คริปโตเคอร์เรนซีสูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว นับตั้งแต่พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2021 ท่ามกลางคำถามที่ตามมามากมายว่า ฤดูหนาวครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ รวมถึงความหนาวเหน็บในครั้งนี้จะมีความแตกต่างจากฤดูหนาวที่เคยเกิดขึ้นกับ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงระหว่างปี 2018 หรือไม่? และทั้งหมดนี้คือความเห็นจากนักวิเคราะห์ในต่างประเทศที่น่าสนใจและควรค่าแก่การพิจารณา

อะไรคือความแตกต่างระหว่างปี 2018 และ ปี 2022 :

ปี 2018 : ฟองสบู่คริปโตฯ แตก

หลัง บิตคอยน์ (Bitcoin) และโทเคนอื่นๆ ร่วงลงอย่างรวดเร็วหลังพุ่งขึ้นไปจุดสูงสุดในช่วงปล่ายปี 2017 จากนั้นมาตลาดก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) หรือ การระดมทุนแบบดิจิทัล ด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกดิจิทัลโทเคน มาแลกกับ เงินดิจิทัลหลัก เช่น บิตคอยน์ หรืออีเทอเรียม (Ethereum) หากแต่ผลลัพธ์ที่ได้จากฟองสบู่ที่เกิดขึ้น คือ โครงการส่วนใหญ่ล้มเหลว!

...

ปี 2022 : ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ การดิ่งลงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปีนี้ คือ ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จนกระทั่งทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้ไม่เกิดขึ้นในฤดูหนาวครั้งที่แล้ว

อีกทั้งการที่สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เริ่มถูกซื้อขายในวงกว้างและยังมีรูปแบบการซื้อขายที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรเมื่อตลาดหุ้นเริ่มได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค คริปโตเคอร์เรนซี จึงได้รับแรงกระแทกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจัยหลักที่นำไปสู่ฤดูหนาวอาจแตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างปี 2018 และ 2020 คือ "บรรดานักลงทุนมือใหม่" ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญถูกล่อหลอกด้วยคำลวงที่ว่า "จะได้รับผลตอบแทนสูงจากการลงทุน" จนกระโดดเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมากเหมือนๆ กัน

การล่มสลายของ TerraUSD :

TerraUSD หรือ UST ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีเหรียญ LUNA เป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักสำหรับใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ภายในระบบนิเวศ Terra Chain อีกทั้งยังถือเป็น Stablecoin ที่แตกต่างจาก Stablecoin อื่นๆ เนื่องจากไม่มีการอ้างอิงราคาตามสกุลเงินจริง แต่จะใช้อัลกอริทึมเพื่อกำหนดมูลค่าของเหรียญให้เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐเสมอนั้น ได้สูญเสียการตรึงดอลลาร์จนนำไปสู่การล่มสลาย จากนั้นได้ฉุดรั้งให้เหรียญ LUNA ล่มสลายตามไปด้วย

ปรากฏการณ์หายนะที่เกิดขึ้นได้ส่งแรงกระแทกรุนแรงต่อเนื่องไปยัง บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ UST โดยเฉพาะกองทุนป้องกันความเสี่ยงคริปโตฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง ทรี แอโรว์ส แคปิตอล (Three Arrows Capital) หรือ 3AC จนถึงขั้นล้มละลาย และยังทำให้ภาพรวมของ คริปโตเคอร์เรนซี เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงเป็นลูกโซ่ตามมา

ซึ่งการล่มสลายของ Terra Blockchain และ UST Stablecoin ในปี 2022 นี้ ถือเป็นเรื่องที่แทบไม่มีใครในตลาดคริปโตฯ คาดฝันมาก่อน อีกทั้งมันยังเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นเรื่องที่แตกต่างจากฤดูหนาวในปี 2018 อย่างชัดเจน

...

Leverage :

นักลงทุนคริปโตฯ สร้าง Leverage (ขยายผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนโดยการกู้ยืมเงินเพิ่ม) จากการเกิดขึ้นของ การกระจายอำนาจทางการเงินที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือ Decentralized Finance (DeFi)

หากแต่ในปี 2018 นั้น Leverage ของนักลงทุนรายย่อยอยู่ในรูปแบบอนุพันธ์ หรือ Derivatives (สินค้าทางการเงินชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีมูลค่าในตัวเองแต่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินค้าอื่นที่อนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่) เพื่อใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ เมื่อตลาดคริปโตฯ ดิ่งเหว นักลงทุนรายย่อยจะถูกให้ชำระบัญชีโดยอัตโนมัติในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เนื่องจากไม่สามารถเรียก "หลักประกันเพิ่ม" (Margin Call) ได้

แต่ในปี 2022 Leverage ของนักลงทุนคริปโตฯ รายย่อย อยู่ในรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนและธนาคารคริปโตฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่สูงมากพอ เนื่องจากไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงของคู่สัญญาที่ดีมากพอ ด้วยเหตุนี้ เมื่อราคาในตลาดลดลงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และทำให้จำเป็นต้องมีการเรียกหลักประกันเพิ่ม นักลงทุนคริปโตฯ ส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่สามารถตอบสนองได้และทำให้เกิดคลื่นพายุกระทบต่อภาพรวมของตลาดในเวลาต่อมา

...

การให้ผลตอบแทนสูง ที่แลกมาด้วยความเสี่ยงสูง :

ความแตกต่างสำคัญระหว่างปี 2018 และ ปี 2022 คือ ในปี 2022 มีความพยายามสร้างโมเดลธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงภายใต้ความเสี่ยงสูง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบรรดากองทุนและธนาคารคริปโตฯ และประเด็นนี้เองที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดคริปโตฯ เกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่

"Celsius" แพลตฟอร์มให้กู้ยืมเงินคริปโตฯ ที่เพิ่งประสบปัญหาล้มละลายคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ การให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนสูงที่นำเหรียญมาฝากสูงถึง 18% แถมเหรียญที่นำมาฝากไว้จะไม่โดนล็อกและสามารถถอนออกได้ทันทีโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ผ่านโมเดลธุรกิจสร้างรายได้ ด้วยการนำเงินที่ได้จากนักลงทุนไปให้สถาบันการเงินและนักลงทุนกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย เมื่อมีรายได้จึงนำเงินไปซื้อคริปโตฯ เพื่อจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนที่นำเหรียญมาฝาก แต่แล้วเมื่อตลาดคริปโตฯ เกิดดิ่งลงเหวก็ได้นำพาให้ Celsius ประสบกับปัญหาสภาพคล่องและนำไปสู่การล้มละลายในเวลาต่อมา

การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ล้มเหลว :

...

เมื่อ ทรี แอโรว์ส แคปิตอล (Three Arrows Capital) หรือ 3AC ไม่สามารถเรียก Margin Call จาก BlockFi ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน ฝาก-กู้ คริปโตฯ ได้ ผลกระทบที่ตามมาคือ 3AC ได้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ให้กับ Yoyager Digital แพลตฟอร์มเทรดคริปโตฯ ยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากนั้นเมื่อทั้ง 3AC และ Yoyager Digital ได้เข้าสู่กระบวนการถูกฟ้องล้มละลาย ข้อมูลอีกชุดที่ปรากฏคือ Yoyager Digital นอกจากจะเป็นลูกหนี้ของ กองทุน Sam Bankman-Fried’s Alameda Research ของมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการคริปโตฯ อย่าง "แซม แบงก์แมน-ฟรายด์" ด้วยจำนวนเงินกู้มากกว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้ว Yoyager Digital ยังเป็นเจ้าหนี้ของกองทุน Sam Bankman-Fried’s Alameda Research ด้วยจำนวนเงินกู้สูงถึง 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน! และเพียงแค่นี้ อาจยังไม่ยุ่งยากพอ เพราะหากใครยังไม่ทราบ กองทุน Sam Bankman-Fried’s Alameda Research ยังถือหุ้นใน Yoyager Digital สูงถึง 9% อีกด้วย!

การสั่นสะเทือนของตลาดคริปโตฯ จะสิ้นสุดลงหรือยัง :

ยังไม่มีความชัดเจนว่า แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ นอกจากนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า ฤดูอันหนาวเหน็บจะยังดำเนินต่อไป จากความพยายามดิ้นรนหาทางชำระหนี้เงินกู้ของบรรดากองทุนและธนาคารคริปโตฯ รวมถึง การเร่งร้อนไถ่ถอนเงินจากบรรดานักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีทั้งระบบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องปัญหาการจ้างงาน การเติบโตที่หยุดชะงัก หรือแม้กระทั่งบรรดานักขุดเหรียญทั้งหลายในปีนี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :