“อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ปฏิเสธที่จะเคารพต่อภาระผูกพันที่มีต่อทวิตเตอร์ (Twitter) และผู้ถือหุ้น เพราะข้อตกลงที่ลงนามไว้ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับเขาอีกต่อไป และนับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการ อีลอน มัสก์ ได้กระทำการดูหมิ่น ทวิตเตอร์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งสร้างความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับ ทวิตเตอร์ และกลายเป็นแรงกดดันให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงอีกด้วย” คำบรรยายฟ้องของทวิตเตอร์ ที่ยื่นฟ้อง "อีลอน มัสก์" ต่อศาลเดลาแวร์ (Delaware Court of Chancery) และร้องขอให้มีการพิจารณาภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

โดยทวิตเตอร์ได้ทำในสิ่งที่ประกาศไว้ทันที หลังชายผู้มั่งคั่งอันดับหนึ่งของโลกประกาศล้มดีลมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเข้าครอบครองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เขาเองมีผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้าน Followers โดยอ้างว่าทวิตเตอร์บ่ายเบี่ยงที่จะให้ข้อมูลเรื่องบัญชีปลอมที่แฝงตัวอยู่บนแพลตฟอร์ม อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังทำให้หุ้นของทวิตเตอร์ร่วงลงมากกว่า 11% อีกด้วย

...

(หมายเหตุ หลังปิดตลาดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา หุ้นทวิตเตอร์ร่วงลงมาอยู่ที่ 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอซื้อของอีลอน มัสก์ ซึ่งอยู่ที่ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เมื่อเดือนเมษายนถึง 37% แล้ว)

อ่านเพิ่มเติม :

และนี่คือ...จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางกฎหมายที่อาจจะยืดเยื้อและยาวนานและคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ยากลำบากตามความเห็นของนักวิเคราะห์ในต่างประเทศ

แล้วผลลัพธ์อันเกิดจากการฟ้องร้องที่ว่านี้ จะมีผลลัพธ์ออกมาในทางไหนได้บ้าง? วันนี้ “เรา” ลองไปสำรวจความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ในประเด็นปัญหามหากาพย์การเข้าซื้อกิจการมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์นี้กันดู

1. อีลอน มัสก์ เป็นฝ่ายยอมจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับยกเลิกการซื้อกิจการ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฐานทำผิดข้อตกลง ซึ่งประเด็นนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า “มีความเป็นไปได้มากที่สุดและจะใช้เวลาน้อยที่สุด”

หากแต่...ในทางกลับกัน “ผู้บริหารทวิตเตอร์จะทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร” ในเมื่อมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่หนักแน่นว่า เจ้าพ่อเทสลาเป็นฝ่ายตกลงใจว่าจะซื้อกิจการด้วยราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น อยู่ในมือ อีกทั้งการปล่อยให้ อีลอน มัสก์ เป็นฝ่ายเดินจากไปง่ายๆ เพียงแค่เสียค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจยิ่งเป็นแรงผลักให้ราคาหุ้นของทวิตเตอร์ "ดิ่งลงมากยิ่งขึ้น" เพราะนั่นเท่ากับเป็นการ “ละเมิดต่อหน้าที่และความไว้วางใจที่นักลงทุนมอบให้แก่ผู้บริหารทวิตเตอร์” ที่กำลังเฝ้ารอคอยคำตอบที่ชัดเจนว่า ดีลมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ และเมื่อไหร่ที่มันจะจบลงกันแน่?

2. ศาลพิพากษาบังคับให้ อีลอน มัสก์ ปฏิบัติตามข้อตกลงเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ที่มีมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องยุติการต่อรองใดๆ ในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้

แม้จะถือเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนและทวิตเตอร์ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ มันอาจทำให้บรรดาพนักงานของบริษัทต้องเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอน หากอีลอน มัสก์ ซึ่งถูกบังคับให้ซื้อกิจการไม่ต้องการเป็นเจ้าของทวิตเตอร์อีกต่อไป และมันอาจจบลงด้วยการ “ขายกิจการต่ออีกทอด” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรที่ไม่รู้จบ จะทำให้ลมพายุแห่งความไม่แน่นอนปกคลุมไปทั่วกิจการในอนาคต

...

3. ทวิตเตอร์เป็นฝ่ายชนะคดี และอีลอน มัสก์ ต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจพิพากษาให้ มิสเตอร์ไอรอนแมน “ชดใช้ค่าเสียหาย” แทนที่จะบังคับให้ดำเนินการตามข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการต่อไป นั่นเป็นเพราะ อีลอน มัสก์ มีประวัติที่มักชอบทำอะไร “คาบลูกคาบดอก” ต่อการทำผิดกฎหมายและข้อบังคับของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หรือ SEC มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งประเด็นนี้อาจนำมาซึ่งข้อกังวลที่ว่า หากจริงๆ แล้ว อีลอน มัสก์ ไม่ได้ต้องการซื้อกิจการทวิตเตอร์ การบังคับให้ดำเนินการตามข้อตกลง อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมาภายหลังได้

4. ทวิตเตอร์ สามารถทำข้อตกลงกับ อีลอน มัสก์ ได้

ในกรณีนี้ นักวิเคราะห์มองว่าอาจเกิดขึ้นหาก อีลอน มัสก์ เป็นฝ่ายยอมจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับยกเลิกการซื้อกิจการ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการละเมิดสัญญา ซึ่งข้อตกลงเช่นนี้ จะทำให้ผู้บริหารทวิตเตอร์ สามารถอธิบายต่อนักลงทุนได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการรับประโยชน์จากเงินค่าปรับต่างๆ แทนที่จะต้องไปต่อสู้กันในศาล

...

5. ศาลพิพากษาให้ อีลอน มัสก์ เป็นฝ่ายชนะคดีและไม่ต้องเสียเงินแม้แต่ดอลลาร์เดียว

หากแต่...ผลลัพธ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บิลเลียนแนร์ผู้นี้ สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทวิตเตอร์เป็นฝ่ายให้ข้อมูลเท็จหรือจงใจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องบัญชีปลอมบนแพลตฟอร์ม

6. อีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์ ตกลงใจลดราคาขายกิจการ

ประเด็นนี้ตรงกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า "การออกอาการงอแง" เรื่องข้อมูลบัญชีปลอมบนทวิตเตอร์ เป็นเพียงเทคนิคหวัง "ทุบราคา" การเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ หลังหุ้นกลุ่มสื่อและเทคโนโลยี เริ่มมีการปรับฐานครั้งใหญ่ หลังการประกาศเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน

มันจึงมีความเป็นไปได้ว่า ทั้ง อีลอน มัสก์ และ ทวิตเตอร์ อาจตกลงใจยอมขายกิจการในราคาที่ถูกลง (เล็กน้อย) เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการครั้งใหม่ในราคาที่เข้ากับการปรับฐานของตลาด

...

7. อัศวินม้าขาวปรากฏตัวเพื่อซื้อทวิตเตอร์

ทางเลือกที่แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่หากมีอัศวินม้าขาวปรากฏตัวขึ้นมาจริงๆ และอาจขอเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ในราคาที่ต่ำกว่า 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ของ "อีลอน มัสก์" แต่ผู้บริหารทวิตเตอร์อาจยอมรับข้อเสนอได้ เพราะมันอาจเป็นทางออกที่ดีกว่าการขึ้นศาลกับ “บรุษผู้สร้างความปั่นป่วน” ให้กับองค์กรในเวลานี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :