันผวน” รวมถึงการนำสินทรัพย์ มูลค่าประมาณ 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนกับ Babel Finance (48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ Celsius Network Ltd. (5ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องและล้มละลายตามลำดับ เป็นผลให้ Zipmex มีความจำเป็นต้องพักการทำธุรกรรมชั่วคราวในวันที่ 20 ก.ค. 22 ก่อนจะกลับมาเปิดระบบเทรดอีกครั้งในเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน

อย่างไรก็ดี Zipmex ยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้สินทรัพย์ดิจิทัลและเงินบาทที่ฝากไว้ในบัญชีซื้อขายปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้าง การระดมทุนเพิ่ม รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิก : Anon Chantanant

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :